ปฏิเสธไม่ได้ว่า ชัยชนะของพรรคประชาธิปัตย์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มี “นิพนธ์ บุญญามณี” สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นหนึ่งในกำลังสำคัญ ในฐานะผู้ดูแลพื้นที่มาตั้งแต่ปี 2544
“นิพนธ์ บุญญามณี” บอกเล่าถึงที่มาของชัยชนะคราวนี้อย่างไม่ปิดบังว่า มาจาก 3 สาเหตุด้วยกัน 3 สาเหตุที่ว่ามีอะไรบ้าง เชิญอ่านได้ ณ บัดนี้
0 0 0 0 0
เข้ามารับผิดชอบดูแลการเลือกตั้งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งแต่เมื่อไหร่
ตั้งแต่ปี 2544 พอปี 2547 ผู้สมัครของพรรคใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ย้ายไปอยู่พรรคไทยรักไทยหลายคน มีแพทย์หญิงพรพิชญ์ พัฒนกุลเลิศ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาส นายเจ๊ะอิสมะแอ เจ๊ะโมง อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปัตตานี นายวัยโรจน์ พิพิธภักดี อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปัตตานี
ผมเป็นคนคัดตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใหม่ของพรรคแทนคนเก่า ก็ได้นายอันวาร์ สาและ นายซาตา อาแวกือจิ และนายอิสมาแอล เบญอิบรอฮีม ผลการเลือกตั้งผมพลาดไปหนึ่งที่นั่งเท่านั้น
สมัยนั้น นายกูเฮง ยาวอฮาซัน ที่ครั้งล่าสุดลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาส เขต 1 พรรคชาติไทยพัฒนา เป็นประธานสาขาพรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธานสาขาพรรคที่ผมรักมาก
เดิมทีผมวางตัวให้นายกูเฮงลงสมัครรับเลือกตั้งเขต 3 สู้กับนายนัจมุดดีน อูมา จากพรรคไทยรักไทย วางตัวหมอพรพิชญ์ ลงเขตเมือง หรือเขต 1 ส่งนายเจะอามิงไปสู้กับนายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ จากพรรคไทยรักไทย ที่เขต 4 นายเจะอามิงยอมไปทั้งๆ ที่รู้ว่าโอกาสแพ้มีมากกว่าโอกาสชนะ เพราะคะแนนนายเจะอามิงดีที่เขต 1 ไม่ใช่เขต 4
พอหมอพรพิชญ์ ออกจากพรรคประชาธิปัตย์ พ่อของนายกูเฮงคือ นายกูเซ็ง ยาวอหะซันบอกว่า จะให้นายวัชระ ยาวอหะซัน น้องชายนายกูเฮงลงเขตเมืองคือ เขต 1 แทนหมอพรพิชญ์ ผมบอกว่าไม่ได้ ผมต้องให้นายเจะอามิง โตะตาหยง ลงเขต 1 เพราะในวันที่พรรคให้นายเจะอามิงไปสู้กับนายอารีเพ็ญ ที่เขต 4 นายเจะอามิง ยังไปตามที่พรรคสั่ง ทั้งที่มีแนวโน้มจะแพ้สูงมาก ถ้าผมไม่ให้นายเจะอามิงกลับมาลงเขต 1 ผมไม่มีเหตุผลที่จะพูดกับนายเจะอามิง ผมทำแบบนั้นไม่ได้
พอเป็นแบบนี้ นายกูเฮงก็ไม่อยากลงสมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์ ทางพรรคชาติไทยก็รับไป ผมเตรียมใครไม่ทัน เลยพลาดให้พรรคชาติไทยไป 1 ที่นั่ง ผมได้ไป 11 ที่นั่ง จากทั้งหมด 12 ที่นั่ง เป็นช่วงที่พรรคประชาธิปัตย์ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
พอปี 2550 พรรคประชาธิปัตย์ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แค่ 5 ที่นั่ง จาก 12 ที่นั่ง พลาดไป 7 ที่นั่ง ในจำนวนนี้พลาดให้กับพรรคเพื่อแผ่นดิน 3 คน เนื่องจากกระแสของหมอแว หรือนายแพทย์แวมาฮาดี แวดาโอะมาแรงมาก
