ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Monday, 29 August 2011

"ลีลาวดี"มองต่างมุม แจก"แท็บเล็ต"แก้ปัญหาการศึกษาได้จริง.. รอให้ถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว

ที่มา มติชน





ภายหลังการแถลงนโยบายของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งถูกแปลงมาจากคำหาเสียงต่างๆ ที่ผ่านมา ต่อรัฐสภาเป็นที่เสร็จสิ้น


ประเด็นที่ถูกถามถึง นอกจากค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท และปริญญาตรี 15,000 บาทแล้ว อีกนโยบายหนึ่งที่ถูกถามหาไม่อยู่เนืองๆ นั่นก็คือ การแจกแท็บเล็ตให้กับนักเรียน ซึ่งวาระนี้ ถูกเขียนไว้ในข้อ 1.15 เรื่อง "จัดหาคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตให้แก่โรงเรียน" โดยระบุว่า ในปี 2555 ที่จะถึงนี้ จะทำทดลองในโรงเรียนนำร่องชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ควบคู่ไปกับการพัฒนาเนื้อหาตามหลักสูตรเพื่อบรรจุลงในคอมพิวเตอร์แท็บเล็ต


ล่าสุด "สวนดุสิตโพล" มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ ถึงความมั่นใจในรัฐบาลหลังแถลงนโยบาย เกี่ยวกับการแจกแท็บเล็ต ปรากฎว่า ร้อยละ 38.21 ไม่ค่อยมั่นใจ เพราะ สิ้นเปลืองงบประมาณและค่าใช้จ่าย, อาจเกิดปัญหาเรื่องการดูแลรักษาหรือการใช้ที่ผิดวัตถุประสงค์

ขณะที่ ร้อยละ 34.33 ระบุว่า ไม่มั่นใจเลย เพราะ ควรศึกษาผลดี ผลเสียอย่างละเอียด,ไม่สามารถดูแลการใช้งานได้ทั่วถึง


มีเพียง ร้อยละ 10.15 เท่านั้น ที่ระบุว่า มั่นใจมาก เพราะ เป็นการส่งเสริมและกระตุ้นให้เด็กสนใจการศึกษาโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้า มาช่วย และเป็นนโยบายที่ดี


แม้นานาทรรศนะของเด็กมัธยมศึกษา หรือผู้ใหญ่หลายคนจะบอกว่า ดูไม่เหมาะสม เพราะเด็กยังไม่มีความรับผิดชอบมากเท่าที่ควร อาจจะเอาไปเล่นอะไรที่ไร้สาระ และอีกหลายเหตุผลที่คิดว่าไม่ควรแจกให้เด็กป.1 เพราะจะไปขัดต่อการพัฒนาทักษะด้านการอ่าน


ไม่ว่าอย่างไรก็แล้วแต่ นั่นเป็นเพียงการวิพากษ์วิจารณ์ที่ยังไม่มีข้อสรุปถึงความเป็นไปได้ว่าจะแจก เมื่อไหร่ อีกทั้งข้อปัญหาที่จะเกิดตามมาในอนาคต

แต่ในมุมมองของ ดร.ลีลาวดี วัชโรบล ส.ส.พรรคเพื่อไทย เขต 5 กรุงเทพมหานคร ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นเลขาธิการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์) ในรัฐบาลของคุณสมัคร กลับเชื่อว่าสามารถพัฒนาการเรียนรู้ และสามารถแก้ปัญหาการศึกษาได้

ดร.ลีลาวดี ให้สัมภาษณ์กับ "มติชนออนไลน์" ว่า เมื่อครั้งเรียนปริญญาโท ด้านนิเทศศาสตร์ เนื่องจากอยู่วงการสื่อ คิดว่าสื่อเป็นปัญหาใหญ่แล้ว เพราะสามารถเปลี่ยนความคิดของคน สามารถจูงสังคมไปทิศทางใดก็ได้ แต่พอเราอยู่ในวงการศึกษาแล้ว มองว่าไม่ใช่แค่สื่ออย่างเดียว แต่ต้องการศึกษาด้วย ที่จะนำพาคนทั้งประเทศฝ่าวิกฤติได้


ตอนที่ ช่วยงานอยู่ในกระทรวงศึกษาธิการ และได้เห็นปัญหาต่างๆ เลยทำให้เริ่มขยับมุมมอง โดยเฉพาะการได้เข้ามาเรียนปริญญาเอก แล้วนำเอาปัญหานี้ไปทำงานวิจัย ยิ่งทำให้เห็นว่า รัฐบาลควรเข้ามาแก้ปัญหาการขาดครู ที่ผ่านมาเด็กเรียนต่ำกว่าเกณฑ์ ความบกพร่องก็คือว่า ไม่สามารถผลิตครูพันธุ์ใหม่ หรือครูที่เก่ง พร้อมกันได้ทั่วประเทศ เพราะไม่ได้การันตีว่า ครูเรียนจบมาแล้วสอนเก่ง บางคนสอน 10 ปี หรือตลอดชีวิตก็ไม่เก่ง เพราะใช้วิธีการสอนแบบเดิมๆ


