แม้มติ 3 ต่อ 2 ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ที่ "สั่งแขวน" ว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 142 คน ถือเป็นการทำหน้าที่ปกติของ กกต.
คำว่า "แขวน" หมายถึง กกต.ยังไม่รับรองการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากมีการกล่าวหาว่ากระทำผิดหรือขัดต่อกฎหมายเลือกตั้ง
ดังนั้น หากมองในสถานการณ์การเลือกตั้งปกติ การ "แขวน" เพื่อพิจารณาในภายหลังจึงเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง
แต่สำหรับสถานการณ์การเมืองที่มีความขัดแย้งกันสูง ระหว่าง "ขั้วอำนาจเก่า" กับ "ขั้วอำนาจใหม่"
ในสถานการณ์ที่ "ขั้วอำนาจใหม่" ซึ่งมีพรรคเพื่อไทยเป็น "ตัวแทน" ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนจำนวน 265 คน มากกว่ากึ่งหนึ่ง คือ 250 คน จากจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด 500 คน
คำสั่ง "แขวน" ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง จึงปลุกกระแสความหวาดระแวงขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด
ทั้งนี้ เพราะการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกจะทำได้ ต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 หรือ 475 คน แต่ขณะนี้มีว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้รับการรับรองเพียง 358 คนเท่านั้น ส่วนที่เหลืออีก 142 คนถูกแขวน
จำนวนว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ถูก "แขวน" มีชื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ ของพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นแคนดิเดตตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลชุดใหม่รวมอยู่ด้วย
แม้ในรายที่ถูกแขวนจะมีชื่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ ของพรรคประชาธิปัตย์ รวมอยู่ด้วย
แต่การแขวนชื่อนายอภิสิทธิ์ด้วยกลับมิได้ทำให้ความรู้สึกหวาดระแวงเบาบางลง
เนื่องจากนับตั้งแต่การหาเสียงเลือกตั้งเกิดขึ้น ได้เกิดกระแสการแข่งขันระหว่าง 2 ขั้วอำนาจอย่างชัดแจ้ง
ขั้วอำนาจหนึ่ง คือ ขั้วอำนาจเก่า ที่สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคการเมืองอื่นๆ ที่ไม่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
อีกขั้วอำนาจหนึ่ง คือ ขั้วอำนาจใหม่ มี พ.ต.ท.ทักษิณ ออกโรงสนับสนุน มีพรรคเพื่อไทยเป็น "ตัวแทน" และกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. เป็นแนวร่วม
การแข่งขันกันระหว่าง 2 ขั้วอำนาจดังกล่าว หากดำเนินไปเป็นปกติย่อมไม่ใช่เรื่องน่าเป็นห่วง แต่ปรากฏมีข่าวคราวผุดออกมาอย่างสม่ำเสมอว่า หากพรรคเพื่อไทยได้รับคะแนนเสียงชนะพรรคประชาธิปัตย์ การเมืองไทยจะเกิด "คลื่นแทรก"
กระแสข่าว "คลื่นแทรก" นี่เองที่ทำให้เกิดข่าวลือสะพัดเป็นพักๆ ว่า จะเกิดการปฏิวัติรัฐประหาร จนทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ต้องออกมาย้ำนักย้ำหนาหลายครั้งว่า "ไม่มีปฏิวัติ"
ขณะเดียวกัน กระแส "คลื่นแทรก" ก็ยังพัดพาทำให้คณะกรรมการการเลือกตั้งถูกตั้งคำถาม เมื่อปรากฏเป็นข่าวว่า กรรมการการเลือกตั้ง 4 คน เดินทางตามคำเชิญของกรมการกงสุลไทย กระทรวงการต่างประเทศ ไปตรวจดูการเลือกตั้งของคนไทยนอกราชอาณาจักร
ขณะที่มีการเลือกตั้งและโพลสำนักต่างๆ ออกมาสอดคล้องกันว่า พรรคเพื่อไทยได้รับคะแนนนิยมกวาดเรียบ ก็บังเกิดกระแสข่าวออกมาอีกว่า หากพรรคเพื่อไทยชนะพรรคประชาธิปัตย์แบบสูสี จะเกิด "คลื่นแทรก" เข้ามาช่วยเหลือให้พรรคประชาธิปัตย์ได้จัดตั้งรัฐบาล
กระแส "คลื่นแทรก" เพิ่งลดความร้อนแรงไปเมื่อผลการเลือกตั้งปรากฏออกมาว่า พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งแบบขาดลอย
