จนถึงวันนี้คนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่างเฝ้าจับตามองว่า รัฐบาลชุดใหม่ ที่มีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รั้งตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จะมีนโยบายแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมานานกว่า 7 ปี ที่สำคัญรัฐบาลชุดนี้จะมอบหมายให้ใครเข้ามาดูแลพื้นที่นี้เป็นพิเศษหรือไม่
หรือจะปล่อยให้การดูแลตกไปอยู่ในมือของเจ้าหน้าที่รัฐ ภายใต้กลไกความรับผิดชอบของกระทรวง กรม กองปกติ
อันที่จริงการเฝ้าจับตามองในประเด็นนี้ เริ่มมาตั้งแต่ปรากฏผลการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ออกมา โดยพรรคเพื่อไทยไม่ได้รับเลือกตั้งแม้แต่ที่นั่งเดียว
จะเห็นได้ว่า ในแทบทันทีที่การเลือกตั้งเสร็จสิ้นลง กระแสสอบถามถึงท่าทีรัฐบาลใหม่ต่อสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ดังกระหึ่ม
เห็นได้ชัดจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ออกมาจัดเสวนาในประเด็น “สังคมชายแดนใต้หลังการเลือกตั้ง” ในแทบจะทันทีทันใด
เนื้อหาการเสวนา เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2554 ณ อาคารเรียนรวม 19 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี บ่งบอกถึงความสนใจอยากรู้อยากทราบท่าทีของรัฐบาลใหม่ ต่อจังหวัดชายแดนภาคใต้ชนิดชัดเจนยิ่ง
“นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล” สมาชิกวุฒิสภาสรรหาภาครัฐ นักธุรกิจใหญ่เจ้าโรงแรมซีเอส ปัตตานี มองว่า ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์มีผลงานเห็นชัดที่สุดแค่เพียงฟื้นศูนย์อำนวยการ บริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอบต.) ให้กลับมาเป็นหน่วยงานแก้ปัญหาพื้นที่ แต่พรรคเพื่อไทยซึ่งเสนอนโยบายจัดตั้งมหานครปัตตานี ก็กลับไม่ได้ที่นั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแม้แต่ที่นั่งเดียว
มองจากมุมของ “นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล” ถึงแม้การกระจายอำนาจจะเป็นส่วนหนึ่งของการลดความรุนแรงลงได้ก็จริง แต่ในเมื่อปัจจุบันมีการกระจายอำนาจผ่านการปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งรูปแบบเทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล และองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งนักการเมืองท้องถิ่นที่เข้ายึดครององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเหล่านี้ เป็นมลายูมุสลิมถึงร้อยละ 95–98 อยู่แล้ว
ทำให้ข้อเสนอเกี่ยวกับการกระจายอำนาจในรูปแบบต่างๆ ทั้งทบวงการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ของพรรคมาตุภูมิ และมหานครปัตตานีของพรรคเพื่อไทย ไม่ได้รับการขานรับจากคนในพื้นที่ ส่งผลให้พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นแกนนำรัฐบาลชุดปัจจุบัน ไม่ได้รับเลือกตั้งแม้แต่ที่นั่งเดียวในพื้นที่ปลายด้ามขวาน
“สรุปได้ว่าพรรคเพื่อไทยไม่ประสบผลสำเร็จทางการเมืองในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้”
เป็นบทสรุปของ “นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล”
ทว่า ดูเหมือน “นายมูฮำมัดอายุบ ปาทาน” บรรณาธิการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ จะมองต่างออกไป
“นายมูฮำมัดอายุบ ปาทาน” กล่าวว่าฐานเสียงมุสลิมเดิมในพื้นที่ที่เคยถูกยึดกุมด้วยกลุ่มวาดะห์ ที่บัดนี้กระจัดกระจายออกไปอยู่กับพรรคการเมืองต่างๆ ส่งผลให้คะแนนเสียงแตกกระจายไปให้กับทุกพรรค น่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้พรรคเพื่อไทย ซึ่งหวังใช้ฐานเสียงของกลุ่มวาดะห์เดิมประสบกับความพ่ายแพ้
เมื่อพูดถึงการกระจายอำนาจ ด้วยการปกครองรูปแบบพิเศษที่พรรคเพื่อไทยนำเสนอ ก็ปรากฏว่ามีรูปแบบแตกต่างไปจากที่ภาคประชาสังคมเสนอ มีรูปแบบไม่เหมือนกัน
ประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งจากการนำเสนอของนายมูฮำมัดอายุบ ปาทาน ก็คือ กรณีพรรคประชาธรรมเน้นการใช้ภาษามลายูในการหาเสียงเลือกตั้ง จากเมื่อก่อนไม่มีคนกลุ่มใด พรรคการเมืองไหนกล้าใช้มาก่อน
“แสดงให้เห็นว่า ความเป็นมลายูตอนนี้มีพื้นที่มากขึ้น” เป็นบทสรุปของนายมูฮำมัดอายุบ ปาทาน
อันหมายรวมไปถึงกระแสการเรียกร้องให้มีการกระจายอำนาจของคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็มีพื้นที่เคลื่อนไหวมากขึ้นด้วยเช่นกัน
ข้อเสนอแนะต่อคนชายแดนภาคใต้จาก “นายมูฮำมัดอายุบ ปาทาน” ก็คือ ภาคประชาสังคมและนักศึกษาในพื้นที่ ต้องจับตาดูนโยบายของรัฐบาลที่มีต่อสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะนำลงสู่การปฏิบัติได้อย่างไร ประเด็นที่จะต้องจับตาดูคือ รัฐบาลชุดนี้จะมีนโยบายลดความรุนแรงในพื้นที่อย่างไร พรรคเพื่อไทยจะเอาอย่างไรกับการใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ ฉุกเฉิน
“เราต้องถามเรื่องเหล่านี้ต่อรัฐบาล เพราะเรากำลังเดิมพันชีวิตของคนที่เสียชีวิตรายวันวันละ 2 คน เราต้องมีจุดยืนและยืนยันจุดยืนของเราต่อรัฐบาล หลังจากนี้ คนชายแดนภาคใต้จะต้องเปิดพื้นที่ให้กับคนที่เห็นต่าง ต้องให้เกียรติคนกลุ่มน้อยในสังคมคนกลุ่มใหญ่ เพราะเราจะเอาชีวิตของคนชายแดนภาคใต้เป็นเดิมพันไม่ได้แล้ว เราต้องมีอำนาจในการต่อรอง จึงต้องสร้างพื้นที่รองรับ เพื่อทำให้ข้อต่อรองของเรามีน้ำหนัก”
เป็นข้อเสนอแนะในเชิงรูปธรรมจาก “นายมูฮำมัดอายุบ ปาทาน”
ขณะที่ “ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี” อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี มองผลการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาว่า ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่เป็นคนไทยพุทธร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งหมดใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อีกร้อยละ 80 เป็นมลายูมุสลิม จากการศึกษาของคณะรัฐศาสตร์พบว่า ฐานเสียงสำคัญที่ให้เทคะแนนให้กับพรรคประชาธิปัตย์คือ ร้อยละ 90 ของคนไทยพุทธในพื้นที่
“จากการสอบถามคนมุสลิม 100 คนพบว่า ไม่เทคะแนนไปกระจุกให้กับพรรคใดเพียงพรรคเดียว แต่จะตัดสินใจลงคะแนน โดยขึ้นอยู่กับกลุ่มหรือความสัมพันธ์ส่วนบุคคลมากกว่า กรณีการพ่ายแพ้ของพรรคเพื่อไทย เป็นเพราะชาวมลายูมุสลิมลงสมัครรับเลือกตั้งตัดคะแนนกันเอง ในขณะที่คนไทยพุทธเลือกพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะส่งผู้สมัครเป็นไทยพุทธหรือมุสลิม”
เป็นการวิเคราะห์จากนักรัฐศาสตร์ในพื้นที่แห่งความขัดแย้ง “ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี”
แตกต่างเป็นอย่างมากกับมุมมองของ “นายกฤษณะ โชติสุทธิ์” นัก ศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะรัฐศาสตร์ วิชาเอกการปกครอง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ที่มองว่า เหตุการณ์ตากใบและเหตุการณ์กรือเซะ ที่เกิดขึ้นในรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ซึ่งปัจจุบันแปลงร่างกลายรูปเป็นพรรคเพื่อไทย ส่งผลอย่างมากที่ทำให้คนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ตัดสินใจไม่ลงคะแนนเสียงให้ กับพรรคเพื่อไทย
“โครงสร้างของรัฐไทยไม่มีพื้นที่ทางการเมืองที่ตอบสนองต่อชาติพันธุ์หรือ อัตลักษณ์ที่แตกต่างไปจากสังคมใหญ่ หากรัฐไทยใจกว้างกว่านี้ เหตุการณ์ความรุนแรงในภาคใต้คงไม่เกิดขึ้น”
เป็นความเห็นของ “นายกฤษณะ โชติสุทธิ์”
ขณะที่ “นายดันย้าล อับดุลเลาะ” นักศึกษาชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยอิสลามศึกษา วิชาเอกตะวันออกกลาง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี สรุปง่ายๆ สั้นๆ แต่ได้ใจความ
“ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร หลังเลือกตั้งทุกอย่างก็จะยังเหมือนเดิม”