ส่วนอีก 4 ที่นั่ง เราไปแพ้นายนัจมุดดีนกับกลุ่มของนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ที่ลงสมัครในนามพรรคพลังประชาชน ช่วงนั้นเหตุการณ์รุนแรงมาก เราไม่กล้าปราศรัยในพื้นที่ ออกปราศรัยได้ไม่มากเท่ากับรอบนี้
รอบนี้ ผมรับผิดชอบดูแลการเลือกตั้งในจังหวัดนราธิวาส กับจังหวัดยะลา ส่วนจังหวัดปัตตานี ทางเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ กับทีมงานเป็นผู้รับผิดชอบ
คราวนี้ เราปราศรัยได้มากกว่าครั้งก่อน ลงพื้นที่พบปะผู้คนตามตลาดได้มากขึ้น จึงได้รับการต้อนรับจากประชาชนดีขึ้น เราจึงมั่นใจมากขึ้นและทำให้คนมั่นใจเรามากขึ้นด้วย โดยเฉพาะในตัวเมือง เช่น อำเภอสุโหงโก–ลก จังหวัดนราธิวาส อำเภอเบตง จังหวัดยะลา นอกเมืองเสียงพรรคประชาธิปัตย์ไม่คอยดี แต่ในตัวเมืองคะแนนเสียงเราดี
ผมไปปราศรัยที่เบตง ผมรู้และมั่นใจมากเลยว่า คนเบตงเลือกเรา สมัยก่อน 5–6 โมงเย็นคนก็ไม่อยู่ฟังเราปราศรัยแล้ว แต่คราวนี้คนอยู่กับเรา จนถึง 4–5 ทุ่ม แรกๆ ผมบอกบ่ายๆ เลิกได้แล้ว แต่คนก็ยังอยู่ ที่สุไหงโก–ลก คิดจะเลิกปราศรัยช่วงบ่ายๆ แต่คนยังอยู่อีก
ปราศรัยเสร็จเรายังเดินต่อในตลาด ตอนกลางคืนปราศรัยอีกรอบ ทำให้เรามั่นใจมากขึ้น เพราะคนมาฟังปราศรัยมากขึ้น ได้มีโอกาสพูดคุยทำความเข้าใจกันมากขึ้น ทำให้คนเข้าใจเรามากขึ้น
พรรคประชาธิปัตย์อธิบายให้รู้ว่า ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา เราได้ทำอะไรที่เกิดประโยชน์แก่ประชาชนในพื้นที่บ้าง บางครั้งลงพื้นที่กับนายชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ พอมีโอกาสพูดคุยกับชาวบ้าน จากประสบการณ์เรามองสายตาชาวบ้าน เรารู้และมั่นใจเลยว่า เราจะได้คะแนนจากเขาแน่นอน
มองความความพ่ายแพ้ของวาดะห์อย่างไร ในฐานะที่ต่อสู้กันมานานหลายปี
ผมคิดว่า การที่กลุ่มวาดะห์ในพรรคเพื่อไทย เสนอนโยบายนครปัตตานี ถึงแม้กลุ่มคนข้างบนตอบรับก็จริง แต่องค์กรปกครองท้องถิ่นในพื้นที่ไม่ยอมรับ เพราะชูแต่นครปัตตานีอย่างเดียว ไม่ได้เสนอรูปธรรมที่ชัดเจนในการแก้ปัญหาสามจังหวัด เสนอแต่รูปแบบนครปัตตานี
นครปัตตานีมีต้นคิดจากพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตประธานพรรคเพื่อไทย เมื่อพล.อ.ชวลิตลาออกจากพรรคเพื่อไทย กลับไปพรรคความหวังใหม่ คนของพรรคเพื่อไทยไม่มีใครกล้าพูดเรื่องนี้ ขณะที่พรรคความหวังใหม่ก็เสนอนโยบายนี้ด้วย ทำให้เกิดความสับสนระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคความหวังใหม่ว่า ใครเป็นเจ้าของนโยบายนครปัตตานีกันแน่
ขณะเดียวกันรูปแบบนครปัตตานีก็ยังไม่ชัดว่าเป็นอย่างไร มีภารกิจอะไรบ้าง ต่างกับองค์ปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอยู่แล้วอย่างไร นักการเมืองท้องถิ่นปัจจุบันจะอยู่ หรือจะไป จะมีบทบาทในนครปัตตานีอย่างไร นครปัตตานีจะทำหน้าที่ซ้ำซ้อนกับเทศบาลหรือไม่ องค์การบริหารส่วนตำบลจะยังมีอยู่ไหม จะเหมือนกรุงเทพมหานครหรือเปล่า
ถ้านครปัตตานีเหมือนกรุงเทพมหานคร ก็เท่ากับเป็นองค์การบริหารส่วนจังหวัดนั่นเอง ต่างกันเพียงแค่อำนาจบางตัวเท่านั้น คุณต้องตอบให้ได้ว่า นครปัตตานีจะมีอำนาจจัดกำลังทหารเองได้ไหม มีอำนาจออกหนังสือเดินทางเองได้ไหม มีอำนาจดำเนินการต่างประเทศได้ไหม มีอำนาจจัดเก็บภาษีได้แค่ไหน หรือยังต้องให้ส่วนกลางจัดเก็บให้
