ในวันนี้ (30 กันยายน) จะมีกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด มาชุมนุมนัยว่าเพื่อปิดนิคมดังกล่าว ผมในฐานะคนไทยคนหนึ่ง ไม่เห็นด้วย และเห็นว่าข้ออ้างในการชุมนุมไม่ชอบธรรม จึงขอแสดงความเห็นเพื่อหาทางออกดังนี้:
1. กลุ่มนี้ชอบอ้างประชาชน แต่ในความเป็นจริง ประชาชนส่วนใหญ่ทุกสาขาอาชีพถึง 65.3% ในมาบตาพุดต้องการให้อุตสาหกรรมขยายตัวต่อไป นี่แสดงชัดเจนว่า กลุ่มที่เคลื่อนไหวนี้ ไม่ได้ฟังเสียงของประชาชนแต่อย่างใด กลุ่มผู้ชุมนุมมักจะอ้างคนยากจน แต่จากการสำรวจพบว่ากลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อยยิ่งไม่คิดจะย้ายออกจากมาบตาพุด เพราะพวกตนทำงานบริการต่าง ๆ หากเศรษฐกิจมาบตาพุดเสียหาย คนจนต่างหากที่จะได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักก่อน
2. กลุ่มนี้ชอบอ้างรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2 ซึ่งกำหนดให้มีการแต่งตั้ง “องค์การอิสระ” ซึ่งอาจเป็นการแต่งตั้งเฉพาะผู้ที่คุ้นเคย และไม่เป็นกลาง และยิ่งระบุให้แต่งตั้งเฉพาะผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากร ธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ย่อมเป็นการผิดแต่แรก เพราะปัญหานี้เป็นปัญหาระดับชาติ จำเป็นต้องมีผู้รู้ทางด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง การผังเมือง ฯลฯ มาพิจารณาให้รอบด้าน รัฐบาลจึงควรแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรานี้
3. กลุ่มนี้มักอ้างความเห็นของคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ซึ่งมีที่มาที่ชอบกล โดยผู้แทนฝ่ายประชาชนนั้นกลับไม่มีผู้แทนของประชาชนชาวมาบตาพุดแม้แต่คน เดียว ผู้แทนฝ่ายประชาชนประกอบด้วย นายแพทย์คนหนึ่งที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและบ้านอยู่นนทบุรี อีกคนเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยในด้านที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทั้งสองคนนี้น่าจะเป็นกรรมการฝ่ายผู้ทรงคุณวุฒิมากกว่าผู้แทนประชาชน นอกจากนี้อีก 2 คนต่างเป็นเอ็นจีโอ คนหนึ่งขณะได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองแห่งหนึ่ง เป็นคนจังหวัดระยอง แต่ไม่ใช่มาบตาพุด ส่วนอีกคนเป็นคนชุมพรแต่มีบ้านอยู่กรุงเทพมหานคร ดังนั้นจึงถือเป็นการแต่งตั้งที่ไม่มีมาตรฐาน โดยขาดตัวแทนประชาชนมาบตาพุด ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่เลย เป็นการไม่นำพาต่อระบอบประชาธิปไตย ไม่ถือประชาชนเป็นศูนย์กลาง
