โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ผมไม่ทราบว่า แล้วมีใครที่เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรงเป็น 300 บาทหรือไม่ เพราะสื่อไม่ขยันพอจะไปเที่ยวหาคนที่ไม่ใช่นักการเมืองของ พท.ที่เห็นด้วย เพื่อเอาความเห็นของเขามาเสนอบ้าง (นักหนังสือพิมพ์ไทยชอบอ้างว่าข่าวต้องมีดุลยภาพ แต่ผมไม่เคยเห็นดุลยภาพที่ว่าในข่าวสำคัญๆ เลย มีแต่เมื่อคนด่ากันผ่านสื่อนั่นแหละ ที่สื่อจะเปิดพื้นที่ของตนให้เป็นเวทีมวย) ดังนั้นในไม่ช้าสังคมไทยก็จะคล้อยตามฝ่ายทุนว่า หากขึ้นค่าแรงระดับนี้ เศรษฐกิจทั้งระบบจะพังครืน (ทั้งๆ ที่อาจพังเพราะสหรัฐกำลังจะล้มละลายก็ได้)
ผมติดตามกระแสคัดค้านต่อ ต้านแล้วก็ออกจะเศร้าใจนะครับ เพราะทางเลือกที่ผมได้จากการต่อต้านคัดค้าน มีอยู่เพียงสองทางเท่านั้น คือขึ้นหรือไม่ขึ้น ไม่มีทางเลือกอื่นๆ เช่นไม่ขึ้นแต่ควรทำอย่างนั้นอย่างนี้ หรือขึ้นแต่ต้องขึ้นด้วยวิธีอย่างนั้นอย่างนี้ เช่นเดียวกับเรื่องอื่นๆ ในสังคมไทย ทางเลือกถูกเสนอให้จำกัดเพียงสองเสมอ ทำไมชีวิตผมจึงเหลือให้เลือกได้แต่ทักษิณกับอภิสิทธิ์เท่านั้น
ใน ส่วนข้อคัดค้านของฝ่ายทุน เช่นสภาอุตสาหกรรมนั้น แม้ยังฟังไม่ขึ้น แต่ก็เข้าใจได้ คือเป็นความเห็นของผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง พูดอะไรก็ถูกทุกที แม้ไม่ต้องแสดงอะไรให้เห็นมากไปกว่า "กูพังแน่" ก็ตาม
ที่ ผมสนใจมากกว่าก็คือ ความเห็นของคนที่ไม่ใช่ทั้งแรงงาน (ภาคอุตสาหกรรม) และไม่ใช่ทั้งนายทุน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็อาจสรุปได้ว่า ยังไม่จำเป็นในขณะนี้ และฝากความหวังไว้กับคณะกรรมการไตรภาคีว่าจะสามารถชะลอการขึ้นค่าแรงอย่าง ฮวบฮาบนี้ได้
ผมถามตัวเองว่า 300 บาทนี้มีเหตุผลหรือไม่ ผมตอบตัวเองไม่ได้ แต่มีนักวิชาการด้านแรงงานท่านหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อคำนวณรายจ่ายของแรงงานในกรุงเทพฯและปริมณฑล ที่พอจะทำให้เขามีชีวิตปกติสุขได้แล้ว เขาควรมีรายได้วันละ 298-299 บาท ก็คือ 300 บาทนั่นเอง (300 คูณ 26 = 7,800 บาทต่อเดือน)
อ้าว ถ้าอย่างนั้น ตัวเลข 300 ก็ไม่ใช่ตัวเลขลอยๆ ที่มาจากการหาเสียงล่ะสิครับ มีเหตุผลของ "ชีวิต" แรงงานในฐานะมนุษย์รองรับอยู่ เว้นแต่จะเห็นว่า "ชีวิต" ของแรงงานไม่ใช่ชีวิตของมนุษย์เท่านั้น ที่จะคิดได้ว่า 300 บาทเป็นตัวเลขที่สูงเกินไป
แม้ตัวเลข 300 จะมีเหตุผลรองรับ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถทำได้ทันทีโดยไม่มีผลกระทบที่เราไม่ต้องการ อย่างไรก็ตาม เราก็น่าจะยอมรับได้ว่าตัวเลข 300 เป็นเป้าหมายหรืออุดมคติ ซึ่งจะต้องบรรลุให้ได้ในเร็ววัน ในสังคมสร้างสรรค์ (อันเป็นเป้าหมายของหน่วยงานที่เอาภาษีบุหรี่ของผมไปทำงาน) ข้อถกเถียงก็น่าจะอยู่ตรงที่มาตรการอันจะนำไปสู่อุดมคติว่า ควรทำอะไรและอย่างไรบ้าง จึงจะสามารถบรรลุอุดมคติดังกล่าวได้เร็ววัน แต่ผมไม่ได้ยินใครเถียงกันเรื่องนี้เลย
หากแรงงานได้รับค่าจ้างวันละ 300 บาทแล้ว จะทำให้สินค้าไทยราคาแพงขึ้นจนกระทั่งไม่อาจแข่งขันในตลาดโลกและตลาดภายใน ใช่หรือไม่?