ถ้าคุณบอกว่า คุณมีทุกอย่างที่ผมพูดมาแสดงว่า คุณเป็นรัฐอิสระแล้ว ถ้าคุณบอกว่าไม่มี ก็ไม่ต่างอะไรกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน
ที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอว่า จะกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ด้วยการถ่ายโอนภารกิจให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากขึ้น ถ่ายโอนงบประมาณให้มากขึ้น อันนี้พรรคประชาธิปัตย์พูดชัดเจน ไม่เสนออะไรใหม่ เราเดินหน้ากระจายอำนาจ เดินหน้ากระจายรายได้ให้กับองค์ปกครองส่วนท้องถิ่น
ผมคิดว่านอกจากเรื่องนครปัตตานีแล้ว สาเหตุที่กลุ่มวาดะห์ หรือพรรคเพื่อไทยพ่ายแพ้ ยังมีส่วนสำคัญมาจากการเสียชีวิตครั้งใหญ่ ในเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ และการประท้วงที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส และการจับกุมปราบปรามผู้ต้องสงสัยอยู่ในขบวนการก่อการร้ายอย่างต่อเนื่อง ในช่วงรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อันนี้เราได้จากปากของผู้นำมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยตัวเอง
อีกประเด็นที่มีการพูดกันมากก็คือ การชูผู้หญิงขึ้นมาเป็นผู้นำของพรรคเพื่อไทย ซึ่งไม่ได้รับการยอมรับจากคนมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อันนี้ก็เป็นประเด็นสำคัญที่ส่งผลต่อคะแนนของพรรคเพื่อไทยพื้นที่นี้
ข้อเสนอของพรรคมาตุภูมิเรื่องทบวงบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างไร
ถ้าดูดีๆ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ไปไกลแล้ว ขณะที่ทบวงมีรัฐมนตรีดูแล แต่ศอ.บต.กลับขึ้นตรงกับสำนักนายกรัฐมนตรี มีนายกรัฐมนตรีดูแลโดยตรง ทั้งด้านความมั่นคงและการพัฒนา
เหตุที่พรรคประชาธิปัตย์เลือกใช้รูปแบบนี้ เพราะนายกรัฐมนตรีดูแลด้านความมั่นคง ผ่านกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) โดยนั่งเป็นผู้อำนวยการกอ.รมน.ด้วยตัวเอง
ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรีก็ดูแลด้านการพัฒนา ผ่านศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่พระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553 มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2554 ถึงแม้นายกรัฐมนตรีสามารถมอบอำนาจให้ใครดูแลแทนก็ได้ แต่ก็ไม่ได้มอบหมายให้ใครดูแล นายกรัฐมนตรีเลือกที่จะดูแลศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยตัวเอง
เราจึงพูดได้ว่า พื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นกับนายกรัฐมนตรี ทั้งด้านความมั่นคง ด้านการพัฒนา และงบประมาณโดยตรง ไม่ต้องผ่านรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง เท่ากับตลอด 5 – 6 เดือนที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีดูแลปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยตัวเอง
มีความเห็นอย่างไร ต่อแนวคิดจะยุบศูนย์อำนวยการบริหารจังวัดชายแดนภาคใต้