เดินหน้า "วันแท็บเล็ตเปอร์ไชด์" แก้ปัญหาขาดครู


ทางแก้ไขหลังจากที่ศึกษามาก็คือ ควรนำเอาเทคโนโลยีอละทักษะการเรียนรู้ใหม่ๆ หรือแก้ไขปัญหาโดยใช้เครื่องมือสมัยใหม่ ที่ทำให้ครูที่เก่งคนเดียวสอนอยู่ในโรงเรียนต้นทาง แล้วให้โรงเรียนปลายทางสามารถเรียนผ่านสื่อ ซึ่งนโยบายของพรรคเพื่อไทยก็ตอบโจทย์ตรงนี้ เพราะการแจกแท็บเล็ต ไม่ได้หมายความว่าให้เด็กเอามาเล่นเกม แต่หมายความว่าให้เด็กเข้าถึงช่องทางการศึกษา หรือเข้าถึงครูเก่งมากกว่า ฉะนั้น นโยบายแบบนี้ ครู 1 คนสามารถสอนผ่านสื่อออนไลน์ได้ ขระที่ผู้เรียนก็สามารถโต้ตอบได้เช่นกัน


ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวไม่ใช่แค่แนวคิดเริ่มต้น แต่ตนเคยทำในพื้นที่อยู่แล้ว เช่น โรงเรียนวัดน้อยนพคุณ ซึ่งได้กลายเป็นโรงเรียนเกรดเอไปแล้ว หลังถูกขนานนามว่าเป็นโรงเรียนปากแดงขาเดฟ จบม.3 แล้วไม่ได้เรียนต่อ ทำงานทั่วไป ค้าขายบ้าง ไม่มีความหวังเรื่องศึกษา เมื่อกระทรวงศึกษาธิการสมัยรัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช ทำโรงเรียนคู่ขนาน โดยทำควบคู่กับโรงเรียนสามเสน ทำให้เด็กสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำได้จำนวนมาก หรือสอบเรียนต่อได้มากถึง 75 เปอร์เซ็นต์


จะ เห็นได้ว่าโอกาสทางการศึกษา ทำให้เด็กสามารถขับเคลื่อนตัวเอง เข้าเรียนต่อระดับอุดมศึกษาได้ พอลงรายละเอียดแล้ว ทำไมเด็กเก่ง คำตอบคือ เพราะมีครูดี เรียนเนื้อหาดี เรียนกับครูเก่ง เรียนผ่านสื่อออนไลน์ที่สามารถเรียนวันเสาร์หรืออาทิตย์ก็ได้ เมื่อเรียนแล้วเข้าใจกว่าตำรา ก็ทำให้เด็กอยากเรียนต่อ โอกาสที่ทำให้อนาคตของเด็กดีขึ้นก็ตามมา


หากสามารถเอาความพร่องเหล่านี้มาแก้ โดยใช้สื่อหรือเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ก็จะแก้ปัญหาครูขาดได้ ต่างประเทศทำได้ โดยการผลิตสื่อออกกผ่านช่องเคเบิล แต่เรายังไม่ให้ความสำคัญเท่าไหร่ เพราะยังไม่เห็นช่องทางตรงนี้ ไม่มีทิศทางในการแก้ปัญหาอย่างชัดเจน พอเปลี่ยนรัฐบาลทีก็แก้ที ไม่ต่อเนื่องบ้าง และเดิมโครงการนี้น่าจะต่อยอดเมื่อปี 50 ที่มีการพูดถึง "วันแทบเล็ตเปอร์ไชด์" โดยมีโรงเรียนบ้านสามขา จ.ลำปาง เป็นต้นแบบ

เมื่อย้อนดูโรงเรียนดังกล่าวแล้ว พบว่า อยู่ลึกเข้าไปในชนบทมาก แต่เรียนผ่านแล็บท๊อป มุ่งใช้เด็กเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้ มีการประยุกต์ภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ากับวิชาเรียน ปรากฎว่า เด็กเกิดความรู้ กล้าพูด กล้าคิด เลยมองว่าตรงนี้แก้ปัญหาได้ ยิ่งประเทศเกิดปัญหาการขาดครูด้วย ก็จะสามารถแก้ปัญหาได้เป็นอย่างดี ฉะนั้นจึงเป็นไปได้ว่า จะนำโครงการนี้กลับมาทำใหม่อีกรอบ


