ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Tuesday, 13 September 2011

วัฒนธรรมทางการเมืองแบบ “ขอไปที”

ที่มา Thai E-News



การดำเนินนโยบายแบบ “ขอไปที” ในเรื่องของรัฐธรรมนูญนี้ ก็ไม่มีใครรู้ได้ว่าจะทำให้รัฐบาลอยู่ได้นานจริงหรือ ? ถ้าไม่แตะเรื่องรัฐธรรมนูญ ไม่แตะเรื่องโผทหาร ไม่ให้คนเสื้อแดงเป็นรัฐมนตรี ไม่เร่งรัดเรื่อง ๙๑ ศพ ไม่แก้แค้นแต่จะแก้ไข แล้วรัฐบาลจะมีเสถียรภาพมากขึ้น หรือมือที่มองไม่เห็นจะเอ็นดูให้อยู่ได้นานๆ หรืออาจจะอยู่จนครบวาระเลยหรือเปล่า

แต่ไม่รู้ว่าการดำเนินนโยบายแบบ “ขอไปที” ในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างที่ว่านั้น มันจะสวนทางกับภาษิตโบราณที่ว่า “ให้ตีเหล็กเมื่อร้อน” หรือไม่ หรือจะตรงกับภาษิตโบราณเช่นกัน แต่คนละมิติ ที่ว่า “กว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้” หรือเปล่า

โดย คณิน บุญสุวรรณ
ที่มา เว็บไซต์คณิน บุญสุวรรณ

ทุกครั้งที่มีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ทั้งฉบับ หรือจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นบางมาตรา ดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องใหญ่โต ที่มักจะนำมาซึ่งความขัดแย้งกันระหว่างคนในชาติ

บางครั้งก็บานปลายกลายเป็นวิกฤตร้ายแรงจนถึงทางตัน และในที่สุดก็จะจบลงด้วยการรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ นั้น แล้วเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ มีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ทั้งฉบับ โดยมีคณะรัฐประหารนั่นแหละ เป็นผู้กำหนดทิศทางและรูปแบบ หรือแม้แต่เนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญ

ซึ่งแน่นอนที่สุด ย่อมพยายามทำให้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจ รักษาอำนาจ และกระชับอำนาจ ให้อยู่ในมือของพวกตนให้มากที่สุดและนานที่สุดเท่าที่จะนานได้

ด้วยเหตุนี้ คนที่อยู่เบื้องหลัง และกุมอำนาจเหนือคณะรัฐประหาร และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มที่ร่วมกันก่อรัฐประหารเอง จึงต้องพยายามทำให้การร่างรัฐธรรมนูญเป็นประโยชน์ต่อพวกตนมากที่สุด และเอาเปรียบฝ่ายตรงข้ามซึ่งเป็นคู่ต่อสู้ทางการเมืองมากที่สุด ถึงขั้นทำลายให้หมดสิ้นเสี้ยนหนามเลยก็ยิ่งดี

นี่แหละ คือ วงจรอุบาทว์ของรัฐธรรมนูญไทย

สภาพเช่นนี้ ทำให้เราไม่มีทางทำนาย หรือกำหนดอนาคตและชะตากรรมของเราเองได้เลยว่า หลังจากที่เรามีการรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญมาแล้วกว่าสิบฉบับ หลังจากที่เรามีรัฐธรรมนูญที่เป็นผลพวงสืบเนื่องจากการรัฐประหาร ทั้งทางตรงและทางอ้อม ถึง ๑๕ ฉบับ และหลังจากที่เรามีรัฐธรรมนูญใช้บังคับมาแล้ว ถึง ๑๘ ฉบับ ในชั่วระยะเวลาเพียงแค่ไม่ถึง ๘๐ ปี นั้น เมื่อไรเราจะมีรัฐธรรมนูญฉบับสุดท้าย ซึ่งเป็นฉบับถาวรจริงๆ อย่างบ้านอื่นเมืองอื่นเขาเสียที

และที่สำคัญ เมื่อไรเราจะหลุดพ้นจากวงจรอุบาทว์ของการรัฐประหารอย่างถาวร แบบบ้านอื่นเมืองอื่นเขาเสียที

