ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Friday, 16 September 2011

ผอ.ประชาไท คนไทยคนแรกรับรางวัล "เฮลมาน-ฮามเมตต์" ต่อสู้ด้านสิทธิฯ

ที่มา ประชาไท

จีรนุช เปรมชัยพร ผอ.เว็บไซต์ประชาไท รับรางวัลจากฮิวแมนไรท์ วอทช์ ร่วมกับนักกิจกรรมจากกว่า 24 ประเทศ ระบุการเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัล แสดงถึงเสรีภาพการแสดงออกของไทยที่ลดต่ำลงจากการรัฐประหาร 2549 ทางคณะกรรมการเพื่อพิทักษ์ผู้สื่อข่าว (ซีพีเจ) เผย สื่อออนไลน์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างตกเป็นเป้านิ่งของรัฐมากขึ้น

14 ก.ย. 54 - ณ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย มีการมอบรางวัล เฮลมาน-ฮามเมตต์ ซึ่งเป็นรางวัลที่ตั้งขึ้นเมื่อปี 2532 ภายใต้องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ เพื่อมอบเงินรางวัลช่วยเหลือให้แก่นักเขียนและนักเคลื่อนไหวที่รณรงค์ด้าน สิทธิมนุษยชน ซึ่งตกเป็นเหยื่อจากการดำเนินคดีของรัฐ รางวัลดังกล่าว ตั้งชื่อตาม เฮลมานและฮามเมตต์ นักเขียนบทละครการเมืองชาวอเมริกัน ที่ตกเป็นเหยื่อของการล่าแม่มดจากลัทธิต่อต้านคอมมิวนิสต์ ภายใต้รัฐบาลแม็คคาร์ธีในทศวรรษ 1950 โดยในปีนี้ มีผู้ได้รับรางวัลทั้งหมด 48 คนจาก 24 ประเทศ จากวงการนักเขียน นักข่าว และนักเคลื่อนไหว

ไทย: “ความเศร้าในความยินดี”
จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไทดอทคอม ซึ่งเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลดังกล่าวจากการถูกดำเนินคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เปิดเผยว่า แม้จะมีความยินดีกับการได้รับรางวัลนี้ แต่ขณะเดียวกันก็มีความเศร้าใจ เนื่องจากเป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นถึงการลดต่ำลงของเสรีภาพในเมืองไทยอย่าง ชัดเจน อันเป็นผลมาจากการรัฐประหารปี 2549 ซึ่งทำให้ทหารมีอำนาจในการเมืองมากขึ้น

เธอกล่าวว่า ถึงแม้ว่าบางคนอาจจะมองเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกเป็นเรื่องไม่สำคัญ และแย้งว่าเรื่องปากท้องอาจจะเป็นเรื่องที่ต้องมาก่อน แต่เธอมองว่า เสรีภาพจะนำไปสู่การคิดต่าง อันจะนำมาซึ่งความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงการไม่ยอมรับความไม่เป็นธรรมในสังคม ดังนั้น เสรีภาพและประชาธิปไตยที่กินได้ ย่อมมีความสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ได้

“การไร้ซึ่งเสรีภาพเป็นดุจการขาดอากาศหายใจ เสรีภาพก็เหมือนอากาศที่เราไม่อาจมองเห็นด้วยตา แต่จะรู้สึกได้ในทันทีหากมีมันอยู่เบาบางหรือขาดหายไป และหากเราต้องอยู่ในสภาพที่ขาดอากาศนานเกินไป ก็จะส่งผลให้สมองตาย กลายสภาพเป็นมนุษย์ผักที่ไม่ยินดียินร้ายกับความเป็นไปรอบตัว” จีรนุชกล่าว

มาเลเซีย: การ์ตูนที่ปลุกระดม?
“ซูนาร์” หรือ ซุลกิลฟลี เอสเอม อันวาร์ อัล ฮาค นักวาดภาพการ์ตูนการเมืองชาวมาเลเซีย ผู้มีผลงานวิพากษ์วิจารณ์การคอร์รัปชั่นของรัฐบาลในหนังสือพิมพ์รายวัน และในเว็บไซต์สื่อทางเลือก www.malaysiakini.com อย่างต่อเนื่องมากว่า 20 ปี เปิดเผยว่า ถึงแม้ว่าเขาจะถูกคุกคาม คุมขัง ถูกแบนหนังสือ แต่รัฐบาลก็ไม่สามารถหยุดสิ่งที่เขาทำอยู่ได้

“ผมจะวาดการ์ตูนการเมืองต่อไปจนแม้จะเหลือน้ำหมึกหยดสุดท้าย และหากรัฐบาลต้องการจะห้ามไม่ให้ผมวาดการ์ตูนวิจารณ์การเมือง เขาคงจะต้องสั่งหยุดผลิตน้ำหมึกในมาเลเซียให้ได้ก่อน” ซูนาร์กล่าว

