เมื่อความรักในสังคมของเราถูกใช้เพื่อกำหนดมาตรฐานทางศีลธรรมเพื่อใช้ใน การจำแนก คนดี และ คนเลว ความรักจึงทำให้สังคมไทย ไม่มีที่เหลือสำหรับใครก็ตามในการพูดออกมาว่า “ผมไม่รักพ่อ” “ผมไม่รักแม่” เพียงเพราะในสังคมนี้ไม่อนุญาตให้ลูกคนใดพูดออกมาแบบนั้น ยกตัวอย่างในกรณีที่เกิดมาเป็นเด็กกำพร้าเพราะพ่อแม่ทิ้งตั้งแต่เกิดจาก เหตุผลของพ่อแม่ในปัญหาทางการเงิน เด็กคนนี้จึงเติบโตผ่านสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าและเรียนรู้วิถีชีวิตด้วยตัวเอง หรือเพื่อนเป็นส่วนใหญ่ แล้ววันหนึ่งเมื่อบังเอิญได้มาพบพ่อแม่อีกครั้ง ลูกคนนี้ยังจำเป็นจะต้องบอกรักพ่อแม่ของเขาผู้ที่ทิ้งตัวเองไปตั้งแต่เกิด หรือไม่ ? แน่นอน การบอกรักพ่อแม่ ไม่สามารถใช้ได้กับทุกคนหรือทุกกรณี แต่การใช้ความรักตัดสินว่าลูกทุกคนต้องรักพ่อแม่นี่สิที่เป็นปัญหาแก้ไม่ตก ของสังคมที่บูชาความรัก (ที่จริงมันทำให้ผมนึกถึงความรักระหว่างมนุษย์กับพระเจ้าในศาสนาคริสต์ด้วย เพราะกรณีมันคล้ายกันมาก)
ความรักประเภทนี้ถูกถ่ายทอดผ่านสื่อต่างๆมากมายภายในประเทศตั้งแต่ ทีวี, หนังสือ, วันประเพณีต่างๆ, แบบการเรียนการสอนของโรงเรียน-มหาลัย ฯลฯ จนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ว่า “คนไทยทุกคนต้องรักในหลวง” และเกิดวาทกรรมวิบัติอีกชนิดหนึ่งคือ “ใครไม่รักในหลวงไม่ใช่คนไทย”
ที่ผมบอกว่าความรักชนิดนี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือเพราะว่าความรักประเภทนี้ถูก ใช้ในการลงโทษคนคิดต่างมากที่สุดในการเมืองไทยมาโดยตลอดผ่านประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา 112 ที่ระบุว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริ์ย พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี” ด้วยมาตราโทษนี้เอง ที่นำไปสู่การปราบปรามผู้ที่มีความคิดเห็นต่างมากมายทั้งใน facebook, งานวิชาการ จนรวมไปถึงการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศ ที่ล้วนห้ามพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย (แม้กระทั่ง sms ส่วนตัวที่ถูกส่งโดยมือถือของลุงแก่คนหนึ่ง ก็ยังถูกศาลตัดสินถึง20ปี)
มาตราฐานของกระบวนการทางกฎหมายที่ก้าวไม่พ้นการเลิกตัดสินคนผ่านความคิด อันล้าหลังที่เปรียบได้กับความยุติธรรมในยุโรปยุคกลาง กลับยิ่งสร้างความเกลียดชังในสังคมไทย จนยากที่จะหาจุดร่วมกันบนฐานของข้อเท็จจริงได้ เพราะ ความรักที่มีกฎหมายคุ้มครองชนิดนี้ไม่เปิดโอกาสให้คนได้แสดงออกในความคิด เห็นที่แตกต่างออกไปจากจารีตของสังคม
ผมจึงมองว่าความเกลียดชังที่สังคมได้สร้างขึ้นนั้น มาจากการบูชาความรักที่ขาดแคลนการยอมรับในความคิดเห็นที่แตกต่าง ความเกลียดชังนี้จึงเป็นภาพสะท้อนของสังคมไทยที่ขาดแคลนปัจจัยพื้นฐานของ ระบอบประชาธิปไตย และความเสมอภาคของเพื่อนมนุษย์อย่างเท่าเทียม