พรรคเพื่อไทยจะยุบศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาเป็นนครปัตตานี
เราต้องเขาใจบทบาทก่อนว่า ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ใช่ราชการส่วนท้องถิ่น เป็นราชการส่วนกลางที่มาอยู่ในส่วนภูมิภาค มีเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ลงมาอยู่ในพื้นที่ ลงมาประสานหน่วยราชการส่วนภูมิภาค และส่วนกลางที่มาปฏิบัติอยู่ในพื้นที่
กฎหมายเขียนว่าการพัฒนาใดๆ ที่จะทำใน 5 จังหวัดชายแดนใต้ จะต้องปรากฏอยู่ในแผนเสียก่อน ถึงจะของบประมาณได้ เท่ากับให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นผู้ประสานโครงการพัฒนาพื้นที่ทั้งหมด เพื่อความเป็นเอกภาพ ไม่ใช่ต่างคนต่างทำเหมือนในอดีต
ในอดีตศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่มีอำนาจหน้าที่อย่างนี้ จะของบประมาณก็ต้องขอผ่านองค์กรอื่น แต่กฎหมายใหม่ให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ของบประมาณได้เอง พัฒนาพื้นที่ได้เอง เพื่ออุดช่องว่างของการพัฒนาที่เป็นอยู่
นอกจากจัดงบประมาณได้เองแล้ว ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังมีอำนาจหน้าที่ในการดูแลข้าราชการที่ย้ายเข้ามาอยู่ในพื้นที่ ถ้าคนไหนสร้างเงื่อนไขไม่ดี สร้างเงื่อนไขให้เกิดความไม่เป็นธรรมในพื้นที่ พูดตรงๆ คือรังแกชาวบ้าน สร้างเงื่อนไขให้เกิดความเกลียดชังรัฐ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถย้ายข้าราชการคนนั้นออกจากพื้นที่ได้ทันที ยาชนิดนี้ออกฤทธิ์แล้ว ขณะนี้เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ย้ายตำรวจใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 9 คน ออกนอกพื้นที่ไปแล้ว 9 คน
อำนาจนี้เป็นเขี้ยวเล็บของศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ้าข้าราชการคนไหนทำดี ดูแลบ้านดูแลเมือง ดูแลประชาชน แม้ไม่ได้สังกัดศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้สามารถเสนอให้เลื่อนขั้นได้ ทุกกระทรวง จะมาบอกว่าศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นยักษ์ไม่มีกระบองไม่ได้แล้ว
นอกจากนั้น ศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังทำเรื่องเศรษฐกิจด้วย ผมเป็นคนเพิ่มเติมมาตรานี้เข้าไปในกฎหมาย ให้ศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถกำหนดพื้นที่ใดเป็นเขตพัฒนาพิเศษได้ เช่น ประกาศให้พื้นที่อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี เป็นเขตอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล เป็นต้น
จะประกาศพื้นที่ใด อำเภอใดอำเภอหนึ่งก็ได้ จะประกาศให้อำเภอเบตง จังหวัดยะลา อำเภอสุไหงโก–ลก เป็นเขตท่องเที่ยวท่องเที่ยวพิเศษก็ได้ โดยไม่ต้องขอส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Board of Investment: BOI) ศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถกำหนดเงื่อนไขเองได้เลย
ทำไมถึงทำได้ เพราะศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี ถ้าศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้อนุมัติ ก็เท่ากับคณะรัฐมนตรีอนุมัติ
