ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Thursday, 15 September 2011

เปิดตัวเว็บข่าวไทยพับลิก้าเจาะลึกความโปร่งใสภาครัฐ-เอกชน

ที่มา ประชาไท

วันนี้ (14 ก.ย.54) เมื่อเวลา 13.40 น. ที่ห้องประชุม 1011 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีการเปิดตัวสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ThaiPublica.org บุญลาภ ภูสุวรรณ บรรณาธิการบริหาร สำนักข่าวไทยพับลิก้า และอดีตบรรณาธิการบริหาร นสพ.ประชาชาติธุรกิจ เล่าถึงที่มาของเว็บซึ่งจะเน้นการทำข่าวเชิงลึกที่ขาดไปในสื่อกระแสหลัก ปัจจุบันว่า ได้แรงบันดาลใจจากเว็บ propublica.org เว็บข่าวเจาะในอเมริกา ซึ่งสฤณี อาชวานันทกุล คอลัมนิสต์ของ นสพ.ประชาชาติธุรกิจมาขายไอเดีย โดยไทยพับลิก้า มีธีมหลักในการนำเสนอ 3 ธีม ได้แก่ ความโปร่งใสภาครัฐ ความโปร่งใสภาคเอกชนและความยั่งยืน

หน้าเว็บไซต์เนื้อหาหลักเบื้องต้นจะมี 5 ส่วน คือ ส่วนที่ 1.ข่าว ทั้งที่เป็นข่าวเจาะ และข่าวทั่วไป 2.คอลัมน์ 3.ฐานข้อมูลและอินโฟกราฟฟิค ซึ่งใช้ลักษณะพิเศษของเว็บไซต์ช่วยในการสื่อสารให้คนเข้าใจข้อมูลอย่างรวด เร็ว 4.Who’s Who ดึงข้อมูลมาจากฐานข้อมูล ไฮไลท์ให้เห็นตัวละครที่น่าสนใจในเมืองไทย 5.บล็อกของนักข่าว เป็นพื้นที่ให้บรรณาธิการและนักข่าวได้พูดคุยกับผู้อ่าน และท้ายข่าวทุกข่าว ผู้อ่านสามารถแสดงความคิดเห็นหรือพูดคุยได้

สำหรับแหล่งรายได้นั้น เบื้องต้นได้เงินทุนให้เปล่าจากผู้สนับสนุน หลังจากนั้น คาดว่าจะมีรายได้จากการขายข้อมูลให้สื่อหลัก รับสปอนเซอร์ โฆษณา และรับเงินบริจาค

จากนั้น เป็นการเสวนาในหัวข้อ “สื่อกับการสร้างความโปร่งใสประเทศไทย” บรรยง พงษ์พานิช คณะกรรมการที่ปรึกษา สำนักข่าวไทยพับลิก้า และประธานกรรมการบริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) ตั้งข้อสังเกตถึงการที่สื่อไทยถูกวิจารณ์ว่าไม่เจาะลึกปัญหาคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นรากของปัญหาความเหลื่อมล้ำและการที่ประเทศไม่พัฒนาว่า เกิดจากการที่สื่อหลัก อยู่ได้ด้วยทรัพยากรและการลงโฆษณาของหน่วยงานรัฐ ทำให้การกลับไปวิจารณ์ผู้ให้การสนับสนุนเป็นเรื่องลำบาก นอกจากนี้ ในด้านคุณภาพและต้นทุนของสื่อ มองว่า เนื่องจากผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคมไทยให้สัมภาษณ์ทุกที่ทุกเวลาทุกโอกาส ทำให้สื่อต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมากในการติดตามทำข่าว โดยเวลาที่ใช้มากที่สุดคือการรอ ทำให้ผลลัพธ์ที่ได้ออกมาน้อย ขณะที่ต้นทุนสูง ส่งผลถึงการจ่ายเงินที่ได้น้อยตาม และเมื่อจ่ายน้อย ก็ยากจะพัฒนาคุณภาพ

บรรยง มองว่า การที่สื่อจะอยู่รอดนั้น นอกจากการที่ภาคธุรกิจที่ลงโฆษณาต้องไม่แทรกแซงกองบรรณาธิการแล้ว สื่อเองก็ต้องลดต้นทุนลงด้วย โดยชี้ว่า ขณะที่สำนักข่าวในไทยบางแห่ง มีนักข่าวตามนายกฯ 6 คน สำนักข่าววอชิงตันโพสต์มีนักข่าวทำข่าวประธานาธิบดีคิดเป็น 1/5 คน เพราะประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะพูดสัปดาห์ละครั้ง และบอกล่วงหน้าทุกครั้ง ซึ่งหากสื่อไทยลดตรงนี้ได้ ก็จะมีเวลาทำข่าวเชิงคุณภาพ

ทั้งนี้ บรรยง กล่าวด้วยว่า สื่อมีส่วนอย่างมากในการต้านคอร์รัปชั่น เนื่องจากสื่อมีอิทธิพลสูงมากในการชี้นำความคิดของสังคม เขามองว่า สื่อเท่านั้นที่จะเปลี่ยนทัศนคติของประชาชนต่อการคอร์รัปชั่นได้ นอกจากนี้ สื่อต้องทำหน้าที่ตรวจสอบเชิงลึก ติดตามรายงานข่าว สอดส่องไม่ให้ทรัพยากรสาธารณะถูกปล้นชิงไปด้วย

ด้าน สฤณี อาชวานันทกุล นักเขียนอิสระ และคณะบรรณาธิการสำนักข่าวไทยพับลิก้า กล่าวว่า ขณะที่สื่อมีปัญหาด้านคุณภาพ และเราก็เข้าสู่ยุคโซเชียลมีเดีย ที่อินเทอร์เน็ตเป็นพื้นที่ เป็นสังคมของคนทุกคน หรือที่หลายคนบอกว่าเป็นนวัตกรรมที่ส่งผลกระทบมหาศาลต่อธุรกิจสื่อไทย ตั้งคำถามว่าสื่อไทยได้ปรับตัว หรือใช้ประโยชน์กับมันมากแค่ไหน ทั้งนี้ ในโลกที่ข้อมูลไหลเร็ว ซึ่งทักษะของนักข่าวในการแยกแยะ ประติดประต่อ ประมวลวิเคราะห์ข้อมูลมานำเสนอเป็นที่ต้องการ แต่กลับยังไม่เห็นการทำหน้าที่นี้เท่าที่ควร

อ่านเพิ่มเติมที่
สัมภาษณ์สื่อน้องใหม่ ThaiPublica.org : “ไทยพับลิก้า กล้าพูดความจริง”