ไม่มีใครในประเทศนี้ ให้หลักประกันได้ว่า ถ้าไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ซึ่งเป็นผลพวงจากการรัฐประหาร เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน แล้ว รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับสุดท้ายของประเทศไทยได้หรือไม่

ซึ่งก็พอๆ กับที่จะบอกว่า ไม่มีใครในประเทศนี้ ให้หลักประกันได้ว่า ถ้ามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ นี้ ในบางมาตราแล้ว จะทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้อยู่ได้ตลอดรอดฝั่ง หรือทำให้การเมืองสะดุด และบ้านเมืองจลาจลวุ่นวายอย่างที่มีใครบางคนชอบออกมาขู่ หรือไม่

และก็ไม่มีใครให้หลักประกันได้ว่า รัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ นี้ จะไม่ถูกฉีกทิ้งโดยการรัฐประหารอีกครั้ง ไม่มีใครให้หลักประกันได้ว่า เมื่อมีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ จะโดยนำเอารัฐธรรมนูญปี ๔๐ เป็นหลัก หรือจะนำรัฐธรรมนูญปี ๔๐ มาผสมกับรัฐธรรมนูญปี ๕๐ แล้วยกร่างขึ้นใหม่ หรือจะยกร่างใหม่เลยทั้งฉบับ โดยนำรัฐธรรมนูญทั้ง ๑๘ ฉบับมาดู

จะร่างได้สำเร็จหรือไม่ เมื่อร่างเสร็จจะได้มีโอกาสนำไปประกาศใช้ หรือไม่ หรือเมื่อนำไปประกาศใช้จะใช้ได้นานแค่ไหน และจะถูกฉีกทิ้งโดยการรัฐประหารอีกครั้งหรือไม่

ทั้งหมดนี้ ทำให้ประเทศไทยทั้งประเทศตกอยู่ในวังวนของความไม่แน่นอน ว่า จะเดินไปในทิศทางใด จะมีรัฐธรรมนูญแบบไหน มีที่มาอย่างไร และจะจบแบบไหน

ที่สำคัญ เราจะต้องเปลี่ยนรัฐธรรมนูญไปเรื่อยๆ อีกสักกี่ครั้งกี่หน กี่ฉบับ จึงจะหยุดนิ่งอยู่กับที่ แล้วให้ประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของประเทศสามารถขับเคลื่อนประเทศของตน และกำหนดชีวิตอนาคตของตนและลูกหลานไปในทิศทางที่สดใส และราบรื่นมั่นคงได้อย่างยั่งยืนเสียที

ที่สำคัญที่สุด คือ เมื่อไรเราจะมีรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศอย่างแท้จริงเสียที เพราะเท่าที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าทุกฝ่ายจะมองรัฐธรรมนูญเพียงแค่ว่า พวกตน ฝ่ายตน จะได้อำนาจ ได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญหรือไม่ แค่ไหน เพียงใด เท่านั้น ซึ่งเป็นมิติที่คับแคบที่สุด เท่าที่ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองจะพึงมองเห็น ละเลย หรือมองข้าม หรือจงใจละเลยมองข้าม

โดยไม่เคยใส่ใจสักนิดว่า แท้ที่จริงนั้น รัฐธรรมนูญมีไว้เพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิประโยชน์ และสิทธิ

เสรีภาพของคนส่วนใหญ่ของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่อ่อนด้อยต่อภูมิคุ้มกันทางสังคม รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือหรือหลักประกันว่า ทุกคนในประเทศนี้ มีความเสมอภาคกัน

พูดง่ายๆ คือ ทุกคนอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเหมือนกันหมด โดยไม่มีใครอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด ที่ต้องใช้บังคับกับทุกคนในประเทศ อย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน ไม่ใช่รัฐธรรมนูญใช้บังคับอย่างเคร่งครัดเอาเป็นเอาตายได้เฉพาะแค่กับคนบาง คนบางกลุ่ม แต่ใช้บังคับไม่ได้เลยสำหรับคนบางคนบางกลุ่ม อย่างเช่นที่ผ่านมา

เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น ก็อย่ามีรัฐธรรมนูญเสียดีกว่า ถ้ามีรัฐธรรมนูญแล้ว กลายเป็นเครื่องมือของคนที่แข็งแรงกว่าเอาไว้กดขี่และเอาเปรียบคนที่ อ่อนแอกว่า ก็เท่ากับว่าประเทศไทยยังไม่เคยมีการเลิกทาสอย่างเป็นจริงเป็นจัง เพราะยังมีการแบ่งชั้นวรรณะกันอยู่อย่างชัดเจน ซึ่งเปรียบไปแล้ว ก็เหมือนกับสภาพของรัฐธรรมนูญในประเทศไทย ซึ่งเป็นแบบ “ขอไปที” มาตลอด จนกลายเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองไปแล้ว

การร่างรัฐธรรมนูญแต่ละครั้งก็เป็นแบบ “ขอไปที” อย่างที่ว่า ในอดีตเคยมีการแอบร่างรัฐธรรมนูญเอาไว้ แล้วซ่อนไว้ใต้ตุ่ม รอปฏิวัติเสร็จก็นำเอามาประกาศใช้ในวันรุ่งขึ้น นั่นก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของการมองรัฐธรรมนูญแบบ “ขอไปที” การก่อรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญแต่ละครั้ง ก็ทำแบบ “ขอไปที” ให้มันเสร็จๆ ไป เพียงเพื่อจะยึดอำนาจมาไว้ในมือให้ได้เสียก่อน เรื่องอื่นค่อยว่ากันทีหลัง

การตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญหลังการรัฐประหาร ก็ตั้งแบบ “ขอไปที” คือ ตั้งแต่เฉพาะผู้ที่สวามิภักดิ์และยอมรับอำนาจของคณะรัฐประหาร แต่พอนึกจะทำให้เท่ ตอนนำไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติ ก็ทำแบบ “ขอไปที” เพราะร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับซึ่งมีตั้ง ๓๐๐ มาตราและใช้เวลาร่างกันตั้งเกือบปี กลับให้เวลาประชาชนอ่านแค่ไม่กี่วัน

แต่พอเอาร่างรัฐธรรมนูญไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติเข้าจริงๆ เกิดกลัวจะไม่ผ่าน ก็ออกมาโฆษณาชวนเชื่อกันยกใหญ่ แบบ “ขอไปที” ว่า ขอให้รับร่างไปก่อน แล้วค่อยแก้ทีหลัง นั่นก็ยิ่งแล้วเข้าไปใหญ่ เพราะนอกจากจะทำแบบ “ขอไปที” แล้ว ยังเข้าข่ายหลอกลวงประชาชนอีกต่างหาก

การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ของสภาผู้แทนราษฎร ในสมัยรัฐบาลพรรคพลังประชาชนหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๐ สภาผู้แทนราษฎรในตอนนั้น ก็ตั้งแบบ “ขอไปที” เพราะผู้คนเรียกร้องกันมาก ก็เลยต้องตั้งให้มันเสร็จ แต่พอทำเสร็จ ก็เอาเก็บใส่ลิ้นชัก (บรรจุในระเบียบวาระ) ยังไม่เคยรายงานต่อสภาผู้แทนราษฎรเลยด้วยซ้ำ

การตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐ ธรรมนูญ ๒๕๕๐ ตามข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่พูดไว้กลางสภาเมื่อตอนเป็นนายกรัฐมนตรี หลังผ่านเหตุการณ์สงกรานต์เลือดเมื่อปี ๒๕๕๒ ที่ว่า จะให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแก้ไขรัฐธรรมนูญ สักสองสามประเด็น แล้วจะให้มีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ นั่นก็เป็นการพูดและการตั้งแบบ “ขอไปที” เช่นกัน เพราะจนแล้วจนรอด แม้เมื่อผ่านเหตุการณ์สลายการชุมนุมของประชาชน จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตถึง ๙๒ ศพ บาดเจ็บเกือบสองพันคน เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน และระหว่างวันที่ ๑๔ – ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓ ก็ยังไม่ยอมยุบสภา ตามที่พูดเอาไว้

