ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Tuesday, 13 September 2011

3แนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ที่มา Thai E-News



การโจมตีว่าแก้ไขเพื่อช่วยเหลือ หรือเอื้อประโยชน์แก่ใครคนใดคนหนึ่ง หรือเพื่อนิรโทษกรรมให้แก่ใครบางคน อย่างที่มักจะนำมาพูดกันเป็นแผ่นเสียงตกร่อง จึงจำเป็นต้องปิดช่องโหว่ตรงนี้ โดยการกำหนดเพิ่มเติมลงไปในมาตรา ๒๙๑ เลยว่า ถึงแม้ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมจะผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว ยังนำไปประกาศใช้ไม่ได้ จนกว่าจะผ่านการออกเสียงประชามติ คำถามประเภทแผ่นเสียงตกร่องก็จะหมดความชอบธรรมไปโดยปริยาย อย่างที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “หมดมุก” นั่นแหละ

โดย คณิน บุญสุวรรณ
ที่มา เว็บไซต์คณิน บุญสุวรรณ

ณ วันนี้ ถ้าจะพูดถึงแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ อย่างเป็นรูปธรรม ชนิดที่จับต้องได้กันแล้ว เราสามารถสรุปได้เป็นสามแนวทาง ดังนี้

แนวทางที่หนึ่ง แก้ไขเนื้อหาเป็นบางมาตรา โดยเสนอเป็นญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา ๒๙๑ ของรัฐธรรมนูญ

ญัตติที่ว่านี้

เสนอได้โดยคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ

โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าเข้าชื่อกันเสนอ

โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภารวมกัน จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าเข้าชื่อกันเสนอ

หรือโดยประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคนเข้าชื่อกันเสนอ

การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามแนวทางที่หนึ่งนี้ ได้ทำไปแล้วสองครั้ง คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา ๙๓ – ๙๘ ว่าด้วยระบบและวิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการแก้ไขมาตรา ๑๙๐ ว่าด้วยเงื่อนไขในการทำหนังสือสัญญากับต่างประเทศ ซึ่งเป็นญัตติที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี

การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามแนวทางนี้ สามารถดำเนินการได้ทันทีและตลอดเวลา โดยไม่เลือกว่าจะยื่นขอแก้ไขเมื่อไร แก้ไขกี่มาตรา หรือจะแก้ไขทั้งฉบับ อย่างร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับ คปพร. ซึ่งถูกดองอยู่เป็นปี แล้วในที่สุดก็ถูกเขี่ยตกในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ส่วนแนวทางที่สอง เป็นการแก้ไขกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙๑ พูดง่ายๆ คือ แก้ไขมาตรา ๒๙๑ เพื่อเปิดช่องให้มีการนำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ผ่านความเห็นชอบของ รัฐสภา แล้ว ไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติเป็นการชี้ขาดเป็นขั้นตอนสุดท้าย ทั้งนี้ โดยยังไม่แตะต้องเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าในมาตราใด

การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙๑ นี้ เนื่องจากบทบัญญัติที่มีอยู่แต่เดิมในปัจจุบัน นั้น เมื่อร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมได้ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว ให้นำไปประกาศใช้ได้เลย เหมือนอย่างร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ๒ ฉบับ ที่ประกาศใช้ไปแล้วเมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๕๔
ซึ่งอาจจะถูกโจมตีได้ ว่าแก้ไขเพื่อช่วยเหลือหรือเอื้อประโยชน์แก่ใครคนใดคนหนึ่ง หรือจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อนิรโทษกรรมให้แก่ใครบางคน อย่างที่มักจะนำมาพูดกันเป็นแผ่นเสียงตกร่อง จึงจำเป็นต้องปิดช่องโหว่ตรงนี้ โดยการกำหนดเพิ่มเติมลงไปในมาตรา ๒๙๑ เลยว่า ถึงแม้ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมจะผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว ยังนำไปประกาศใช้ไม่ได้ จนกว่าจะผ่านการออกเสียงประชามติ
ที่ในทางสากลเรียกว่า Referendum เสียก่อน

ซึ่งจะเป็นการตอบโจทย์ที่มักจะตั้งข้อสงสัยกันตลอดมาว่า จะแก้ไขรัฐธรรมนูญกันทั้งที ทำไมไม่ถามประชาชนเสียก่อน
เพราะ เมื่อกำหนดให้นำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติ เสียแล้ว คำถามประเภทแผ่นเสียงตกร่องว่า จะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อใคร หรือว่าถามประชาชนแล้วหรือยัง ก็จะหมดความชอบธรรมไปโดยปริยาย อย่างที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “หมดมุก” นั่นแหละ