4. กลุ่มนี้ชอบอ้างกระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชน ซึ่งอาจดำเนินการไปอย่างไม่เป็นกลาง หากมีอคติอาจรับฟังแต่กลุ่มกฎหมู่ หรืออาจฟังความเพียงข้างเดียวต่อกลุ่มผู้สูญเสียผลประโยชน์ หรือมีอคติต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม กระบวนการที่สมควรจึงควรเป็นการสำรวจความเห็นของประชาชนหรือการทำประชามติ ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นสำคัญ แต่คนกลุ่มนี้ไม่ยอมทำเพราะไม่ต้องการรับฟังเสียงส่วนใหญ่ที่ต้องการ อุตสาหกรรม
5. กลุ่มนี้ชอบอ้างข้อยกเว้น เช่น อ้าง “ลุงน้อย” เป็นมะเร็ง แต่ผลสำรวจพบว่า กลุ่มที่เชื่อว่าป่วยหนักหรือเสียชีวิตเพราะมลพิษ มีเพียง 0.69% เท่านั้น ทางราชการยังพบว่าสาเหตุหลักของการตายของประชาชนในจังหวัดระยอง เป็นเพราะปัจจัยภายนอก เช่น อุบัติเหตุ ฆ่าตัวตาย ถูกฆ่าตาย ถึง 15% รองลงมาคือมะเร็งและเนื้องอก 12.7% อย่างไรก็ตามตัวเลขนี้ยังกลับมีสัดส่วนต่ำกว่าระดับทั่วประเทศ นอกจากนี้จากการเปรียบเทียบจำนวนประชากรที่ป่วยทั่วประเทศมีอยู่ประมาณ 18.16% ในขณะที่ในมาบตาพุด มีประชากรที่ “เจ็บป่วยเล็กน้อย” ในการอยู่อาศัยในพื้นที่เพียง 9.83% เท่านั้น
6. การพบแก๊สรั่วหรือมลพิษต่าง ๆ ย่อมมีบ้าง แต่ถือเป็นส่วนน้อย โรงงานอยู่รวม ๆ กันในนิคมอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก ย่อมมีปัญหาบ้าง ซึ่งต้องแก้ไขเพื่อไม่ให้ละเมิดประชาชน แต่ในความเป็นจริง โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมเหล่านี้มีมาตรฐานความปลอดภัยสูงกว่าโรงงานทั่วไป เสียอีก ไม่เช่นนั้นคงไม่อาจหาพนักงานมาทำงานได้นับแสน ๆ เช่นนี้ พนักงานโรงงานแต่ละคนต่างก็มีการศึกษาดี มีรายได้เดือนละนับหมื่นนับแสนบาท ไม่ใช่ “สาวฉันทนา” ทั่วไป ดังนั้นจึงนำข้อยกเว้นเหล่านี้มาเป็นข้ออ้างไม่ได้
7. กลุ่มนี้ชอบอ้างสิทธิชุมชน แต่ไม่ฟังเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน บางทีถึงกับอ้างว่าประชาชนชาวมาบตาพุดมาอยู่ก่อนโรงงาน ทั้งที่ที่ดินแถบนี้ถูกเวนคืนมาเพื่อตั้งโรงงานตั้งแต่เกือบ 30 ปีที่แล้ว เจ้าของที่ดินเดิมก็ได้รับค่าเวนคืน ย้ายไปหมดแล้ว แต่หากมีความจำเป็นต้องขยายอุตสาหกรรม ทางราชการก็มีความจำเป็นต้องแก้ผังเมืองใหม่ มีการซื้อที่ดินเวนคืนที่ดินตามความจำเป็น หากมีมลพิษจริง ชาวบ้านย่อมยินดีรับค่าทดแทน ซึ่งรัฐบาลพึงจ่ายให้อย่างดีเพื่อให้คุ้มค่ากับการโยกย้าย โดยสรุปแล้วสิทธิของชุมชนเป็นสิ่งที่พึงตระหนัก แต่ผลประโยชน์ของประเทศเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า รัฐบาลจึงควรซื้อที่ดินหรือเวนคืนอย่างเป็นธรรม
