ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Tuesday, 12 July 2011

ผู้หญิงกับนายกฯหญิง

ที่มา มติชน



โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์



นายก รัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทย ไม่ได้ขึ้นมาเป็นนายกฯ เพราะประเด็นผู้หญิงแต่อย่างใด ดังนั้นเธอจึงไม่มีพันธะต่อเรื่องสิทธิสตรี มากไปกว่านายกฯที่เป็นผู้ชาย แต่เพราะเธอบังเอิญเป็นผู้หญิง เธอจึงถูกคาดหวังให้ใส่ใจประเด็นนี้ยิ่งกว่านายกฯที่เป็นผู้ชาย

ซวยล่ะสิครับ เพราะเท่าที่ได้สังเกตเห็น รู้สึกว่าคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตอบคำถามเกี่ยวกับประเด็นสิทธิสตรีแบบ "ขอไปที" ทุกครั้ง คือเห็นด้วยกับผู้ถาม (ซึ่งมักเป็นนักสตรีนิยม) แต่คุณยิ่งลักษณ์ไม่มีคำอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับคำถามจากมุมมองของเธอเอง และแน่นอนคือไม่มีคำตอบว่า แล้วจะต้องทำอย่างไรต่อไป

แสดงว่าคุณยิ่ง ลักษณ์และกุนซือไม่ได้คิดเรื่องนี้มาก่อน ไม่ได้ต่างจากนายกฯ ก่อนหน้าคุณยิ่งลักษณ์ทุกคน เพียงแต่ว่าท่านเหล่านั้นไม่ต้องแบกภาระการเป็นผู้หญิง ซ้ำเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้เป็นนายกฯเสียด้วย

ถามว่านี่เป็นจุดอ่อนทางการเมืองหรือไม่?

ผม คิดว่ายังไม่เป็นในนาทีนี้ แต่จะค่อยๆ เป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต เพราะในฐานะนายกฯ เธอจะถูกบีบให้ต้องแสดงจุดยืนในเรื่องสิทธิสตรีให้ชัดเจนกว่านี้อย่างหลีก เลี่ยงไม่ได้ และหากเธอแสดงได้เหมาะกับเงื่อนไขต่างๆ ในสังคมไทย (คือไม่สุดโต่ง แต่ก็ไม่สมยอมกับทรรศนะกดขี่ทางเพศ) เธอจะได้ผู้หญิงเป็นพวกอีกมาก ทั้งๆ ที่หลายคนในบรรดาผู้หญิงเหล่านั้น อาจไม่ได้เลือกเธอหรือพรรคของเธอมาก่อนก็ตาม

ฉะนั้น ในบรรดาที่ปรึกษาซึ่งเธอจะตั้งขึ้นนั้น ควรมีคนหรือสองคนที่เข้าใจเรื่องของสิทธิสตรีในโลกสมัยใหม่ แต่ก็ต้องเป็นคนที่เข้าใจการเมืองไทยด้วย (เช่น ไม่เสนอให้เธอโจมตีฮิญาบ หรือการคลุมศีรษะของมุสลิม) คุณยิ่งลักษณ์ต้องระวังตัว ไม่พลั้งแสดงปฏิกิริยาต่ออุบัติการณ์ในข่าว ที่อาจกระทบถึงเรื่องสิทธิสตรี โดยไม่ปรึกษาหารือกับที่ปรึกษาเสียก่อน คุณยิ่งลักษณ์ไม่จำเป็นต้องเชื่อคำปรึกษาของพวกเขา แต่คุณยิ่งลักษณ์ต้องซึมซับจุดยืนของฝ่ายนักสตรีนิยมต่อประเด็นให้ดีเสีย ก่อน

แล้วคุณยิ่งลักษณ์ต้องตัดสินใจเอาเองว่า จะแสดงปฏิกิริยาเหล่านั้นอย่างไรต่อคำถามของนักข่าว

