ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Sunday, 18 September 2011

คนทำงาน: “ค่าแรง 300 บาท”

ที่มา ประชาไท

ในทางการเมืองตามครรลองระบอบประชาธิปไตยที่ขับเคลื่อนด้วยนโยบาย นั้น นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคของไทยรักไทยสามารถนำแรงงานนอกระบบประกันสังคมมาเป็นฐานเสียง ที่เข้มแข็งได้ในอดีต นโยบายค่าแรง 300 บาทก็คือก้าวต่อไปในการสร้างความนิยมให้กับผู้ใช้แรงงานของพรรคเพื่อไทย แต่มันอาจจะยังต้องใช้เวลา วันนี้ลองมาประมวลมุมมองความจำเป็นของการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้ …

ธนาคารแห่งประเทศไทยเผยค่าจ้างลูกจ้างไทยไม่พอยาไส้

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดเผยข้อมูลค่าจ้างเฉลี่ยของผู้มีงานทำในประเทศไทยที่มีอาชีพลูกจ้าง และพนักงาน ทั้งของรัฐบาลและเอกชนล่าสุด เมื่อสิ้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ที่มีงานทำที่เป็นลูกจ้างทั้งสิ้น 17,310,300 คน แบ่งเป็นลูกจ้างในภาครัฐบาล 3,560,000 คน และเป็นลูกจ้างในภาคเอกชน 13,750,300 คน พบว่า ค่าจ้างเฉลี่ยของลูกจ้างล่าสุด ในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมาพบว่า ลูกจ้างไทยมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 9,775.1 บาทเท่านั้น

ทั้งนี้หากแยกเป็นผู้มีงานทำที่เป็นลูกจ้างในภาคเกษตรกรรมพบว่า มีค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนเพียง 4,900.3 บาท ขณะที่ผู้ที่มีงานทำในภาคนอกภาคเกษตรกรรม ซึ่งหมายรวมถึงภาคก่อสร้าง ภาคอุตสาหกรรม ภาคการค้า และภาคบริการ มีรายได้เฉลี่ย 10,501.5 บาทต่อเดือน ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่ต่ำเมื่อเทียบกับค่าครองชีพในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกจ้างในภาคการเกษตร

อย่างไรก็ตามเมื่อเปรียบเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน (พ.ศ. 2553) ค่าจ้างเฉลี่ยของลูกจ้างโดยรวมปรับตัวดีขึ้น โดยสำหรับค่าจ้างแรงงานโดยรวม ปรับเพิ่มขึ้น 5% ค่าจ้างแรงงานเฉลี่ยของแรงงานในภาคเกษตรกรรม ปรับเพิ่มขึ้น 11% ค่าจ้างแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ก่อสร้าง การค้า และการบริการ ปรับเพิ่มขึ้น 5.6%

ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานว่า ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องจำเป็น เพราะในขณะนี้รายได้ของลูกจ้างยังต่ำ จึงควรจะได้ค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพทางเศรษฐกิจ และไม่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ จนกระทั่งกลายเป็นการสร้างปัญหาที่นำไปสู่ความขัดแย้งของสังคม อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไม่ควรจะขึ้นค่าจ้างแรงงานอย่างเดียว แต่ควรจะที่เร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และศักยภาพในการผลิต และทักษะแรงงานที่เพิ่มขึ้น เพื่อให้ค่าจ้างแรงงานใหม่ เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่เพิ่มขึ้นด้วย

ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวก่อนหน้านี้ว่า การปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานในช่วงที่ผ่านมา ยังไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้น โดยตั้งแต่ ปี 2540 จนถึงปัจจุบัน พบว่า อัตราการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำหักเงินเฟ้อแล้ว ยังไม่ฟื้นตัว หรือมีระดับต่ำกว่าในช่วงปี 2540 หมาย ความว่า ผู้ใช้แรงงานยังไม่ได้รับความเป็นธรรมในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และเท่าที่มีการประเมินค่าจ้างที่ขึ้น หักเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในระยะที่ผ่านมา ค่าจ้างแรงงานยังมีช่องว่างสามารถให้ปรับขึ้นได้ 10% แต่หากปรับขึ้นครั้งเดียว 300 บาท หรือประมาณ 40% อาจ จะส่งผลให้ภาคธุรกิจปรับตัวไม่ทัน นอกจากนี้เมื่อมีการปรับขึ้นค่าแรงแล้วก็ควร เน้นพัฒนาอุตสาหกรรมที่ส่งผลดีต่ออนาคตประเทศควบคู่ไปด้วย

