น.พ. ประเวศ วะสี เปิดใจถึงนโยบายเศรษฐกิจเพื่อแรงงานของเพื่อไทย ที่ตั้งเป้าหมายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท โดย น.พ.ประเวศเห็นว่าเป็นนโยบายที่ดี แต่อยากให้ส่งเสริมมากกว่านั้น คือทำให้คนจนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนไว้เพื่อรองรับการล้มเหลวจากเศรษฐกิจมหภาคด้วย
“การที่พรรคเพื่อไทยมีนโยบายค่าแรง 300 บาทเป็นเรื่องที่ดี เพราะคนจนในประเทศไทยมีมาก แรงงานไทยมีถึง 38 ล้านคน เกษตรกรไทยมีกว่า 40 ล้านคน คนจนนั้นมีคุณภาพชีวิตต่ำ ขาดความมั่นคงในชีวิต ซึ่งหากคนส่วนใหญ่ของประเทศขาดความมั่นคง ประเทศก็ย่อมขาดความมั่นคง การที่พรรคเพื่อไทยมีนโยบายเพื่อคนจนเป็นเรื่องที่ดี” น.พ. ประเวศ อธิบายพร้อมหัวเราะ เมื่อถูกถามเท้าความถึงประโยคที่ฮือฮา “เชื่อว่าค่าแรง 150 บาทก็อยู่ได้ หากมีที่พัก-อาหารพอเพียง” ซึ่งเขาอธิบายว่า เป็นการอ้างอิงคำพูดของแหล่งข่าวที่ขาดบริบท
“300 บาท ต่อวัน น้อยเกินไปด้วยซ้ำ จริงๆ แล้วควรได้มากกว่านั้นด้วยซ้ำ” น.พ.ประเวศกล่าว และอธิบายว่า สาระสำคัญของปาฐกถาสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ศศช.) เมื่อวันที่ 7 ก.ค. ที่ผ่านมานั้น อยู่ที่การเสนอแนวทางให้เชื่อมโยงธุรกิจระดับมหภาคกับเศรษฐกิจในชุมชนให้ เกื้อกูลกัน ซึ่งขณะนี้ก็กำลังสะท้อนออกมาเป็นความขัดแย้ง เมื่อภาคอุตสาหกรรมเพิ่งแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยกับการขึ้นค่าจ้าง 300 บาท วานนี้ (12 ก.ค.)
“ภาคอุตสาหกรรมบอกว่าทำไม่ได้ ก็ต้องดูว่าเขาต้องแข่งขันกับต่างประเทศ ค่าแรงประเทศอื่นต่ำกว่า ถ้าเราค่าแรงสูงกว่าเขาเราก็แข่งขันไม่ได้ นี่ก็ทำให้เกิดความขัดแย้ง”
“ทางออกก็คือ ต้องเชื่อมโยงธุรกิจมหภาคเข้ากับเศรษฐกิจชุใชนให้เกื้อกูลกัน ถ้าผู้ใช้แรงงานสามารถอยู่ในชุมชน มีที่อยู่ มีอาหาร ทำการเกษตรไปด้วย และทำโรงงานไปด้วย จัดสวัสดิการ มีรถรับส่งก็จะไม่เป็นอุปสรรค ธุรกิจก็ได้ คนงานก็ได้ ต้องเชื่อมโยงชุชนกับเศรษฐกิจมหภาคเข้าด้วยกัน ถ้าทำได้ ค่าแรง 150-200 บาทก็เป็นเงินเหลือ”
เสนอรัฐจัดสรรที่ดินให้แรงงานทำการเกษตรควบคู่ไปด้วย
แต่แรงงานบางส่วนก็ออกจากิ่นฐานมาแล้ว จะทำอย่างไร?
คำถามนี้ น.พ. ประเวศ เสนอว่ารัฐบาลต้องจัดสรรที่ดินให้แรงงาน มากเท่าที่จะมากได้ เพื่อดูดซับความเสี่ยงต่อความไม่มั่นคงจากการเป็นแรงงาน
“ครอบครัวละ 2 ไร่ก็ยังดี ให้เขาได้ทำเกษตรไปด้วย ช่วยเพิ่มความมั่นคงทางเศรษฐกิจ อย่างน้อยถ้าเขาทำเกษตรได้ เขาก็จะมีกิน ผมคิดว่ารัฐบาลทำได้ อาจจะตักบาตรที่ดิน ตั้งกองทุนซื้อที่ดิน”
น.พ.ประเวศเชื่อว่า หากรัฐบาลเห็นด้วยกับแนวคิดเช่นนี้ ก็น่าจะทำได้ และทำได้กว้างขวาง เพราะมีอำนาจที่จะทำ ยกตัวอย่างกรณีที่รัฐและสถาบันการเงินช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนจากเงินทุน หมู่บ้านละล้านในอดีต พัฒนามาสู่การเป็นสถาบันการเงินชุมชน โดยมี ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) และธนาคารออมสิน เข้าไปให้คปรึกษาและหนุนเสริมด้านการบริหารจัดการ จนกระทั่งปัจจุบันนี้หลายแห่งมีเงินทุนหลัก 40-50 ล้าน ขณะที่บางแห่งมีเงินในกองทุนเกินกว่า 100 ล้านบาท กลายเป็นสถาบันการเงินชุมชน เป็นตัวอย่างของการจัดการที่ดี
“รัฐบาลใหม่กำลังจะอัดฉีดเงินหมู่บ้านละ 1 ล้าน รวมเป็น 80,000 ล้าน ก็ไม่ทราบว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังท่านใหม่ จะเข้าใจประเด็นนี้หรือไม่ หากรัฐบาลอัดฉีดเงินเข้าไปในชุมชนอีก 80,000 กว่าล้านบาท ใน 80,000 กว่าหมู่บ้านจริงๆ ก็คาดหวังว่าจะใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนจริงๆ”
น.พ.ประวศย้ำว่า หากเศรษฐกิจระดับชุมชนเข้มแข็ง ก็จะช่วยซึมซับความล้มเหลวจากเศรษฐกิจของเมืองใหญ่ได้ รองรับคนที่ตกงาน คนที่ยากจนได้ รัฐบาลจึงควรจะส่งเสริมเศรษฐกิจชนชนในขนาดใหญ่และกว้างขวางและอยากจะย้ำ เรื่องการเชื่อมโยงเศรษฐกิจชุมชนและเศรษฐกิจมหภาคให้เกื้อกูลกัน และก็ควรจะปรึกษาหารือกัน พูดคุยกัน เป็นการปรองดองอย่างหนึ่ง ซึ่งก็เป็นแนวทางของรัฐบาลใหม่อยู่แล้ว
“เรืองการทำเพื่อคนจนนั้นผมเชียร์ให้รัฐบาลทำ ซึ่งคนจนของไทยมีทั้งคนที่เป็นแรงงานและเกษตรกร ส่วนที่ภาคอุตสาหกรรมบอกว่าทำไม่ได้ ต้องลองคุยกัน ว่าให้ 300 บาทไม่ได้เพราะอะไรถ้าทำไม่ได้ทันที ก็ทำให้ได้ส่วนหนึ่งก่อน ผมอยากให้ทำงานร่วมกันให้ได้” น.พ.ประเวศกล่าว