นี่ เป็นการระวังในแง่ลบ คือไม่เปิดให้ถูกโจมตีเกี่ยวกับสิทธิสตรี ซึ่งเป็นนโยบายที่ใช้ได้ในระยะหนึ่งเท่านั้น ในระยะยาวใช้ไม่ได้ เพราะจุดยืนไม่ผิด แต่ก็ไม่เคยทำอะไรให้ถูกเลยสักอย่าง ก็หนีไม่พ้นที่จะถูกวิจารณ์อยู่นั่นเอง ดังที่คุณยิ่งลักษณ์คงทราบแล้วว่า เป็นนายกฯที่ไม่เคยทำอะไรผิดเลยนั้นไม่พอ ต้องทำอะไรที่ถูกบ้าง

และเพื่อจะทำอะไรให้ถูก หรือเป็นฝ่ายริเริ่มทางการเมืองในเรื่องสิทธิสตรีนั้น ไม่ง่ายครับ

ความไม่ง่ายนั้นมีอยู่สองอย่างที่ควรตระหนักให้ดี

1.โดย พื้นฐานทางวัฒนธรรมแล้ว ผู้หญิงไทยมีบทบาททางเศรษฐกิจและสังคมสูง เมื่อเทียบกับอีกหลายวัฒนธรรมในโลก รวมทั้งในโลกตะวันตกด้วย แต่ในร้อยกว่าปีที่ผ่านมา ผู้นำไทยไปรับเอาวัฒนธรรมทางเพศสภาพ (Gender) มาจากฝรั่ง แล้วก็ใช้เป็นมาตรฐานสอนกุลบุตรกุลธิดาให้ยอมรับนับถือ จนกลายเป็นมาตรฐานอุดมคติของเพศสภาพและความสัมพันธ์ระหว่างเพศสภาพของชนชั้น นำไทยสืบมาจนถึงทุกวันนี้

แท้จริงแล้ว คนไทยทั่วไปไม่ได้ยึดถือมาตรฐานนี้จริงจังนัก แต่ก็ถูกคนที่อยู่ในวัฒนธรรมชนชั้นนำตำหนิติเตียน จนบางครั้งก็ใช้อำนาจรัฐที่ตัวถือครองอยู่เป็นส่วนข้างมาก เข้ามาบีบบังคับจนถึงลงโทษคนที่ไม่ยึดถือมาตรฐานทางเพศสภาพแบบฝรั่ง (โบราณ) และอย่างที่คุณยิ่งลักษณ์น่าจะซาบซึ้งอยู่แก่ใจดีว่าพวก "อำมาตย์" เหล่านี้มีอำนาจในสังคมไทยมากแค่ไหน ฉะนั้น จะทำอะไรในเชิงบวกเกี่ยวกับสิทธิสตรี ก็ต้องเข้าใจว่า อาจเผชิญกับป้อมปราการอันใหญ่ของวัฒนธรรม "อำมาตย์"

ไม่ได้แนะให้ถอย หดหัวกลับมาอยู่อย่างเดิมนะครับ แต่ต้องรู้ว่าจะตีป้อมอันใหญ่มหึมาและแข็งแกร่งได้ ต้องวางแผนให้รัดกุม และเข้าตีอย่างแนบเนียน เช่น สิทธิการทำแท้งอย่างปลอดภัยของผู้หญิงซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งในสังคม ไทยปัจจุบัน อันไม่อาจแก้ไขได้ด้วยการโฆษณาศีลธรรมเพียงอย่างเดียว ก็ไม่ควรเสนอในรูปของ "สิทธิ" แต่เสนอในรูปของการจัดการให้เกิดการ "เข้าถึง" บริการดังกล่าวได้สะดวกขึ้นแทน

2.สืบเนื่องกับที่กล่าว ข้างต้นว่า พื้นฐานทางวัฒนธรรมไทยแต่เดิมในเรื่องเพศสภาพ แตกต่างจากฝรั่งมาก การกดขี่ทางเพศของไทยจึงไม่เหมือนกับฝรั่งเลย ดังนั้น อย่าได้ผลักดันสิทธิสตรีตามแบบตะวันตกเฉยๆ แต่ควรมีความเข้าใจว่าในปัจจุบันการเคลื่อนไหวของเขาในเรื่องเกี่ยวกับสิทธิ สตรีนั้น ไปถึงไหนอย่างไรแล้ว ไม่ใช่เพื่อลอกเลียนมาทำบ้าง แต่เพื่อความเข้าใจประเด็นให้ชัด