ทีดีอาร์ไอ สนองนโยบายหนุนปรับค่าแรงดันทฤษฎี 3 สูงแก้ปัญหายากจน

ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยในงานเสวนาพิเศษ “การปรับตัวของภาคธุรกิจในยุครัฐบาลชุดใหม่” ที่ จัดโดย ปัญญาสมาพันธ์เพื่อการวิจัยความเห็นสาธารณะแห่งประเทศไทย ร่วมกับ ซีพี ออลล์ ว่า ทีดีอาร์ไอเห็นด้วยกับนโยบายการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาทของรัฐบาลชุดใหม่ เพราะในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา แรงงานไทยถูกกดค่าแรงให้ต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อและอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ประเทศไทย (จีดีพี) เห็นได้จาก ค่าจ้างขั้นต่ำปรับขึ้น 2.84% ต่อปี แต่ค่าครองชีพปรับสูงขึ้น 3.25% ต่อ ปี แต่ทั้งนี้รัฐบาลควรจะมีวิธีการคำนวณหาค่าแรงที่สูงขึ้นอย่างเหมาะสมที่สุด และต้องปรับขึ้นให้ชดเชยกับค่าแรงงานที่ถูกกดให้ต่ำมาตลอด รวมทั้งต้องมีแผนรับมือช่วยเหลือเอกชนและเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบ มั่นใจว่า การปรับขึ้นค่าแรง จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมและยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานให้สูงขึ้น

สำหรับแนวทางที่ต้องการเสนอให้ภาครัฐ พิจารณาคือ การใช้ทฤษฎี 3 สูง คือ ปรับเพิ่มค่าแรงให้สูงขึ้น ปรับเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าให้สอดคล้องกับค่าแรงที่สูงขึ้น และปรับราคาสินค้าให้สอดคล้องกับค่าแรง ซึ่งหากรัฐบาลใช้ทฤษฎี 3 สูง พร้อมกันแล้ว เชื่อว่าจะเป็นการปรับโครงสร้างของประเทศใหม่ และเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญสุดของประเทศไทย ที่แรงงานของประเทศจะมีประสิทธิภาพการผลิตสินค้าที่สูงขึ้น และทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากประเทศด้อยพัฒนาในที่สุด ซึ่งในปัจจุบัน ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 176.20 บาทต่อวัน หากปรับเป็นค่าแรง 300 บาทต่อวัน ถือเป็นการปรับเพิ่มขึ้นวันละ 123.80 บาทต่อวัน หรือเพิ่มขึ้น 70% โดยแรงงงานที่ได้รับผลดีจากมาตรการนี้มีจำนวน 4.281 ล้านคนทั่วประเทศ และภาคเอกชนทั่วประเทศต้องจ่ายชดเชยเพิ่มขึ้นวันละ 530 ล้านบาท หรือใช้เพิ่มขึ้นปีละ 165,360 ล้านบาท แต่ทั้งนี้ ภาคครัวเรือนจะมีรายได้เพิ่มขึ้น 21,981 บาทต่อเดือน หรือเพิ่มขึ้น 4.72%

นักวิชาการแนะปรับค่าจ้าง อย่าลืมหนุนตั้งสหภาพแรงงาน

ศาสตรา ภิชานแล ดิลกวิทยรัตน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า นโยบายด้านแรงงานที่นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ควรเริ่มดำเนินการทันที คือการทำตามสัญญาที่หาเสียงไว้ในเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 ต่อวันทั่วประเทศ และการปรับเงินเดือนปริญญาตรีเป็น 15,000 บาท โดยเฉพาะค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท แรงงานทั่วประเทศต่างจับตาว่ารัฐบาลชุดใหม่จะทำได้หรือไม่ ซึ่งหากทำให้เป็นรูปธรรมได้ แรงงานก็จะให้การยอมรับรัฐบาลชุดนี้

