(ที่มา มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 11 ตุลาคม 2554)
เพราะตลอดระยะเวลา 1 เดือนเต็มๆ คงต้องบอกว่ารัฐบาลของนายกฯยิ่งลักษณ์ วิ่งตามปัญหาไม่ทัน
กล่าวคือ ยังเกิดอาการลนๆ ในการแก้ไขปัญหา ปล่อยมือให้ข้าราชการประจำทำ ซึ่งก็สามารถแก้ได้เฉพาะบางจุดที่เป็น "ขอบเขตอำนาจ" เท่านั้น
ฉะนั้น การตั้ง ศปภ.ขึ้นมา นอกจากจะมีเป้าหมายในการระดมแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในระยะสั้นแล้ว การแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืน เป็นรูปธรรม ก็เป็นสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการ ประกาศเป็น "วาระแห่งชาติ" เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว
เพราะหากวิเคราะห์ปัญหาที่ทำให้เกิดน้ำท่วมในเมืองไทยที่กำลังประสบกันอยู่ก็จะพบว่า มาจากสาเหตุต่างๆ หลายประการ
ทั้ง ปริมาณฝนที่ตกหนักถึงหนักมากติดต่อกันในช่วงฤดูฝน เนื่องจากไทยตั้งอยู่ในเขตมรสุม มีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือสลับกันพัดผ่านเกือบ ตลอดปี
อิทธิพลของลมมรสุมทั้งสองได้ก่อให้เกิดผลต่างกัน
นอก จากฝนที่เกิดจากลมมรสุมทั้งสองแล้ว ยังมีอิทธิพลอื่นๆ ที่เข้ามาข้องแวะในแต่ละปีอีก เช่น อิทธิพลร่องความกดอากาศ (Through) อิทธิพลพายุหมุน หรือหย่อมความกดอากาศต่ำ (Depression) ซึ่งมักเกิดขึ้นช่วงฤดูฝน
เมื่อผสมรวมกันจึงทำให้ฝนตกต่อเนื่องโดย เฉลี่ยประมาณ 1,500 มิลลิเมตรต่อปี และเป็นสาเหตุหรือที่มาของการเกิดน้ำหลาก น้ำท่วมอย่างรุนแรง
นอกจาก นั้น ยังพบการขยายตัวของชุมชนเมือง โดยขาดการวางแผนวางผังเมืองที่เป็นระบบ การถมที่สร้างบ้านจัดสรรหรือขยายเมืองไปในทิศทางที่ต่ำหรือที่ลุ่ม
นี่คือ "ปัญหา" ที่นอกเหนือจากการตัดไม้ทำลายป่า
ปัญหาทั้งหมด หากปล่อยให้ดำรงอยู่และดำเนินเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ แน่นอนว่าความรุนแรงและความเสียหายก็จะซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
หรือหากจะปล่อยให้แต่ละฝ่ายแต่ละหน่วยงาน เช่น จังหวัด อบต. หรือเทศบาลที่ประสบปัญหาต่างไปดำเนินการกันเองก็คงไม่สำเร็จ
เพราะอาจทำให้เกิดการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินอย่างไม่คุ้มค่า ก่อให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่อื่นๆ อย่างคาดไม่ถึง
เนื่อง จากปัญหาน้ำแตกต่างจากปัญหาอื่น ตรงที่ไม่สามารถแก้ไขแบบเฉพาะจุดได้ เพราะลำน้ำมีความยาวและไหลผ่านพื้นที่หรือชุมชนต่างๆ ต่อเนื่องกันไป
แน่นอนว่า ครั้งนี้คงไม่สามารถทำอะไรได้มากกว่าการเยียวยาผู้ประสบภัย
อนาคต นายกฯยิ่งลักษณ์ ต้องมองให้ออกว่าจะ "แก้เกม" น้ำท่วมในปีต่อๆ ไปอย่างไร
ในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เคยมีการประสานกับประเทศต่างๆ ที่เป็นพันธมิตร ไม่ว่าจะเป็นรัสเซีย เยอรมนี นำเทคโนโลยีและความรอบรู้ในการบริหารจัดการนำเข้ามาแก้ไขปัญหา แลกกับสินค้าเกษตร ในรูปแบบ จีทูจี
แต่ก็ไม่ถึงฝั่ง เพราะเกิดการปฏิวัติเสียก่อน
การ ป้องกันปัญหาใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เป็นไปได้หรือไม่ที่จะยกร่างกฎหมายออกประกาศเป็นพระราชกฤษฎีกา เพื่อกันเขตแม่น้ำสายสำคัญๆ ซึ่งในประเทศไทยมีอยู่ 25 ลุ่มน้ำ เหมือนการเวนคืนที่เพื่อสร้างถนน
โดยเฉพาะบริเวณที่ราบลุ่มสองฝั่ง แม่น้ำหรือย่านชุมชนที่คาดว่าจะมีการขยายตัวในอนาคต และมีโอกาสเกิดน้ำหลากล้นตลิ่งเข้าไปท่วมได้ ส่วนความกว้างวัดจากแม่น้ำออกไปสุดแนวเขตเป็นระยะเท่าใดขึ้นอยู่กับความ เหมาะสมของแต่ละพื้นที่ไป
โดยกำหนดให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตที่ยอมให้น้ำหลากท่วมได้
หรือจะเรียกว่าพื้นที่ควบคุมน้ำท่วม
นอก จากนั้น ควรก่อสร้างแนวคันดินกั้นน้ำที่มีความสูงเหนือระดับน้ำหลากสูงสุดตามแนวเขต พื้นที่ควบคุมที่ประกาศเพื่อป้องกันน้ำมิให้น้ำหลากท่วมพื้นที่ภายนอก
ให้ มีการบังคับใช้กฎหมายควบคุมสิ่งปลูกสร้างที่จะเกิดขึ้นใหม่ในพื้นที่ควบคุม อาทิ หากใครจะปลูกสร้างอาคารบ้านเรือนในพื้นที่ริมน้ำ จะต้องยกพื้น มีใต้ถุนสูงพ้นระดับน้ำหลากสูงสุดที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ห้ามถมดินเพื่อก่อสร้างโดยเด็ดขาด เพื่อไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม
นอก จากนั้น อาจต้องมีมาตรการอื่นเข้ามาช่วยเสริม ได้แก่ การเร่งก่อสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำที่มีน้ำท่วมซ้ำซาก การก่อสร้างฝายแบบขั้นบันไดเพื่อเป็นแก้มลิงชะลอการหลากในพื้นที่เสี่ยงภัย ฯลฯ
จริงอยู่ การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่จะให้ได้ผล 100 เปอร์เซ็นต์ คงยาก เพราะต้องยอมรับสภาพความจริงก่อนว่าการขยายตัวอย่างกระจัดกระจายและขาดการ วางแผนของชุมชนเมืองตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทำให้การตามแก้ปัญหายุ่งยาก ไม่แตกต่างจากการแก้ปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ
แต่กระนั้นคงจะดีกว่าที่เราจะไม่ยอมลุกขึ้นมาหาทางป้องกันหรือทำอะไรเลย