นพ. นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แนะสังคมไทยสรุปบทเรียนร่วมกันถึงการใช้กฎหมายหมิ่นฯ และพรบ. คอมพิวเตอร์ ชี้ กฎหมายดังกล่าวไม่ส่งผลดีใดๆ ต่อสังคม หวังรัฐบาลหน้าดูแลเรื่องนี้ให้ชัดเจนเพื่อนำไปสู่ความปรองดองที่แท้จริง
9 ส.ค. 54 –นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการสิทธิพลเรือนและสิทธิทางการเมืองคณะกรรมการสิทธิ มนุษยชนแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวประชาไท ต่อประเด็นการจับกุมผู้ต้องหาคดีหมิ่นฯ รายล่าสุด นายนรเวศร์ ยศปิยะเสถียร บัณฑิตจบใหม่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อายุ 23 ปี เนื่องมาจากการส่งฟ้องของนายนิพนธ์ ลิ้มแหลมทอง รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิตฯ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยนายแพทย์นิรันดร์ให้ความเห็นว่า ต่อปัญหาการละเมิดสิทธิดังกล่าว ทางคณะกรรมการสิทธิฯ กำลังเข้าไปตรวจสอบและศึกษายุทธศาสตร์ในการจัดการเรื่องคดีหมิ่นพระบรมเด ชานุภาพ เพื่อดูว่ามีปัญหาในจุดใด และหาทางป้องกันไม่ให้มีการนำกฎหมายดังกล่าว รวมถึงพรบ. คอมพิวเตอร์มาใช้ในทางละเมิดสิทธิ
“ก็มีเรื่องที่เราเข้าไปตรวจสอบจากกรณีของอาจารย์สมศักดิ์ (เจียมธีรสกุล) และคุณสมยศ (พฤกษาเกษมสุข) แล้วเราก็ตรวจสอบโดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง ตอนนี้เรากำลังดำเนินการเรื่องศึกษายุทธศาสตร์ในการจัดการเรื่องคดีหมิ่น ไม่ว่าจะเป็นจากมาตรา 112 หรือ กฎหมายการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ เรามองว่าปัญหาเหล่านี้มันจะเกิดขึ้นจากการใช้มาตรา 112 อยู่เนืองๆ หรือว่าในเรื่องของสื่อ ที่ปิดกั้นการแสดงออก ในประเด็นนี้ก็คงจะต้องมีการนำเสนอ และศึกษาวิจัยในเรื่องของสาเหตุ และแนวทางการแก้ไขเพื่อไม่ให้มีการนำกฎหมายอาญามาตรา 112 และพรบ. คอมพิวเตอร์มาละเมิด และเป็นเครื่องมือในการทำลายล้างกัน” นพ. นิรันดร์กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า จากกรณีรายล่าสุดที่ถูกจับกุม พบว่าเป็นคดีหมิ่นฯ ที่อายุน้อยที่สุดที่เคยปรากฎ สะท้อนให้เห็นว่ากฎหมายหมิ่นฯ ถูกใช้อย่างมากขึ้นและครอบคลุมมากขึ้นหรือไม่ นพ. นิรันดร์กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา กฎหมายนี้ถูกใช้มากขึ้น ตอนนี้เราก็กำลังนำข้อมูลจากส่วนต่างๆ มาดูด้วยว่าอะไรที่มันมากขึ้น มันมากขึ้นเพราะอะไร มันเกี่ยวข้องกับของการกระทำอะไร และหน่วยงานใดที่ไปจับ เพราะมันมีปัญหาเรื่องการบังคับใช้มาตรา 112 ก็คงต้องเอาข้อมูลนั้นมาดูกันในรายละเอียด
ต่อคำถามที่ว่า คิดว่ารัฐบาลใหม่จะมีท่าทีอย่างไรต่อการบังคับใช้กฎหมายหมิ่น จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นหรือแย่ลงหรือไม่ ประธานคณะอนุฯ สิทธิทางพลเมืองและการเมืองตอบว่า รัฐบาลใหม่น่าจะเป็นความหวังในการนำมาซึ่งสิทธิมนุษยชนที่ดีขึ้น เนื่องจากได้ผ่านการต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยมา และคงมีการสรุปบทเรียน เพื่อทำให้สังคมไทยก้าวไปสู่การปรองดองได้
“ผมคิดว่าเราก็ต้องหวังว่ารัฐบาลใหม่นี้... ต้องยอมรับว่ามีส่วนได้รับกรรมดีในเรื่องการต่อสู้ในเรื่องสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลที่เข้ามาร่วมต่อสู้ในพรรคเพื่อไทยเอง ก็เคยต้องคดีหมิ่นฯ มามากพอสมควร พรรคเพื่อไทยเองก็ได้ภาพในเรื่องการต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชน ในเรื่องของประชาธิปไตย ก็น่าจะพยายามทำเรื่องของกรณีนี้เพื่อให้เกิดความชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดการทำลายล้างกันโดยการเอากฎหมายต่างๆ ไปเป็นเครื่องมือและเกิดการกล่าวหา มันจะยิ่งทำให้เกิดสังคมมีความขัดแย้ง เกิดความแตกแยก และนำไปสู่ความรุนแรงในที่สุด ผมคิดว่ารัฐบาลใหม่ก็น่าจะมีการสรุปบทเรียนที่ดีพอสมควร ก็ได้แต่หวังว่า เมื่อมีอำนาจแล้ว ก็น่าจะมีแนวทางการทำงานเพื่อให้สังคมไทยเกิดความปรองดองอย่างที่คุณยิ่ง ลักษณ์ได้พูดไว้”
