6 ก.ค.54 เมื่อวันที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา มีการนัดพร้อมเพื่อตรวจพยานหลักฐานในคดีที่นายเสถียร (ขอสงวนนามสกุล) เป็นจำเลย และพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นโจทก์ฟ้องในความผิดข้อหา หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ราชินี รัชทายาท ตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา และประกอบกิจการจำหน่ายวีดีทัศน์โดยทำเป็น ธุรกิจฯ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน ตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดีทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 4, 54, 82
โดยคำฟ้องระบุว่าเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2554 เวลากลางวัน จำเลยประกอบธุรกิจจำหน่ายแผ่นวีดิทัศน์(ซีดี) โดยจำเลยไม่ได้รับใบอนุญาต จำเลยเผยแพร่ภาพและเสียง ข้อความประกอบภาพ และภาพเคลื่อนไหวให้ปรากฏต่อสายตาของบุคคลทั่วไป ที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม เป็นการจาบจ้วง ดูหมิ่น ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง และ พระเกียรติยศ ของสถาบันพระมหากษัตริย์ เหตุเกิดที่ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร
จากนั้นผู้ต้องหาให้การรับสารภาพ ศาลจึงพิพากษา เป็นคดีหมายเลขแดงที่ อ.2627/2554 ระบุว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง, 82 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท จำคุก 6 ปี ฐานประกอบกิจการจำหน่ายวีดิทัศน์โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทน โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน ปรับ 100,000 บาท รวมจำคุก 6 ปี และปรับ 100,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี และปรับ 50,000 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29,30 ริบของกลาง
ทั้งนี้ เสถียรเริ่มชุมนุมกับแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ตั้งแต่ปี 2552 ก่อนหน้านั้นมีอาชีพเป็นพ่อครัวในโรงแรมแห่งหนึ่ง ก่อนลาออกมาขายของเล็กๆ น้อยๆ ขณะถูกจับกุมกำลังขายขายสินค้าในที่ชุมนุมที่จัดขึ้นเพื่อรำลึกเหตุการณ์การ สลายการชุมนุมบริเวณอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 19 มี.ค.54