ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Monday, 31 October 2011

ยิ่งน้ำท่วมสูง ความขัดแย้งทางอุดมการณ์ยิ่งปรากฎสู่ผิวหน้า

ที่มา Thai E-News

ไม เคิล มอนเตซาโน นักวิจัยประจำสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาแห่งสิงคโปร์ เขียนบทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำท่วมไทยว่า ยิ่งอุทกภัยครั้งนี้รุนแรงขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งเผยให้เห็นถึงความขัดแย้งทางอุดมการณ์ในไทย ระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนอุดมการณ์ประชาธิปไตย และ ‘อุดมการณ์จารีตนิยมแบบเก่า’ ในสังคมที่ยิ่งชัดเจนขึ้นเท่านั้น

โดย ไมเคิล มอนเตซาโน
ที่มา The JakartaGlobe
แปลโดย นักแปลอิสระ


As the Floodwaters Rise in Thailand, an Ideological Debate Comes to the Surface-ยิ่งน้ำท่วมสูง ความขัดแย้งทางอุดมการณ์ยิ่งปรากฎสู่ผิวหน้า

ภัยพิบัติน้ำท่วมที่ดำเนินอยู่ในขณะนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนอย่างมาก ทั้งในแง่ของขนาดและผลกระทบ มันนำมาซึ่งโศกนาฏกรรมในประเทศไทย ที่อาจจะยังเข้าใจได้ยากในหลายมิติ

งานหลายแสนตำแหน่งตกอยู่ในความเสี่ยง และผู้คนหลายล้านคนที่พึ่งพิงอยู่กับการมีงานทำของคนงานเหล่านี้ ก็เผชิญกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ

มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 350 คนจากอุทกภัยครั้งนี้ และคาดการณ์ว่าโรคต่างๆ ที่มาพร้อมน้ำท่วม เช่น ท้องร่วง ไทฟอยด์ ฉี่หนู และโรคติดเชื้อทางผิวหนัง จะมาซ้ำเติมวิบัติดังกล่าวให้แย่ลงไปอีกในอีกหลายอาทิตย์และหลายดือนที่จะมา ถึง

คาดว่า รัฐบาลไทยน่าจะต้องใช้เงินจำนวนหลายพันล้านดอลลาร์ในการจัดการบ้านเมืองหลัง อุทกภัย ทั้งในการทำความสะอาด กู้ภัย และซ่อมแซมก่อสร้างใหม่

แต่วิธีในการจัดการจะเป็นอย่างไร ใช้เวลานานแค่ไหน และนักลงทุนต่างชาติจะมีความเชื่อมั่นหรือไม่ในการกลับมาลงทุนในนิคม อุตสาหกรรมบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น อยุธยา ก็เป็นเรื่องที่ต้องดูกันต่อไป

ทั้งหมดนี้ก็แย่พออยู่แล้ว หากแต่การรายงานของสื่อไทยเรื่องน้ำท่วม ได้ละเลยถึงมิติที่สำคัญมากที่เกี่ยวกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่

ปัญหาอุทกภัยครั้งนี้ ได้จุดประเด็นการช่วงชิงอำนาจทางการเมืองและทางอุดมการณ์เกี่ยวกับบทบาทของ สถาบันกษัตริย์ไทย โดยสภาวะการช่วงชิงนี้ เห็นได้จากหลายประการ

ประการแรก เกี่ยวกับบุคคลผู้สำแดงความเป็นผู้นำเชิงสัญลักษณ์ในภาวะวิกฤติ เมื่ออาทิตย์ที่สองของเดือนสิงหาคม นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เดินทางเยี่ยมพื้นที่ในจังหวัดสุโขทัย อุตรดิษถ์ แพร่ และน่าน ซึ่งนับเป็นการปรากฏตัวอย่างชัดเจนของเธอต่อสาธารณะหลังจากเข้ารับตำแหน่ง


ในช่วงแรกของการเข้าเยี่ยมจังหวัดเหล่านั้น เธอถูกจับภาพในขณะเดินลุยน้ำในรองเท้าบู้ตยาง ซึ่งในขณะที่การกระทำเช่นนี้ของผู้นำรัฐบาลในประเทศอื่นๆ เป็นเรื่องที่ปกติและสมควร แต่ในบริบทของประเทศไทย มันกลับแปลได้เป็นความหมายอื่น

เนื่องจากในหลายทศวรรษที่ผ่านมา ผู้นำประเทศที่ประชาชนไทยคุ้นชินกับการเดินทางเยี่ยมประชาชนในต่างจังหวัด คือ พระมหากษัตริย์ แต่ในวันนี้ พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้มาถึงพระชนมมายุที่ไม่อาจทรงทำการเช่นนั้นได้อีกแล้ว

