ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Saturday, 23 July 2011

นิทาน "พระวิหาร"

ที่มา มติชน



โดย สรกล อดุลยานนท์

(ที่มา คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 23 กรกฎาคม 2554)

ถ้ารัฐบาล "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" เป็น "บริษัท"

และกำลังต้องปิดกิจการ

ตอนนี้ "นักบัญชี" คงกำลังกดเครื่องคิดเลขคำนวณเพื่อดูว่า "บรรทัดสุดท้าย" เป็นอย่างไร

"ตัวดำ" หรือ "ตัวแดง"

"กำไร" หรือ "ขาดทุน"

ผมเชื่อว่าเมื่อตรวจสอบบัญชีอย่างละเอียด "อภิสิทธิ์" คงรู้แล้วว่าเขามี "รายจ่าย" มโหฬารจากการแต่งตั้ง "กษิต ภิรมย์" เป็น "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ"

2 ปีกว่าในตำแหน่งนี้ เวลาครึ่งหนึ่งเขาใช้กับการไล่ล่า "ทักษิณ ชินวัตร" ที่เหลือใช้กับการทะเลาะกับ "ฮุน เซน"

ถ้าดูข้อมูลเก่าเราจะเจอข่าว "กษิต" และ "ชวนันท์ อินทรโกมาลย์สุต" เลขานุการ รมต.ต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ถึงความมั่นใจว่าจะไล่จับ "ทักษิณ" ได้อย่างแน่นอนเยอะมาก

ถึงวันนี้เราก็รู้แล้วว่าที่ทั้งคู่พูดมาตลอดนั้นเป็นความจริงหรือไม่

และไม่รู้ว่าเป็นสัญญาณอะไรหรือไม่ ที่บรรดาทูตประเทศต่างๆ จึงเข้าคิวพบ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งจนรู้ผลการเลือกตั้ง

ถ้อยคำที่เผยแพร่ออกมาเหมือนมีนัยยะอะไรบางประการ

เชื่อว่าหลังจากนี้เราคงจะได้ยิน "ความจริง" ที่ไม่เคยได้ยินมาก่อนจากคนในกระทรวงการต่างประเทศ และประเทศเพื่อนบ้านในแถบอาเซียน

นั่นคือ "รายจ่าย" ของประเทศไทย

และที่ต้องจ่ายมากที่สุดคงไม่พ้นเรื่อง "ปราสาทพระวิหาร"

จนถึงวันนี้คนส่วนใหญ่ยังตั้งคำถามอยู่เลยว่าเมืองไทยเดินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

นึกถึงวันที่ "นพดล ปัทมะ" ลงนามในแถลงการณ์ร่วมกับกัมพูชา สนับสนุนให้ "กัมพูชา" จดทะเบียน "ปราสาทพระวิหาร" เป็นมรดกโลก

ส่วนพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตร ก็ให้ 2 ประเทศพัฒนาร่วมกัน

ถ้าทุกอย่างจบลงด้วยดีในวันนั้น "กัมพูชา" ก็ต้องรู้สึกดีว่า "ไทย" มีน้ำใจ

ส่วนการพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนร่วมกันมี "นัยยะ" แห่งความจริงที่ไม่อยู่ในตัวอักษรในสัญญา

คือ "ไทย" ได้เปรียบ "กัมพูชา" ทั้งศักยภาพทางการเงิน และฝีมือทางธุรกิจ

แค่คิดง่ายๆ ว่านักท่องเที่ยวจะขึ้นปราสาทพระวิหารทางไหน

ก็เมื่อทางขึ้นอยู่ในประเทศไทย เขาก็ต้องขึ้นทางฝั่งไทย

พักที่ไหน ก็ต้องพักทางฝั่งไทยเพราะสะดวกสบายกว่า

แต่ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาในช่วงรัฐบาล "อภิสิทธิ์" กลับมีแต่ความขัดแย้งจนถึงขั้นเปิดศึกที่ชายแดน

คนไทย 5 หมื่นกว่าคนต้องอพยพทิ้งบ้านเรือน

"อาเซียน" ต้องเรียกประชุมเพื่อแก้ความขัดแย้งระหว่าง "ไทย-กัมพูชา"

รัฐบาลไทยถอนตัวจากคณะกรรมการมรดกโลก

"กัมพูชา" ยื่นเรื่องเข้าคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

และในที่สุดก็ยื่นเรื่องให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาปี 2505 และคุ้มครองฉุกเฉินให้ไทย-กัมพูชาถอนทหารออกจากพื้นที่ความขัดแย้ง

นี่คือ "รายจ่าย" ครั้งใหญ่ของประเทศชาติ

ที่ผ่านมาแม้ว่าใครจะ "ปากแข็ง" ว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นของไทย แต่ในใจนั้นแฝงด้วยความหวาดหวั่นเพราะรู้อยู่ว่าถ้าเรื่องถึง "ศาลโลก" เมื่อไร เรามีโอกาสแพ้มากกว่าชนะ

ใครที่บอกว่าหลักฐานของเราดีกว่า

ใครที่บอกว่ากัมพูชาเสียพื้นที่มากกว่าเรา

ใครที่บอกว่าเราชนะแน่นอน ฯลฯ

ในโลกแห่งความเป็นจริง สุดท้าย "นิทาน" ก็ย่อมเป็น "นิทาน"

และ "นิทาน" เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า....

"คนโง่แต่ขยัน" อันตรายที่สุดจริงๆ