มองอนาคตของกลุ่มวาดะห์อย่างไร
ผมคิดว่าเขาก็คงต้องปรับกลยุทธ์ วันนี้มันเร็วเกินไปถ้าจะบอกว่า เขาต้องปรับอะไร ต้องลองดูว่า หลังจากพรรคเพื่อไทยเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินแล้ว จะแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร สิ่งใดบ้างที่เขาจะเพิ่มเติม สิ่งใดบ้างที่เขาจะรื้อออก ต้องรอดูความชัดเจนก่อนว่า จะมีการสร้างเงื่อนไขอะไรเพิ่มเติมหรือไม่
วันนี้ ถ้าผมส่งสัญญาณบอกรัฐบาลใหม่ได้ ผมอยากจะบอกว่า ต้องระมัดระวังในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐบาลใหม่จะต้องไม่สร้างเงื่อนไขให้เกิดความหวาดระแวงขึ้นในพื้นที่
ต้องยอมรับว่าในอดีตที่ผ่านมา มีความไม่เชื่อมั่นกันในพื้นที่ พี่น้องไทยพุทธ กับพี่น้องมุสลิมหวาดระแวงกัน เจ้าหน้าที่รัฐทำหลายสิ่งหลายอย่างให้เกิดความระแวง เช่น โจรนินจา จำได้ไหม คำว่านินจามาจากคนแต่งชุดดำ ไม่รู้เป็นใคร แต่ชาวบ้านเข้าใจว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ พฤติกรรมอย่างนี้อย่าทำ
รวมทั้งส่งสัญญาณผิดๆ ว่า ใครที่ลงไปในพื้นที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ้าผลงานการปราบปรามดี จะได้ขึ้นเงินเดือนเร็วๆ ได้เลื่อนตำแหน่งเร็วๆ จากรองผู้กำกับเป็นผู้กำกับ จากรองสารวัตรเป็นสารวัตร อย่างนี้อย่าทำ เพราะนั่นคือการวัดที่ปริมาณ ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการอุ้มฆ่า ซ้อมทรมาน อย่าทำให้เรื่องอย่างนี้เกิดขึ้นในพื้นที่
คงต้องรอดูก่อนว่า รัฐบาลใหม่จะแถลงนโยบายดูแลแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร จะสานต่อหรือจะรื้อโครงสร้างที่มีอยู่ ต้องดูความชัดเจนก่อน เรื่องเหล่านี้ทั้งหมด มันมีผลต่อการดำรงอยู่ของกลุ่มวาดะห์
มองสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร
ผมเชื่อว่าสถานการณ์ดีขึ้น แม้จะมีเหตุร้ายอยู่บ้าง ดูจากความมั่นใจของประชาชน มองจากการจับจ่ายซื้อของที่ตลาด การค้าขายในพื้นที่ ดูที่ร้านค้ารู้เลยว่าดีขึ้น ร้านค้าสมัยก่อนปิดหมด คนอพยพหนีหมด
ต้องเข้าใจว่า ทำไมการเลือกตั้งรอบนี้ จังหวัดสงขลา มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพิ่มจาก 8 ที่นั่ง เป็น 9 ที่นั่ง ขณะที่จังหวัดนราธิวาสลดลงจาก 5 ที่นั่ง เหลือ 4 ที่นั่ง เพราะผู้คนอพยพหนีออกจากนราธิวาสมาอยู่สงขลา
นั่นชี้ให้เห็นว่า คนขาดความมั่นใจในพื้นที่ เป็นตัวชี้ว่าพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่มีความมั่นใจในชีวิตและทรัพย์สิน เขาจึงย้ายมาอยู่ในที่ที่ปลอดภัยมากกว่า อย่าว่าแต่คนไทยพุทธที่ย้าย พี่น้องมุสลิมก็ย้ายเข้าไปอยู่ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ไปซื้อหมู่บ้านจัดสรรที่นั่น นี่คือตัวชี้วัดว่า ในช่วง 4–5 ปีที่ผ่านมา คนไม่มั่นใจความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
ดังนั้นต้องหาที่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เพราะคน 4,000 กว่าคน ที่ตายใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ไม่ใช่พี่น้องไทยพุทธเท่านั้น พี่น้องมุสลิมก็เสียชีวิตด้วย บางคนยังไม่รู้ว่า เกิดจากการกระทำของใคร ยิ่งเราชี้ชัดไม่ได้ว่าใครทำ ยิ่งสร้างความหวาดระแวงระหว่างพี่น้องไทยพุทธและพี่น้องมุสลิม
