ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Wednesday, 29 June 2011

ดร.สุรเกียรติ์-ดร.ชัยวัฒน์ กูรู 2 คนยลตามช่อง ปรองดอง-คำตอบประเทศไทย

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ



เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ที่โรงแรมสยามซิตี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) จัดเสวนาวิชาการเรื่อง "องค์กรและกระบวนการปรองดอง หลังการเลือกตั้ง" โดย ฐากูร บุนปาน ผู้จัดการทั่วไป บริษัทมติชนดำเนินรายการ

ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ศาสตรา จารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การปรองดองมีหลายแบบ มีคนที่พูดเรื่องการปรองดอง 2 ซีก ซีกหนึ่ง เป็นคนที่พูดเรื่องการ ปรองดองในรูปของการแสดงความจริง ความยุติธรรม และการพร้อมรับผิดแต่อีกซีกหนึ่ง เป็นการพูดถึงความปรองดอง ในความหมายของการพยายามจะลืมอดีต การพยายามจะพูดถึงการให้อภัยในความหมายของการนิรโทษกรรม

ดร.ชัยวัฒน์ยกตัวอย่างจากข้อมูล-ประสบการณ์ การจัดการความปรองดองในต่างประเทศ มีหลายแบบ อาทิ

แบบที่ 1 สนับสนุนให้ลืมความรุนแรงในอดีต แล้วไม่ได้ทำความจริงให้ปรากฏ แต่เกิดการปรองดองขึ้น เช่น แคนาดา เวียดนาม

แบบ ที่ 2 พูดถึงการปรองดองแล้วต้องจำให้ได้ถึงอดีต ลืมความรุนแรง ไม่ได้ ต้องทำความจริงให้ปรากฏ แต่การปรองดองไม่เกิดก็มี เช่น ประเทศกานาและเปรู

แบบ ที่ 3 ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการทำความจริงให้ปรากฏ และเน้นหนักการเล่าความเป็นจริง แต่ยิ่งเล่า ยิ่งแย่ ยิ่งเล่ายิ่งเดือดร้อน เช่น รวันดา

แบบที่ 4 ให้ความสำคัญกับการทำความจริงให้ปรากฏ เล่าความเป็นจริง พยายามพูดถึงการให้อภัยและ อื่น ๆ แต่ความยุติธรรมก็ยังไม่ปรากฏ เช่น แอฟริกาใต้

แบบที่ 5 ทำความจริงให้ปรากฏแล้วทำความยุติธรรมให้เริ่มประจักษ์ แล้วในที่สุดเดินไปตามความปรองดองในอุดมคติของใครหลายคนก็มี เช่น อาร์เจนตินา ชิลี

ดร.ชัยวัฒน์สรุปว่า ประเด็นคือความปรองดองมีหลายแบบ แล้วแต่ละอันนำไปสู่ผลที่ไม่เหมือนกันเลย และมีราคาที่ต้องจ่ายสำหรับทุกสังคม คำถามสำคัญคือสังคมพร้อมจะจ่ายหรือไม่

"ปัญหา ต่อมาคืออะไรคือตำแหน่งของการปรองดองในสังคมไทย ต้องตอบคำถาม 2 ข้อคือปรองดองระหว่างใครกับใคร อันที่ 2 คือปรองดองระหว่างอะไรกับอะไร ซึ่งใครกับใคร ซึ่งถ้าเป็นระหว่างนักการเมืองในระบบเลือกตั้ง ผมคิดว่าไม่ค่อยน่าห่วง เพราะเขาคงคิดเรื่องนี้พอสมควร อุตส่าห์ลงทุนหาเสียงทุกพรรค คงไม่อยากมีปัญหา"

ดร.ชัยวัฒน์กล่าวว่า ปัญหาที่ยุ่งคือ ปรองดองระหว่างอะไรกับอะไร ?

ข้อ ค้นพบของ "ดร.ชัยวัฒน์" คือ ปัญหาของสังคมไทยมีโจทย์อยู่ตรงที่การพยายามจะปรองดองระหว่าง "พลังทางการเมืองนอกระบอบเลือกตั้ง" กับ "พลังทางการเมืองในระบบเลือกตั้ง" ซึ่งสะท้อนสิ่งที่มันเป็นปัญหาอยู่ในสังคมไทยหลายอย่าง

"ถ้าจะย้อน ก็ต้องย้อนไปตั้งแต่ พ.ศ. 2475 น่าสนใจที่เราพูดในวันนี้วันที่ 27 มิ.ย. หรือโจทย์ของการปรองดองของสังคมไทยคือการพยายามจะปรองดองระหว่างสถาบัน ประเพณี กับสถาบันการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยตลอดมา อันนี้เป็นโจทย์ใหญ่ของปัญหาการปรองดอง"

