ขณะที่ข้าราชการจำนวนมากกำลังตกอยู่ในภาวะรายได้ชักหน้าไม่ถึงหลัง แต่สำหรับบรรดานักกฎหมายในระบบราชการถือได้ว่าเป็นยุคที่อิ่มหนำสำราญมากที่ สุด
อันมีความหมายว่าค่าตอบแทนโดยรวมของนักกฎหมายอยู่ในระดับที่สูงกว่าข้า ราชการประเภทอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับนักกฎหมายที่ทำหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นผู้พิพากษา อัยการ ซึ่งกำลังจะรวมไปถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ และบรรดาบุคลากรในองค์กรอิสระทุกองค์กรก็ต่างอยู่ในฐานะที่ “ล่ำซำ” ไม่ต่างไปจากกัน
โดยค่าตอบแทนของบุคลากรในองค์กรเหล่านี้ แม้ว่าฐานเงินเดือนจะไม่สู้มีความแตกต่างไปจากข้าราชการอื่นทั่วไป แต่จะมีเงินประจำตำแหน่งเป็นพิเศษตั้งแต่ระดับเริ่มต้นในหลักพันไปจนถึง ประมาณถึงสี่หมื่นบาท ทำให้เงินเดือนตอบแทนของบุคลากรในระดับกลางอันมีอายุราชการประมาณสิบปี สามารถมีค่าตอบแทนได้ในหลักแสน
(ทั้งนี้ไม่รวมถึงค่ารถประจำตำแหน่งอีกประมาณ 40,000 บาท ซึ่งจะจ่ายตอบแทนให้แก่บุคลากรบางตำแหน่งโดยอัตโนมัติ แม้ว่าจะไม่ได้มีหน้าที่ที่จำเป็นต้องเดินทางไปไหนมาไหนก็ตาม แม้ในตำแหน่งซึ่งทำหน้าหลักอยู่ในสำนักงานเป็นส่วนใหญ่ก็ตาม)
หากเปรียบเทียบกับหน่วยงานอื่นๆ ในระบบราชการไทย การจะสามารถได้รับค่าตอบแทนในลักษณะนี้จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อขึ้นดำรง ตำแหน่งปลัดกระทรวง อธิบดีกรมต่างๆ เท่านั้น หรือหากเป็นข้าราชการในหน่วยงานอื่นต่อให้ทำงานจนเกษียณอายุราชการก็ยังไม่ สามารถมีรายได้สูงเทียบเท่ากับที่บรรดานักกฎหมายได้รับอยู่ แม้ว่านักกฎหมายเหล่านี้จะมีอายุราชการน้อยกว่ามากก็ตาม
มีเหตุผลอะไรที่ทำให้ตำแหน่งนักกฎหมายในระบบราชการสามารถได้รับผลตอบแทนที่แตกต่างไปจากข้าราชการฝ่ายอื่น
ในปัจจุบันมีการจ่ายตอบแทนเป็นเงินเพิ่มพิเศษให้แก่ข้าราชการบางตำแหน่ง เช่น แพทย์ ทันตแพทย์ หรือข้าราชการด้านอื่น ทั้งนี้เหตุผลสำคัญก็คือว่าเป็นตำแหน่งที่ขาดแคลนอันมีความหมายว่าไม่มีคน สนใจที่จะมาทำงาน เนื่องจากภาคเอกชนให้ผลตอบมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด จึงจำเป็นต้องสร้างแรงดึงดูดใจกับบุคลากรในส่วนนี้
แต่เหตุผลดังกล่าวนี้ก็ไม่สามารถใช้กับตำแหน่งทางด้านกฎหมายได้ สถาบันการศึกษาแทบทุกแห่งล้วนมีการเปิดสอนหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต ซึ่งสามารถกระทำได้โดยหาอาจารย์ประจำสักสี่ห้าคนส่วนที่เหลือก็เชิญอาจารย์ พิเศษมาเป็นผู้ร่วมสอน ผู้จบการศึกษาในแต่ละปีจึงมีเป็นจำนวนมาก ทำให้ในการเปิดสอบบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งต่างๆ ที่ใช้วุฒินิติศาสตร์ก็จะมีผู้สมัครอย่างท่วมท้น พูดได้เต็มปากว่านักกฎหมายเป็นตำแหน่งที่มีผู้ต้องการทำงานอย่างมหาศาล
ถ้าเช่นนั้นจะเป็นด้วยเหตุผลใดสำหรับค่าตอบแทนให้กับบุคลากรในกระบวนการ ยุติธรรม เหตุผลหนึ่งที่มักกล่าวถึงกันบ่อยครั้งก็คือค่าตอบแทนที่สูงจะเป็นผลให้เกิด การทำงานที่สุจริตมากขึ้น เหตุผลเช่นนี้ก็ไม่ต่างอะไรจากความเชื่อแบบรวยแล้วไม่โกง ซึ่งก็เป็นชัดเจนแล้วมิใช่หรือว่าไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ข้อครหาในช่วงสามสี่ปีที่ผ่านมาต่อกระบวนการยุติธรรมก็ล้วนเกี่ยวพันกับนัก กฎหมายในระดับสูงมิใช่หรือ
