ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Friday, 2 September 2011

สุรพศ ทวีศักดิ์: พันธนาการศาสนา

ที่มา ประชาไท

ศาสนาที่อ้างกันอยู่ปัจจุบัน ไม่มีพลังทางปัญญาและพลังอธิบายทางศีลธรรมที่มีคุณค่าต่อการปลดเปลื้อง พันธนาการของชีวิตและสังคมเหมือนศาสนาในยุคของพระพุทธเจ้า
ผมเข้าใจว่าในยุคแรกๆ ที่ศาสดาของศาสนาต่างๆ อุบัติขึ้น ศาสนาคงมีบทบาทปลดเปลื้องพันธนาการบางอย่างแก่มนุษย์ในบริบททางสังคม วัฒนธรรม ณ ยุคสมัยนั้นๆ เช่นปลดเปลื้องความกลัวภัยธรรมชาติด้วยการสร้างความเชื่อและพิธีกรรมบวงสรวง เทพต่างๆ จนกระทั่งเสนอทางปลดเปลื้องทุกข์ทางจิตวิญญาณ และเสนอหลักศีลธรรมทางสังคมการเมืองที่เหมาะกับการสร้างความสงบสุขของสังคม ยุคนั้นๆ
จนเมื่อกาลเวลาผ่านไป การต่อสู้ทางความคิดความเชื่อ และการยื้อแย่งศาสนิกระหว่างศาสนาต่างๆ ทำให้ศาสนาต่างๆ สถาปนาความศักดิ์สิทธิ์แก่ศาสดาและคำสอนของศาสนาตนเองผ่านการสร้างความเชื่อ และพิธีกรรมต่างๆ ส่งผลให้ศาสดากลายเป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์ ธรรมะหรือคำสอนศาสนากลายเป็นของศักดิ์สิทธิ์ที่ตั้งข้อสงสัย หรือวิพากษ์วิจารณ์โต้แย้งไม่ได้ ทั้งนี้เพื่อรักษาความมั่นคงแห่งศาสนาของตน
เช่น การสถาปนาความศักดิ์สิทธิ์ในพุทธศาสนา มีการสร้างเรื่องราวการประสูติของพระพุทธเจ้าว่าคลอดจากครรภ์มารดาปุ๊บก็ เดินได้ทันที 7 ก้าว มีดอกบัวผุดขึ้นรองรับก้าวย่างแต่ละก้าว เมื่อเดินไปได้ 7 ก้าวแล้วก็เปล่งวาจาอันองอาจ (อาสภิวาจา) ว่า “เราเป็นผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด เป็นผู้ประเสริฐที่สุดในโลก ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย ภพใหม่ของเราไม่มี” มีการสร้างเรื่องราวในเชิง “ข่มศาสนาอื่น” ว่า หลังการตรัสรู้พระพุทธเจ้าคิดจะไม่แสดงธรรมจึงเดือดร้อนถึงพระพรหม (เป็นที่ทราบกันว่าพระพรหมคือพระเจ้าผู้สร้างโลกตามคติของพราหมณ์) ต้องลงมากราบทูลอาราธนาให้พระพุทธเจ้าแสดงธรรม เป็นต้น
ต่อมาเมื่อศาสนาเข้ามาผูกพันกับรัฐ ศาสนาก็กลายเป็นเครื่องมือสถาปนาความศักดิ์สิทธิ์ของกษัตริย์ เช่นสถาปนาให้กษัตริย์เป็นพระโพธิสัตว์ กระทั่งมีสถานะเสมอดังพระพุทธเจ้าไปเลย ดังนามของกษัตริย์ไทยในอดีตหลายองค์ก็ใช้ “ฉายานาม” ของพระพุทธเจ้ามาเป็นชื่อของตนเอง เช่น พระบรมไตรโลกนาถ พระมหาธรรมราชา พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นต้น สรรพนามแทนตัวเองที่เราใช้พูดกับกษัตริย์ เช่น “ข้าพระพุทธเจ้า” นั้น แปลว่า “ข้า ของพระพุทธเจ้า” ดังนั้น ใครที่พยายามบอกว่าศาสนาพุทธบริสุทธิ์จากการเมือง จึงเป็นการดัดจริตโดยแท้