ค่า แรงเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนการผลิตแน่ แต่ก็มีนักเศรษฐศาสตร์อีกท่านหนึ่งเตือนว่า เมื่อค่าแรงเพิ่มขึ้น 40 บาทต่อวัน มิได้หมายความว่าสินค้าจะเพิ่มขึ้นชิ้นละ 40 บาทไม่ เพราะในกลไกการผลิตย่อมมีการดูดซับต้นทุนระหว่างกัน จนกระทั่งราคาที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากการเพิ่มค่าแรง อาจไม่มากนัก แต่เพิ่มแน่
ดังนั้น รัฐย่อมสามารถช่วยให้สินค้าไม่เพิ่มราคาขึ้นมากนักได้ ด้วยการเข้าไปหนุนช่วยในกลไกการผลิตส่วนอื่นๆ เช่นลดภาษีนำเข้าเครื่องจักรและอะไหล่ หรือตามข้อเสนอของพรรค พท.เอง คือการลดภาษีรายได้บริษัทลงเหลือ 27% เป็นต้น ข้อถกเถียงในสังคมสร้างสรรค์ก็น่าจะเป็นเรื่องบทบาทของรัฐว่า จะเข้าไปหนุนช่วยในด้านใดและอย่างไร
ยิ่งกว่านี้ การหนุนช่วยของรัฐต้องมีจุดมุ่งหมายที่มากกว่าราคาสินค้าเฉพาะหน้า แต่ควรเป็นการพัฒนาการผลิตภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด โดยเฉพาะการเพิ่มขีดความสามารถของแรงงาน เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไทยให้พ้นจากการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้น ไปสู่การผลิตที่ใช้ความรู้และเทคโนโลยีมากขึ้น
ผมคิดว่า ถ้าเราช่วยกันคิด, เสนอ และถกเถียงเรื่องนี้กันให้มากขึ้น ก็จะสามารถกลบเสียงของสภาอุตสาหกรรมที่ขอให้รัฐเข้ามาช่วยจ่ายค่าแรง ซึ่งไม่เกิดประโยชน์อันใดเลย (ซ้ำอาจถูกมองว่าเป็นการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมในตลาดโลกด้วย) นอกจากทำให้อุตสาหกรรมไทยย่ำเท้าอยู่กับที่ โดยไม่ยอมขยับหนีเวียดนาม, จีน, อินโดนีเซีย และกัมพูชา ต้องตกอยู่ใน "กับดักของประเทศรายได้ปานกลาง" ชั่วกัลปาวสาน
ยิ่งกว่านี้ ข้อเสนอของสภาอุตสาหกรรมยังฟังดูเหมือนว่า รัฐต้องจ้างอุตสาหกรรมมิให้กดขี่แรงงาน ตรรกะเดียวกันนี้นำเราไปสู่การจ้างโจรไม่ให้ปล้นด้วย
ผมยอม รับนะครับว่า รัฐบาลไทยได้เอาเงินไปจ้างโรงสีไม่ให้กดขี่ชาวนา จ้างโรงบ่มมิให้กดขี่ชาวสวนลำไย ฯลฯ มาแล้ว แต่นั่นคือวิธีการที่ตัวเกษตรกรไม่ได้รับความช่วยเหลือโดยตรง และน่าจะยกเลิกเพื่อหามาตรการใหม่ที่จะทำให้เกษตรกรได้รายได้ที่มั่นคง ไม่ใช่มาตรการที่อุตสาหกรรมจะมาเอาเป็นแบบอย่างได้ ในขณะที่รัฐสามารถช่วยแรงงานโดยตรงได้อีกหลายอย่าง เช่นสนับสนุนให้โรงงานสร้างที่พักอาศัยในบริเวณโรงงาน หรือจัดให้เกิดที่พักในราคาถูกใกล้แหล่งโรงงาน สร้างโรงเรียนที่ฟรีจริงให้บุตรหลาน สร้างศูนย์เรียนรู้ของกรมการศึกษานอกโรงเรียนใกล้แหล่งโรงงาน เพื่อเพิ่มทักษะความรู้ของแรงงาน ฯลฯ
