โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ
(ที่มา คอลัมน์ที่เห็นและเป็นไป หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 17 กรกฎาคม 2554)
มันหมายถึงประชาชนตัดสินใจอย่างเด็ดขาด เพื่อปิดช่องว่างไม่ให้อำนาจนอกระบบนำการไม่ได้รับเสียงข้างมากมาเป็นข้ออ้างในการแทรกแซง
มีความเชื่อว่า ชัยชนะของพรรคใดพรรคหนึ่งอย่างท่วมท้น จะเป็นชัยชนะของประชาชนต่อกลไกของอำนาจนอกระบบ
ให้รู้ว่าประชาชนตื่นตัวทางการเมืองในระดับที่ทุกฝ่ายควรจะรู้ว่าจะเป็นเรื่องยุ่งยากมากขึ้นหากคิดจะต่อต้านกระแสประชาชน
แม้ว่าบางฝ่ายจะยังยืนยันว่า ชัยชนะเลือกตั้ง ไม่ใช่ชัยชนะทางการเมือง
ยังมีกลไกอำนาจมากมายที่จะแทรกแซงไม่ให้การเมืองเป็นไปตามการตัดสินใจของประชาชน
มีการวางแผนสกัดอำนาจของประชาชนอย่างเป็นขั้นเป็นตอนอยู่ ในแต่ละจังหวะก้าวของการช่วงชิงอำนาจ
แต่คำยืนยันของฝ่ายที่ไม่มั่นใจในอำนาจการตัดสินของประชาชนนี้ คนส่วนใหญ่มองว่าเป็นเพียงการปลอบประโลมของผู้พ่ายแพ้
ไม่น่าจะเกิดขึ้นจริง
เมื่อประชาชนตัดสินใจท่วมท้นถึงเพียงนั้น ทุกคนย่อมรู้ดีว่าการเดินสวนกระแสจะก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในประเทศครั้งใหญ่หลวง
ไม่น่าเชื่อว่าคนที่สติยังดี ไม่เลอะเลือนสาหัส จะทำในสิ่งที่ส่อแววว่าจะนำความรุนแรงกลับมาสู่ประเทศ
ทว่าถึงวันนี้ ความเชื่อมั่นนั้นถูกทอนลงไปทีละน้อย
เรื่องราวที่น่าหวั่นวิตกส่อเค้าว่าจะเกิดขึ้น
ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม คณะกรรมการการเลือกตั้งได้นำความหวาดวิตกนั้นกลับมาสู่ความรู้สึกประชาชน
หลังการไม่ประกาศรับรอง "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ปาร์ตี้ลิสต์อันดับหนึ่งของพรรคเพื่อไทย แม้จะมี "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" อยู่ในเข่งเดียวกัน ซึ่งทำให้ดูเหมือนว่าไม่มีสองมาตรฐานอย่างที่เคยถูกโจมตี
แต่นั่นไม่ทำให้อะไรดีขึ้น เพราะความเชื่อของคนทั่วไปเริ่มโน้มเอียงไปในทางที่บางฝ่ายยืนยัน
เรื่องราวของการวางแผนเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อสกัดอำนาจที่มาจากการตัดสินใจของประชาชน กลายเป็นประเด็นพูดคุยกันในวงกว้าง
ความไม่เชื่อมั่นเกิดขึ้นอีกแล้ว พร้อมๆ กับความหดหู่ของกลุ่มที่ต่อสู้มายาวนาน
ชัยชนะท่วมท้นกลับคล้ายว่าไม่มีอยู่จริง อำนาจที่เหนือกว่าจะพลิกคว่ำให้ระเนนระนาดเสียเมื่อไรก็ได้
ที่เราเชื่อว่า "ปรองดอง" จะต้องเป็นวาระที่ดำเนินไป เพราะเป็นหนทางเดียวที่จะเป็นทางออกให้ประเทศพ้นจากวิกฤตเสียที
หลัง กกต.แขวน "ว่าที่ ส.ส." ที่เคย "ใส่เสื้อแกนนำเสื้อแดง" แบบยกกระบิ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับคนทั่วไปคือ "สัญญาณปรองดอง" คิดว่าเริ่มมองเห็นที่ปลายอุโมงค์ กลับกลายเป็นดับสลาย
สำนึกที่จะช่วยกันประคับประคองให้ประเทศเดินหน้าไปได้ในความสงบสุข กลายเป็นสัญญาณที่จับไม่ติด
คำถามที่เกิดขึ้นทั่วไปตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาคือ "จะต้องเสียเลือดเสียเนื้อกันอีกแล้วใช่ไหม"
และ "จะต้องเสียกันอีกเท่าไร จึงจะทำประเทศชาติกลับสู่ความสงบได้"
แล้ว "คิดกันไม่ออกหรือว่าทำกันอย่างนี้จะพากันไปไปทุกส่วน"
คำ ถามด้วยความห่วงใยชะตากรรมของประเทศเหล่านี้ กระจายออกไปในคนหลายกลุ่ม โดยเฉพาะผู้ที่มีสำนึกไม่อยากเห็นประเทศสู่หายนะต่อหน้าต่อตา
ก่อนหน้านั้นมีคนบอกว่า การตัดสินของประชาชนจะเป็นคำตอบว่าประเทศจะก้าวสู่วิกฤตใหญ่อีกหรือไม่
ทว่า วันนี้ประชาชนตัดสินแล้ว แต่กลุ่มคนที่ไม่ยอมให้เสียงส่วนใหญ่ของประชาชนเป็นผู้ชนะกลับคล้ายว่าจะมี อำนาจมากกว่าการตัดสินของประชาชน
คนกลุ่มนี้คือผู้ที่ควรจะตอบคำถามที่กลาดเกลื่อนอยู่ในแวดวงผู้ห่วงใยประเทศชาติ
และควรตอบให้ตรงคำถามว่า "นอกจากอำนาจและผลประโยชน์ส่วนตัว เคยคิดถึงห่วงใยชะตากรรมของชาติและประชาชนในภาพรวมบ้างหรือไม่"