เมื่อเราพิจารณาปัญหาในสังคมปัจจุบัน มีอะไรหรือที่ไม่โยงใยอยู่กับ “พันธนาการทางศาสนา” ตั้งแต่เรื่องเซ็นเซอร์ฉากเลิฟซีนในภาพยนตร์ ศิลปะนู้ด การรณรงค์ยืดอกพกถุง การเรียกร้องให้ออกกฎหมายอนุญาตทำแท้ง การจัดการปัญหาอบายมุข หวยบนดินไม่บนดิน บ่อนถูกกฎหมาย ไม่ถูกกฎหมาย เศรษฐกิจทุนนิยมเสรี หรือต้องเศรษฐกิจพอเพียง ความขัดแย้งและความรุนแรงทางการเมือง ควรแก้หรือไม่ควรแก้ ม.112 ความมีชนชั้นทางสังคม ไปจนถึงควรเป็นประชาธิปไตยภายใต้การกำกับของ “อภิมนุษย์”
ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ล้วนแต่ผูกติดอยู่กับพันธนาการทางศาสนาทั้ง สิ้น มีการอ้างอิงความเชื่อ ศีลธรรมทางศาสนาครอบงำ กดทับ ปิดกั้น สถาปนาความไม่เท่าเทียมในความเป็นมนุษย์และครอบงำอย่างลึกซึ้งถึงระดับ จิตสำนึกหรืออุดมการณ์ทางสังคมจนกลายเป็นอุปสรรคยากยิ่งที่สังคมนี้จะ เปลี่ยนแปลงเป็นสังคมประชาธิปไตยที่มีเสรีภาพ และมีความเป็นธรรมบนพื้นฐานของความเท่าเทียมในความเป็นมนุษย์อย่างแท้จริง
เท่ากับว่า ศาสนาที่มีพลังทางปัญญา หรือมีพลังอธิบายทางศีลธรรมในการปลดเปลื้องพันธนาการของชีวิตและสังคมยุค พุทธกาล กลับกลายมาเป็นพันธนาการของชีวิตและสังคมในยุคสมัยของเรา
เช่น พระพุทธเจ้าเป็นคนความคิดก้าวหน้าในโลกยุคที่ยังล้าหลัง โดยพระองค์ปฏิเสธความไม่เท่าเทียมของมนุษย์คือระบบวรรณะสี่ ยืนยันความเท่าเทียมของมนุษย์ด้วยการสร้างสังคมสงฆ์ที่ยึดหลักความเสมอภาค ไม่มีชนชั้นให้เป็น “โมเดล” ของสังคมในอุดมคติ (ในแง่ความไม่มีชนชั้น) ปฏิเสธการพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์และพีธีกรรมที่งมงาย ให้ยึดความจริงที่พิสูจน์ได้และมีเหตุผลตามหลักอริยสัจสี่ ยึดหลักความมีเสรีภาพในการแสวงหาความจริงและเสรีภาพทางศีลธรรมตามหลักกาลาม สูตร ยึดหลักความเสมอภาคทางศีลธรรมตามกฎแห่งกรรม คือหลักการที่ว่าทุกคนมีเสรีภาพเลือกการกระทำเสมอกันและต้องรับผิดชอบต่อการ กระทำเสมอกัน (ไม่มีอภิสิทธิ์ชนที่ทำผิดแล้วไม่ต้องรับผิด) เป็นต้น
แต่ชาวพุทธไทยปัจจุบัน (ประเภท “พุทธดัดจริต” ผมใช้คำนี้ในความหมาย “เชิงข้อเท็จจริง” ว่า หมายถึง ชาวพุทธที่พยายามปกป้องวัฒนธรรมทางความคิดความเชื่อแบบพุทธปัจจุบันส่วนที่ สวนทางกับที่พระพุทธเจ้าเคยทำ ตามที่ระบุข้างต้น) กลับเป็นพวกความคิดล้าหลังในโลกยุคก้าวหน้า เพราะพวกเขายึดมั่นฐานคิดที่ว่า เราต้องปรับทุกสิ่งที่รับเขามาให้เหมาะกับ “ความเป็นไทย (?)” จึงต้องปรับพุทธศาสนาให้เป็นเครื่องมือสนับสนุนระบบชนชั้น (เจ้า-ไพร่) จึงต้องปรับประชาธิปไตยที่ต้องมีเสรีภาพและความเสมอภาคสมบูรณ์ให้เป็น ประชาธิปไตยกึ่งเสรี กึ่งความเสมอภาคที่ต้องอยู่ภายใต้กำกับของ “อภิมนุษย์”
ฉะนั้น ชาวพุทธไทย (ย้ำ ประเภท “พุทธดัดจริต” จะส่วนใหญ่หรือส่วนน้อยสังเกตเอาเอง) จึงแปลกแยกกับการเรียกร้องประชาธิปไตย เสรีภาพ และความเท่าเทียม นักศึกษาและประชาชนที่เรียกร้องเสรีภาพถูกฆ่าซ้ำซาก โดยมีพระสงฆ์ชื่อดังสร้างวาทกรรมสนับสนุนการฆ่า และสนับสนุนความศักดิ์สิทธิ์ของระบบอภิสิทธิชน