รอให้ถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว


ใช่อยู่ ที่ปัญหาปากท้องถือว่าเป็นปัญหาเร่งด่วนที่จะต้องรีบแก้ไข เมื่อหิวการเรียนรู้ก็ไม่เกิด จึงเป็นคำพูดที่ใช้ได้ แต่เรื่องการศึกษาหรือมุมมองของนักการศึกษาก็ทิ้งไม่ได้เช่นกัน ถามว่าเราเอาเงินมาเทให้กับการแจกแท็บเล็ตอย่างเดียวเลยหรือ ก็อาจจะถูกตำหนิได้และไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว นั่นหมายความว่า ต้องอิ่มท้องก่อน เลยทำให้นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลออกไปทางนั้น ทั้งนี้ ต้องไม่ทิ้งเรื่องแท็บเล็ตแน่นอน


ถามว่า ทำไมต้องให้ ป.1 ก็เพราะอายุสองของเด็กอายุ 1-10 ปี มีการพัฒนามากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ของช่วงอายุคน หลายคนบอกว่า การเรียนรู้ รอให้ถึงอนุบาลก็สายไปเสียแล้ว เพราะว่าเด็กอายุ 3 ขวบ สมองพัฒนาสูงสุด ควรให้การเรียนรู้แก่เด็กอนุบาลได้แล้ว ควรมีการพัฒนาได้แล้ว ขณะที่เด็กป.1อายุ 7 ขวบ ก็น่าจะเรียนรู้อะไรที่มากกว่าการอ่านได้


ขณะเดียวกัน ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า เด็กแต่ละคนมีความแตกต่างทางด้านบุคคลสูง บางคนเรียนรู้ด้วยตัวหนังสือ บางคนเรียนรู้ด้วยภาพหรือเพลง เมื่อความแตกต่างเหล่านี้เกิดขึ้น จะจัดกลุ่มให้อ่านอย่างเดียวไม่ได้ เมื่อเราต้องการสร้างเด็กรุ่นใหม่เพื่อให้แข่งกับอารยประเทศให้ได้นั้น เราก็จำเป็นต้องสร้างเทคโนโลยีแบบใหม่เข้ามาด้วย มากกว่านั้น แท็บเล็ตก็มีหลายๆ สิ่งที่เหมาะกับการเรียนรู้ ที่อาจทำให้เด็กอยากรู้ อยากคิด และเป็นการเปิดโอกาสเด็กเข้าถึงได้หลายช่องทาง ขณะเดียวกันแท็บเล็ตที่บรรจุตำราไว้ให้ ทางกระทรวงไอซีทีก็สามารถบล็อกได้ในเว็บไซต์ไหนที่เหมาะสมหรือไม่เหมาะสม มากกว่านั้น ไอซีทีสามารถบันทึกประวัติในการเข้าถึงหรือทำการตรวจสอบได้


ส่วนปัญหาที่ว่า เด็กกลุ่มใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ (แค่จะกินยังไม่มีเลย) ตรงนี้ ถือว่าเป็นช่องว่างของโอกาส เพราะเด็กในเมืองสามารถนำแท็บเล็ตเข้าไปใช้ที่ไหนก็ได้ แต่ต่างจังหวัดเราไม่สามารถบอกได้ว่าเขาเข้าถึงอย่างไร เหมือนเป็นของน่ากลัวสำหรับเด็กด้วยซ้ำ แต่เมื่อเราเตรียมความพร้อม เราก็ต้องเปิดกว้างให้เข้าถึงสื่อได้ สุดท้ายอาจทำให้กระบวนการเรียนรู้เปลี่ยนมุมมองได้ เดิมไม่กล้าแสดงออก มีความเชื่อเดิมๆ หรือไม่ค่อยพัฒนา เมื่อเห็นของใหม่ อาจจะกล้าคิดมากขึ้น นี่จึงกลายเป็นกระบวนการคิดที่ใช้สื่อเข้ามาเกี่ยวข้อง ยิ่งตำราที่ต้องใช้ขีดเขียนก็ยิ่งเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรธรรมชาติ


อย่างไรก็ตาม แท็บเล็ตไม่ใช่ไอแพดที่มีราคา 2 หมื่นบาทด้วย เพราะแท็บเล็ตมีหลายโมเดล มีหลายฟังก์ชั่น ยิ่งอินเดียสามารถผลิตได้ในราคาไม่ถึงพันบาท แล้ว ก็ถือเป็นโอกาสที่ทำให้เด็กทุกคนสามารถมีแท็บเล็ตใช้ ขณะเดียวกัน ระบบฟรีวายไฟล์ (Wi-Fi)ต้องเกิด แต่ที่ผ่านมาทำไมไม่เกิด เพราะนโยบายบางอย่างของรัฐบาลชุดที่ผ่านมาได้คำนึงถึงคนบางกลุ่ม ปล่อยนโยบายนี้ไปแล้วคนกลุ่มนี้ได้ อีกกลุ่มจะไม่ได้ ซึ่งยอมรับว่ามีขบวนการนี้จริง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วรัฐบาลสามารถทำได้