ภาพโดย: เอก ตรัง
เครือข่ายประชาชนเหนือ-อีสาน-ใต้ เคลื่อนขบวนร่วมเครือข่ายใน กทม.รุกเสนอ “นโยบายประชาชน” ต่อนายกหญิง ถึงรัฐสภา ดันธนาคารที่ดิน-โฉนดชุมชน-ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า ด้าน “ยิ่งลักษณ์” ส่ง “ปลอดประสพ” เจรจา
เช้าวานนี้ (8 ส.ค.54) เครือข่ายประชาชนจากภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ และกทม.ราว 1,000 คน รวมตัวกันที่บริเวณหน้าลานพระบรมรูปทรงม้า จากนั้นได้เคลื่อนขบวนไปยังอาคารรัฐสภา เพื่อยื่นนโยบายภาคประชาชนให้กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อให้บรรจุนโยบายดังกล่าวลงในนโยบายของรัฐบาล โดยมีนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย เดินทางมารับข้อเสนอ
นายปลอดประสพ กล่าวว่า ภายหลังจากที่พรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้วจะหาช่อง ทางเพื่อหารือกับเครือข่ายฯ อย่างจริงจังและต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ ทางพรรคเพื่อไทยได้ระลึกว่า เพราะทางสมาชิกเครือข่ายฯ สนับสนุน ทำให้พรรคเพื่อไทยได้รับชัยชนะถึง 265 เสียง อย่างไรก็ตามปัญหาที่ได้เสนอมา เฉพาะ ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยคงจะทำไม่สำเร็จ ดังนั้นต้องขอความร่วมมือกับเครือข่าย เพื่อแก้ไขปัญหาให้คลี่คลาย
“เรื่องที่ประชาชนเสนอนั้น ส่วนหนึ่งเป็นนโยบายที่พรรคเพื่อไทยเตรียมดำเนินการ อย่างไรก็ตามคงต้องมีการคุยในรายละเอียดอีกครั้งเพื่อให้เกิดความชัดเจน ส่วนกรณีที่เครือข่ายฯ เสนอให้นำข้อเรียกร้องไปทำเป็นนโยบายรัฐบาลด้วยนั้น ผมยืนยันว่าจะรับไปดำเนินการอย่างแน่นอน” นายปลอดประสพ กล่าว
ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หลังจากนี้จะนัดประชุมเพื่อยืนยันกฎหมายที่ค้างสภาฯ โดยจะรับรองภายใน 60 วันเพื่อไม่ให้กฎหมายตกไป โดยในส่วนของ พ.ร.บ.สัญชาติฯ จะมีการรับรองและผ่านเป็นกฎหมายแน่นอน ส่วนกฎหมายการบริหารจัดการที่ดินของรัฐ ขณะนี้อยู่ในการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญร่วมทั้ง 2 สภา ว่าจะดำเนินการต่อไปหากทางเครือข่ายฯ ต้องการให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ให้ส่งสัญญาณมา เพื่อพิจารณากฎหมายฉบับดังกล่าวผ่านการพิจารณาโดยเร็ว
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 6 ส.ค.ที่ผ่านมา 145 เครือข่ายประชาชน เสนอ 15 นโยบายด่วน พร้อมเร่งรัดกฎหมาย 9 ฉบับ ในงาน “นโยบายประชาชน: ปฏิรูปโครงสร้างอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน สร้างรัฐสวัสดิการ” ที่ลานธรรม สวนโมกข์กรุงเทพฯ ขณะที่สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ได้จัดขบวนรถจักรยานยนต์กว่าร้อยคันมุ่งหน้าสู่ทำเนียบรัฐบาล พร้อมออกแถลงการณ์ระบุถึงการจัดเวที “สัญญาประชาคม ประชาชนพบพรรคการเมือง” เมื่อ 24 มิ.ย.54 ซึ่งตัวแทนพรรคเพื่อไทยให้คำมั่นว่าหากชนะการเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาลจะนำเอา ปัญหาการกระจายการถือครองที่ดิน ธนาคารที่ดิน โฉนดชุมชน และภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้าไปบรรจุไว้ในนโยบายของรัฐบาล โดยการเคลื่อนขบวนใหญ่ครั้งนี้มาเพื่อทวงถามสัญญาเหล่านั้น
ในส่วนภาคอีสาน เมื่อวันที่ 7 ส.ค.54 เครือข่ายเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.) สมัชชาคนจน กรณีกลุ่มผู้เดือดร้อนจากเขื่อนปากมูล กลุ่มผู้เดือดร้อนจากสวนป่าพิบูลมังสาหาร เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) สลัมสี่ภาค ร่วมกับ ขปส.จัดขบวนรถจักรยานยนต์เข้าสมทบกับเครือข่ายภาคประชาชนจากภาคเหนือ เพื่อเข้าพบว่าที่นายกรัฐมนตรี หวังให้การแก้ไขปัญหาของแต่ละเครือข่ายเดินหน้าต่อไปอย่างเป็นรูปธรรม