เมื่อเราไม่รู้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จึงประกาศชัดว่า ต้องไม่สร้างเงื่อนไข เจ้าหน้าที่รัฐคนไหนสร้างเงื่อนไขอยู่ในพื้นที่ไม่ได้ เราไม่ปล่อยให้ไปสร้างความหวาดระแวงขึ้นในพื้นที่ ความมั่นใจก็มีมากขึ้น ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมีมากขึ้น แต่มันก็ไม่หมดไปเสียทีเดียว
สำหรับเหตุร้าย ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศมุสลิมก็ยังมีเหตุร้ายเกิดขึ้น ในกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของประเทศอินโดนีเซีย ยังต้องรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด ตามโรงแรมต่างๆ มีการใช้เครื่องตรวจ มากกว่าในประเทศไทยด้วยซ้ำ
ประเทศปากีสถาน ประเทศอินเดีย เหตุร้ายมีไหม มี แต่ประเทศเหล่านั้นล้วนสร้างเงื่อนไข ก่อให้เกิดความหวาดระแวงกับมุสลิมคือ ไปรับใช้ประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างไม่ลืมหูลืมตา เป็นต้น
เราต้องระมัดระวัง เงื่อนไขต่างๆ เหล่านี้ จะต้องไม่เกิด เราจะใช้ 2 มาตรฐานกับพี่น้องใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้ การบังคับใช้กฎหมายต้องมาตรฐานเดียว ใครทำผิด ไม่ว่าพุทธหรือมุสลิม จะต้องถูกดำเนินคดีโดยกฎหมายฉบับเดียวกัน และทุกคนต้องได้รับความคุ้มครอง นี่คือหลักการที่พรรคประชาธิปัตย์ยึดถือ
ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้มาก เพราะถ้าความมั่นใจเกิดขึ้น ทุกอย่างจะตามมา การลงทุนจะตามมา การใช้จ่ายก็ตามมา ตอนนี้ในเขตเมืองเป็นอย่างนี้ ทั้งเมืองปัตตานี ยะลา เบตง สุโหงโก–ลก นราธิวาส แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับปี 2547–2549 อันนี้ผมกล้ายืนยัน
นายชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ไปเดินในตลาดเทศบาลตำบลคอกช้าง อำเภอธารโต จังหวัดยะลา บนเส้นทางไปอำเภอเบตง เดินทุกแผงลอยแจกบัตรหแนะนำตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งด้วยตัวเอง ถ้าเป็นปี 2547–2548 ไม่มีใครกล้าเดิน
สิ่งเหล่านี้บ่งบอกว่า ความมั่นใจของคนมีมากขึ้น เมื่อเรามีโอกาส เราเชื่อว่า ราคาพืชผลการเกษตร ราคายางพาราราคาดีขึ้น ราคมปาล์มน้ำมันราคาดีขึ้น ส่งผลให้พี่น้องใน 3 จังหวัด ซึ่งส่วนมากเป็นเกษตรกรสวนยางพารา และเริ่มปลูกปาล์มกันมากขึ้น มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน
เรามั่นใจว่า เราทำให้เศรษฐกิจชุมชนดีขึ้น สามารถไปดูได้ เช่น การวางปะการังเทียม ทำให้ชาวบ้านจับปลาได้มากขึ้น ไปดูได้เลยที่อำเภอปะนาเระ อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี โครงการต่างๆ ที่ลงไปมีผลต่อเนื่อง พี่น้องชาวประมงชายฝั่ง ตั้งแต่อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ถึงจังหวัดนราธิวาส มีชีวิตที่ดีขึ้น จับปลาได้มากขึ้น มีรายได้เข้าครัวเรือนมากขึ้น อันนี้เป็นตัวชี้วัดตัวหนึ่งว่า ทำไม สถานการณ์ถึงได้ดีขึ้น
