ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Monday, 12 September 2011

เวทีนี้ไม่มี “มิดะ”

ที่มา ประชาไท

เมื่อ ค่ำคืนวันที่ 3 กันยาฯ ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปร่วมงานรำลึกครบรอบ “60 ปีเกิด 10 ปีจาก...จรัล มโนเพ็ชร” ศิลปินยิ่งใหญ่ของล้านนาที่ข่วงประตูท่าแพ (จ.เชียงใหม่) มาครับ ปีนี้จัดใหญ่กว่าทุกปี นอกจากเวทีแสดงก็ยังมีส่วนที่เป็นนิทรรศการบอกเล่าชีวิตและผลงานของจรัล รวมถึงซุ้มจำหน่ายของที่ระลึก หนังสือ และซีดีเพลงของเขา แต่ปลอดเหล้า-เบียร์ทุกชนิดนะครับ เนื่องด้วยมีผู้สนับสนุนหลักคือ สสส.

น่าดีใจครับ มีคนไปร่วมงานค่อนข้างเยอะมาก คงมีศิลปินในเมืองไทยน้อยคนเต็มทีที่ยังอยู่ในใจผู้คนได้ขนาดนี้ แม้จรัลจะจากโลกนี้ไปนานร่วม 10 ปีแล้วก็ตาม เท่าที่พอนึกออกตอนนี้เห็นจะมีมิตร ชัยบัญชากับพุ่มพวง ดวงจันทร์เท่านั้นแหละครับ
สำหรับผมและคนรุ่นเดียวกันหลายๆ คน หากจะบอกว่าโตมากับเพลงของจรัลก็คงไม่ผิดนัก จุดเด่นของเขาก็คือการเอาคำเมืองมาประยุกต์เข้ากับดนตรีโฟล์กซองของตะวันตก เพลงที่ติดหูจนร้องตามได้เลยตั้งแต่เด็กก็อย่างสาวมอเตอร์ไซค์, พี่สาวครับ, บ้านบนดอย แต่เพลงที่ทำให้ผมเริ่มสนใจและชื่นชมเขาจริงจัง ไม่ใช่เพลงกลุ่มนี้ (ซึ่งออกแนว ‘ตลาด’ ตามภาษาที่ใช้ในยุคนี้) แต่เป็นเพลงชื่อสั้นๆ ที่ผมเพิ่งมาได้ยินเอาครั้งแรกเมื่อตอนเข้าเรียนมหาลัยแล้ว เพลงที่ว่าคือเพลง มิดะ ยอม รับเลยครับว่าประทับใจแรกตรงท่วงทำนองที่ไพเราะกับเสียงร้องที่มีเสน่ห์ของ จรัล โดยที่ยังไม่ทันได้ตั้งใจฟังเนื้อเพลงเท่าใด แต่เมื่อได้ฟังซ้ำหลายๆ รอบก็เริ่มชอบเนื้อหา แต่ก็ยังไม่ได้คิดถึงขนาดว่ามันจริงหรือไม่จริง ผมชอบจรัลที่กล้าจะแต่งเพลงที่ไม่ใช่เพลงรักหนุ่ม-สาวที่ถือเป็นกระแสหลัก (กระแสเดียว) ของวงการเพลงไทยในทุกยุคทุกสมัยออกมา
หลังจากนั้นผมก็เริ่มรู้จักเรื่องราวของคนเล็กๆ ที่เขาได้พบเห็นอย่างลุงต๋าคำ อุ้ยคำ ฯลฯ ไปจนถึงภาพชีวิตของชนชั้นสูงล้านนาที่มีทั้งความเป็นประวัติศาสตร์ และตำนานปะปนกัน ผ่านบทเพลงมะเมี๊ยะ น้อยใจยา ฯลฯ จรัลร้องเพลงพวกนี้เหมือนผู้ใหญ่กำลังนั่งเล่านิทานให้เด็กฟัง มันคือบทเพลงแบบบัลลาด (ballad) ถ้าเป็นภาพยนตร์ก็คงออกแนวกึ่งๆ สารคดี (semi-documentary film) นอกจากนี้เพลงของจรัลยังทำหน้าที่บอกเล่าถึงอัตลักษณ์ของล้านนา และความเปลี่ยนแปลงในท้องถิ่นอีกมิใช่น้อย เช่น ของกิ๋นคนเมือง ผักกาดจอ อาขยานล้านนา ล่องแม่ปิง ฯลฯ