นอกจากนี้ ในวันเดียวกันเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสานยังได้ ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 1 “สานต่อภารกิจประชาชน ปฏิรูปที่ดินอย่างเป็นธรรม” เรียกร้องให้คณะรัฐบาลชุดใหม่สานต่อแนวทางการปฏิรูปที่ดินโดยประชาชน ให้เป็นนโยบายของรัฐบาล และจัดตั้งกลไกการแก้ไขปัญหาร่วมโดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พร้อมให้เร่งมีคำสั่งให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยุติการจับ กุม ข่มขู่ คุกคาม และดำเนินคดีชาวบ้านในพื้นที่สมาชิกเครือข่ายฯ และให้สามารถทำประโยชน์ในพื้นที่พิพาทไปพลางก่อน เพื่อเข้าสู่กระบวนการแก้ไขปัญหาร่วมกับรัฐบาลต่อไป
ทั้งนี้ ข้อเสนอของ 145 องค์กรเครือข่ายประชาชน มีรายละเอียดดังนี้
145 องค์กรเครือข่ายประชาชน
เสนอ 3 นโยบายหลัก 15 นโยบายเร่งด่วนต่อรัฐบาล
และให้เร่งรัดพิจารณากฎหมาย 9 ฉบับ
เพื่อปฏิรูปโครงสร้างอำนาจรัฐเพิ่มอำนาจประชาชน สร้างรัฐสวัสดิการ
บน ผืนแผ่นดินไทย คนร่ำรวยที่สุดร้อยละ 20 ของประเทศมีทรัพย์สินรวมกันคิดเป็นร้อยละ 69 ของประเทศ ครอบครองความร่ำรวย เกือบ 3 ใน 4 ขณะที่คนยากจนที่สุดร้อยละ 20 มีทรัพย์สินรวมกันเพียงแค่ร้อยละ 1 เท่านั้น
แผ่นดินที่ได้ชื่อว่ามีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก กลับเป็นแผ่นดินที่ความเหลื่อมล้ำสูงสุดติดอันดับโลก
จาก ความทุกข์ยากอันเกิดจากความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคมที่เห็นดาษดื่น เจนตา ปัญหาความยากจน ทั้งสิทธิและโอกาส ปัญหาการถูกกีดกันเข้าไม่ถึงทรัพยากรอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิต ทั้งที่ดินเพื่อทำกินและที่อยู่อาศัย การเข้าไม่ถึงสวัสดิการสังคม ทั้งหลักประกันการศึกษาและสุขภาพ การถูกกดค่าจ้างแรงงานเพื่อผลประโยชน์ของนายทุน การต้องแบกรับหนี้สินอันเกิดจากระบบเศรษฐกิจที่บิดเบี้ยวและฉ้อฉล ต้องแบกรับกับผลกระทบจากมลภาวะอุตสาหกรรมเพื่อความรุ่งเรืองของประเทศ และท้ายที่สุดคือการต้องถูกเบียดขับจากกระบวนการยุติธรรมและความเป็นธรรม
เครือ ข่ายองค์กรประชาชนและองค์กรพัฒนาเอกชน จึงรวมตัวกันเพื่อจัดทำนโยบายภาคประชาชนเสนอต่อรัฐบาล เพื่อเป็นนโยบายของประเทศและที่สำคัญยิ่งกว่า คือ เป็นเครื่องมือของประชาชนเองในการติดตามนโยบายสำคัญของรัฐบาล มีดังต่อไปนี้
1. นโยบายปฏิรูปโครงสร้างอำนาจรัฐ
1. ยกเลิกองค์กรส่วนภูมิภาค เลือกผู้ว่าราชการจังหวัดตรง ให้มีอิสระในการเก็บภาษีและงบประมาณ
2. ยกเลิกอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด ให้มีค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทเท่ากันทั้งประเทศและปรับใช้กับการสร้างหลักประกันด้านรายได้ให้กลุ่ม อื่นๆ เช่น แรงงานนอกระบบ เกษตรกรในระบบพันธะสัญญา ผู้ผลิตเพื่อขาย หาบเร่ แผงลอย และอาชีพอิสระอื่น
3. ออกกฎหมายโฉนดชุมชน และออกกฎหมายจำกัดการถือครองที่ดินและจัดเก็บภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า
4. ทบทวนโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ แหล่งน้ำระหว่างประเทศ และชะลอโครงการผันน้ำขนาดใหญ่ เช่น กรณีโครงการโขง เลย ชี มูล ให้มีการประเมินโครงการเขื่อนที่สร้างไปแล้วทุกเขื่อน เช่น กรณีเขื่อนปากมูล เป็นต้น
5. ยกเลิกคดีพิพาทเรื่องที่ดิน การจัดการทรัพยากรและสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากคดีคนจนด้านที่ดิน ทรัพยากรและการเรียกร้องสิทธิตามรัฐธรรมนูญ เกิดจากปัญหาโครงสร้างการจัดการที่ดิน และการบริหารจัดการทรัพยากรที่ดินของรัฐที่ไม่เป็นธรรม ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งลุกลามเป็นคดีความขึ้นทั่วประเทศ