นโยบายอื่นๆ มีผลต่อการเลือกตั้งครั้งนี้หรือไม่ เช่น นโยบายเรียนฟรี 15 ปี
เป็นนโยบายที่จับต้องได้ เช่นเดียวกับนโยบายดูแลผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุถามว่าพรรคอะไรนะที่ให้เงินผู้สูญอายุเดือนละ 500 บาท เราก็บอกว่าพรรคประชาธิปัตย์
ที่นราธิวาส เราทุ่มเทกับพื้นที่นี้พอสมควร ผมจะพูดเรื่องความยุติธรรมเป็นหลัก เพราะเป็นหัวใจหลักของจังหวัดชายแดนภาคใต้
เราขอชี้แจงว่า เราไม่ได้สร้างเงื่อนไข อุ้มฆ่าไม่มี ทุกอย่างให้ดำเนินไปตามตัวบทกฎหมาย ถ้าผิดก็คือผิด ไม่ผิดก็ไม่ผิด ปล่อยตัวไปแล้วมาเยียวยา เยียวยาคนที่ถูกกระทำ กระทรวงยุติธรรมลงไปดูแลทั้งหมด คนที่ได้รับผลกระทบจากการถูกจับกุมแล้วศาลตัดสินว่าไม่ผิด หรือว่าถูกจับกุมแล้วปล่อยตัวไป กระทรวงยุติธรรมลงมาดูแล ทั้งหมด นี่คือนโยบายของรัฐบาล
ผมคิดว่าวันนี้หลังจากทุกฝ่ายลงมาทำงาน แม้บางนโยบายจะมีความบกพร่องอยู่บ้าง เราก็ต้องยอมรับ การรั่วไหลของงบประมาณถ้าจะเกิดขึ้นบ้าง เราต้องยอมรับไปแก้ไขปรับปรุง รัฐบาลที่จะมารับงานต่อก็ต้องระวัง ต้องดูแลเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน การอ้างประชาชนในพื้นที่ แล้วของบประมาณมากๆ อันนี้ก็ต้องระวัง
งบประมาณการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วง 2 ปี ที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลเป็นอย่างไร
มีงบประมาณลงมามากทุกปี ตั้งแต่สมัยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ถึงแม้รัฐบาลปัจจุบันให้งบกับจังหวัดชายแดนภาคใต้มาก แต่ว่าช่วงก่อนโน้นใช้ไปใช้ในเรื่องความมั่นคงมาก ซื้ออุปกรณ์ทางการทหาร มากกว่าใช้ในการพัฒนา แต่ในช่วงที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล เราปรับงบประมาณมาใช้ในด้านการพัฒนา มากกว่าด้านความมั่นคง
แม้ให้งบด้านพัฒนามากกว่าด้านความมั่นคง ก็ยังมีคนถามว่า ทำไมกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ยังใช้งบประมาณมาก จริงๆ แล้วกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ใช้งบประมาณด้านการข่าวกับการพัฒนาชาวบ้านมากขึ้น ใช้ด้านการทหารน้อยลง
มีการปรับสัดส่วนตัวเลขงบประมาณคือ ดูตัวเลขกลมๆ อาจจะเท่ากับในอดีตคือ ประมาณ 20,000 ล้านบาทต่อปี แต่เดิมใช้ในเรื่องความมั่นคงหรือการทหารมาก เราก็ปรับลดสัดส่วนนี้ลง มาใช้ในเรื่องการพัฒนามากขึ้น ในวงเงินที่ใกล้เคียงกับวงเงินเดิม
ถ้าลดกำลังทหารลง จะมีผลต่อการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร
การลดกองกำลังลงเป็นสิ่งที่จำเป็น สำหรับกำลังที่มาจากต่างถิ่น ปัญหาคือ เราต้องมีความมั่นใจให้ได้ว่า ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ต้องได้รับการดูแล รัฐต้องดูแลให้ได้ ถ้ารัฐไม่สร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้น ก็ไปเข้าทางฝ่ายตรงข้ามที่ต่อต้านอำนาจรัฐ
เพราะฉะนั้น การใช้กำลังของเจ้าหน้าที่คุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของ ประชาชนในพื้นที่ จึงเป็นเรื่องจำเป็น แต่ในอนาคตเราไม่จำเป็นต้องเอาทหารจากต่างถิ่นมา เพราะมีความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรม การดำเนินชีวิต การเอาคนต่างถิ่นมา พอครบหกเดือน หรือปีหนึ่ง เขาก็ต้องกลับไปบ้าน คนมาใหม่ก็ต้องเริ่มต้นงานใหม่ เราจึงหันมาใช้กำลังในท้องถิ่นแทน