ศาสตรา ภิชานแล กล่าวอีกว่าสิ่งที่อยากให้ รมว.แรงงาน ช่วยผลักดันเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานมากที่สุดก็คือ การปรับค่าจ้างของแรงงานให้เหมาะสม และมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต โดยไม่ต้องทำโอที และกู้เงินมาใช้จ่าย จะได้ไม่ต้องเบียดเบียนเวลาที่อยู่กับครอบครัว จนสร้างปัญหาครอบครัวแตกแยก ซึ่งปัจจุบันต้นทุนค่าจ้างอยู่ที่ร้อยละ 10 โดยสินค้าราคา 100 บาท เป็นต้นทุนค่าจ้าง 10 บาท อยากให้ต้นทุนค่าจ้างเพิ่มเป็นร้อยละ 15-20 และแรงงานที่ทำอยู่เดิมซึ่งได้ค่าจ้างมากกว่า 300 บาท ต่อวันไปแล้วได้ขยับขึ้นค่าจ้างเป็นขั้น ๆ ไป อย่างไรก็ตาม ไม่เห็นด้วยหากจะนำเงินภาษีของประชาชนมาชดเชยส่วนต่างต้นทุนค่าจ้างที่เพิ่ม ขึ้นให้แก่นายจ้าง เพราะอยากให้ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ซึ่งนายจ้างต้องรู้จักเฉือนเนื้อตัวเองและเสียสละรับผิดชอบต่อสังคมบ้าง

ศาสตราภิชานแล กล่าวอีกว่า นอกเหนือจากเรื่องค่าจ้าง อยากให้รัฐบาลชุดใหม่ให้การรับรองเรื่องอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ฉบับที่ 87 และ 98 เร่ง พัฒนาฝีมือแรงงานให้สอดรับการปรับขึ้นค่าจ้างและยกระดับสำนักงานประกันสังคม (สปส.)ให้เป็นองค์กรอิสระ ไม่ใช่ให้ปลัดกระทรวงแรงงานหรือ รมว.แรงงาน เป็นประธานบอร์ด สปส. และสนับสนุนแรงงานนอกระบบสู่ประกันสังคม ทั้งนี้ รมว.แรงงาน แทบไม่ต้องคิดทำอะไรใหม่ เพราะมีโจทย์ที่ฝ่ายแรงงานได้ชี้เป้าเอาไว้ให้หลายปีแล้ว แค่ทำงานไปตามโจทย์เหล่านี้ จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานให้ดีขึ้นได้มาก

มองต่างมุม: 2 มหาอำนาจสินค้าอุปโภคบริโภค “ซีพี vs สหพัตน์”



เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี)


เครือสหพัฒนพิบูล


CP หนุนค่าแรง 300 ช่วยเพิ่มกำลังซื้อและลดความเหลื่อมล้ำกระจายรายได้

นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะรองประธานคณะกรรมการบริหารการเงินและกรรมการการลงทุน เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เปิดเผยว่า สิ่งที่รัฐบาลใหม่ต้องเร่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ อาทิ การพัฒนาภาคการเกษตร ด้านชลประทาน ลอจิสติกส์ และการศึกษา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 และดึงดูดการลงทุนจากนอกกลุ่มประเทศอาเซียนเข้ามาลงทุนในไทย ในฐานะเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคนี้ (Regional Headquarter)

พร้อมทั้งกระตุ้นภาคเอกชนเร่งการลงทุน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันและการผลิต โดยใช้มาตรการด้านภาษีเพื่อจูงใจ รวมทั้งส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาและงานพัฒนาฝีมือแรงงานด้วย ซึ่งหลังเกิดวิกฤตปี 2540 การลงทุนของไทยมีอัตราต่ำมากจากเดิม 41.8% ของจีดีพี เหลือเพียง 25.9% จีดีพี

ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจของไทยขยายตัวต่ำมากเมื่อเทียบเกาหลีใต้ ที่ประสบวิกฤตเศรษฐกิจเช่นเดียวกับไทยแต่ฟื้นตัวได้เร็วกว่า โดยจีดีพีของไทยเฉลี่ยก่อนปี 2540 อยู่ที่ 9.2% แต่หลังวิกฤติเศรษฐกิจเฉลี่ยอยู่ที่ 2.9%

นายศุภรัตน์ กล่าวว่า รัฐควรเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจการโดยสร้างตลาดในประเทศ(Domestic Demand) เพิ่มขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ซึ่งขณะนี้ไทยมีการปรับเปลี่ยนตลาดส่งออกจากเดิมที่เน้นตลาดส่งออกในสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น คิดเป็นสัดส่วน 60% มูลค่าการส่งออกทั้งหมดลงมากึ่งหนึ่ง แล้เวหันมาเน้นในตลาดอาเซียนและจีนเพิ่มมากขึ้น โดยเห็นด้วยกับนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท/วัน เพื่อให้มีรายได้เหมาะสมกับค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ นับตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540-2553 การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นเพียง 1.31 เท่า น้อยกว่าดัชนีราคาสินค้าและเงินเฟ้อที่ปรับขึ้นไป 1.42 เท่า และอัตราเฉลี่ยของรายได้ประชาชาติที่ปรับขึ้นไป 1.92 เท่า ทำให้แรงงานไทยเสียเปรียบมาโดยตลอด ซึ่งการปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำนี้ยังช่วยเพิ่มกำลังซื้อในประเทศ และลดความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ด้วย ยอมรับว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ ดังนั้น ภาครัฐควรมีมาตรการต่างๆเข้ามาบรรเทาผลกระทบนี้โดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดกลาง และย่อม (SME) อาทิ การลดการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล รวมทั้งจัดตั้งกองทุนสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการSME เพื่อดูแลรายย่อยให้มีโอกาสเข้าถึงเงินทุนได้มากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็ไม่ต้องคำนึงว่าเงินทุนต่างชาติหดหาย เราต้องกล้าเผชิญความจริง เน้นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมีฝีมือมากกว่าแรงงานราคาถูก

“ประเทศไทยมีจุดอ่อนหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนลอจิสติกส์ระบบที่สูงถึง 17%จีดีพี ค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาที่ต่ำเพียง 0.25% ของจีดีพี และภาคการเกษตรหดตัวลงในช่วง 30ปีจากเดิม 20%ของจีดีพี เหลือเพียง 8% ของจีดีพี ขณะที่ภาคการเกษตรใช้แรงงานถึง 16.95 ล้านคน หรือคิดเป็น 43% ของแรงงานทั้งหมด บ่งชี้ว่าประสิทธิภาพภาคการเกษตรต่ำ ซึ่งไม่สายเกินไปที่จะเน้นการเกษตรให้กับมาเป็นเสาหลักของประเทศอีกครั้ง”[1]


บอสใหญ่สหพัฒน์ บอกขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท เป็นไปไม่ได้ เตือนระบบจะพัง นักลงทุนหนีหาย

"บุญชัย โชควัฒนา" ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ แสดงทรรศนะถึงนโยบายดังกล่าวว่า ตนเห็นด้วยที่จะไม่ให้มีการเอาเปรียบ ผู้บริโภคด้วยการค้ากำไรเกินควร แต่ในความเป็นจริงปัจจุบันโครงสร้างราคาสินค้าอุปโภคบริโภคโดยภาพรวมอยู่ใน ระดับที่ไม่ได้สูงเกินจริง ประกอบกับการแข่งขันในตลาดก็มีความรุนแรงอยู่แล้ว จึงเป็นการยากที่ผู้ประกอบการจะฉวยโอกาสการขึ้นราคา หรือเอาเปรียบผู้บริโภคได้

"คงไม่มีใครกล้าที่จะทำแบบนั้น แม้แต่ค่ายใหญ่ยูนิลีเวอร์ ยังต้องลดราคาลงมา"