ต่อจากนั้น การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๕๐ ก็สามารถดำเนินการได้ตลอดเวลา เมื่อไรก็ได้ แก้กี่มาตราก็ได้ หรือจะแก้ทั้งฉบับก็ยังได้

แต่ถ้าถึงขนาดจะทำตัวเป็นจระเข้ขวางคลอง จนถึงขั้นที่ว่า แม้จะนำไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติแล้วก็ยังไม่ยอม เพราะรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ห้ามแตะต้อง ห้ามแก้ไขโดยเด็ดขาด มันก็เกินไป

ส่วนแนวทางที่สาม คือ แก้ไขมาตรา ๒๙๑ เพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เพื่อทำการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ แล้วนำไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติแบบเดียวกับแนวทางที่สอง ซึ่งแนวทางนี้ ปรากฏว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยได้นำไปแถลงเป็นนโยบายต่อรัฐสภาเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๔ ที่ผ่านมา

ซึ่งในคำแถลงก็ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า จะเริ่มกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙๑ เพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว ก็ต่อเมื่อถึงตอนเปิดสมัยประชุมรัฐสภาสมัยสามัญประมาณต้นปี ๒๕๕๕

พูดง่ายๆ ว่า ยังไม่รีบ ว่าอย่างนั้นเถอะ

การแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ที่จะใช้แนวทางที่สามในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙๑ เพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ดังกล่าว อาจมีคำถามว่าเท่ากับเป็นการผูกมัดคณะรัฐมนตรีของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือไม่ว่า ในส่วนของคณะรัฐมนตรีจะไม่ใช้แนวทางที่หนึ่ง คือ แก้ไขเลยตามช่องทางที่มีอยู่แล้ว ในมาตรา ๒๙๑ หรือแนวทางที่สอง ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๒๙๑

อย่างไรก็ดี การแถลงนโยบายดังกล่าว จะว่าผูกมัดก็ผูกมัดแต่เฉพาะคณะรัฐมนตรีเท่านั้น หาได้ผูกมัดไปถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรร่วมกับสมาชิกวุฒิสภา หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งไปด้วยไม่

พูดง่ายๆ คือ คณะรัฐมนตรีจะรอก็รอไป แต่ส่วนของ ส.ส. ส.ว. หรือประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จะไม่รอก็ต้องไม่รอ คือ ดำเนินการได้เลย

ซึ่งก็หมายความว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทน ราษฎรที่มีอยู่ (ไม่น้อยกว่า ๑๐๐ คน) หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรร่วมกับสมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้า ของทั้งสองสภา (ไม่น้อยกว่า ๑๓๐ คน) ตลอดจนประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคน ก็ยังมีสิทธิอย่างเต็มที่ ที่จะเสนอขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ได้ตลอดเวลา

กล่าวคือ จะแก้ เมื่อไรก็ได้ แก้มาตราไหนก็ได้ แก้กี่มาตราก็ได้ หรือแม้แต่จะแก้ทั้งฉบับก็ยังได้

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ที่ได้พูดกันมานานหลายปี และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง พูดกันหนักในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง เมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ จนเป็นปัจจัยหนึ่งในหลายๆ ปัจจัยที่ทำให้พรรคเพื่อไทยได้รับเลือกตั้งอย่างถล่มทลายถึง ๒๖๕ เสียง และได้มาเป็นรัฐบาลที่มีเสียงข้างมากเด็ดขาด ถึง ๓๐๐ เสียง ซึ่งเมื่อรวมกับสมาชิกวุฒิสภาอีกแค่ ๓๐ เสียง ก็เกินครึ่งของรัฐสภานั้น ตกมาถึงวันนี้ จำเป็นที่จะต้องตัดสินใจแล้วละว่า จะใช้แนวทางไหน

แนวทางที่หนึ่ง แนวทางที่สอง หรือจะรอไปอีกประมาณปีเศษเพื่อใช้แนวทางที่สามตามนโยบายของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย

สรุป การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ก็ทำได้โดยสามแนวทางนี่แหละครับ ขึ้นอยู่กับว่า จะใช้แนวทางไหน