ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Monday, 25 July 2011

กกต.ไฟเขียว "ยิ่งลักษณ์" การเมืองเดินหน้า จับตา "ค่าแรง 300 บาท" ชนวน "ระเบิดชนชั้น"

ที่มา มติชน

ในประเทศ

และ แล้วคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติรับรอง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อหมายเลข 1 ของพรรคเพื่อไทย พร้อมกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ ส.ส. อีก 10 คน

ความอึมครึมทางการเมืองก็เริ่มคลี่คลาย และหนทางสดใสของ "ยิ่งลักษณ์" ในตำแหน่ง "นายกรัฐมนตรี" ก็ชัดเจนขึ้น

แม้ ยังมีปัญหาเรื่องแกนนำ นปช. กว่า 10 คนที่ยังไม่ได้การรับรองซึ่งอาจก่อให้เกิดคลื่นลมทางการเมืองขึ้นมาได้ แต่ก็เชื่อว่า กกต. จะให้การรับรองในที่สุด

ประเด็นสำคัญอยู่ที่ กกต. ยังรับรอง ส.ส. ไม่ครบ 95% ทำให้ไม่สามารถเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้

การนับหนึ่งเพื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่จึงยังเกิดขึ้น

แม้ก่อนหน้านี้จะมีการพูดถึงโควต้ารัฐมนตรีและโผ ครม.ชุดใหม่ ออกมาเกลื่อนหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์

แต่ถึงวันนี้ก็แน่ชัดแล้วว่าทุกอย่างเป็นเพียงแค่การคาดการณ์

ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน

ประการหนึ่ง จำนวน ส.ส. ของแต่ละพรรคยังไม่ชัดว่าจะมีจำนวนเท่าไร

โดยเฉพาะพรรคขนาดเล็ก

จำนวน ส.ส. เพียง 1-2 คนก็มีผลต่อโควต้ารัฐมนตรีทันที

พรรคพลังชลดูเหมือนจะหนักที่สุด เพราะมี ส.ส.ชลบุรี ถูกแขวนอยู่ถึง 5 คน จาก 7 คน

ประการที่สอง การรีบเร่งจัดสรรตำแหน่ง "รัฐมนตรี" เร็วเกินไป จะทำให้ "อำนาจต่อรอง" ของ "ยิ่งลักษณ์" ลดน้อยลง

แนวทางที่ "เพื่อไทย" และ "ทักษิณ ชินวัตร" ต้องการก็คือ ให้โหวตเลือก "ยิ่งลักษณ์" เป็นนายกรัฐมนตรีก่อน

เพราะทันทีที่ "ยิ่งลักษณ์" เป็น "นายกรัฐมนตรี"

"ยิ่งลักษณ์" ก็จะมี "อำนาจต่อรอง" เหนือกว่าทันที

ทั้ง ส.ส. ในพรรคและพรรคร่วมรัฐบาล

วันนี้ทั้ง "ยิ่งลักษณ์" และแกนนำพรรคเพื่อไทยจึงให้สัมภาษณ์ในทำนองเดียวกันคือต้องร่างนโยบายก่อน เพื่อหาคนมาวางให้ตรงกับงาน

อ้างหลักการบริหารเพื่อเป็น "เกราะป้องกัน" การวิ่งเต้น

แต่ในความเป็นจริงแล้ว "ทักษิณ" และ "ยิ่งลักษณ์" เริ่มมีการทาบทามคนมีชื่อเสียงหลายคนเพื่อมารับตำแหน่งสำคัญในรัฐบาล

ทั้งคู่ตั้งใจทำให้ ครม. "ยิ่งลักษณ์" ดีกว่าที่หลายคนคาดคิด

แต่จะทำได้หรือไม่ในโลกแห่งความเป็นจริง

...ไม่มีใครรู้



ปัญหาใหญ่ที่ ครม. "ยิ่งลักษณ์" ต้องเผชิญ ก็คือ "ความคาดหวัง" จากนโยบายที่ใช้ในการหาเสียง

ไม่ว่าจะเป็นค่าแรง 300 บาท ปริญญาตรีเงินเดือน 15,000 บาท นโยบายจำนำข้าว บัตรเครดิตชาวนา รถคันแรก บ้านหลังแรก ฯลฯ

พรรค เพื่อไทยนั้นอาศัยเครดิต "ความน่าเชื่อถือ" ของ "ทักษิณ" และพรรคไทยรักไทยในอดีต ทำให้คนส่วนใหญ่เชื่อมั่นว่าทุกนโยบายที่ประกาศออกมาจะเป็นจริงเหมือนนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน ฯลฯ

แต่ยิ่งทำให้คนคาดหวังสูง แรงกดดันก็ยิ่งมาก

ไม่ แปลกที่หลังการเลือกตั้งจบลง เสียงเรียกร้องและตั้งคำถามถึงนโยบายของพรรคเพื่อไทยอย่างจริงจังดังขึ้น เรื่อยๆ ในขณะที่พรรคเพื่อไทยปรับขบวนไม่ทัน

แกนนำแต่ละคนออกมาให้ สัมภาษณ์อย่างสะเปะสะปะ จนคนจำนวนไม่น้อยเริ่มรู้สึกว่าพรรคเพื่อไทยทำการบ้านในแต่ละนโยบายน้อยกว่า สมัยพรรคไทยรักไทย