บิ๊กบอสสหพัฒนพิบูลย้ำว่า ไม่มีนโยบายเช่นนั้นแน่นอน ยืนยันเสมอว่าจะขึ้นราคาเป็นรายสุดท้าย

"สินค้าที่รัฐบาลควรเข้าไปตรวจสอบ ควรจะเป็นสินค้าที่ผูกขาด หรือมีอำนาจเหนือตลาด ที่สามารถขึ้นราคาได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงคู่แข่ง สินค้าจำเป็น ประเภทอาหารสด ยกตัวอย่างไก่ ไข่ หมู หรือปุ๋ย ฯลฯ ซึ่งธรรมชาติของสินค้าอุปโภคจะไม่เป็นอย่างนั้น"

เขายังได้เสนอว่า หากจะแก้ปัญหานี้ ควรแก้ที่ต้นเหตุที่ทำให้สินค้ามีราคาแพง นั่นคือวัตถุดิบต่าง ๆ ที่เป็นต้นทุนสำคัญของสินค้าอุปโภคบริโภค ปัญหาส่วนใหญ่มาจากการเก็งกำไรในตลาดโลก อาทิ ราคาน้ำมัน หรือกรณีของแป้งสาลีที่พุ่งขึ้นสูงมากในช่วงที่ผ่านมา โดยรัฐบาลควรเสนอตัวเป็นตัวกลางในการจัดซื้อวัตถุดิบต่าง ๆ ให้กับภาคเอกชน เพื่อป้องกันและแก้ปัญหาการเก็งกำไรวัตถุดิบ

ส่วนนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท ประธานสหพัฒน์ว่า เป็นสิ่งที่เป็นไม่ได้เลย รัฐไม่ควรดำเนินนโยบายเช่นนี้ หากทำจริง จะเป็นเรื่องที่เสียหายมาก ระบบจะพัง นักลงทุนจะหนีหายหมด เหมือนกับกรณีที่นักลงทุนจีนหนีมาลงทุนในตลาดไทย เพราะประเทศจีนมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ[2]

ใครรับลูก

ศึกษาภัณฑ์ขอนแก่นขึ้นค่าแรง 300 บาท/วัน สนองนโยบายเพื่อไทย

10 ก.ค. 54 - ที่ห้องประชุมของบริษัท ศึกษาภัณฑ์ขอนแก่น นายประสม ประคุณสุขใจ อดีต ส.ส.ขอนแก่น 3 สมัย ในฐานะประธานกรรมการบริษัท ศึกษาภัณฑ์ขอนแก่น จำกัด และบริษัทฯในเครือ แถลงข่าว ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท ให้แก่พนักงานของบริษัท และบริษัทฯในเครือ 8 บริษัท โดยเป็นพนักงานในกลุ่มแม่บ้าน รปภ. และกลุ่มผู้ใช้แรงงาน และปรับค่าแรงให้แก่พนักงานทุกแผนก ทุกคน ขึ้นจากฐานเงินเดือนเดิม โดยเริ่มต้นปรับคนละไม่น้อยกว่า 2,000 บาท ขึ้นไป ซึ่งบริษัทฯต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 10 –12 ล้านบาท สนองนโยบายรัฐบาลใหม่ที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นว่าที่นายกรัฐมนตรี

นายประสมกล่าวด้วยว่า โดยบริษัท ศึกษาภัณฑ์ขอนแก่น จำกัด และบริษัทฯในเครือ ได้เรียกประชุมกรรมการบริษัทฯเป็นการด่วนในเช้า วันที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งที่ประชุมมีมติตัดสินใจขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทุกตำแหน่งงาน ได้ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท และปรับค่าแรงให้แก่พนักงานเก่าทุกแผนกทุกคน ขึ้นจากฐานเงินเดือนเดิม โดยเริ่มต้นปรับคนละไม่น้อยกว่า 2,000 บาทขึ้นไป