การแก้ไขรัฐธรรมนูญในสองประเด็น คือ มาตรา ๙๓ – ๙๘ เรื่องเปลี่ยนระบบและวิธีเลือกตั้ง และมาตรา ๑๙๐ เรื่องเงื่อนไขในการทำหนังสือสัญญากับต่างประเทศ เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๕๔ ซึ่งรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นผู้เสนอ นั่นก็เป็นการแก้แบบ “ขอไปที” เพราะด้านหนึ่ง แก้เพื่อเอาใจพรรคร่วมรัฐบาล และอีกด้านหนึ่ง ก็แก้เพื่อตัวเอง เพราะจะได้ทำงานง่ายขึ้น

กลุ่มคนที่ออกมาต่อต้านคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญตั้งแต่ครั้งเป็นกลุ่ม พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งแตกกันยับไม่มีชิ้นดี หลังพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาล เรื่อยมาจนเหลือแต่กลุ่มเล็กๆ ในนามกลุ่มเสื้อหลากสี ที่มีหมอพันธมิตรคนหนึ่ง เป็นหัวหน้า เพียงแค่ได้ไปถือป้ายคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และค้านเรื่องอะไรต่ออะไรอีกหลายเรื่อง ทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ก็ถือว่าสมประโยชน์ของใครบางคนแล้ว นั่นก็ทำแบบ “ขอไปที” เพราะกลายเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองนอกสภาไปแล้ว

จนแม้ผ่านการเลือกตั้งใหญ่ไปแล้ว โดยที่พรรคเพื่อไทยได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงถล่มทลาย สามารถจัดตั้งรัฐบาล ๓๐๐ เสียง เป็นเสียงข้างมากเด็ดขาดในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งก่อนหน้าพรรคเพื่อไทย ทั้งพรรคไทยรักไทย และพรรคพลังประชาชน ก็ได้รับพิษและผลพวงของรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ถูกยุบพรรคไปถึงสองครั้งสองหน ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งแบบเหมาเข่ง ๑๑๑ + ๑๐๙ รวมเป็น ๒๒๐ ถูกไล่ล่า ถูกดำเนินคดี ถูกกระบวนการตุลาการภิวัตน์แบบสองมาตรฐานเล่นงานเสียงอมพระราม

ประชาชนผู้รักประชาธิปไตยออกมาเคลื่อนไหวชุมนุมเรียกร้องให้ยุบสภา จนถูกปราบปรามอย่างรุนแรงและเสียชีวิตไปถึง ๙๒ ศพ บาดเจ็บ ๒ พันคน มันก็เป็นผลพวงจากรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ นั่นแหละ

และในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งทุกเวทีที่รับปากกับประชาชนไว้ คือ จะต้องแก้รัฐธรรมนูญทันที เพราะรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ เป็นรัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหาร และเป็นรัฐธรรมนูญเปื้อนเลือด

แต่พอชนะการเลือกตั้งจัดตั้งรัฐบาลเสร็จเรียบร้อย ความร้อนแรงในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญชนิดทันที ก็ซาลงไป กลายเป็นนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภาแบบยืดหยุ่นและไม่ผูกมัดตัวเอง คือ จะไม่เร่งรีบแก้ไขในเวลานี้ แต่จะแก้ไขมาตรา ๒๙๑ โดยให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ แล้วนำไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติ โดยรัฐบาลจะไม่เข้าไปก้าวก่ายครอบงำ เพราะเดี๋ยวจะหาว่าพรรคเพื่อไทยแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อคนคนเดียว

ซึ่งดูเหมือนจะพูดกันกลายๆ แล้วว่า กว่าจะเสร็จเรียบร้อยจนประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ ๑๙ ของประเทศไทยได้ ก็อีกสองปีโน่นแหละ นั่นก็เป็นนโยบายแบบ “ขอไปที” ของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเหมือนกัน

นี่ไม่ได้ว่าหรือตำหนิใครนะครับ เพราะเข้าใจดีว่า ตอนเป็นรัฐบาลพอใครมาพูดถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มักเกิดอาการครั่นเนื้อครั่นตัวขึ้นมากะทันหัน แล้วก็จะงัดเอาวัฒนธรรมทางการเมืองแบบ “ขอไปที” มาใช้กันทุกครั้งไป