มีอะไรด้านบวกที่พอจะทำได้ในเมือง ไทยบ้าง โดยไม่ก่อให้เกิดปัญหาหนักเกินไปทางการเมือง คุณยิ่งลักษณ์ต้องตัดสินใจเอง แต่ต้องตัดสินใจด้วยความรู้ความเข้าใจทั้งเรื่องของสิทธิสตรี และความเป็นไปได้ในทางการเมือง

ดังที่นักวิชาการชาวออสเตรเลียผู้ หนึ่งได้กล่าวไว้แล้วว่า ในด้านบทบาทของผู้หญิงไทยในพื้นที่สาธารณะนั้น จะว่าไปก็อาจก้าวหน้ากว่าเกือบทุกประเทศในโลกนี้ โดยเฉพาะด้านธุรกิจ สัดส่วนของผู้บริหารหญิงระดับสูงในองค์กรภาคธุรกิจขนาดใหญ่ของไทยคือ 45% ในขณะที่อัตราของโลกอยู่ที่ไม่เกิน 25% เท่านั้น แต่ในพื้นที่ด้านการเมืองการปกครองยังค่อนข้างต่ำ คุณยิ่งลักษณ์อาจส่งเสริมใน ครม.ให้เพิ่มสัดส่วนของผู้บริหารหญิงในแต่ละกระทรวงเพิ่มขึ้นได้ เช่น สมมุติว่าจากเดิมมีเพียง 10% ก็เพิ่มเป็น 15% ในเวลากี่ปีๆ ก็ว่าไป

เด็ก ผู้หญิงไทยไม่ได้มีโอกาสทางการศึกษาน้อยกว่าเด็กผู้ชาย จากการสำรวจหลายครั้งก็พบตรงกันว่า ในด้านการลงทุนเพื่อการศึกษาของบุตรหลาน ครอบครัวไทยไม่ได้เลือกปฏิบัติกับเพศใดเพศหนึ่ง ยิ่งไปกว่านั้น ลักษณะทางการศึกษาในระบบของไทยยังสอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมของเพศสภาพหญิง มากกว่าชาย ฉะนั้น ผู้หญิงจึงได้รับการศึกษาสูงกว่าชายโดยเฉลี่ย โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษา แต่การที่ผู้หญิงกลับก้าวไม่ถึงระดับบริหารเท่าผู้ชายในกิจการสาธารณะด้าน การเมืองการปกครอง ชี้ให้เห็นความไม่เท่าเทียมที่ต้องปรับแก้อย่างปฏิเสธไม่ได้

แต่ เรื่องนี้ยังกระทบผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่มากนัก ที่กระทบมากกว่าคือการใช้ความรุนแรงในหลายรูปแบบกับผู้หญิง ซึ่งอาจแบ่งออกกว้างๆ ได้ว่ามีสองบริบท คือการใช้ความรุนแรงในครอบครัว และการใช้ความรุนแรงในพื้นที่ของรัฐ

ในด้านแรก
รัฐคงยื่นมือเข้าไปแทรกในครอบครัวโดยตรงได้ยาก แต่สามารถแทรกเข้าไปได้ผ่านการศึกษา ทั้งนี้ ต้องเข้าใจการศึกษาให้กว้างกว่าโรงเรียน หากต้องรวมไปถึงสื่อ และการเรียนรู้ในรูปแบบอื่นๆ ซึ่งผู้คนได้รับอยู่ตลอดเวลา รัฐอาจให้ทุนอุดหนุนแก่องค์กรที่เฝ้าระวังสื่อ ให้เน้นประเด็นนี้เป็นพิเศษ สนับสนุนให้สื่อร่วมสร้างสรรค์วัฒนธรรมใหม่ที่ไม่ยกให้ความต้องการของผู้ชาย ต้องเป็นใหญ่เสมอในทุกกรณี

