คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม
สับไก กระสุนธรรม
|
ตามรายงานข่าวที่ออกมาทั้งในฝั่งไทยและในญี่ปุ่น อดีตนายกฯ มีหมายบรรยายเรื่องเศรษฐกิจโลกที่สถาบันเศรษฐกิจญี่ปุ่น-จีน-อาเซียน และอีกหมายบรรยายปัญหาแผ่นดินไหวและสึนามิ
รวมถึงจะไปเยือนพื้นที่ประสบภัยแผ่นดินไหว-สึนามิ
ถ้าตัดประเด็น 'การอนุญาตเข้าเมือง' ของญี่ปุ่นออกไปก่อน น่าสังเกตว่า หัวข้อที่ทักษิณไปญี่ปุ่นครั้งนี้เน้นคือเรื่องสึนามิ
ในฐานะที่มีประสบการณ์ 'รับมือ' ในช่วงเป็นผู้นำประเทศ
ผลงานการกู้ภัยและฟื้นฟูของรัฐบาลเมื่อปี 2547-2548 ในเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิกวาดซัดชายฝั่งรอบมหาสมุทรอินเดียวันที่ 26 ธ.ค. 2547 ในตอนนั้นเป็น 'บวก'
โดยเฉพาะเรื่องความรวดเร็วในการกู้ภัย ซึ่งของไทย มีผู้เสียชีวิตเกิน 5,300 ราย เป็นชาวต่างชาติจำนวนมาก
การที่พ.ต.ท.ทักษิณเลือกมาญี่ปุ่นด้วยประเด็นสึนามิ นอกจากอาจเป็นผลดีกับญี่ปุ่นแล้ว ยังเหมือนย้อนผลงานดีเด่นของรัฐบาลตนเองด้วย
ส่วนการที่รัฐบาลญี่ปุ่น ประเทศประชาธิปไตยของเอเชีย อนุญาตให้เข้าประเทศเป็นกรณีพิเศษ ถือเป็นเครดิตอีกส่วน
แต่จะคุ้มค่ากับน.ส.ยิ่งลักษณ์ น้องสาว หรือไม่ เป็นเรื่องที่มีความเสี่ยงสูง
สื่อต่างประเทศต่างรายงานความเห็นนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญในภูมิภาคเอเชีย
ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ จากสถาบันศึกษาอาเซียนในสิงคโปร์ เห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณเร่งแสดงตัวกับโลกว่า ตนเองเป็นนายกรัฐมนตรีของไทยโดยพฤตินัย
ส่วนไมเคิล มาเตซาโน จากสถาบันเดียวกัน มองว่า พ.ต.ท.ทักษิณยังคงอดกลั้นไม่เป็น ทำให้ความเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็น "เกมอันตราย"
โดยเฉพาะกับน้องสาว
ล่าสุด พรรคประชาธิปัตย์มอบหมายให้ทีมกฎหมายของพรรค ดำเนินการเอาผิดกับนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ ว่า มีส่วนในการขอวีซ่าเข้าญี่ปุ่น
ส่วนกลุ่ม 'เสื้อหลากสี' ชุมนุมหน้าสถานทูตญี่ปุ่น ประท้วงที่ญี่ปุ่นให้วีซ่าทักษิณเข้าประเทศ
ไม่ว่าความเคลื่อนไหวเหล่านี้จะปลุกกระแสได้หรือไม่ได้ ก็เป็นเงื่อนไขให้นายกฯ ยิ่งลักษณ์เจ็บตัว
โดยไม่จำเป็น