ก่อนที่จะมีเสียงเซ็งแซ่ของบรรดานายทุน นักวิชาการ ผู้นำแรงงาน เกี่ยวกับการสนับสนุน คัดค้านการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทผ่านสื่อมวลชน ในท่ามกลางการต่อสู้เรียกร้องให้มีการยุบสภาตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2553 จนถึงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งปี 2554 เสียงของประชาชนคนเสื้อแดงกร่นด่าถึงการใช้งบประมาณแผ่นดินที่มาจากภาษีของ ประชาชนว่า รู้สึกเจ็บปวดกับการที่รัฐบาลและกองทัพนำเงินมาซื้อรถถัง เฮลิคอปเตอร์ สไนเปอร์ (sniper) และกระสุนทุกนัดมาเข่นฆ่าผู้ชุมนุมที่เห็นต่างจากผู้มีอำนาจรัฐในเดือน เมษายน-พฤษภาคม 2553 เช่นเดียวกันกับทหารที่หันปากกระบอกปืนยิงประชาชนมือเปล่าที่เสียภาษีเป็น เงินเดือนเลี้ยงคนเหล่านี้
เสียงแห่งความเจ็บปวดของประชาชนในเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึง การที่ผู้มีอำนาจรัฐขณะนั้นไม่สำนึกบุญคุณของประชาชน โดยเฉพาะคนชั้นล่างที่เสียภาษีทางอ้อมเป็นจำนวนมากถึง 60% ของรายได้ของรัฐ ซึ่งเป็นภาระของพวกเขามาก เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเหล้า บุหรี่ น้ำมัน ทว่าถูกนำไปจัดสรรเป็นงบประมาณของกองทัพเป็นจำนวนมหาศาล เพื่อใช้ปราบปราม ควบคุมประชาชนที่เห็นต่างในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งไม่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ทางสื่อมากนักว่า รัฐบาลอำมาตย์ใช้งบประมาณไม่มีประสิทธิภาพ และไม่ได้ช่วยเหลือคนส่วนใหญ่จริง
คำถามจากนี้คือ รัฐจะต้องบริหารงบประมาณการคลังอย่างไรให้โปร่งใส มีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เช่น ควรจะปรับเพิ่ม ลดงบประมาณที่ไม่จำเป็นของกระทรวงใดบ้าง ควรบริหารงบประมาณอย่างไรเพื่อให้เศรษฐกิจปากท้องของประชาชนระดับล่างดีขึ้น ควรเพิ่มค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับรายได้และสวัสดิการที่ดี ครอบคลุมทุกด้านแก่ประชาชนอย่างไร ควรจะหาเงินเข้ารัฐเพิ่มขึ้นหรือไม่ เท่าไรและหาจากไหน จะทำยังไงสำหรับกลุ่มอภิสิทธิชนที่ถือครองรายได้ ทรัพย์สิน ที่ดินในสัดส่วนที่มากกว่าคนส่วนใหญ่หลายเท่าตัว แถมยังได้รับการยกเว้นภาษีทรัพย์สิน ให้เสียกันสักทีในอัตราก้าวหน้า ไม่ใช่บอกให้คนชั้นล่างอยู่อย่างพอเพียงด้วยรายได้วันละ 150 บาท และสวัสดิการพอประมาณ ในขณะที่เงินเดือนระดับผู้แทน ผู้บริหาร ผู้ควบคุมจัดการถูกปรับให้สูงขึ้น นั่นคือรัฐบาลชุดใหม่จะต้องสามารถแก้ไขความ อยุติธรรมทางเศรษฐกิจอย่างจริงจัง
ความอยุติธรรมทางเศรษฐกิจเป็นผลมาจากการพัฒนา ที่ไม่ทั่วถึง กระจุกอยู่ที่เมืองใหญ่บางแห่ง ทำให้คนร่ำรวยไม่กี่กลุ่ม และทำให้เกิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนถึง 14 เท่าซึ่งมากกว่าอดีต แม้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของสินค้าและบริการที่ผลิตขึ้นภายในประเทศ (จีดีพี) จะเติบโตเพราะมีการผลิตจำนวนมาก แต่แลกมาด้วยการดำเนินชีวิตด้วยค่าแรงขั้นต่ำรายวันของผู้ใช้แรงงาน ที่ทำให้ฐานเงินเดือนต่ำ ต้องขยายเวลาทำงาน ทำงานหนัก ไม่มีเวลาพักผ่อน อยู่กับครอบครัวและพัฒนาศักยภาพ ซึ่งหมายความว่ารายได้และสวัสดิการหรือเศรษฐกิจจุลภาค (ระดับล่าง) ไม่เติบโตสอดคล้องกับจีดีพี ทั้งยังไร้เสถียรภาพเพราะเมื่อมีอายุมากขึ้น ก็จะถูกเขี่ยให้ออกไปจากโรงงาน ถ้าเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ก็จะถูกลดทอนสวัสดิการ โอทีและถูกเลิกจ้าง ซ้ำเติมด้วยการกระทำของรัฐที่ผลักไสให้ไปใช้ชีวิตพอเพียงที่บ้านนอก ผลักภาระให้แก่ครอบครัวในชนบท แทนที่จะจ่ายค่าชดเชยเต็มจำนวนของเงินเดือนให้แก่ผู้ที่เดือดร้อน เพิ่มสวัสดิการแก่คนในท้องถิ่น และแก้ไขปัญหาการเอารัดเอาเปรียบในสังคม
ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 : การต่อสู้ที่ยังไม่สิ้นสุด
หลังจากที่นโยบายประชานิยม 30 บาทรักษาทุกโรคประสบความสำเร็จในการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลของ คนจนในท้องถิ่น นโยบายในทำนองเดียวกันนี้ คือ เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท เงินเดือนปริญญาตรีจบใหม่ 15,000 และข้าวราคาเกวียนละ 15,000-20,000 ของพรรคเพื่อไทยที่ใช้ในการหาเสียงและได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งปี 54 ด้วยคะแนน 15.7 ล้านเสียง ซึ่งส่วนใหญ่มาจากเสียงจากประชาชนภาคอีสานและภาคเหนือ ที่เต็มไปด้วยประชากรผู้มีรายได้น้อย สวัสดิการไม่เพียงพอ ต้องประกาศใช้กับประชาชนทุกเชื้อชาติที่ทำงานให้แก่ประเทศนี้
การเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทเป็นมาตรการขั้นต้นสำหรับเพิ่มมาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ ไม่ใช่บอกให้ประชาชนดักดานกับมาตรฐานขั้นต่ำเดิมๆ ที่กระเถิบขึ้นน้อยมาก ตามไม่ทันกับค่าครองชีพที่สูง เช่น คนงานบางส่วนกินค่าแรงขั้นต่ำเป็นเวลาถึง 5 ปี บางส่วนถูกปรับขึ้นไม่เกิน 10 บาท หรืออีกกรณี คนงานแถวสมุทรปราการอายุงานถึง 10 ปีทำงานวันละ 12 ชั่วโมง ได้ค่าจ้างรวมวันละ 350 บาทเท่านั้น นอกจากนี้คำว่า “ค่าจ้างขั้นต่ำ” ยังถูกฝ่ายอนุรักษ์นิยมฉวยโอกาสเสนอให้อนุรักษ์มาตรฐานขั้นต่ำเดิมๆ ไว้ ซ้ำยังจะลดค่าแรงให้เหลือ 150 บาท พร้อมกับสวัสดิการที่ยังคงมีหลายมาตรฐานหลายชั้น
นับตั้งแต่การชูเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ได้มีบทความมากมายทั้งจากนายทุนที่ไม่เห็นด้วย เช่น สภาอุตสาหกรรม หอการค้า ผู้ประกอบการบางส่วน นักอนุรักษ์นิยม นักวิชาการเสรีนิยมจัด และที่สนับสนุน ได้แก่ นักวิชาการสายแรงงาน สายเศรษฐศาสตร์การเมือง ผู้ประกอบการที่เห็นหัวคนจน ผู้นำแรงงาน ซึ่งผู้อ่านสามารถหาอ่านได้ด้วยตนเอง และผู้เขียนเห็นด้วยว่านโยบายประชานิยมจำเป็นในช่วงหนึ่งเพราะช่วยลดภาระ แก้ไขปัญหาความยากจนแก่คนชั้นล่างได้ ตามหลักการดังนี้
- เพิ่มรายได้ตามหลักการการกระจายรายได้ให้แก่ประชาชนผู้ใช้แรงงานทุกภาค ส่วน ชาวนารายย่อย รายกลางที่มีอาชีพรับจ้างเสริม แม้จะเพิ่มต้นทุนด้านแรงงานในการผลิตข้าว แต่มีการชดเชยด้วยการเพิ่มราคาข้าวเป็นเกวียนละ 15,000-20,000 บาท
- ยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่สูงขึ้น คนทำงานมีตัวเลือกในชีวิตมากขึ้น เช่น ลดชั่วโมงการทำงานล่วงเวลาเพื่อพักผ่อน ฟื้นฟูร่างกาย
