เมื่อวันที่17ก.ค. ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ได้เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ "เรื่องอารมณ์ความรู้สึกของสาธารณชนภายหลังการประกาศแขวน ว่าที่ ส.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ"
จากตัวอย่างประชากรอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ เพชรบุรี สระบุรี นครปฐม ชลบุรี มหาสารคาม ร้อยเอ็ด นครราชสีมา เลย ขอนแก่น อุบลราชธานี นราธิวาส สงขลา และนครศรีธรรมราช จำนวนทั้งสิ้น 2,114 ตัวอย่าง ซึ่งดำเนินโครงการระหว่าง วันที่ 12 – 16 กรกฎาคม 2554 ที่ผ่านมา โดยมีช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 จากการเลือกตัวอย่างและวิธีการสุ่มตัวอย่างครั้งนี้
ตัวอย่างร้อยละ 49.7 เป็นชาย ร้อยละ 50.3 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 5.2 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 23.7 อายุระหว่าง 20–29 ปี ร้อยละ 25.2 อายุระหว่าง 30–39 ปี ร้อยละ 25.3 อายุระหว่าง 40–49 ปี และ ร้อยละ 20.6 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 86.3 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 12.6 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 1.1 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี
ร้อยละ 41.3 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 29.8 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 6.8 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 4.7 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 7.8 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 6.9 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา ในขณะที่ร้อยละ 2.7 ระบุว่างงาน/ไม่ประกอบอาชีพ
จากผลการสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 71.3 รู้สึก งง สงสัย ไม่ชอบ ไม่พอใจ ภายหลังทราบข่าวที่กกต. ประกาศไม่รับรอง ขณะที่ร้อยละ 13.8 เห็นด้วย และร้อยละ 14.9 ระบุเฉยๆ ไม่รู้สึกอะไร
เมื่อถามถึงระดับปัญหาทางการเมืองของประเทศ ถ้า กกต. ไม่รับรองการเป็นส.ส.ของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พบว่า เกินครึ่งหรือร้อยละ 54.7 เกรงว่า จะเกิดปัญหาความรุนแรงระดับมาก ถึง มากที่สุด ในขณะที่ ร้อยละ 28.9 ระบุปานกลาง และร้อยละ 16.4 ระบุ น้อย ถึง ไม่มีปัญหาเลย
ต่อกรณีความรู้สึกผิดหวัง ของประชาชน ถ้ากกต.ไม่รับรอง ว่าที่ส.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 57.8 จะรู้สึกผิดหวังมาก ถึงมากที่สุด ในขณะที่ร้อยละ 24.1 ผิดหวังระดับปานกลาง และร้อยละ 18.1 ระบุ น้อย ถึงไม่ผิดหวังเลย
ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.4 อยากให้โอกาสน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย ในทางกลับกัน ร้อยละ 19.6 ไม่ได้คิดเช่นนั้น ที่น่าสนใจก็คือ เกินครึ่งหรือร้อยละ 55.3 ก็อยากให้โอกาส แกนนำคนเสื้อแดงได้เป็นรัฐมนตรี เช่นกัน แต่ขณะที่ร้อยละ 44.7 ไม่คิดเช่นนั้น ทั้งนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 76.4 เชื่อว่า กกต. จะรับรองน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ร้อยละ 23.6 ไม่คิดเช่นนั้น
เมื่อ ถามถึงความคิดเห็นต่อแนวคิดให้รับรองว่าที่ ส.ส. ไปก่อนเพื่อเปิดสภาได้ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 75.6 ระบุเห็นด้วย ร้อยละ 24.4 ระบุไม่เห็นด้วย มากกว่านั้นก็คือความคิดเห็นของประชาชนต่อ ข่าว พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ออกมามีบทบาทในช่วงการก่อตั้งรัฐบาลโดยพรรคเพื่อไทย พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 65.3 ไม่เห็นด้วย เพราะจะเกิดการต่อต้านจากกลุ่มที่ไม่สนับสนุน พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร และอาจทำให้เกิดปัญหาวุ่นวายได้
ทั้งนี้พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ควรอยู่เบื้องหลัง และควรอยู่เฉยๆ เพราะอาจเกิดอุปสรรคทำให้พรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ และกลัวประเทศชาติถอยหลังเกิดการยึดอำนาจอีก เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 34.7 เห็นด้วย เพราะ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นคนมีความสามารถ จะช่วยแก้ปัญหาแย่งชิงตำแหน่งรัฐมนตรี และเป็นผู้มีบารมีทางการเมืองจะคุมความขัดแย้งได้ดี เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า อารมณ์ความรู้สึกของสาธารณชนในตอนนี้อยากเห็นประเทศชาติก้าวต่อไปข้างหน้า การฟอร์มหรือการจัดตั้งรัฐบาลโดยพรรคเพื่อไทยน่าจะเป็นสิ่งที่ประชาชนส่วน ใหญ่หวังและอยากให้โอกาสพรรคเพื่อไทย และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้แสดงความสามารถบริหารประเทศแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนตามที่เคย หาเสียงไว้ก่อน ส่วนการวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ ในเวลาอาจเป็นเพียง "สมมติฐาน" และ "อคติ" ที่ต้องรอการพิสูจน์จากความเป็นจริงและข้อมูลที่เกิดขึ้นตามมาจากผลกระทบของ การทำงานโดยรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยในอนาคต
ดังนั้น เพื่อรักษาระบบของการปกครองแบบประชาธิปไตยในสังคมไทยเอาไว้ ทุกฝ่ายน่าจะยอมรับมติของมหาชนและตั้งระบบเตรียมตัวตรวจสอบการทำงานของ รัฐบาลใหม่อย่างเข้มข้นโดยยกระดับการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งประเทศให้ เพิ่มมากขึ้นกว่าอดีตที่ผ่านมา น่าจะเป็นสัญญาณที่ดีต่อเสถียรภาพการเมืองการปกครองของประเทศไทยต่อไป