ในโรงเรียน รัฐอาจสนับสนุนให้จัดเพศศึกษาอย่างจริงจังมากขึ้น แต่เพศศึกษาต้องไม่มีความหมายเพียงหน้าที่ของร่างกายในการให้กำเนิดบุตรเท่า นั้น เพศศึกษาต้องรวมถึงการทำความเข้าใจกับเพศสภาพและความสัมพันธ์ระหว่างเพศสภาพ ในวัฒนธรรมไทย รวมถึงการร่วมกันสร้างอุดมคติของ "ลูกผู้ชาย" ขึ้นมาใหม่ ที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างหญิง-ชาย อาจมีได้หลากหลายมิติกว่าเพศสัมพันธ์ และการเอาเปรียบทางเพศแก่ผู้หญิงในทุกรูปแบบ ไม่ถูกถือว่าเป็น "ลูกผู้ชาย" อีกต่อไป

ในด้านที่สองนั้น ที่จริงแล้วสัมพันธ์สืบเนื่องกับด้านแรกอย่างมาก แต่เป็นด้านที่รัฐสามารถกำกับควบคุมได้โดยตรง เช่น การปฏิบัติต่อนักโทษหญิงในเรือนจำ ทั้งกฎระเบียบและผู้บังคับใช้กฎระเบียบก็อยู่ในความควบคุมของผู้ชาย จึงอาจมีหลายอย่างที่ไม่สะดวกแก่นักโทษหญิง (เช่น การตั้งครรภ์ และการเลี้ยงดูลูกอ่อน) ส่วนนี้รัฐสามารถปรับแก้ได้ โดยมิได้ให้สิทธิพิเศษแก่หญิงเหนือชาย

อันที่จริงสภาพการจำขังในคุกของไทยออกจะมีลักษณะที่ไร้มนุษยธรรมไปสักหน่อย การปรับปรุงสภาพให้ดีขึ้น ก็จะมีผลแก่นักโทษทั้งหญิงและชาย

ผู้หญิง ที่ตกเป็นเหยื่อของการล่วงละเมิดทางเพศ มักได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่รัฐ นับตั้งแต่ระดับตำรวจขึ้นมา เหมือนถูกกระทำซ้ำเติม รากเหง้าคงมาจากทัศนคติของผู้ชายในวัฒนธรรมไทย ข้อนี้ดูเหมือนแก้ง่ายด้วยการสั่งการให้เลิกปฏิบัติอย่างนั้นเสีย แต่ในความจริงแก้ไม่ได้ง่าย เพราะฝังรากลึกอยู่ในทัศนคติของผู้ปฏิบัติงาน นอกจากการอบรมให้เกิดความเข้าใจตั้งแต่ระดับผู้บังคับบัญชาลงไปแล้ว ควรมีมาตรการที่จะช่วยประกันสิทธิของผู้หญิงด้วย เช่น ส่งเสริมให้ใช้นายตำรวจหญิงในการสอบสวน หรืออย่างน้อยก็มีตำรวจหญิงเข้าร่วมในการสอบสวน

ในส่วนการล่วงละเมิด ทางเพศในหน่วยราชการ หากมีกรณีเกิดขึ้น นายกฯหญิงต้องเอาใจใส่ให้สอบสวนอย่างเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย และส่งสัญญาณให้ทราบว่า นายกฯจะไม่ปกป้องฝ่ายล่วงละเมิด ไม่ว่าเหยื่อจะเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อย อย่างไรก็ตาม เป็นต้น

ทำ ได้เพียงเท่านี้ ผมก็เชื่อว่า คุณยิ่งลักษณ์จะสามารถปลดภาระความคาดหวังของผู้หญิงต่อนายกฯหญิงไปได้มาก แล้ว และน่าจะได้รับความชื่นชมจากผู้หญิงมากขึ้นด้วย