300 บาทจะนำไปสู่ของแพงขึ้นหรือไม่? ก็คงมีผลให้ของแพงขึ้นในระยะหนึ่ง เพราะเมื่อครอบครัวแรงงานสามารถกินไข่ได้ทุกวัน ก็เป็นธรรมดาที่ไข่ย่อมแพงขึ้นในระยะหนึ่ง จนกว่าผู้ผลิตไข่ซึ่งขายดิบขายดีจะเร่งผลิตไข่ออกมาได้มากกว่าเดิม แต่ผมไม่แน่ใจว่า เมื่อลูกแรงงานจะซื้อรองเท้านักเรียนใหม่เพิ่มขึ้นหลายๆ ครอบครัว รองเท้าจะต้องแพงขึ้นเสมอไป เพราะโรงงานรองเท้าย่อมหันมาผลิตรองเท้าเพื่อตลาดภายในเพิ่มขึ้นอย่างรวด เร็ว แค่วางรองเท้าในตลาดปุ๊บ ก็ขายได้ปั๊บ ย่อมเพิ่มกำไรให้แก่ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายแล้ว เพราะลดต้นทุนด้านสต๊อคลงไปมาก
ในฐานะของคนที่ไม่เคยเรียน เศรษฐศาสตร์เลย ผมออกจะสงสัยทฤษฎีว่า การเพิ่มรายได้ทำให้ของแพงจังเลย ก็เมื่อสินค้าใดเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้น ราคาสูงขึ้น ทำไมจึงไม่แย่งกันผลิตเพื่อโซ้ยกำไรล่ะครับ และเมื่อแย่งกันผลิต ราคาสินค้านั้นก็น่าจะลดลงมาสู่ราคาที่สมเหตุสมผล ไม่ใช่หรือครับ ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่รายได้ซึ่งเพิ่มขึ้น แต่น่าจะอยู่ที่ว่ากลไกตลาดของเราเองต้องมีอะไรบางอย่างบิดเบี้ยว ทำให้ไม่มีใครแย่งกันผลิต พูดอีกอย่างหนึ่งคือ การแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรมนั้น ไม่มีจริงในตลาดไทย เราก็น่าจะไปจัดการกับ "อำนาจเหนือตลาด" ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งครอบงำตลาดไทยอยู่ และที่จริงก็มีมากเสียด้วย การเพิ่มค่าแรงเป็น 300 บาทจึงต้องมาพร้อมกับมาตรการที่จะทำลาย "อำนาจเหนือตลาด" ในรูปแบบต่างๆ ไม่ใช่ไปห้ามไม่ให้จ่าย 300 บาท ไม่อย่างนั้นไม่ควรมีใครในโลกได้รายได้เพิ่มขึ้นสักคน รวมทั้งนักวิชาการด้วย
อันที่จริงนโยบาย 300 บาทนี้ก็เดินตามนโยบายของรัฐบาลของพี่ชายว่าที่นายกฯ เป็นการฟื้นเศรษฐกิจวิธีหนึ่ง (แทนการแจกเงินเฉยๆ แก่ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ) คือทำให้เกิดความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยในตลาดให้มากขึ้น อันจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งระบบ เพียงแต่ว่าไม่ได้มุ่งเน้นแต่ตลาดต่างประเทศอย่างที่สภาอุตสาหกรรมให้ความ สำคัญ แต่เพิ่มกำลังซื้อภายให้สูงขึ้น อย่าลืมด้วยว่าตลาดภายในนับวันจะมีความสำคัญมากขึ้น ท่ามกลางภาวะใกล้ล้มละลายของตลาดยุโรปและอเมริกา ประเด็นที่ผมอยากชี้ในเรื่องนี้ก็คือ 300 บาทเป็นนโยบายที่มีข้อดีเหมือนกัน ไม่ใช่เหลวไหลเพราะการหาเสียงอย่างที่สมาคมนายจ้างพยายามสร้างภาพ
บาง ท่านให้ความเห็นต่อ 300 บาทที่ตลกดีในทรรศนะของผม นั่นคือ แรงงานได้แค่วันละ 150 ก็อยู่ได้แล้ว ถ้ามีที่พักในโรงงาน มีเครือข่ายกับกลุ่มเกษตรกรที่สามารถซื้ออาหารได้ในราคาถูก ฯลฯ จริงเลยครับ ถ้ามีที่พักฟรี, กินอาหารฟรีทั้งตนเองและครอบครัว, มีโรงเรียนฟรีสำหรับบุตรหลาน, มีโรงพยาบาลฟรีสำหรับครอบครัว, มีเสื้อกางเกงให้ใช้ฟรี, มีฟิตเนสและโรงหนังฟรีใกล้ๆ, แถมกล้วยแขกหรือฝรั่งดองให้อีกหนึ่งถุงหลังอาหารกลางวัน ฯลฯ จ่ายแค่ 50 บาทเป็นเงินติดกระเป๋าก็พอแล้ว