“เมื่อพี่น้องประชาชนจะมีฐานะดี มีเงินจับจ่าย มีเงินเก็บ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างมากในเวลาอันใกล้นี้อย่างแน่นอน และที่แน่นอนที่สุดบริษัทฯจะมียอดเพิ่มขึ้น และจะเป็นอื่นไปไม่ได้ที่ผลกระทบเหล่านั้น จะไม่ทำให้บริษัทฯมีกำไรมากขึ้นตามยอดขาย ลดภาษีเงินได้ลดเหลือเพียง 23 % ในปี 2555 และลดภาษีเงินได้ลงเหลือเพียง 20 % ในปี 2556 กำไรก็ได้เพิ่มมากขึ้น ภาษีเงินได้ก็จ่ายน้อยลง เพียงเท่านี้ก็มีความมั่นใจเสียยิ่งกว่ามั่นใจ ว่า การปรับค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท / วัน ของพนักงานในบริษัทฯ ทางบริษัทฯต้องมีกำไรเพิ่มมากขึ้น มีเงินจ่ายเพิ่มให้พนักงานทุกคนได้มีความสุข และทำให้มีขวัญกำลังใจทำงานเพิ่มขึ้น จึงได้มีมติสนองนโยบายรัฐบาลใหม่ทันที โดยขึ้นป้ายทุกบริษัทฯ ในเครือ พร้อมกับประกาศให้ประชาชนทั่วไปให้รู้ทั่วกัน ว่า บริษัทฯในเครือของตนสนองนโยบายรัฐบาลที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยการจ่ายค่าแรงขั้นต่ำทุกตำแหน่งงาน 300 บาท / วัน และมีผลทันทีในวันที่ 4 ก.ค. 25554 เป็นต้นไป” นายประสมกล่าว

7-11 หนุนนโยบายรัฐปรับค่าแรง 300

4 ส.ค. 54 - นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานเสวนาพิเศษ การปรับตัวของภาคธุรกิจในยุครัฐบาลใหม่ว่า ซีพีออลล์พร้อมปฏิบัติตามนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ต่อวัน ของรัฐบาลถึงแม้ว่านโยบายดังกล่าว จะกระทบต่อต้นทุนการผลิต แต่ก็พร้อมปรับตัวด้วยการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต เพราะการปรับขึ้นค่าแรง ถือเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับลูกจ้าง ขณะเดียวกัน ซีพีออลล์ มีความพร้อมที่จะรับแรงงานปริญญาตรีจบใหม่ 10,000 อัตรา เข้าทำงานในทันที นอกจากนี้ ยังฝากให้รัฐบาลชุดใหม่ ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนภาคบริการ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ใช่การออกกฎหมายควบคุมธุรกิจค้าปลีก ขณะเดียวกัน ต้องลดแรงงานภาคเกษตรลง

เด็กปั๊มบางจากเฮ! ขึ้นค่า​แรง​เด็กปั๊ม​เป็น 300 บ. ต้นปี 2555

25 ส.ค. 54 - นายอนุสรณ์ ​แสงนิ่มนวล กรรม​การ​ผู้จัด​การ​ใหญ่ บมจ.บางจากปิ​โตร​เลียม (BCP) กล่าวว่า ​ในปี 55 บริษัท​เตรียมปรับ​เพิ่มค่า​แรวขั้นต่ำ​ให้กับ​เด็กปั๊ม​เป็น 300 บาท/วัน จากขณะนี้อยู่ที่ 250 บาท/วัน มองทิศทางธุรกิจจำหน่ายน้ำมันค่า​แรงงานถือว่ามี​ความสำคัญ ​และพร้อมตอบสนองน​โยบายรัฐบาล ​ซึ่ง​การปรับค่า​แรงจะดำ​เนิน​การควบคู่​ไปกับประสิทธิภาพ​การ​ทำงาน ​เพราะจะ​ทำ​ให้ต้นทุนของบริษัท​เพิ่มขึ้น 0.07 บาท/ลิตร ส่วนหนึ่งบริษัทอาจ​แบกรับต้นทุน​เอง​และอีกส่วนหนึ่งผลัก​เข้า​ไปที่ราคา น้ำมัน นอกจากนี้บริษัท ยังพร้อม​ให้​ความร่วมมือ​โครง ​การบัตร​เครดิตพลังงาน​และบัตร​เครดิตชาวนา ​ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีสถานีบริ​การน้ำมันที่ร่วมมือกับสหกรณ์ของ​เกษตรกร หลาย​แห่งอยู่​แล้ว ​เพื่อ​เพิ่ม​ความสะดวก​ใน​การ​เติมน้ำมันของ​เกษตรกร ​และสถานีบริ​การน้ำมันทั่ว​ไปของบางจาก​ก็รับบัตร​เครดิตต่าง ๆ อยู่​แล้ว