2. นโยบายเพิ่มอำนาจประชาชน
1. ให้มีกองทุนพัฒนาสตรีเป็นองค์กรอิสระ สนับสนุนการมีส่วนร่วม ส่งเสริมโอกาสของผู้หญิง และขจัดความรุนแรง การค้ามนุษย์ ที่กระทำต่อเด็กและสตรี
2. เร่งให้มีการออกกฎหมายองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระ และการปรับปรุงคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคให้มีสัดส่วนผู้บริโภคไม่น้อย กว่ากึ่งหนึ่ง
3. จัดสรรเงินกองทุนสลากกินแบ่งรัฐบาลให้มีสัดส่วนมาสมทบเพิ่มมากขึ้นสำหรับกอง ทุนดูแลกลุ่มเปราะบาง หมายถึง กลุ่มประชากรที่มีเงื่อนไขหรือปัจจัยบางประการ ที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเข้าไม่ถึงโอกาสและทรัพยากรที่จำเป็นต่อการ ดำรงชีวิต การถูกละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน การถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ซึ่งรวมถึง เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ คนเร่ร่อน แรงงานข้ามชาติภาคบริการและการก่อสร้าง รวมถึงผู้ที่สังคมเรียกว่าผู้ด้อยโอกาสด้วยเงื่อนไขอื่น
4. หยุดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถาวร หนุนพลังงานหมุนเวียนทุกตำบล ยกเลิกสัมปทานและให้มีกฎหมายคุ้มครองทรัพยากรแร่ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ที่มีผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของพลเมือง รวมทั้งพัฒนารัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพในการให้บริการประชาชน และยกเลิกนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในกิจการสาธารณูปโภค
5. ให้ รัฐบาลไทยปฏิบัติและมีมาตรการคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรมและสิทธิของชนเผ่า พื้น เมืองในประเทศไทย ตามพันธกรณีที่ได้กระทำไว้กับนานาประเทศและองค์ระหว่างประเทศ และออกกฎหมายและมาตรการมารับรองสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยอย่าง โดยรัฐต้องให้การสนับสนุนกิจกรรมและงบประมาณในการทำกิจกรรมรณรงค์อย่างพอ เพียง
3. นโยบายสร้างรัฐสวัสดิการ
1. ปรับเปลี่ยนจากกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เป็นกองทุนหลักประกันการศึกษาที่ปลอดดอกเบี้ย ให้ทุกคนเข้าถึงกองทุน รวมทั้งมีการออกแบบการใช้ คืนเงินกู้ที่ไม่ใช่การบังคับให้เริ่มใช้คืนในปีที่สองหลังจบการศึกษา แต่ให้ยืดหยุ่นตามสภาพการมีงานทำ การมีรายได้พอจ่ายภาษี จึงเริ่มจ่ายคืนกองทุน
2. รักษาทุกคน รักษาทุกโรค ด้วยมาตรฐานเดียวกัน ใช้ระบบภาษี ไม่เก็บ 30 บาท และให้มีกองทุนเยียวยาความเสียหายจากบริการสาธารณสุข ลดการฟ้องร้องแพทย์และพัฒนาคุณภาพบริการ
3. สานต่อโครงการบ้านมั่นคง เพื่อสร้างหลักประกันที่อยู่อาศัยให้มีนโยบายนำที่ดินรัฐมาจัดสรรเป็นที่ อยู่อาศัยสำหรับคนจน เช่น ที่ดินการรถไฟ ที่ดินราชพัสดุ ที่ดินสาธารณะ ที่กรมศาสนา และที่วัด เป็นต้น โดยให้เช่าในอัตราต่ำ ใช้ระบบกรรมสิทธิ์ และการบริหารจัดการร่วมกันโดยชุมชน
4. ตั้งกองทุนบำนาญชราภาพพื้นฐานสำหรับทุกคน 1,500 บาทแทนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จ่ายรายเดือนให้ผู้สูงอายุทุกคน ทั้งนี้เพื่อให้ยังชีพได้ และสามารถมีรายได้เข้าไปสะสมในกองทุนการออมแห่งชาติได้ด้วย
5. ยกเลิกการนำเข้าสารเคมีการเกษตรอันตราย มีระบบประกันรายได้เกษตรกร ประกันภัย ประกันราคาผลผลิต ยกเลิกหนี้สินเกษตรกรในกรณีตาย พิการ สูงอายุ เป็นต้น
เร่งรัดกฎหมายและบังคับใช้กฎหมาย 9 ฉบับ
1. ร่าง พ.ร.บ.องค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระ พ.ศ. ....
2. ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข พ.ศ. ....
3. ร่าง พ.ร.บ.การเลือกปฏิบัติว่าด้วยเพศสภาพ พ.ศ. ....
4. จัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ตามพ.ร.บ.ความปลอดภัยจากการทำงาน พ.ศ.2554
5. ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. .... (ฉบับผู้ใช้แรงงาน 14,500 รายชื่อ)
6. ร่าง พ.ร.บ.บำนาญประชาชน พ.ศ. ....
7. ร่าง พ.ร.บ.กองทุนผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. ….
8. ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ พ.ศ. ...
9. รัฐบาลต้องทำให้การบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับสตรีที่มีอยู่มีประสิทธิภาพใน การบังคับใช้มากขึ้น และกฎหมายบางฉบับที่ปิดกั้นสิทธิและเลือกปฏิบัติต่อสตรีต้องมีการแก้ไข : ตัวอย่างกลุ่มกฎหมายที่ยังมีปัญหาในการบังคับใช้และปิดกั้นสิทธิได้แก่
1. กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอนามัยเจริญพันธุ์
2. กฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก[1]
3. พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว
4. พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535
5. การส่งเสริมสถานภาพทางกฎหมายของ “ภิกษุณี” เพื่อเติมเต็มพุทธบริษัท 4 ในประเทศไทย
พร้อมจัดตั้งกระบวนการติดตามนโยบายของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด
- สภาประชาชน ประเมินและติดตามผลงานรัฐบาลทุก 6 เดือน โดยแต่ละข่ายจะเกาะติดนโยบายกระทรวงที่เกี่ยวข้องทุกกระทรวงอย่างใกล้ชิด
- ความร่วมมือระหว่างภาคประชาชนกับสื่อมวลชน ในการติดตามนโยบายรัฐบาล กำหนดตัวผู้ประสานงานหลัก
กิจกรรมต่อเนื่อง
- วันที่ 6 ส.ค. ภาคเหนือ เครือข่ายที่ดินและทรัพยากร จะเคลื่อนขบวนมอเตอร์ไซด์จากลานครูบาศรีวิชัยเชียงใหม่ แวะศาลากลางจังหวัดต่างๆ เพื่อยื่นข้อเสนอ แวะพิษณุโลกค้างคืนและรวมขบวนกับเครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือล่าง
- วันที่ 7 ส.ค.ภาคอีสาน เครือข่ายที่ดินและทรัพยากร เคลื่อนขบวนด้วยมอเตอร์ไซค์ เช่นกัน นัดเจอกับภาคเหนือที่สระบุรี เพื่อมุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ หยุดพักที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต
- วันที่ 8 ส.ค. ออกเดินทางแต่เช้าตรู่ ด้วยขบวนมอเตอร์ไซค์ มุ่งหน้าลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อรวมขบวนกับเครือข่ายประชาชนใน กทม.กว่า 1,000 คน จากนั้นจะเดินทางไปพบ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่รัฐสภา เพื่อเสนอนโยบายและทวงสัญญาประชาคมที่พรรคการเมืองต่างๆลงนามไว้ที่ มหาวิทยาลัยรังสิต เมื่อ 24 กรกฎาคม2554
145 องค์กรเครือข่ายประชาชน
เป็น การรวมตัวกันของเครือข่ายประชาชน อันได้แก่ เครือข่ายองค์กรประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ, เครือข่ายผู้พิการ, เครือข่ายผู้ ติดเชื้อฯ, เครือข่ายผู้บริโภค, เครือข่ายผู้สูงอายุ, เครือข่ายสลัม 4 ภาคและคนไร้บ้าน, เครือข่ายเกษตร, เครือข่ายองค์กรสตรีฯ, เครือข่ายการ ศึกษา, เครือข่ายแรงงานนอกระบบ, เครือข่ายแรงงานสมานฉันท์, เครือข่ายเยาวชน และ สภาองค์กรชุมชน
ที่มา: เฟซบุ๊ก สุนี ไชยรส