และในขณะเดียวกัน พระบรมวงศานุวงศ์รุ่นถัดมา คือราชโอรส ราชธิดา และราชนัดดานั้น ก็เลือกที่จะเดินในสายอื่นมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นการวิจัยวิทยาศาสตร์ การบินทางทหาร งานวิชาการ วรรณกรรม ดนตรี แฟชั่น และกฏหมาย ไม่มีใครเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของชนบทไทยมากเท่าพระมหากษัตริย์องค์ ปัจจุบันอีกแล้ว

ในแง่หนึ่ง การแสดงความเป็นผู้นำของยิ่งลักษณ์ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานั้น นับว่าเป็นมิติที่น่ายินดี เพราะมันแสดงให้เห็นว่าผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งของประเทศนั้น พร้อมที่จะแบกรับความรับผิดชอบในยามที่ประเทศอยู่ในภาวะวิกฤติ

หากแต่ในอีกแง่หนึ่ง มันนำเสนอภาพที่อาจจะขัดหูขัดตาต่อชาวไทยที่คุ้นชินกับสถานะของอำนาจเก่าที่ดำรงอยู่อย่างยาวนานในประเทศของตนเอง

ประการถัดมา เหตุการณ์ต่างๆ นับวันจะยิ่งเป็นการเมืองมากขึ้น กล่าวคือ ประชาชนไทยที่ไม่ยอมรับชัยชนะของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งเดือนกรกฎาคมที่ ผ่านมา ได้พยายามเอาภาวะยากลำบากที่รัฐบาลต้องประสบ มาฉวยประโยชน์ใช้ในทางการเมือง

พวกเขาวิจารณ์ว่านายกรัฐมนตรีทำงานเพื่อเอาหน้ามากกว่าที่จะหามาตรการที่มี ประสิทธิภาพเพื่อแก้วิกฤติ และอ้างว่ายิ่งลักษณ์มัวแต่ดำเนินนโยบายที่ส่งเสริมแต่พรรคพวกของตัวเอง มากกว่าจะมาจัดการกับภัยพิบัติน้ำท่วมที่กำลังถาโถมสู่ประเทศอย่างไม่หยุด หย่อน

พวกเขายังได้ถือโอกาสใช้จังหวะความสับสนวุ่นวายมาโจมตีรัฐบาลซ้ำ หลังจากที่น้ำไหลเข้าท่วมศูนย์บรรเทาภัยพิบัติที่ดอนเมือง

ข้อวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าว ไม่ว่าจะถูกต้องหรือไม่ก็ตาม นับเป็นเรื่องปรกติสำหรับประเทศที่มีวัฒนธรรมทางการเมืองที่เป็นไปตามมีตาม เกิดเช่นประเทศไทย

แต่ในกรณีนี้ การวิจารณ์มีอีกนัยยะหนึ่งโดยเฉพาะในอินเตอร์เน็ต ซึ่งพาดพิงถึงยิ่งลักษณ์ว่า เธอล้มเหลวในการนำภูมิปัญญาและความเชี่ยวชาญของพระมหากษัตริย์ในด้านการ จัดการน้ำมาปรับใช้ หรืออย่างน้อย ก็ไม่ใช้ภูมิปัญญาดังกล่าวอย่างเพียงพอ ดังนั้น จึงนับเป็นการแสดงความไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์

ส่วนชาวไทยที่อยู่ฝั่งเสื้อเหลืองและต่อต้านทักษิณนั้น ก็ได้พยายามบอกกล่าวต่อๆ กันในอินเตอร์เน็ตว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้จัดตั้งศูนย์รับมือภัยพิบัติอีกแห่งหนึ่ง เพื่อรับมือกับปัญหาน้ำท่วม

และในการพิสูจน์หลักฐานดังกล่าว พวกเขาก็ได้เผยแพร่รูปของในหลวงที่กำลังประชุมอยู่กับเจ้าหน้าที่กลุ่มหนึ่ง ซึ่งกำลังกางแผนที่อยู่อย่างขะมักเขม้น

อย่างไรก็ตาม ปรากฎว่า ภาพถ่ายดังกล่าว มาจากรายงานข่าวโทรทัศน์ตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งในหลวงกำลังมีพระราชดำรัสกับผู้บริหารของโรงพยาบาล (ศิริราช) ซึ่งพระองค์ยังคงประทับอยู่ เพื่อหารือการสร้างถนนและการระบายน้ำในบริเวณรอบโรงพยาบาล

ธรรมชาติของการโจมตีเช่นนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของฝ่ายต่อต้านทักษิณและต่อต้านเสื้อแดงในการ เมืองไทย ที่ยังยืนกรานกล่าวหาฝ่ายตรงข้ามว่าไม่จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ และสิ่งที่มาเสริมน้ำหนักการโจมตีดังกล่าวให้หนักแน่นยิ่งขึ้น ก็เห็นจะเป็นความสนพระทัยในเรื่องการจัดการน้ำของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ หัวที่มีมาอย่างยาวนาน