ปตท.ปรับค่าแรง 300 บาทเริ่มต้นปี 55 รายจ่ายเพิ่ม 500 ล้าน

1 ก.ย. 54 - นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เปิดเผยว่า ปตท. มีนโยบายที่จะปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจำนวนวันละ 300 บาทในกลุ่มของผู้ใช้แรงงาน (Contract Out) ที่มีสัญญาจ้าง ซึ่งปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ของ ปตท. และบริษัทในกลุ่ม ปตท. โดยตรง ตามนโยบายของรัฐบาล ในส่วนของภาระต้นทุนที่สูงขึ้น คิดเป็นมูลค่าประมาณ 500 ล้านบาทต่อปีนั้น ปตท. จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในส่วนนี้เอง ทั้งนี้ จะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2555 โดยจะดำเนินการในเมืองหลักก่อน เช่น กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรปราการ และภูเก็ต และจะทยอยดำเนินการในจังหวัดอื่น ๆ ต่อไป

ส่วนกรณีลูกจ้าง ที่ปฏิบัติงานในสถานีบริการน้ำมัน ของ ปตท. ที่มีเอกชนเป็นเจ้าของ ปตท. ก็มีนโยบายที่จะสนับสนุนให้เจ้าของกิจการ ดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวในต้นปี 2555 เช่นกัน ทั้งนี้อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมในการสนับสนุน ให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินการเป็นไปตามทิศทางที่ได้กำหนดไว้ต่อไป โดยปตท.หวังว่านโยบายการปรับค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นนอกจากจะช่วยให้ ลูกจ้างมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแล้ว ยังจะเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจในการทำงานอันนำมาซึ่งประสิทธิภาพในการทำ งานที่เพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย

เผย พนง.ขสมก.ได้ปรับขึ้นค่าแรง 300 บ.

8 ก.ย. 54 - พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลัง การประชุมมอบหมายงานกับทางองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. โดยเน้นย้ำในส่วนของนโยบายค่าแรง 300 บาท ว่า พนักงานของ ขสมก.ได้ปรับตามมาตรการดังกล่าวเหลือเพียง 2 ราย ที่จะมีการปรับให้ต่อไป และสำหรับผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี เงินเดือน 15,000 บาทนั้น พนักงานของ ขสมก. ได้ในอัตราที่สูงกว่าอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม พล.ต.ท.ชัจจ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับรถยนต์โดยสารประจำทางนั้น ขณะนี้ทาง ขสมก. มีรถให้บริการ 3,500 คัน เป็นรถที่หมดอายุการใช้งาน 2,800 คัน และรถเสีย 700 คัน ซึ่งจะหามาตรการในการแก้ไขต่อไป

……………………

เรียบเรียงจาก: สำนัก ข่าวไอเอ็นเอ็น, กรุงเทพธุรกิจ, สำนักข่าวอินโฟเควสท์, แนวหน้า, ข่าวสด, ASTV ผู้จัดการออนไลน์, มติชนออนไลน์, ไทยรัฐ, สำนักข่าวไทย, เดลินิวส์



[1] ของแพง CP หนุนค่าแรง 300 ช่วยเพิ่มกำลังซื้อและลดความเหลื่อมล้ำกระจายรายได้ (ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 25 ก.ค. 2554)

[2] บอสใหญ่สหพัฒน์ บอกขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท เป็นไปไม่ได้ เตือนระบบจะพัง นักลงทุนหนีหาย (มติชนออนไลน์, 10 ก.ค. 2554)