สังคมเช่นนี้จึงเป็นสังคมที่ยกย่องคนดีมีคุณธรรมสูงส่ง ปราชญ์ที่มีคุณธรรมสูงส่งประเภทที่ไม่เข้าใจ ไม่เคารพ ไม่ปกป้องเสรีภาพและความเป็นธรรมบนหลักความเสมอภาคในความเป็นคน ส่วนบุคคลที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพ ความเสมอภาคและประชาธิปไตยอย่างปรีดี พนมยงค์ กุหลาบ สายประดิษฐ์ จิตร ภูมิศักดิ์ ลุงนวมทอง ไพรวัลย์ และบรรดานักศึกษาประชาชนที่พลีชีพเพื่อประชาธิปไตยหาใช่ “คนดีมีคุณธรรมสูงส่ง” ที่ควรยกย่องแต่อย่างใดไม่
นอกจากนี้พวกพุทธดัดจริต ยังทำตัวเป็นผู้ผูกขาดความรู้ที่ถูกต้องของพุทธศาสนาแต่ฝ่ายเดียว ผูกขาดความเป็นเจ้าของพุทธศาสนา ชอบทำตัวเป็น “ตำรวจปกป้องพุทธศาสนา” คอยประณามคนที่ตีความพุทธศาสนาต่างจากความเข้าใจหรือ “ความจำ” ของตนเอง พวกเขามักสรุปว่า “ความเห็นต่าง” คือ “ความไม่รู้” และประณามว่า “ความไม่รู้” คือ “ความชั่ว” คนที่เห็นต่างจึงเป็นคนไม่รู้ เป็นคนชั่ว เป็นภัยต่อพุทธศาสนา ต้องขจัดออกไป
อีกอย่าง พวกนี้มักมีคำรำพึงเป็นดัง “สโลแกน” ที่ท่องจำตามๆ กันว่า “สังคมไทยปัจจุบันเป็นสังคมศีลธรรมล่มสลาย ผู้คนดูถูกธรรมะ ไม่เคารพคนดี แตกสามัคคี ชอบใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา ขาดการให้อภัย ไม่มีเตตาธรรมต่อกัน ที่เป็นเช่นนี้เพราะคนไม่รู้ธรรมะ เพราะเยาวชนห่างศาสนา ไม่เข้าวัดปฏิบัติธรรม ถูกครอบงำด้วยวัฒนธรรมเสรีภาพตามกิเลส บันเทิงนิยม วัตถุนิยม บริโภคนิยม ฯลฯ แบบตะวันตก ฉะนั้น ต้องดึงคนเข้าวัดปฏิบัติธรรม ต้องใช้ธรรมะเชิงรุกเข้าไปในโรงแรม ในซ่อง โรงหนัง บนเวทีคอนเสิร์ต ในรัฐสภา ฯลฯ เพื่อสร้างสังคมอุดมศีลธรรม”
ทว่าตามความเป็นจริงในบริบทความขัดแย้งกว่า 5 ปี ที่ผ่านมา บรรดาคนดีมีคุณธรรมสูงส่ง พระสงฆ์ชื่อดัง ผู้เคร่งศาสนา ปัญญาชนอาวุโสที่อ้างศาสนาอ้างศีลธรรมชี้นำสังคมมาตลอด ต่างเปลือยตัวเองเองล่อนจ้อนว่า พวกเขาไม่ได้ยืนยันประชาธิปไตยที่มีเสรีภาพและความเสมอภาค ไม่เคารพการตัดสินของเสียงส่วนใหญ่ เป็นหางเครื่องของรัฐประหารและระบบอำมาตย์ ดูถูกประชาชนว่าไม่รู้ประชาธิปไตย ถูกซื้อ ฯลฯ
และในโลกของการถกเถียงโต้แย้งประเด็นปัญหาสังคมการเมืองในมิติต่างๆ รวมทั้งมิติที่เกี่ยวพันกับศาสนาที่ผ่านมา ผู้คนหูตาสว่างมากขึ้นๆ ว่า ศาสนาที่อ้างกันอยู่ปัจจุบัน ไม่มีพลังทางปัญญาและพลังอธิบายทางศีลธรรมที่มีคุณค่าต่อการปลดเปลื้อง พันธนาการของชีวิตและสังคมเหมือนศาสนาในยุคของพระพุทธเจ้า แต่เป็นศาสนาที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือดำรงระบบชนชั้น ครอบงำทางความคิดความเชื่อ จำกัดเสรีภาพทางความคิดและทางเลือกของชีวิตและสังคมในยุคที่โลกเปิดกว้าง
ที่สำคัญศาสนาในความเข้าใจ หรือรูปการจิตสำนึกของชาวพุทธดัดจริตปัจจุบัน เป็นศาสนาที่ไม่มีคำตอบเรื่องเสรีภาพ ความเป็นธรรมบนหลักความเสมอภาค ซึ่งสวนทางกับศาสนาแห่งพุทธะในยุคพุทธกาลอย่างสิ้นเชิง !