หลังจากออกทะเลไปพักหนึ่ง พรรคเพื่อไทยจึงเริ่มปรับขบวนได้

"ยิ่ง ลักษณ์" และแกนนำให้สัมภาษณ์เรื่องรายละเอียดของนโยบายเศรษฐกิจน้อยลง โดยอ้างว่าจะแถลงนโยบายครั้งเดียวเพื่อต่อจิ๊กซอว์นโยบายเศรษฐกิจให้ครบทั้ง หมด

แต่กระนั้น พรรคเพื่อไทยก็เจอกระแสต้านครั้งใหญ่จากกลุ่มธุรกิจภาคเอกชนขนาดใหญ่

โดยเฉพาะเรื่อง "ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท"

กระแสต้านนั้นแรงมากตั้งแต่วันแรกที่พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นองค์กรแรกที่ออกมาคัดค้าน

ก่อน จะจับมือกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ประชุมร่วมกันและออกมาแถลงข่าวในนาม "คณะกรรมการร่วม 3 สถาบันภาคเอกชน คัดค้านนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท" ของพรรคเพื่อไทย

ถือเป็นการผนึกกำลังของกลุ่มทุนใหญ่ในเมืองไทยชนกับพรรคเพื่อไทย "ว่าที่รัฐบาล" อย่างเต็มตัว

ด้านหนึ่ง ต้องยอมรับว่าภาคธุรกิจได้รับผลกระทบโดยตรงจากนโยบายดังกล่าว โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมาก

เพราะทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าสูงขึ้นทันที

แต่ อีกด้านหนึ่ง ปรากฏการณ์ครั้งนี้ทำให้หลายคนคิดถึงตอนที่ 3 สถาบันภาคเอกชน ประชุมร่วมกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น และออกแถลงการณ์ของให้รัฐบาล "สมชาย วงศ์สวัสดิ์" ลาออกหลังจากที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยึดสนามบินสุวรรณภูมิ

เพราะน้อยครั้งมากที่กลุ่มทุนใหญ่ภาคเอกชนจะกล้าออกมาชนกับฝั่งรัฐบาลหรือว่าที่รัฐบาลตรงๆ

แตกต่างจากเมื่อ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี 3 สถาบันภาคเอกชนกลับให้การสนับสนุน "อภิสิทธิ์" อย่างออกหน้าออกตา

ดังนั้น การออกมาคัดค้าน "ยิ่งลักษณ์" ของ 3 สถาบันภาคเอกชนขนาดใหญ่ครั้งนี้ นอกจากจะเป็นเรื่องผลประโยชน์ทางธุรกิจธรรมดาแล้ว

คนจำนวนไม่น้อยเริ่มตีความไปในทางการเมือง

เพราะลำพังแค่สภาอุตสาหกรรมฯ และสภาหอการค้าฯ พอจะเข้าใจได้ว่าได้รับผลกระทบ

แต่ "สมาคมธนาคารไทย" ซึ่งไม่น่าจะได้รับผลกระทบในเรื่อง "ค่าแรงขั้นต่ำ"

ทำไมจึงออกโรงกับเขาด้วย



นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทกำลังเป็นชนวนก่อให้เกิดการเผชิญหน้าครั้งใหญ่ระหว่างพรรคเพื่อไทยที่มีกลุ่มคน "รากหญ้า" สนับสนุน

กับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ในนาม "คณะกรรมการร่วม 3 สถาบันภาคเอกชน"

เพราะในขณะที่ภาคเอกชนออกมาค้าน แต่เสียงหนุนจากนักวิชาการด้านแรงงาน และกลุ่มคนระดับรากหญ้าเริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ

และจะดังเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอนเมื่อ "ยิ่งลักษณ์" เป็นนายกรัฐมนตรียึดกุมอำนาจรัฐอย่างเต็มตัว

ทุกคนตั้งคำถามถึง "มาตรฐานการครองชีพ" ขั้นต่ำของ "คนไทย"

ในขณะที่ภาคธุรกิจกลับอ้างถึง "ความสามารถในการแข่งขัน" กับต่างประเทศ

ปรากฏการณ์ความขัดแย้งครั้งนี้จึงน่าจับตามองอย่างยิ่ง

เพราะเป็นความขัดแย้งระหว่าง "ยอดปิระมิด" กับ "ฐานล่าง" ของปิระมิดที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ

เหมือนเป็นภาคต่อของ "สงครามสีเสื้อ" ระหว่างกลุ่ม "คนเสื้อเหลือง" กับ "คนเสื้อแดง"

เพียงแต่เปลี่ยนจากมิติทางการเมืองเป็นมิติทางเศรษฐกิจ

ทั้ง ที่ปรากฏการณ์ "คนเสื้อแดง" ที่เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และคะแนนเสียงท่วมท้นกว่า 15 ล้านเสียงของพรรคเพื่อไทย น่าจะเป็นสัญญาณที่กลุ่มคนบนยอดปิระมิดต้องตั้งคำถามกับตัวเอง

"ผล" ที่เกิดขึ้นทุกเรื่องล้วนมี "เหตุ"

และเหตุผลหนึ่งก็คือ ความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจของสังคมไทย

บางทีเรื่อง "ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท" จะตอกย้ำให้เห็นถึงมุมมองที่แตกต่างของคน 2 กลุ่มนี้อีกครั้งหนึ่ง