กำลังท้องถิ่นที่ว่าคือ จากทหารก็มาใช้ อส. (กองอาสาสมัครรักษาดินแดน) กองกำลังพัฒนา หรือกองพลพัฒนาที่มาตั้งในพื้นที่ จะเป็นแค่กองกำลังที่มาดูแลเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
อย่างน้อยที่สุด พี่น้องประชาชนในพื้นที่ต้องมีความอดทน หากเกิดเหตุอะไรขึ้นมา รัฐจะได้ช่วยคุ้มครอง แต่ถ้าไม่มีความมั่นใจก็จะมีเหตุการณ์ย้ายถิ่น หรือทิ้งพื้นที่เกิดขึ้นอีก เราไม่ต้องการให้คนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ทิ้งพื้นที่ ระยะหลังมานี้ การทิ้งพื้นที่มีน้อยลงมากแล้ว เรียกว่าเลือดหยุดไหลแล้วก็ได้
วันนี้ คนที่เคยขายที่ดินอยากจะกลับไปอยู่ที่เดิมด้วยซ้ำ เพราะเศรษฐกิจดีมาก ทุกอย่างผมไม่ได้พูดเอง เรื่องเศรษฐกิจต้องว่าด้วยตัวเลข ต้องลงไปดูในเชิงประจักษ์ให้ได้ว่า วิถีชีวิตเป็นอย่างไร
บทบาทในฐานะฝ้ายค้าน จะดูแล 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร
ฝ่ายค้านเองต้องดูแลไม่ให้รัฐทำอะไรตามอำเภอใจ รัฐจะทำอะไรตามอำเภอใจหรือจะทำเลยเถิดตามที่ตัวเองต้องการไม่ได้
วันนี้ ตัวบทกฎหมาย ตามหลักการยุติธรรมต้องมีอยู่ ฝ่ายค้านเองต้องควบคุม นโยบายของรัฐบาล ต้องควบคุมการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ เราตั้งกระทู้ถามปัญหาชายแดนภาคใต้กับรัฐบาลได้ ไม่ว่ากระทู้สดหรือ หรือกระทู้แห้ง
มากไปกว่านั้น เราเอาเรื่องนี้มาเป็นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในสภาได้ ถ้ารัฐบาลทำอะไรที่จะนำไปสู่ความแตกแยกมากขึ้น ทำแล้วจะทำให้สถานการณ์ในพื้นที่รุนแรงขึ้น ฝ่ายค้านขอเปิดอภิปรายได้ ถามรัฐมนตรีหรือรัฐบาลได้ นี่คือแนวทางในการควบคุมดูแลของฝ่ายค้าน
การเคลื่อนไหวในพื้นที่จะทำอย่างไร
การจัดตั้งองค์กรเพื่อดูแลพื้นที่ อันนี้สำคัญ พรรคต้องทำต่อเนื่องอยู่แล้ว ไม่ว่าในฐานะพรรคการเมืองหรือผู้แทนราษฎร พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องยอมรับว่า เสียงข้างมากคือเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ ยังไงเราก็ไม่ทิ้งพื้นที่นี้ ไม่ว่าเป็นการลงมาเยี่ยมพบปะพี่น้องประชาชน หรือการหยิบยกปัญหาต่างๆ เสนอต่อรัฐบาล
เวลาพิจารณางบประมาณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเอง ก็ต้องเข้าไปเป็นกรรมาธิการการพิจารณางบประมาณอยู่แล้ว แม้จะของบประมาณเพิ่มเติมไม่ได้ แต่ก็มีงบประมาณที่จะไปดูแลพื้นที่ให้เป็นไปตามความต้องการของพื้นที่ได้
ตอนนี้ไม่มีตัวแทนฝ่ายรัฐบาล หรืออาจจะไม่มีรัฐมนตรีจากภาคใต้ด้วยก็ได้ ในขณะที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพื้นที่นี้เป็นพรรคฝ่ายค้านทั้งหมด ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย และพรรคมาตุภูมิ วันนี้ รัฐบาลจะทำอะไรในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ต้องระมัดระวัง ยิ่งไม่มีตัวแทนของตัวเองอยู่ในพื้นที่ ก็ยิ่งต้องฟังฝ่ายค้านมากขึ้น