พรรคเพื่อไทยได้รับการเลือกตั้ง 265 ที่นั่ง ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ได้รับการเลือกตั้ง 159 ที่นั่ง
กระแส "คลื่นแทรก" ลดความร้อนแรงลงไปอีก เมื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แสดงสปิริต ประกาศยอมรับความพ่ายแพ้ และขอเป็นพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งหมายถึงว่า ไม่ต้องการจัดรัฐบาลแข่งกับพรรคเพื่อไทย
กระแส "คลื่นแทรก" ลดความร้อนแรงลงอีก เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ออกมายอมรับผลการเลือกตั้ง และตอกย้ำอีกครั้งว่า ทหารไม่ปฏิวัติ
กระแส "คลื่นแทรก" ลดความร้อนแรงลงไปอีก เมื่อนานาชาติที่เข้ามาเฝ้าสังเกตการณ์การเลือกตั้ง เช่น อันเฟรล ประกาศยอมรับว่า กกต.จัดการเลือกตั้งได้เรียบร้อย บรรดาทูตานุทูตประเทศต่างๆ ทยอยเข้ามาแสดงความยินดีกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะตัวเต็งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไป
กระทั่งดัชนีความสุขของคนไทยเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ บรรดานักลงทุนมองเห็นลู่ทางแห่งความหวังว่าการเมืองไทยจะมีเสถียรภาพ เพื่อให้การค้าขายปลอดโปร่ง
แม้ว่าเพียงสัปดาห์เดียว คำถามเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของนโยบายเศรษฐกิจของพรรคไทยรักไทยจะดังกระหึ่ม ขึ้น สมาคมการค้า สมาคมอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นกลุ่มนายทุน ลุกขึ้นมาแสดงอาการคัดค้านนโยบายการขึ้นค่าแรง 300 บาททันทีและทั่วประเทศ
มีการตั้งคำถามและห่วงใยต่อนโยบายขึ้นเงินเดือนข้าราชการและพนักงาน รัฐวิสาหกิจระดับปริญญาตรีเป็น 15,000 บาทต่อเดือน คัดค้านนโยบายยกเลิกกองทุนน้ำมัน ฯลฯ
แต่การคัดค้านทั้งหมดดำเนินไปโดยวิถีปกติตามระบอบประชาธิปไตย ไม่มีสัญญาณ "คลื่นแทรก" ใดๆ เข้ามาทำให้เกิดการบิดเบี้ยว
แต่เมื่อปรากฏคำสั่ง กกต.มีมติให้ "แขวน" ว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 142 คน กลับปรากฏความรู้สึกหวาดผวากระแส "คลื่นแทรก" ขึ้นมาในทันใด
หวาดผวาการใช้ "เทคนิค" ทำลาย "ความนิยม"
หวาดผวาการใช้ "ความรู้ทางกฎหมาย" ทำลาย "ความต้องการของเสียงส่วนใหญ่"
ภาวะเช่นนี้มิใช่เฉพาะคนไทยเท่านั้นที่หวาดผวา แม้แต่ชาวต่างประเทศก็จับตามอง ถึงขนาดที่ทูตอินเดียเอ่ยปากสงสัยในการให้อำนาจแก่ กกต.ของไทย
ดังนั้น นับตั้งแต่วันนี้จนถึงวันเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดแรก ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดไม่ให้เกิน 30 วันหลังจากวันเลือกตั้ง
และวันเวลาตั้งแต่เปิดประชุมสภาครั้งแรกไปจนมีการเรียกประชุมสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี
เป็นห้วงเวลาทางการเมืองที่เปราะบาง ...สุ่มเสี่ยงต่อความหวาดระแวงอีกครั้ง
คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงระมัดระวังมิให้มีการใช้ "เทคนิคกฎหมาย" หาช่องทำลาย "ความนิยม"
ต้องระวังมิให้มีการใช้ "ความนิยม" ไปหักล้าง "การทุจริต"
คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องชั่งน้ำหนัก ระหว่างการ "สอยก่อน" รับรองการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับการ "สอยหลัง" รับรองการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมการการเลือกตั้ง ต้องดำเนินการทุกอย่าง มิให้เกิดความหวาดระแวง และการแทรกแซงจากอำนาจอื่นใด เพื่อรักษาไว้ซึ่งเจตนารมณ์ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนร้อยละ 75 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งประเทศ ที่ออกมาใช้สิทธิเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา
วิเคราะห์, มติชนรายวัน ฉบับวันที่17ก.ค.54