ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Tuesday, 12 July 2011

คลื่นแห่ง"การฆ่าตัดตอน"จะกลับมาหรือไม่ ขอวัดใจว่าที่นายกฯยิ่งลักษณ์

ที่มา มติชน



เรียบเรียงจากรายงานข่าวของ Tania Branigan ผู้สื่อข่าวของเดอะ การ์เดียน ชื่อ "Rights groups fear wave of deaths as Thailand faces new drugs crackdown"

สันติสุข วัย 19 ปี ลูกจ้างโรงงานทอผ้าแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เปิดเผยความรู้สึกเมื่อได้ลอง"ยาบ้า" เม็ดแรกว่า มันช่วยให้เขาผ่านพ้นช่วงเวลาการทำงานอันแสนยากลำบากไปได้

หลังจากนั้นเขาสังเกตว่าตนเองเริ่มโกรธเกรี้ยวและฉุนเฉียวง่ายขึ้น เมื่อไม่ได้กินยา ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่เขาถูกตำรวจจับเป็นครั้งที่สาม และถูกส่งไปบำบัดยาเสพติดที่วัดแห่งหนึ่ง ซึ่งขณะนี้ เขากล้าออกมายอมรับว่า เขาตัดขาดจากมันอย่างสิ้นเชิงแล้ว แต่เขาก็ยังรู้สึกกังวลว่า จะเกิดอะไรขึ้นต่อไปหากว่าเขาออกจากศูนย์บำบัดและกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ เนื่องจากเพื่อนของเขาหลายคนยังคงเสพมันอยู่ และการใช้ยาดังกล่าวกลายเป็นเรื่องปกติของคนใช้แรงงานเช่นเขา

พระหลายรูปที่วัดแห่งหนึ่งในย่านคลองเตย ซึ่งเป็นเขตที่มีประชาชนที่มีฐานะยากจนอาศัยอยู่มากที่สุดแห่งหนึ่ง ของกรุงเทพฯ กล่าว่าอัตราของผู้เสพยาเพิ่มขึ้นมากกว่าแต่ก่อน และแพร่กระจายไปทั่วประเทศ

พล.ต.ท.อติเทพ ปัญจมานนท์ ผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ให้สัมภาษณ์ต่อหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนว่า จำนวน ผู้เสพยาบ้าในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นถึง 1.1 ล้านคน ภายในปีนี้ หรือเทียบเป็นสัดส่วนที่ 1 ต่อประชากร 60 คน จำนวนของผู้เสพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในระดับ 100,000 คนต่อปี ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา

ด้านน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไทย เคยให้คำมั่นว่า เธอจะประกาศนโยบายสงครามยาเสพติดอีกครั้งใหม่ เพื่อขจัดยาเสพติดให้สิ้นซากภายใน 12 เดือนที่จะถึงนี้ ซึ่งสร้างความกังวลต่อกลุ่มนักสิทธิมนุษยชน ว่าเธออาจเดินซ้ำรอยพี่ชายของเธอและก่อให้เกิด"การฆ่าตัดตอน"อันโด่งดัง เมื่อปี 2546

ท้ังนี้ รายงานปี 2551 ของคณะกรรมการพิเศษชุดหนึ่ง ที่ดูแลนโยบายปราบปรามยาเสพติดในไทย ระบุว่า คดีฆาตกรรมช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2546 ซึ่งเป็นช่วงเวลาสำคัญ ของการรณรงค์กวาดล้างยาเสพติดสมัย "ทักษิณ" นั้น เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 88 โดยเป็นคดีฆาตกรรมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด 1,370 ราย จากทั้งหมด 2,873 ราย

ตำรวจในสมัยนั้นกล่าวโทษว่าเหยื่อส่วนใหญ่เป็นผู้ค้ายาเสพติด ที่ "ฆ่าตัดตอน" กันเอง เป็นต้นเหตุส่วนใหญ่ของผู้เสียชีวิตราว 2,500 คน และอีก 68 คน ถูกวิสามัญฆาตกรรม คณะกรรมการออกมากล่าวภายหลังว่ามากกว่าครึ่งของผู้เสียชีวิต ซึ่งรวมถึงเด็กชายวัย 9 ขวบคนหนึ่ง ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด

หญิงชรารายหนึ่งวัย 84 ปี จากย่านคลองเตย กล่าวว่า โดย ส่วนตัวแล้ว เธอคิดว่าการ"ฆ่า"เป็นสิ่งที่ดี เพราะหากปล่อยเรื่องดังกล่าวให้ศาลเป็นผู้ตัดสิน ก็จะไม่สามารถตัดวงจรการค้าได้อย่างสิ้นซาก เธอสูญเสียลูกชายไปจากสงครามยาเสพติดครั้งนั้น และคนในชุมชนของเธอถูกยิงเสียชีวิตไปถึง 46 คน ปัจจุบันเธอร่วมโครงการต่อต้านการกระทำทารุณ

เธอยังกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ การทำร้ายร่างกายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วไปในพื้นที่สลัมของกรุงเทพฯ และพฤติกรรมการดมกาวก็เป็นสิ่งปกติที่พบเห็นได้ทั่วไป แต่เดี๋ยวนี้เด็กเริ่มหัดดมกาวตั้งแต่อายุ 6-7 ขวบ ก่อนที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาบ้า ซึ่งมีราคาแพงกว่า เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่ออาชญากรรม ลักเล็กขโมยน้อย และทำให้พวกเขาก้าวร้าวมากกว่าเดิม

ลูกชายของเพื่อนบ้านเธอมักจำขโมยเงินของพ่อแม่ และขอเงินวันละ 300 บาทเพื่อไปซื้อยาทุกวัน ถ้าไม่มีให้พวกเขาก็มักถูกลูกทำร้าย ด้านคนขับรถหรือคนใช้แรงงานก็มักจะกินยาบ้าเพื่อให้ทำงานได้มากขึ้น

ด้านพล.ต.ท.อติเทพ กล่าวว่า การใช้ยาบ้าเพื่อการผ่อนคลายถือเป็นเรื่องปกติมาก และแม้แต่เด็กวัย 13 ปี ก็สามารถซื้อหามาได้อย่างง่ายๆ ขณะที่เด็กวัย 5-6 ขวบก็ใช้กันจนเป็นเรื่องปกติ

โดยเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา รัฐมนตรีสาธารณสุขเปิดเผยว่า มีเยาวชนวัย 7-17 ปี กว่า 6,700 คน เข้ารับการบำบัดการติดยานับตั้งแต่ช่วงต้นปี กว่าร้อยละ 70 ของยาบ้า มีต้นตอมาจากชายแดนพม่า และกล่าวโทษกองทัพของชนกลุ่มน้อยบางกลุ่ม ที่ผลิตยาเพื่อนำเงินมาสนับสนุนการต่อสู้กับรัฐบาลพม่า ขณะที่ราคายาบ้าต่อเม็ดตกอยู่ที่เม็ดละ 150 บาท หรือถูกกว่าราคาของปี 2547 ถึงครึ่งหนึ่ง โดยตำรวจปราบปรามยาเสพติดสามารถยึดยาบ้าได้กว่า 33 ล้านเม็ด ในปี 2552 และ 60 เม็ดเมื่อปีที่ผ่านมา

"วันนี้ เราจับได้ 1 ล้านเม็ด พรุ่งนี้เขาก็ผลิตเพิ่มอีก 2 ล้านเม็ด"

เมื่อเร็วๆนี้ หนึ่งในทีมสอบสวนสามารถยึดยาบ้า 30,000 เม็ด ที่จ.นครปฐม เจ้าหน้าที่ที่แกะรอยการค้ายาครั้งนี้ สามารถสืบไปถึงหัวหน้าแก๊งค้ายาซึ่งพบว่าอยู่ระหว่างการถูกจำคุก และทำการซื้อขายยาบ้าผ่านโทรศัพท์มือถือที่ลักลอบนำเข้าไปในเรือนจำ