ที่ผมเล่ามาเสียยืดยาวก็เพื่อจะบอกว่าในสังคมที่เราเชื่อใน “ความเป็นไทย” แบบหนึ่งเดียวมาอย่างยาวนานนั้น จรัลคือ “คนเมือง”[1] เพียงไม่กี่คนที่สามารถทำให้ผู้คนทั้งประเทศรู้จักและเริ่มเข้าใจ “ความเป็นท้องถิ่น” ว่าแท้จริงแล้วมีสีสัน หลายหลาก และน่าหวงแหนเพียงใด หลายคนถึงกับยกย่องให้เขาเป็น นักรบทางวัฒนธรรม กระทั่งเป็น แก้วก๊อล้านนา (หรือเปรียบดั่งเพชรล้ำค่าของชาวล้านนา) เลยทีเดียว
ยังมิพักเอ่ยถึงเพลงของเขาในภาษากลางที่หลายต่อหลายเพลงโด่งดัง และได้รับความนิยมถึงขีดสุด ไม่ว่าจะเป็นรางวัลแด่คนช่างฝัน คิดถึงบ้าน เป็นต้น ในสายตาผม จากผลงานระยะหลังๆ ที่จรัลอยู่กรุงเทพฯ ผมว่าเขาได้กลายเป็นศิลปินแห่งชาติอีกคนไปแล้วโดยไม่รู้ตัว
แต่ระหว่างที่กำลังชมศิลปินมากหน้าหลายตาที่ส่วนใหญ่เป็นคนเมือง ที่ดังๆ หน่อยก็สุนทรี เวชานนท์ ไม้เมือง ปฏิญญา ตั้งตระกูล สลับสับเปลี่ยนกันขึ้นร้องอยู่ ปรากฏว่ามีศิลปินชายคนหนึ่งประกาศว่าจะขอเล่นเพลงมิดะ เท่านั้นแหละครับ ทีมงานรอบเวทีเป็นที่ตื่นตระหนกตกใจกันทั่วหน้า ไม่ทันไรพิธีกรหญิง และคุณมานิด อัชวงศ์ ประธานมูลนิธิส่งเสริมศิลปินล้านนา หัวเรือใหญ่ของงาน ก็ถึงกับต้องขึ้นมาบนเวทีเพื่อกล่าวขอโทษศิลปิน และผู้ชมที่ไม่อาจจะให้ร้องเพลงนี้ได้ ด้วยเหตุผลเนื่องจากมีกระแสข่าวเกี่ยวกับเพลงมิดะ อย่างที่รู้กัน (?) เป็นอันว่าคืนนั้นผมอดฟังมิดะที่นั่นครับ
จากนั้นผมก็มุ่งตรงกลับบ้าน โดยก่อนที่จะถึงบ้านจะผ่านร้านสายหมอกกับดอกไม้ของคุณอันยา โพธิวัฒน์ คนข้างกายของจรัลในช่วงท้ายของชีวิต ก็เลยขอลองแวะสังเกตการณ์ซักครู่ บรรยากาศที่ร้านนี้เป็นไปตรงข้ามกันเลยครับ มีทั้งเหล้าเบียร์บริการ กลิ่นบุหรี่คละคลุ้ง มีจัดนิทรรศการเล็กๆ รำลึกถึงสิทธิพงษ์ กลยาณี หรือแซม ผู้สื่อข่าวและช่างภาพผู้เชี่ยวชาญด้านพม่าที่เสียชีวิตในวันเดียวกันนี้ เมื่อปีที่แล้ว แต่ที่น่าสนใจกว่าคือที่นี่ร้องเพลงมิดะได้ (แต่ผมมาไม่ทันได้ฟังนะครับ) ยิ่งไปกว่านั้นคือยังมีการเปิดตัวหนังสือ ภารกิจปิดฝังมิดะ[2] อีกด้วย
พอได้ลองพลิกอ่านก็เลยถึงบ้างอ้อครับผม เรื่องของเรื่องก็มีอยู่ว่าช่วงต้นปีที่ผ่านมาได้มีแถลงการณ์ของนายอาจู จูเปาะ ประธานชมรมอาข่าในประเทศไทย และมีการจัดเสวนาทางวิชาการขึ้นอีกหลายครั้ง แต่คราวที่เป็นที่ตกเป็นกระแสในสื่อหลักหลายแขนงนั่นคือการเสวนา เรื่อง “มายาคติอาข่าในสังคมไทย คลายปมมิดะและลานสาวกอด” เมื่อปลายเดือนมกราฯ ที่จัดโดยโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง[3]