"ถ้าเป็นเช่นนี้ ปัญหาการปรองดองไม่ใช่เรื่องปรองดองระหว่างพรรคการเมือง เพราะเมื่อพรรคเข้ามาอยู่ในระบอบประชาธิปไตย รัฐสภาแบบนี้ ในระบอบที่ต้องพึ่งพากันแบบนี้ ในที่สุดก็คงประนีประนอมหลายเรื่อง แต่มันมีพลังนอกการเมืองเชิงเลือกตั้งอีกมาก"

เพราะฉะนั้นโจทย์ก็คือ ทำอย่างไรจะให้การเมืองนอกระบอบเลือกตั้ง ยอมรับการปรองดองระหว่างพรรคการเมือง

"การ ปรองดอง เป็นสินค้าสำคัญในตลาดทางการเมืองตอนนี้ แต่การคิดถึงแบรนด์สินค้านี้ยังไง จะขายอย่างไร ในที่สุดรูปของสินค้าจะปรากฏในลักษณะไหน ผมคิดว่า เป็นความท้าทายของสังคมไทย แต่มันไม่มีสูตรสำเร็จหรอกครับ เพราะหน้าที่จะเกิดขึ้นหลังการ เลือกตั้ง ก็เป็นใบหน้าของเรา ทุกคน"

"ใน สังคมไทย พลังที่อยู่นอกระบอบการเลือกตั้ง เช่น สื่อมวลชน ภาคธุรกิจ ผมคิดว่า ถ้าพลังเหล่านั้น ผลักสังคมไทยให้ไปในทิศทางที่ทำให้พรรคการเมืองหรือผู้ที่จะมาสู่เวทีการ เลือกตั้ง ผู้จะมาเป็นรัฐบาล ฝ่ายค้าน ต้องเดินไปในบางทิศทาง สื่อมวลชน เป็นทั้งกระจกและตะเกียง อาจจะมีหน้าที่บอกสังคมว่า ถ้าไม่เอาการปรองดองแล้วทางเลือกคืออะไร อนาคตจะหน้าตาเป็นอย่างไร"

ฉะนั้น สื่อต้องเปิดพื้นที่คิดเรื่องการปรองดองที่ลึกซึ้ง ไม่ใช่การปรองดองในระดับทำได้ที่ร้านหูฉลาม แค่จัดตั้งรัฐบาล

ดร.สุ รเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การเลือกตั้งที่มีกระบวนการปรองดองมีความสำคัญ เพราะมีความแตกแยกในสังคม ไม่ใช่เพียงแตกแยกทางการเมือง

"ตั้งแต่ปี 2548 เรามีนายกรัฐมนตรีแล้ว 5 คน ผ่านรัฐบาลมาหลายรูปแบบ มีรัฐบาลแต่งตั้ง มีรัฐบาลที่นำโดยขั้วหนึ่งทางการเมืองมา 2 รัฐบาล มีรัฐบาลที่นำโดยอีกขั้วหนึ่งทางการเมืองมา 1 รัฐบาล มีรัฐประหารก็มี เลือกตั้ง ก็มี แต่ผลเหมือนกันคือ มีความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน"

ฉะนั้น การเลือกตั้งที่มีการปรองดองน่าจะทำให้การแตกแยกทางสังคมทุเลาลง และการเข้าสู่การปรองดองต้องเป็นไปโดยองค์กรที่เป็นอิสระ แล้วองค์กรที่เหมาะที่สุด ต้องมีคุณสมบัติ 5 ประการ

1) พอเหมาะพอดีไม่เป็นฝ่ายใดทุกฝ่ายพอรับได้แม้ไม่ได้ชอบที่สุด

2) ต้องมีคุณสมบัติที่ทุกฝ่ายมีความสบายใจที่จะให้องค์กรนั้นเป็นแกนที่จะขับเคลื่อนขบวนการปรองดอง

3) ต้องมีการออกแบบองค์กรให้เหมาะสมที่จะทำหน้าที่นั้นในเวลานั้น เฉพาะกิจเฉพาะการไม่ใช่องค์กรถาวร

4) องค์กรนั้นต้องมีสาระทางวิชาการ ทำให้ทุกฝ่ายยอมรับได้

5) องค์กรนั้นต้องเป็นที่ยอมรับของประชาคมโลก ขณะนี้ประเทศไทยไม่ได้อยู่คนเดียว ถึงแม้เราจะถอนตัวจากนี่นั่นโน่นไปเรื่อย ๆ ก็ตาม แต่เราต้องยอมรับว่าเราอยู่ในประชาคมโลก

"ผมเห็นว่า คอป.น่าจะเข้าองค์ประกอบทั้ง 5 ข้อ มีความพอเหมาะพอดี ถ้าต้องหาองค์กรใหม่อาจจะเสียเวลาเถียงเรื่องความปรองดอง เสียจนไม่มีความปรองดอง ซึ่ง คอป.ได้พบกับทุกฝ่ายทุกสีมาแล้ว แสดงว่าทุกฝ่ายมีความสบายใจที่จะมาคุยกับ คอป. อีกทั้งไม่ไปโต้แย้งกับฝ่ายไหน แต่มีการรับฟังความคิดเห็นตลอดเวลา"