เพราะเรื่องรัฐธรรมนูญนั้น เป็นอะไรที่เหมือนกับของต้องห้ามในยามที่เป็นฝ่ายรัฐบาลเสมอ เป็นอย่างนี้มานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งเป็น

ที่ว่าเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองแบบ “ขอไปที” ก็เพราะไม่ทำทันที อย่างที่รับปากกับประชาชนไว้เมื่อตอนหาเสียง เหตุที่ไม่ทำทันที ก็เป็นที่เข้าใจว่า รัฐบาลต้องการอยู่นาน ก็เลยไม่อยากให้มีการกระเพื่อม เดี๋ยวจะตกอกตกใจกันหมด เพราะฉะนั้น เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงไม่ควรเร่งรีบ รอไว้ก่อนได้ รอให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนและสร้างผลงานที่เป็นรูปธรรมเสีย ก่อน

ซึ่งการดำเนินนโยบายแบบ “ขอไปที” ในเรื่องของรัฐธรรมนูญนี้ ก็ไม่มีใครรู้ได้ว่าจะทำให้รัฐบาลอยู่ได้นานจริงหรือ ? ถ้าไม่แตะเรื่องรัฐธรรมนูญ ไม่แตะเรื่องโผทหาร ไม่ให้คนเสื้อแดงเป็นรัฐมนตรี ไม่เร่งรัดเรื่อง ๙๑ ศพ ไม่แก้แค้นแต่จะแก้ไข แล้วรัฐบาลจะมีเสถียรภาพมากขึ้น หรือมือที่มองไม่เห็นจะเอ็นดูให้อยู่ได้นานๆ หรืออาจจะอยู่จนครบวาระเลยหรือเปล่า
แต่ไม่รู้ว่าการดำเนินนโยบายแบบ “ขอไปที” ในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างที่ว่านั้น มันจะสวนทางกับภาษิตโบราณที่ว่า “ให้ตีเหล็กเมื่อร้อน” หรือไม่ หรือจะตรงกับภาษิตโบราณเช่นกัน แต่คนละมิติ ที่ว่า “กว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้” หรือเปล่า ไม่มีใครบอกได้ หรือทำนายได้

“พระเจ้าเท่านั้นที่รู้”

แต่ที่แน่ๆ ก็คือ เรื่องของรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ และเป็นเรื่องที่กระทบต่อเสถียรภาพของชาติบ้านเมือง และกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนมากที่สุด จะตกอยู่ในวังวนของวัฒนธรรมทางการเมืองแบบ “ขอไปที” ไปอีกนาน ไม่รู้ว่าจะนานสักแค่ไหน จะว่า นานแสนนาน เดี๋ยวก็จะมีคนมาติงว่า “วิตกจริตเกินไปหรือเปล่า ?” รัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ จะแก้ไขได้หรือไม่ จะถูกฉีกทิ้งโดยการรัฐประหารอีกหรือไม่ ?

และที่ว่า จะตั้ง ส.ส.ร. นั้น ร. ตัวสุดท้าย ย่อมาจาก “รอ” หรือเปล่า ถ้าแปลว่า “รอ” จริง จะให้รอถึงเมื่อไร ?

ที่สำคัญ จะสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญในบางประเด็น บางมาตรา ที่เป็นเรื่องคอขาดบาดตายที่บ่อนทำลายและขัดขวางเสถียรภาพทางการเมืองมาตลอด ได้หรือไม่ องค์กรอิสระที่ตั้งโดยคณะรัฐประหารจะยังอยู่ต่อไปจนครบวาระ ๗ ปี ๙ ปี หรือไม่

เราจะต้องทนอยู่กับ ส.ว. สรรหา ที่มาจากคณะบุคคลเพียงเจ็ดคน ต่อไปอีกหกปีเต็ม หรือไม่ บทนิรโทษกรรมแบบไร้เทียมทานตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๓๐๙ จะได้รับการแก้ไขหรือยกเลิกหรือไม่ ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครบอกได้

เพราะทุกคนในประเทศนี้ ต่างก็ยึดมั่นในวัฒนธรรมทางการเมืองแบบ “ขอไปที” เพื่อเอาตัวรอดไปวันๆ กันทั้งนั้น

หรือใครว่าไม่จริง ?