สรุปสั้นๆ จากคำพูดของนายอาจูได้ว่า “…แท้จริงแล้ว มิดะหรือในภาษาอาข่าอ่านออกเสียงว่า หมี่ดะ หมายถึงหญิงสาวบริสุทธิ์ที่ยังไม่เคยผ่านการแต่งงานมาก่อน และในสังคมชาวอาข่าไม่เคยมีผู้หญิงที่มีหน้าที่สอนเรื่องเพศให้แก่หนุ่มสาว เช่นนี้ ขณะที่ลานสาวกอดโดยความเป็นจริงแล้วชาวอาข่าไม่มีสถานที่แบบนี้เลย มีแต่บริเวณลานดินที่ใช้สำหรับร้องเพลงตามประเพณีเรียกว่า “แดข่อง” และเป็นสถานที่สำคัญที่หมู่บ้านอาข่าทุกหมู่บ้านจะต้องมี โดยมีลักษณะเป็นลานดิน ชาวบ้านจะนำท่อนไม้มาวางต่อกันเป็นวงกลมรอบๆ ลานแล้วหนุ่มสาวตลอดจนคนทุกวัยสามารถมาร่วมกันใช้สถานที่นี้เพื่อร้องรำทำ เพลงตามประเพณีได้…”[4]
และผลสืบเนื่องของแถลงการณ์ฉบับนี้ ทำให้เพลง มิดะ ได้กลายสภาพเป็นเพลง ‘ต้องห้าม’ ในทางสาธารณะไปในที่สุด มีหลายคราหลังจากนั้นที่มีข่าวว่าศิลปินขึ้นเวทีร้องเพลงมิดะแล้วได้ถูกชาว อาข่าต่อว่าต่อขานทันที ส่วนตัวผมเห็นว่าเป็นสิทธิโดยชอบของชาวอาข่าอยู่แล้วที่จะทำได้ด้วยการออกมา ชี้แจงทำความเข้าใจกับสังคมถึงความคลาดเคลื่อนของข้อมูลที่จรัลใช้ในการแต่ง เพลงๆ นี้ ซึ่งข้อมูลที่ว่าก็น่าจะนำมาจากหนังสือ 30 ชาติในเชียงราย[5] ของบุญช่วย ศรีสวัสดิ์ แต่มีบางคนพยายามโต้แย้งแทนให้ว่าข้อมูลนี้เป็นเรื่องจริง แต่มาจากเรื่องราวของชุมชมอาข่า (หรือชนเผ่าอีก้อแบบที่คนเมืองเรียก) แบบเก่าแก่ดั้งเดิมที่อาจพอจะมีหลงเหลือให้เห็นกันอยู่บ้างในแถบประเทศ เพื่อนบ้าน เช่น พม่า ลาว ขณะที่กลุ่มคนอาข่าที่อพยพเข้ามาในไทยได้ละทิ้งจารีตแบบนี้ไปนานมากแล้ว จึงเป็นเรื่องของนักวิชาการที่สนใจจะไปศึกษาค้นคว้าหาหลักฐานข้อมูลมาคัด ง้างกันต่อไป
แต่ถึงอย่างไร ผมไม่มีทางเห็นด้วยกับมาตรการที่จะบังคับให้มีการ ‘แบน’ เพลงมิดะได้หรอกครับ ผมเชื่อว่ายังไงๆ เพลงก็คือเพลง เพลงเป็นงานศิลปะแขนงหนึ่ง จรัลไม่ใช่นักวิชาการหรือนักวิจัย (หรือกระทั่งงานวิจัยเองก็อยู่ภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ มากมาย เช่น บริบทเปลี่ยนปรากฏการณ์เปลี่ยน การตีความเหตุการณ์เดียวกันของแต่ละคนก็อาจจะไม่เห็นเหมือนกัน ฯลฯ) ชายผู้นี้เป็นศิลปิน ใช้จินตนาการและความคิดในการสร้างสรรค์บทเพลงต่างๆ ออกมามากมาย อีกทั้งเขาก็ไม่ได้มีเจตนาจะให้ร้ายอาข่า แค่อยากถ่ายทอดเรื่องราวจากมุมเล็กๆ ที่ไม่ค่อยจะมีคนรู้จักหรือให้ความสนใจมาก่อนก็เท่านั้น