- เพิ่มอำนาจการซื้อตามหลักการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ตลาดภายในประเทศ ตลาดที่เป็นคนส่วนใหญ่ ได้แก่ ผู้ใช้แรงงาน (มนุษย์ค่าจ้าง) และชาวนา
นโยบายประชานิยมช่วยสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจของคนชั้นล่างในเฉพาะ หน้านี้ แต่ไม่เพียงพอ เพราะยังมีปัญหาเรื่องงบประมาณ ที่จะนำมาสร้างหลักประกันชีวิตครอบคลุมทุกด้าน ไม่ว่าสมัยไหน โครงสร้างภาษีไม่เป็นธรรมก็ยังไม่แก้ไขให้สำเร็จ ในทำนองเดียวกันกับการไม่ปฏิรูปกองทัพ นอกจากนี้ ประชานิยมเป็นการแก้ไขปัญหาประเด็นเดียวในช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งเราเคยผ่านประสบการณ์มาแล้วสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ทว่าปัญหาโครงสร้างความเหลื่อมล้ำกลับทวีความสำคัญในช่วงวิกฤตการเมือง ปัจจุบัน ไม่ต่างจากกระแสเรียกร้องประชาธิปไตยเต็มใบ (ไม่มีอีแอบ)
จัดเก็บภาษีทรัพย์สินในอัตราก้าวหน้า : การต่อสู้นับจากนี้
การค้าขายสินค้าและบริการที่ขึ้นชื่อของประเทศ การลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมของนักลงทุนจากต่างประเทศ การเพิ่มเงินเดือนข้าราชการ การกระตุ้นให้มีการจับจ่ายใช้สอย เพื่อหวังให้จีดีพีเติบโต ผู้คนมีรายได้มากขึ้น และเสียภาษีให้แก่รัฐทั้งทางตรงและทางอ้อม เป็นรายได้นำมาบริหารประเทศ ทว่าหากอัตราการเก็บภาษีมีลักษณะถอยหลัง มีข้อยกเว้น ลดหย่อนแก่คนรวย เช่นที่ระบุในร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของรัฐบาลชุดก่อน จีดีพีที่เติบโตก็ไม่สามารถลดปัญหาช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนได้ หากไม่มีการเก็บภาษีทรัพย์สินในอัตราก้าวหน้า เพิ่มความโปร่งใส ประสิทธิภาพในการจัดเก็บและบริหาร
คนรวยจำนวน 20% ของประชากรทั้งหมดในประเทศมีรายได้เท่ากับ 50%-60% ของจีดีพี มีบัญชีเงินฝากธนาคาร ถือครองที่ดินจำนวนมาก ซื้อขายที่ดินเก็งกำไร เล่นหุ้น และคนรวยสุดมีรายได้มากกว่ากลุ่มคนจนสุด 14 ในปัจจุบันซึ่งมากกว่าปี 2531 (11.88 เท่า) ในขณะที่สัดส่วนภาษีที่เก็บได้ต่อจีดีพี (8.8 ล้านล้านบาท) [1] คือ 15.6% ในปี 2552 หรือประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท [2] แบ่งเป็นรายได้จากภาษีทางตรง ภาษีทางอ้อม และเงินกู้ รายได้จากภาษีทางอ้อมที่เก็บจากฐานการบริโภคสินค้าและบริการเป็นแหล่งรายได้ ภาษีอากรที่สำคัญที่สุดของรัฐบาลในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา รายได้ภาษีทางอ้อมที่ว่านี้มีภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิต และโดยรวมรัฐสามารถจัดเก็บภาษีทางอ้อมได้มาก คิดเป็นอัตราการจัดเก็บภาษีทางอ้อมต่อภาษีทางตรงโดยเฉลี่ยประมาณ 63 ต่อ 37 นั่นหมายความว่า คนส่วนใหญ่ที่เป็นแรงงาน ชาวนาเสียภาษีในสัดส่วนที่มากกว่าคนรวยที่รวยกว่า 14 เท่า
นักวิชาการได้นำเสนอรายละเอียดของปัญหาไปแล้วมากมายและนำเสนอมาหลายปี กระทั่งเสนอตัวเลขว่า หากเพิ่มฐานการเก็บภาษีทรัพย์สินจากคนรวยจำนวนสามแสนกว่าคน จะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่ำร้อยละ 22 ของจีดีพี อย่างไรก็ตามยังไม่มีการแก้ไขอย่างเอาจริงเอาจัง เป็นเพราะอะไรนั้น น่าจะมาจากสาเหตุดังนี้