จริงที่ว่า "รายได้" ไม่ได้มีความหมายเพียงเงินค่าจ้าง แต่สวัสดิการในรูปแบบต่างๆ ก็เป็น "รายได้" ส่วนหนึ่ง และเราควรหันมาสร้าง "รายได้" ให้แรงงานในรูปสวัสดิการให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ แต่จะใช้เวลาเท่าไรล่ะครับ แม้แต่สมมุติว่ารัฐให้การสนับสนุนอย่างแข็งขัน ก็ต้องใช้เวลา 5 ปี, 10 ปี หรือชั่วอายุคนหน้า แล้วระหว่างนี้ล่ะครับ จะให้แรงงานอยู่อย่างไร ในเมื่อเพื่อจะอยู่ได้ เขาต้องมีรายได้ถึงวันละ 298 บาทต่อวัน อยู่กับเงินกู้นอกระบบหรือครับ เงินกู้นอกระบบนั้นกินรายได้ของแรงงานไปจนกระทั่งดูเหมือน 300 บาทก็จะไม่สามารถปลดเขาจากพันธะนั้นได้เสียแล้ว
แน่นอนว่า 300 บาทไม่ได้เข้ามาแทนที่สวัสดิการอันจำเป็น แต่ 300 บาททำให้เขาอยู่ได้ก่อน การพัฒนาฝีมือแรงงานและสวัสดิการควรเป็นเป้าหมายหลักที่รัฐจะต้องผลักดัน อย่างเต็มที่ เป็นก้าวต่อไปที่ไม่ควรหลีกเลี่ยงเป็นอันขาด
บาง คนแสดงความห่วงใยว่า 300 บาทจะดึงเอาพม่า, ลาว, กัมพูชา, หลั่งไหลเข้ามาอีกมากมาย ก็คงจะดึงจริงแน่ และถึงจะมีหรือไม่มี 300 บาท อีก 5 ปีข้างหน้าในเงื่อนไขของเศรษฐกิจเสรีอาเซียน การหลั่งไหลของแรงงานข้ามชาติก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว ปัญหาอยู่ที่ว่าเหตุใดนายจ้างไทยจึงนิยมจ้างแรงงานต่างชาติ ส่วนหนึ่งก็เพราะแรงงานไทยขาดแคลน การมีแรงงานต่างชาติเข้ามาก็ดีแล้วไม่ใช่หรือครับ แต่สาเหตุส่วนนี้ยังไม่สำคัญเท่ากับว่า แรงงานต่างชาติรับค่าจ้างและสวัสดิการต่ำกว่าแรงงานไทย แม้กฎหมายไทยไม่ได้ยกเว้นแรงงานต่างชาติจากสิทธิทั้งหลายที่กฎหมายกำหนด แต่ในความเป็นจริงนายจ้างจ่ายค่าแรงต่ำกว่ามาก อีกทั้งไม่ได้ให้สวัสดิการใดๆ ที่กฎหมายกำหนดเลย
หากเราสามารถบังคับ ใช้กฎหมายจริง แรงงานต่างชาติจะได้ค่าตอบแทนในทุกรูปแบบเท่ากับแรงงานไทย ผมไม่เชื่อว่านายจ้างไทยยังอยากจ้างแรงงานต่างชาติอยู่อีก แม้บางคนจะบอกว่าพม่า, เขมร, ลาว หัวอ่อนกว่าแรงงานไทย แต่อย่าลืมนะครับว่า คนที่มีบ้านอยู่ต่างประเทศให้กลับ ข้อพิพาทแรงงานอาจพัฒนาไปสู่ความรุนแรงได้ง่ายกว่าแรงงานไทยอย่างเทียบกัน ไม่ได้ เผาโรงงานแล้วหนีกลับบ้านไม่ง่ายกว่าหรอกหรือครับ ที่ยังนิยมจ้างกันอยู่ในเวลานี้ ก็เพราะเอาเปรียบเขาได้ง่ายไม่ใช่หรือ
ยิ่งหากอุตสาหกรรมไทยสามารถขยับคุณภาพการผลิตให้สูงขึ้น แรงงานข้ามชาติ (กลุ่มเดิม) ยิ่งไม่เหมาะกับอุตสาหกรรมไทย
300 บาทนั้น ให้คำตอบที่สำคัญ แต่ไม่ใช่ปราศจากปัญหาเสียเลย ก็มาช่วยกันคิดแก้ไขหรือบรรเทาปัญหานั้นไม่ดีกว่าหรือครับ