ในความคิดผม เพลงมิดะไม่สมควรถูกระงับการเผยแพร่ไม่ว่าทางใดครับ การเลือกที่จะปิดกั้นอะไรก็ตามที่มีคนบางคน-บางกลุ่มเห็นว่าไม่เหมาะสมอยู่ ตลอดเวลาเท่ากับจะเป็นการทำลายพลังสร้างสรรค์ของศิลปินลงไปเรื่อยๆ ผมเชื่อว่าประเด็นต่างๆ ที่กระตุ้นให้เกิดการถกเถียงทำนองนี้จะส่งผลดีต่อสังคมในระยะยาว ผู้คนก็จะได้เรียนรู้ พิจารณาดูเหตุดูผลของทั้งสองฝ่ายไปพร้อมๆ กัน เขาก็ร้องของเขาไป เราก็บอกของเราไป นักเขียนคนหนึ่งเขียนไว้ในหนังสือเล่มดังกล่าวอย่างนั้น สังคมประชาธิปไตยที่เปิดกว้างต้องไปสู่จุดนั้นให้ได้ ถ้าเรายังอยากจะเป็นอยู่น่ะครับ
ว่าแล้วผมก็เปิดเว็บไซต์ YouTube หาเพลงมิดะฟังซักรอบก่อนเข้านอน “...ฮืม..........บนฟ้ามีเมฆลอย บนดอยมีเมฆบัง...”

[1] คนเมือง หรือที่เดิมเคยเรียกว่า คน ไทยวน หรือ โยน หรือ โยนก เป็นกลุ่มชาติพันธุ์หลักที่อาศัยอยู่ในบริเวณ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนของไทยปัจจุบัน ได้แก่ เชียงราย, เชียงใหม่, น่าน, พะเยา, แพร่, แม่ฮ่องสอน, ลำปาง และลำพูน นอกจากนี้ยังมี “คนเมือง” กลุ่มใหญ่อาศัยอยู่ในบางอำเภอของจังหวัดใกล้เคียง เช่น ตาก, อุตรดิตถ์ และสุโขทัย
กล่าวในเชิงประวัติศาสตร์ คำว่า “คนเมือง” เริ่มถูกใช้มาตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ ช่วงล้านนาต้องตกเป็นเมืองขึ้นของสยาม (แบบหลวมๆ) เนื่องด้วยในสมัยนั้น การกอบกู้บ้านเมืองมีการ ‘เทครัว’ กวาดต้อนผู้คนหลายหลากกลุ่มเข้ามามากมาย (หลายคนเรียกว่าเป็นยุค “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง”) ทำให้มีความแตกต่างในแต่ละกลุ่มเป็นอันมาก คำๆ นี้ (นัยก็คือ “คนพื้นเมือง” นั่นเอง) จึงเกิดขึ้นมาใช้เรียกตัวเอง เพื่อแยกความแตกต่างของ ‘ผู้คน’ โดยเริ่มใช้ที่เชียงใหม่ก่อนแล้วค่อยๆ แผ่ลามออกไป โปรดดู ธเนศวร์ เจริญเมือง, คนเมือง, (เชียงใหม่: หจก.เชียงใหม่โรงพิมพ์แสงศิลป์, 2544).
[2] ไพฑูรย์ พรหมวิจิตร และอันยา โพธิวัฒน์, ภารกิจปิดฝังมิดะ, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เนรพูสีไทย, 2554).
[3] ดูรายละเอียดเพิ่มเติมจาก http://museum.mfu.ac.th/download-pdf/akha001.pdf
[4] อ้างใน “คลี่ปม “มิดะ-ลานสาวกอด” กู้ศักดิ์ศรีหญิงชาวอาข่า,” http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9540000047707
[5] บุญช่วย ศรีสวัสดิ์, 30 ชาติในเชียงราย, (พิมพ์ครั้งที่ 3), (กรุงเทพฯ: ศยาม, 2551).