- รัฐบาลยึดแนวนโยบายเสรีนิยมตามก้นอเมริกา เร่งให้จีดีพีเติบโต เพื่อให้มีรายได้จัดเก็บมากขึ้น แม้จะมีวิกฤตทุนนิยมเกิดขึ้นเป็นระลอกๆ และช่องว่างความเหลื่อมล้ำไม่มีทีท่าจะลดลงก็ตาม
- พรรคการเมืองกระแสหลักไม่พยายามจะแก้ไขโครงสร้างการจัดเก็บภาษีที่ เหลื่อมล้ำ เพราะมีเสียงคัดค้านจากเจ้าสัวในพรรคประชาธิปัตย์ และจากพลังฝ่ายทุน เช่น หอการค้าไทย เมื่อมีการจะปรับปรุงการเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า เสียงของคนส่วนน้อยมักดังกว่าเสียงของคนส่วนใหญ่
- พลังฝ่ายทุนนิยมอำมาตย์เข้มแข็ง เพราะมีผู้นำบางคนได้รับการยกเว้นภาษี และมีวาทกรรมเศรษฐกิจพอเพียง แนวประชาสงเคราะห์แพร่หลายในสื่อกระแสหลักและรัฐบาลชุดก่อนยึดเป็นแนวทาง ด้วย
- พลังของประชาชนรากหญ้ายังไม่เข้มแข็งพอที่จะผลักดันไปสู่การแก้ไข ด้วยหลายปัจจัย ได้แก่ ถูกลดทอนอำนาจการต่อรองในรูปแบบและวิธีการต่างๆ เช่น ถูกลดทอนสิทธิการเลือกตั้ง ถูกกลั่นแกล้งเมื่อรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงาน ถูกเลิกจ้างง่ายดายทั้งในยามปกติและยามวิกฤต อีกทั้งไม่มีสื่อสาธารณะที่เป็นกระบอกเสียงของฝ่ายประชาธิปไตย
ฉะนั้นสิ่งที่จะทะลุทะลวงวาทกรรมความเมตตา ประชาสงเคราะห์ ทำบุญ บริจาค ไปจนถึงแนวเสรีนิยม-ทุนนิยมเอาแต่ได้ ไม่เห็นหัวคนจน ภาคประชาชนคนเสื้อแดงสามารถใช้กระแสที่ฝ่ายตนเองตื่นตัวทางการเมืองสูงเป็น ประวัติการณ์ เสนอนโยบายที่สร้างความเป็นธรรม ความเท่าเทียม ด้วยการออกมาเรียกร้องให้มีการเก็บภาษีทรัพย์สินในอัตราก้าวหน้า และสร้างวาทกรรมของฝ่ายประชาธิปไตย ดังตัวอย่างวลีสั้นๆ ด้านล่างนี้
แรงงานคือผู้สร้าง แต่ทำไมยากจน ส่วนคนวิ่งเต้น ทำไมถึงรวย
โครงสร้างภาษีไม่ต่างจากอำมาตย์ ที่ขาดความก้าวหน้าและความยุติธรรม
ภาษีทรัพย์สิน เครื่องมืออันทรงพลัง ช่วยสร้างความสุขถ้วนหน้า
เก็บภาษีก้าวหน้า ช่วยลดคอรัปชั่น ลดอาชญากรรม
เก็บภาษีก้าวหน้า รวยมากเสียมาก รวยกลางๆ เสียกลางๆ จนไม่ต้องเสีย
เศรษฐีที่ดินต้องเสียภาษีที่ดิน เศรษฐีคฤหาสน์ มีอพาร์ทเม้นท์ให้เช่าก็เสียด้วยนะ
ความเมตตา-ประชาสงเคราะห์อาจช่วยพลังใจ แต่ภาษีก้าวหน้าช่วยพลังสมองและท้องอิ่ม
ทำบุญอาจได้ชาติหน้า แต่เก็บภาษีก้าวหน้าได้ชาตินี้
เป็นผู้นำ ต้องทำเป็นเยี่ยงอย่าง ไม่มีอภิสิทธิ์นะ
ในการรณรงค์และขอมีส่วนร่วมเสนอนโยบายเพื่อความเป็นธรรมในสังคม คงไม่ทำแค่ในเชิงสัญลักษณ์ แต่ควรมี Sense /ความตระหนักให้มีการเดินหน้าแก้ไขปัญหาการจัดเก็บภาษีไม่เป็นธรรมให้สำเร็จ เราเชื่อว่ามีคนรวยหลายคนเต็มใจ มีประชาชนจำนวนมากเรียกร้อง เรื่องนี้พูดกันมานานแล้ว คนส่วนใหญ่ก็เสียสละมามาก โปรดเดินหน้าแก้ไขเถิด (Move forward NOW!)
- - - - - - - - - -
อ้างอิง
- วุฒิพงษ์ จิตตั้งสกุล. การบริหารรายได้รายจ่ายของรัฐบาล. สำนักนโยบายการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง. ไม่ระบุปีที่พิมพ์. http://www.bot.or.th/Thai/AboutBOT/project/Northern/econ_Trainning/econ10-220410.pdf
- กระทรวงการคลัง. ข่าวกระทรวงการคลังฉบับที่ 151/2552. http://www.mof.go.th/News2009/151.pdf