พล.ต.ท.อติเทพ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของค่านิยมและสังคม ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ยาบ้าแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ขณะที่คนอื่นๆกล่าวว่า ปัญหาทางเศรษฐกิจของไทยครั้งใหญ่เมื่อปี 2551 อันสืบเนื่องมาปัญหาเศรษฐกิจของทั่วโลก และสภาพความวุ่นวายทางการเมือง ยิ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหาให้รุนแรงยิ่งขึ้น บ้างก็กล่าวโทษเจ้าหน้าที่ที่ทุจริตฉ้อฉล ว่าเป็นผู้ที่สนับสนุนให้มีการค้าเสียเอง

พระสงฆ์ที่วัดที่จัดให้เป็นสถานที่บำบัดแห่งหนึ่ง เปิดเผยว่า หากเกิดนโยบายดังกล่าวขึ้นจริง ปัญหาที่แย่อยู่แล้วจะยิ่งเลวร้ายลงอีก

"เมื่อสมัยนายทักษิณ เรื่องดังกล่าวก็หนักอยู่แล้ว มีแต่การฆ่าการยิงกัน และผลก็เป็นอย่างที่เราเห็นกัน" พระครูรายหนึ่งกล่าว "คุณรู้หรือเปล่าว่าตัวการใหญ่เป็นใคร? คุณรู้หรือเปล่าว่าเจ้าหน้าที่คนไหนมีส่วนเกี่ยวข้องบ้าง? จัดการเรื่องนี้ให้เรียบร้อยก่อน แลัวค่อยไปจัดการกับปัญหาบนถนนโน่น"

"ทางแก้จริงๆคือการให้มีโครงการบำบัดยาเสพติดให้เป็นเรื่องเป็นราว รวมถึงการให้โอกาสทางการศึกษา และโอกาสทางเศรษฐกิจที่ดีแก่ประชาชน"

เอเอฟพี ระบุว่า "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ที่ถูกมองว่า เป็นตัวแทนของ "ทักษิณ" และกำลังหาเสียงชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวกับเอเอฟพีเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า เธอจะดำเนินนโยบายยาเสพติด โดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน แต่หลายฝ่ายเกรงว่า การล่วงละเมิดสิทธิฯ อาจกลับมาอีก หากพรรคเพื่อไทยของเธอชนะการเลือกตั้ง

นายเบนจามิน ซาวัคกี้ นักวิจัยจากองค์การนิรโทษกรรมสากลประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชี้ว่า ไม่มีใครสามารถโต้แย้งความต้องการของรัฐบาลในการจัดการปัญหายาเสพติดครั้ง นี้ได้ นั่นหมายถึงสิ่งที่เราวิตกกำลังจะเกิดขึ้น

ด้านนายสุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาองค์กรฮิวแมนไรท์ วอทช์ ประจำประเทศไทยกล่าวว่า เชื่อ ว่าหากรัฐบาลสมัยหน้าดำเนินนโยบายดังกล่าวตามรัฐบาลชุดเดิมภายใต้การนำของ พรรคประชาธิปัตย์ กลุ่มผู้ต้องสงสัยก็จะถูกส่งตัวไปยังค่ายทหารเพื่อรับการฝึก โดยไม่ได้เข้ารับการบำบัดอาการติดยาอย่างเหมาะสม แต่หากว่าต้องการเดินตามรอยของนายทักษิณ พวกเขาก็อาจมีจุดจบไม่ต่างจากสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ซึ่งเหยื่อส่วนใหญ่ ตกเป็นเหยื่อของการล้างแค้นส่วนตัว หรือไม่ก็การถูกจัดเข้ากลุ่มแบบเหมารวม เช่น กรณีของชายหญิงคู่หนึ่งซึ่งถูกยิงตายเราเพราะว่าพวกเขามีฐานะร่ำรวยผิดปกติ ก่อนที่ต่อมาเรื่องจึงแดงว่าทั้งสองถูกล็อตเตอรี่เท่านั้นเอง