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ในส่วนของประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาข้อเท็จจริงเพื่อการปรองดอง แห่งชาติ (คอป.) หรือ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายที่มีนายสมชาย หอมลออ เป็นประธาน จะให้ความสำคัญกับการปฏิรูปกฎหมายอาญามาตรา 112 มากน้อยเพียงใด นพ. นิรันดร์เห็นว่า เป็นเรื่องที่เห็นตรงกันว่าขณะนี้สังคมต้องการการปรองดอง หลายภาคส่วนต่างๆ จึงจำเป็นต้องมีสรุปบทเรียน และแก้ไขปัญหาในเชิงโครงสร้างโดยดูจากข้อมูลของปัญหาในการใช้กฎหมาย
“ผมคิดว่าหลายฝ่ายในสังคมไทยมีความคิดที่ตรงกันว่า ขณะนี้เราต้องมาหาแนวทางในการที่จะนำไปสู่การปรองดอง และในเรื่องสถาบันทหาร หรือในเรื่องคดีหมิ่นๆ ต่างนี่ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เห็นว่ามันเป็นเครื่องมือในการทำลายล้างกัน และทำให้เกิดความขัดแย้ง เพราะฉะนั้น ผมเองก็ได้พูดคุยกับคณะกรรมการหลายท่านในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย หรือในคอป.เอง เราก็คงต้องแก้ไขปัญหาในเชิงโครงสร้าง โดยหยิบยกกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นมาดู
แม้แต่นักวิชาการ หรือส่วนข้าราชการต่างๆ ในเรื่องด้านความมั่นคง ผมคิดว่าหลายๆ คนก็คงสามารถสรุปบทเรียนในหลายปีที่ผ่านมาได้ว่า กฏหมายนี้มันไม่ได้ส่งผลดีต่อสังคมไทยถ้าเรายังอยู่ในวังวนของการกล่าวหา แต่ข้อมูลนี้จะชัดขึ้นเมื่อเรามีการศึกษาวิจัย และทำให้เห็นประเด็นเรื่องการกล่าวหา หรือการใช้กฎหมายในส่วนต่างๆ เพราะมาตรา 112 มันมีหลายส่วน เช่น ในเรื่องของผู้กล่าวหาที่จะการฟ้องร้อง หรือในเรื่องของการตีความเรื่องการกล่าวร้ายต่างๆ มันเป็นเรื่องที่ต้องมาดูกันในรูปธรรม เราถึงจะสามารถทำให้สังคมมีความเข้าใจ ไม่เช่นนั้นมันก็จะมีการมองกันด้วยเรื่องที่จับต้องไม่ได้ และเกิดการกล่าวหากัน”
ต่อประเด็นที่ว่า ผู้แจ้งความในกรณีหมิ่นฯ ล่าสุดนี้ เป็นรองอธิการบดีฝ่ายกิจการของมหาวิทยาลัย ทั้งๆที่มหาวิทยาลัยควรจะเป็นพื้นที่ที่เปิดให้มีการตั้งคำถามและความหลาย หลาย แต่กลับเกิดกรณีดังกล่าวขึ้น นพ. นิรันดร์เห็นว่า ต้องยอมรับว่าสังคมไทยในขณะนี้มันยังมองอะไรที่ไม่ตรงกันในหลายๆอย่าง อันนั้นก็เป็นความลำบากในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในสังคมไทย มันเกิดจากการมองสิ่งต่างๆ ที่ไม่ตรงกัน และสังคมไม่สามารถตีแผ่ พูดคุยความจริงที่เกิดขึ้น ในเรื่องบางสิ่งบางอย่าง ฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่สังคมไทยจะต้องสรุปบทเรียนตรงนี้ อย่าไปมองว่าเป็นเรื่องของหน่วยงานของรัฐเพียงอย่างเดียว แต่ว่าในเรื่องความนึกคิดหรือความหลงผิดของคนในสังคมในประเด็นต่างๆ เหล่านี้ก็มีส่วนด้วย
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา นายนรเวศย์ ยศปิยะเสถียร บัณฑิตจบใหม่จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อายุ 23 ปี ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา ในข้อหาผิดพรบ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ล่าสุด หลังจากนรเวศย์ถูกควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นเวลาสามวัน วานนี้ (8 ส.ค) ศาลมีคำสั่งให้เขาได้รับการประกันตัวชั่วคราวโดยกำหนดวงเงินประกันจำนวน 5 แสนบาท โดยครอบครัววางโฉนดหลักทรัพย์ค้ำประกันมูลค่า 860,000 บาท