และบางที ยิ่งลักษณ์ก็ชิงป้องกันการโจมตีดังกล่าว ด้วยการเข้าเฝ้ากับในหลวงในปลายเดือนกันยายน เพื่อรายงานสถานการณ์ของรัฐบาลในการจัดการน้ำท่วม และปรึกษากับพระองค์ในเรื่องมาตรการต่างๆ

ประการที่สาม วิกฤติการณ์น้ำท่วม ซึ่งแสดงถึงการช่วงชิงทางอุดมการณ์เหนือสถาบันกษัตริย์ ใน หลายแง่มุมแล้ว เป็นเรื่องที่อันตรายที่สุด เนื่องจากมันเกี่ยวข้องโดยตรงกับความสนพระทัยที่ยาวนานในการจัดการน้ำของ พระองค์ รวมถึงการมีส่วนในการจัดการทรัพยากรน้ำด้วย

พระมหากษัตริย์ได้ทรงเสนอแนวคิดต่างๆ เกี่ยวกับทรัพยากรน้ำหลายครั้งผ่านพระราชดำรัสวันคล้ายพระราชสมภพของพระองค์ เขื่อนใหญ่ๆ ในภาคเหนือของไทยตั้งชื่อตามพระนามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ในขณะที่เขื่อนในภาคอีสานก็ตั้งชื่อตามราชธิดาทั้งสามพระองค์

นอกจากนี้ กรมชลประทานยังเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 60 พระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในปีพ.ศ. 2530 ด้วยการตีพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับการพัฒนาทรัพยากรน้ำ ซึ่งจัดทำโดยผู้อำนวยการของกรมชลฯ ในขณะนั้น ผู้ซึ่งภายหลังได้มาเป็นที่ปรึกษาในพระองค์เรื่องการจัดการน้ำ

ในปีพ.ศ. 2549 มีการจัดงานเฉลิมฉลองการครองราชย์ครบ 60 ปี และจัดบรรยายพิเศษในหัวข้อ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพลังงานน้ำ”

และในปีเดียวกัน หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ยังได้ตีพิมพ์รูปถ่ายที่มีคำบรรยายใต้ภาพว่า
“ในช่วงที่พระองค์เล่นอยู่ในป่าสวิสฯ ตอนเป็นเด็ก พระองค์ทรงแสดงความสนใจเรื่องการจัดการน้ำด้วยการสร้างเขื่อนจำลองด้วยดินเหนียว”

นอกจากนี้ ในธนบัตรราคาหนึ่งพันบาท ยังแสดงรูปภาพของในหลวงที่อยู่หน้าเขื่อนแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นเขื่อนที่พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์อยากให้สร้าง โดยใช้ข้อความที่ตรงไปตรงมาอย่างไม่ธรรมดาในพระราชดำรัสวันคล้ายวันราชสมภพ ของพระองค์ในปี 2536

สมิทธ ธรรมสโรช อดีตอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกมาพูดเร็วๆ นี้ว่า วิกฤติการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้น สะท้อนความไม่มีประสิทธิภาพในการจัดการน้ำของประเทศไทย และในหมู่คนไทยตอนนี้ ก็มีความเข้าใจมากขึ้นว่า ปัจจัยระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการแปรสภาพของพื้นที่ลุ่มน้ำและพื้นที่รับน้ำ การเจริญเติบโตของเมือง และการทำอุตสาหกรรม รวมถึงการจัดการน้ำของข้าราชการที่ไม่ยืดหยุ่น และการขาดความรู้ในการจัดการเขื่อน ต่างเป็นสาเหตุที่ชัดเจนของภัยพิบัติครั้งนี้ มากกว่าที่จะโทษเพียงปริมาณน้ำฝนที่มีมากในช่วงเดือนที่ผ่านมา

เหล่าผู้สังเกตการณ์การเมืองไทยมีข้อกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ จะมาเชื่อมโยงกับความสนพระทัยส่วนพระองค์ในด้านการจัดการน้ำ และอิทธิพลของพระองค์เหนือการจัดการทรัพยากรน้ำ

หลายคนกังวลว่า ความขัดแย้งทางอุดมการณ์ในเรื่องนี้ อาจนำไปสู่สิ่งที่มีพลานุภาพทำลายล้างมากพอๆ กับภัยพิบัติน้ำท่วมในครั้งนี้ได้ทีเดียว

******
รายงานเกี่ยวเนื่อง

-ร้าวลึกการเมืองเรื่องน้ำท่วมนับถอยหลังพังกันไปข้าง

-สื่อฝรั่งเศส:น้ำท่วมไทยและอุทกรัฐประหาร