เขากล่าวว่า ในมาเลเซีย มีกฎหมายหลายฉบับที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของพลเมือง ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.สื่อสิ่งพิมพ์และการพิมพ์ พ.ร.บ.ความมั่นคง และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งทำลายพื้นที่ของคนที่มีความคิดต่างในสังคม โดยหนังสือของเขา 7 เล่ม ถูกสั่งห้ามไม่ให้ตีพิมพ์ และยังถูกจับกุม คุกคาม เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าการ์ตูนที่เขาวาดปลุกระดมและทำลายศีลธรรมและความ เป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม

ด้วยเหตุนี้ ซูนาร์จึงมองว่าในมาเลเซีย โซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก หรือทวิตเตอร์ ไม่ใช่สื่อทางสังคมอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นสื่อที่มีพลังในการมีส่วนร่วมทางการเมืองด้วย เนื่องจากเป็นพื้นที่ให้กับคนที่เห็นต่าง ดังเช่นเหตุการณ์การชุมนุมของฝ่ายค้าน “Bersih 2.0” ซึ่งใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือการระดมพล

สิงคโปร์และกัมพูชา: พูดความจริงอาจเข้าตาราง
นอกจากนี้ ผู้ที่ได้รับรางวัลดังกล่าว ยังมีนักข่าวจากกัมพูชาและอังกฤษที่ถูกจำคุก เนื่องมาจากการเปิดโปงการคอร์รัปชั่นของรัฐ เช่นในกรณีของ ฮัง ชากรา นักข่าวชาวกัมพูชาอายุ 57 ปี บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Khmer Machasrok โดยเขากล่าวว่า ตลอดระยะเวลาการทำข่าว 20 ปี เขาถูกคุกคามโดยไม่เว้นจากนักธุรกิจ นักการเมือง และผู้มีอิทธิพล

จนมาในปี 2552 เมื่อเขาตีพิมพ์บทความเปิดโปงการคอร์รัปชั่นของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ซก อาน ส่งผลให้เขาถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาท และจำคุกเกือบหนึ่งปี จนภายหลังได้รับอภัยโทษจากกษัตริย์ ฮังจึงได้รับการปล่อยตัว

ขณะที่ อลัน ชาเดรก นักข่าวสัญชาติอังกฤษอายุ 77 ปี ได้รับโทษประหารชีวิตจากรัฐบาลสิงคโปร์ เนื่องมาจากการตีพิมพ์หนังสือที่วิจารณ์ศาลและโทษประหารชีวิตในสิงคโปร์ หลังจากถูกจำคุกเป็นเวลา 5 สัปดาห์ เขาก็ถูกเนรเทศกลับไปยังอังกฤษ อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่า เขาจะยังวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นดังกล่าวต่อไป

“ตราบใดที่สิงคโปร์ยังมีโทษประหารชิวิต ผมก็จะคอยเป็นเสี้ยนหนามบ่งรัฐสิงคโปร์เช่นนี้ตลอดไป” อลันระบุในแถลงการณ์


องค์กรสิทธิชี้ รัฐหันมาจัดการสื่อออนไลน์มากขึ้น

ชอว์น คริสปิน ตัวแทนจากองค์กรพิทักษ์สิทธิผู้สื่อข่าว หรือซีพีเจ (Committee for Protection of Journalists – CPJ) กล่าวว่า รัฐบาลต่างๆ ในแถบเอเชีย จงใจที่จะควบคุมสื่อออนไลน์มากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวล เนื่องจากผู้สื่อข่าว บล็อกเกอร์ และนักเขียน หันมาตีพิมพ์ข่าวและเนื้อหาต่างๆ ในอินเตอร์เน็ตมากขึ้น

นอกจากนี้ คริสปินยังมองว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ของไทยมีความคลุมเครือในการบังคับใช้และการตีความ ขณะที่ข้อกำหนดต่างๆ ก็ไม่เคยได้รับการนิยามที่ชัดเจนจากภาครัฐ นอกจากนี้ เขายังมองว่า ท่าทีของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี และ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทัพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที ต่อกฎหมายดังกล่าวยังเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอีกด้วย

“รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ต้องถือโอกาสนี้ถอนฟ้องข้อกล่าวหาต่อจีรนุช เปรมชัยพร รวมถึงแก้ไขข้อกฎหมายในส่วนที่ไม่ชัดเจนของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มิเช่นนั้น คำกล่าวอ้างเรื่องประชาธิปไตยของ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็จะเป็นเรื่องที่มีไว้ตบตาเพียงเท่านั้น” คริสปินกล่าว

ทางฟิล โรเบิร์ตสัน ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียของฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวด้วยว่า แนวโน้มการทะลวงข้อมูลและปิดกั้นจากรัฐ เริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมยกตัวอย่างประเทศจีนที่คิดค้นเทคโนโลยีด้านความมั่นคงทางอินเทอร์เน็ต และจัดอบรมให้กับรัฐบาลประเทศอื่นๆ เช่นในเวียดนามและลาว