ดร.สุ รเกียรติ์กล่าวว่า คอป.กำหนดหลักการเอาไว้ว่า ให้ประชาคมโลกมีความมั่นใจ ว่าประเทศไทยมีคณะกรรมการอิสระที่สามารถจะแก้ไขความขัดแย้งได้ ซึ่งอันนี้สำคัญมากสำหรับภาคเอกชน

ฉะนั้น ความมั่นใจของนักลงทุน ต่างประเทศ ถ้าทราบว่ามีขบวนการที่เดินอยู่ได้จะเป็นความเชื่อมั่นที่สำคัญ คอป.ได้รับความร่วมมือกับองค์กรของสหประชาชาติ องค์กรระหว่างประเทศที่มาคุยกับ คอป.เยอะ รวมทั้งสถานทูตหลายแห่ง

หลังเลือกตั้ง การปรองดอง-ตามความเห็นของ "ดร.สุรเกียรติ์" มีขั้น-มีตอน

"เมื่อ เลือกตั้งเสร็จ ขั้นตอนน่าจะเป็นทำนองนี้คือ ให้ คอป.ไปพบทุกพรรค พบทุกกลุ่ม ไม่ว่าใครจะเป็นฝ่ายค้านฝ่ายรัฐบาล แล้วถามแต่ละพรรค แต่ละกลุ่ม รวมทั้งเสื้อทุกสีว่า คุณเห็นว่า ปรองดองหมายถึงอะไร เพราะหลักการปรองดองที่สำเร็จ ต้องไม่มีการวางเงื่อนไขล่วงหน้าใด ๆ ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการปรองดอง"

"จากนั้น เอาความเห็นของทุกฝ่ายที่ให้ความหมายการปรองดอง มากองเอาไว้ ว่ามีกี่ประเด็น จากนั้น คอป.ก็มาวิเคราะห์สังเคราะห์ ว่ามีจุดใดเป็นจุดร่วมกัน ก็เริ่มจากตรงนั้นก่อน เช่น การประกันตัว หรือหลักนิติธรรม"

ส่วนประเด็นที่ยังเห็นต่างกัน ต้องหาทางออกร่วมกัน "ดร.สุรเกียรติ์" เอ่ยถึงทุกฝ่าย-หลายพรรค

"บาง เรื่องอาจจะต้องไปขอ พล.ต. สนั่น ขจรประศาสน์ บางประเด็นอาจจะไปขออดีตนายกฯอานันท์ ปันยารชุน บางประเด็นอาจจะไปขอ อาจารย์หมอประเวศ วะสี หรือท่านนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ (อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี) ประชาธิปัตย์"

"บางประเด็นอาจจะขอต่าง ประเทศมาช่วย บางประเด็นอาจจะเป็นคณะบุคคล 3-4 คน มาช่วยพูดกับพรรคนี้ บางประเด็นอาจจะเป็นคณะบุคคล 3-4 คนทั้งไทยและต่างประเทศ ไปดูไบ อย่างนี้เป็นต้น ฉะนั้น ต้องออกแบบมาว่าประเด็นไหน ใครจะพูดกับใคร"

กฎปรองดอง จะเป็นคำตอบสำเร็จรูปสำหรับการเมืองในรัฐบาลหน้า

"ไม่ ว่ารูปแบบรัฐบาลจะเป็นแบบไหน รัฐบาลใหม่จะผสมกันอย่างไร จะอยู่ได้นานหรือไม่นาน และถ้าอยู่ได้ไม่นานก็ล้มไป แล้วจะขึ้นมาใหม่ เป็นรัฐบาลอย่างไร ผมว่ามันก็ต้องมาจบที่ ปรองดอง มันไม่มีประตูอื่นที่ออกไปได้ ถ้าออกไปได้ก็ออกไปได้ชั่วคราว ออกไปด้านความรุนแรง หรือกฎหมู่ ก็ออกไปได้ชั่วคราว ทำเนียบก็ล้อมมาแล้ว สนามบินก็ล้อมมาแล้ว"

"จุดหัวใจของภาคเอกชนก็ล้อมมาแล้ว จะเผาอะไรต่าง ๆ ก็เผากันมาเยอะแล้ว แม้จะไม่รู้ว่าใครเผา ทั้งสถานที่ราชการเอกชน ในที่สุดก็ไม่ได้ทางออก ไม่ว่าจะใช้พลังแบบใดจะเป็นพลังในระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ใช่ประชาธิปไตย หรือมีมือที่ 3 ที่พูดกันเยอะก็ตาม ในที่สุดก็จะมาจบที่ปรองดอง"