โดย นวลน้อย ตรีรัตน์
(คอลัมน์ ดุลยภาพ ดุลยพินิจ หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 12 ตุลาคม 2554)
มี ข้อถกเถียงกันอย่างมากมายถึงงบประมาณทหารที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน หลังการรัฐประหาร 2549 บทความนี้มุ่งให้เกิดข้อถกเถียงเกี่ยวกับความเหมาะสมของงบประมาณทหาร โดยการนำเสนอข้อมูลของงบประมาณทหารในมิติต่างๆ
1.งบประมาณทหารทั่ว โลก เมื่อนำงบประมาณทางการทหารของทั้งโลกมารวมกัน พบว่า สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ใช้งบประมาณการทหารสูงที่สุดของโลก โดยคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 42.8 ของงบประมาณทหารรวมกันทั้งโลก จีนเป็นอันดับสองร้อยละ 7.3 ตามด้วยอังกฤษ ฝรั่งเศส และรัสเซีย ที่ประมาณประเทศละร้อยละ 3.7
และเมื่อรวม 2 ประเทศยักษ์ใหญ่คือสหรัฐอเมริกาและจีนเข้าด้วยกัน งบประมาณของทั้ง 2 ประเทศก็มากถึงร้อยละ 50 ของงบประมาณทางทหารของทั้งโลก
2.ศักยภาพทาง การทหาร จากรายงานการประเมินศักยภาพทางทหารในปี 2554 ที่เสนอในเว็บไซต์ Globalfirepower.com โดยใช้ปัจจัยต่างๆ รวม 45 ปัจจัย โดยปัจจัยเหล่านี้นอกจากปัจจัยทางทหาร ได้แก่ กำลังพล และอาวุธยุทโธปกรณ์ แล้วยังนำปัจจัยทางเศรษฐกิจ ประชากร โครงสร้างพื้นฐาน ทรัพยากร และข้อมูลทางภูมิศาสตร์ มาประกอบการพิจารณาด้วย
สำหรับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินโดนีเซียอยู่อันดับสูงสุดคือลำดับที่ 18 ของโลก
ตามด้วย ไทยอันดับที่ 19 ฟิลิปปินส์ อันดับที่ 23 มาเลเซีย 27 และสิงคโปร์ อันดับที่ 41 โดย 10 อันดับแรกของโลกคือ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย จีน อินเดีย อังกฤษ ตุรกี เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และอิสราเอล
3.สัดส่วนงบประมาณทหาร/GDP ในปี 2010 เมื่อพิจารณาการจัดสรรงบประมาณให้กับกิจกรรมทางทหารจากผลผลิตของประเทศ โดยดูจากสัดส่วนงบประมาณทหาร/GDP พบว่าสัดส่วนงบประมาณทางทหาร/GDP ของประเทศไทยอยู่ในช่วงเดียวกันกับ อิตาลี อินเดีย บราซิล ออสเตรเลีย อัฟกานิสถาน โปแลนด์ อิหร่าน และมาเลเซีย
และเมื่อพิจารณาข้อมูลทั้งหมดจะเห็นได้ว่าสัดส่วนการจัดสรรงบประมาณทหาร ไม่ได้ขึ้นอยู่กับระดับการพัฒนาเศรษฐกิจหรือรายได้ต่อหัวประชากรแต่อย่างใด เพราะประเทศในยุโรปจำนวนมาก เช่นเยอรมนี เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน เบลเยียม เดนมาร์ก และฟินแลนด์ มีสัดส่วนการจัดสรรงบประมาณทหารน้อยกว่าร้อยละ 1.5 แต่อังกฤษ และฝรั่งเศส มีสัดส่วนการจัดสรรที่สูงกว่ามาก
4.เปรียบเทียบกับงบประมาณทหารในกลุ่มประเทศอาเซียนเก่า (6 ประเทศ) เมื่อพิจารณาการจัดสรรงบประมาณทางทหารต่อ GDP ในกลุ่มประเทศอาเซียนดั้งเดิม 6 ประเทศ พบว่าสิงคโปร์มีการจัดสรรสูงที่สุด ตามด้วย บรูไน มาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
โดยเมื่อพิจารณาการจัดสรรจะพบว่า สัดส่วนของไทยและมาเลเซียใกล้เคียงกัน ที่ประมาณร้อยละ 2 ขณะที่อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ มีระดับการจัดสรรประมาณร้อยละ 1 และเมื่อพิจารณาแนวโน้มจะพบว่าใน 4 ประเทศ (ไม่รวมสิงคโปร์และบรูไน ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเล็กทั้งพื้นที่และจำนวนประชากร) มีเฉพาะประเทศไทยเท่านั้นที่มีแนวโน้มการจัดสรรงบประมาณที่เพิ่มมากขึ้น
5.เปรียบ เทียบกับงบประมาณทหารในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน (อาเซียนใหม่ 4 ประเทศ) เมื่อเปรียบเทียบการจัดสรรงบประมาณทางทหารของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน อาเซียนใหม่ทั้ง 4 ประเทศก็จะพบว่า ลาว กัมพูชา มีสัดส่วนการจัดสรรงบประมาณทางทหารที่ลดลงอย่างรวดเร็ว (พม่าก็มีแนวโน้มเช่นเดียวกัน แต่ข้อมูลของพม่ามีแค่ถึงปี 2545) ของประเทศไทยก็มีแนวโน้มที่ลดลงจนถึงปี 2549 ที่งบประมาณทหารเพิ่มมากขึ้น
จาก ข้อมูลดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าการจะหาตัวแปรที่ชัดเจนมากำหนดการจัดสรรงบประมาณที่เหมาะสมเป็น เรื่องยาก เพราะงบประมาณทหารขึ้นอยู่กับประเด็นในเชิงยุทธศาสตร์หรือนโยบายของรัฐ ความต้องการเตรียมความพร้อม การประเมินภัยคุกคาม และความยอมรับของประชาชนที่เป็นเจ้าของทรัพยากรของประเทศ