หน่วยงานรัฐบางแห่งที่มีหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านกฎหมายแก่รัฐบาลก็เกาะกระแส ความล่ำซำของกระบวนการยุติธรรม ด้วยการผลักดันให้ขึ้นค่าตอบแทนของตนในช่วงเวลาหลังจากการยึดอำนาจโดยคณะรัฐ ประหารเมื่อ พ.ศ. 2549 นับเป็นสิ่งที่ชวนให้ตั้งคำถามถึงความเหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ฝ่ายนิติบัญญัติในยุครัฐประหารก็ผ่านกฎหมายให้สมใจหน่วยงานนี้
สถานะอันสุขสบายในบางหน่วยงานของระบบราชการไทยได้ส่งผลอย่างสำคัญต่อบรรดา นักกฎหมายในหน่วยงานอื่น สิ่งที่พบเห็นกันจนเป็นปกติและเป็นที่รับรู้กันทั่วไปก็คือ นิติกรประจำหน่วยงานอื่นก็จะทำงานประจำและ “แบ่ง” เวลาบางส่วนในการทำงานเพื่อเตรียมตัวสำหรับการไปสอบเพื่อให้เข้าไปอยู่ในดิน แดนอันแสนสุข ก็เห็นกันอยู่ว่าต่อให้ทุ่มเทให้กับหน่วยงานตนเองแค่ไหนก็ไม่มีวันพ้นไปจาก ความ “ดักดาน” เช่นเดียวกับข้าราชการคนอื่น
แน่นอนว่าประสิทธิภาพของการทำงานของบุคคลคนนั้นย่อมไม่เทียบเท่ากับหากว่า ได้ทำงานอย่างเต็มที่ถ้าเห็นอนาคตอยู่ในหน่วยงานตนเอง
หากมองในแง่ความเป็นธรรมเมื่อเปรียบเทียบกับข้าราชการที่มีความรู้ความ เชี่ยวชาญด้านอื่น ถ้าให้คำอธิบายว่างานทางด้านกฎหมายมีความสำคัญเป็นอย่างมาก คำถามที่ติดตามมาก็คือว่าแล้วงานทางด้านปกครอง งานทางด้านเศรษฐศาสตร์ ครูอัตราจ้าง นักวิทยาศาสตร์ นักการศึกษา นักสังคมสงเคราะห์ งานฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ นักประวัติศาสตร์ หรือแม้กระทั่งลูกจ้างของอุทยานแห่งชาติที่ต้องบุกป่าฝ่าฝนเพื่อนำศพของทหาร ออกมาจากป่าลึก มีความหมายเพียงน้อยนิดเท่านั้นหรือ พวกเขาจึงควรได้รับเงินเดือนประมาณสี่พันกว่าบาท
ทั้งหมดนี้ก็ควรถูกประกาศออกมาให้ชัดเจนเลยว่าเป็นงานชั้นสอง ระบบราชการไทยไม่ให้ความสำคัญเทียบเท่ากับบุคคลที่ทำการศึกษาด้านกฎหมาย
งานแต่ละด้านล้วนมีความสำคัญในตัวของมันเองโดยที่ยากจะเอามาเปรียบเทียบ ดังนั้น ในแง่ของการบริหารจัดการค่าตอบแทนจึงต้องทำให้เกิดความเป็นธรรมหรือความเท่า เทียมระหว่างสาขาวิชาชีพต่างๆ อย่างสมดุล หากมีจะมีความแตกต่างอยู่บ้างคงต้องสามารถให้เหตุผลได้อย่างชัดเจนไม่ใช่ เป็นเรื่องที่มุบมิบหรือแอบกระทำกัน ดังเช่นการให้เงินเพิ่มพิเศษนานาประเภทแก่บุคลากรภายในองค์กรอย่างที่ได้ เกิดขึ้น
(แว่วๆ มาว่าหน่วยงานบางแห่งซึ่งในรอบหลายปีที่ผ่านมามีเรื่องฉาวโฉ่ถึงความไม่ โปร่งใสในการปฏิบัติหน้าที่เกิดขึ้นหลายครั้งต่อสาธารณะ ก็กำลังเตรียมขออนุมัติเพื่อเพิ่มเงินประจำตำแหน่งให้กับบุคลากรในองค์กรของ ตน)
แต่ที่น่าสนใจมากก็คือว่าการให้ค่าตอบแทนเหล่านี้เกิดขึ้นในยุคที่นักกฎหมาย รวมทั้งสถาบันทางกฎหมายถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง รวมทั้งความน่าเชื่อถือที่กำลังถูกสั่นคลอนอย่างสำคัญในประวัติศาสตร์ของแวด วงนิติศาสตร์ไทย แต่กลับไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อสถานะของนักกฎหมายแม้แต่น้อย สภาวะเช่นนี้จึงไม่อาจเรียกเป็นอื่นใดไปได้นอกจากเป็นโลกอันแสนสุขของโดยแท้ ที่ไม่ต้องมีความรับผิดชอบใดต่อสังคมแม้จะกินเงินเดือนจากภาษีประชาชนก็ตาม
.........................................
เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์กฎเมืองกฎหมาย วันที่ 18 สิงหาคม 2554