8. กลุ่มนี้ชอบอ้างทางออกที่เลื่อนลอย เช่น ให้ย้ายอุตสาหกรรมปิโตรเคมีออกนอกพื้นที่ ทั้งที่มาบตาพุดเป็นพื้นที่แห่งเดียวที่รัฐเวนคืนมาเมื่อเกือบ 30 ปีที่ผ่านมาเพื่อสร้างอุตสาหกรรมนี้ซึ่งสำคัญต่อชาติเป็นอย่างยิ่ง หากพื้นที่นี้ไม่อาจทำกิจการปิโตรเคมี จะมีพื้นที่อื่นสร้างได้อีกหรือ ประเทศสิงคโปร์ที่มีขนาดเล็ก รวมทั้งมาเลเซียและเพื่อนบ้านอื่นก็ล้วนมีเขตอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เราไม่ควรคิดทำร้ายอุตสาหกรรมสำคัญของชาติ หรือบ่อนทำลายเศรษฐกิจชาติ
9. กลุ่มนี้ชอบอ้างตนเป็นเครือข่าย เป็นกลุ่มประชาคม ฯลฯ แต่ไม่ทราบว่ามีตัวตนจริงไหม มีรายชื่อสมาชิกหรือไม่ มีสมาชิกที่เป็นคนระยองและโดยเฉพาะคนมาบตาพุดกี่คน เปิดเผยได้หรือไม่ หรือเป็นการอ้างชื่อกลุ่มขึ้นมามากมาย ให้ดูมีจำนวนมาก ๆ เพื่อเป็นการรณรงค์ทางการเมืองโดยไม่มีฐานรากที่แท้จริง เพราะไม่ใช่กลุ่มตัวแทนของชาวมาบตาพุด จังหวัดระยองที่แท้จริงหรือไม่
10. กลุ่มนี้ชอบปิดทางออก เช่น ยืนกระต่ายขาเดียวว่ารัฐบาลจะเข้าข้างนายทุนสถานเดียว กล่าวหาว่ารัฐบาลไม่เห็นหัวคนจน ทั้งที่คนจนต้องการอุตสาหกรรมในฐานะที่เป็นแหล่งงานของตนจากการขายอาหารหรือ บริการต่าง ๆ แก่พนักงานโรงงานอีกต่อหนึ่ง หรือกล่าวหาว่าประชาชนถูกซื้อโดยนายทุนทั้งที่พวกเขาคือเสียงส่วนใหญ่ของชาว มาบตาพุดและชาวไทยที่ต้องการให้ประเทศมีพัฒนาการที่ดี
ผมขอเสนอทางออกเพื่อโปรดพิจารณาดังนี้:
1. ขอให้นายกรัฐมนตรีฟังเสียงของประชาชนส่วนใหญ่ ไม่ใช่ฟังแต่เสียงของคนกลุ่มนี้ โดยรัฐบาลจัดทำการลงประชามติให้ชัดเจนในเวลาอันรวดเร็ว โดยให้ทุกฝ่ายได้มีโอกาสเผยแพร่ข้อมูลแก่ประชาชนอย่างกว้างขวางล่วงหน้า ในการนี้รัฐบาลพึงระวังไม่ให้องค์การใด ๆ พยายามบิดเบือน ทำลายการจัดประชุมเผยแพร่ข้อมูล หรือปิดกั้นการเผยแพร่ข่าวสารที่ถูกต้องต่อประชาชน เช่นที่เคยเกิดขึ้นในพื้นที่อื่น ๆ
2. รัฐบาลอาจพิจารณายุบคณะกรรมาการสี่ฝ่าย และแต่งตั้งใหม่โดยมีผู้แทนของประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก ไม่ใช่ผู้ที่เห็นค่าของสิ่งแวดล้อมเลื่อนลอยมากกว่าประชาชนและประเทศชาติโดย รวม
3. ต่อกรณีการปล่อยมลพิษของโรงงานหลายแห่งในพื้นที่ถือเป็นการละเมิดกฎหมาย หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง สมควรบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน มีการลงโทษโดยเคร่งครัด ทั้งต่อผู้รักษากฎหมาย โรงงาน กลุ่มบุคคลหรือองค์การอื่น
4. ภาคประชาชนจริงควรจัดตั้งคณะทำงานเฝ้าระวัง ดำเนินการตรวจสอบต่อเนื่อง โดยอาจร่วมกับองค์การอิสระต่าง ๆ ตลอดจนเอ็นจีโอและสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้อง การดำเนินการต่อเนื่องเช่นนี้ จะเป็นการป้องปรามและสามารถนำกรณีการละเมิดกฎหมายและทุจริตพฤติมิชอบต่าง ๆ มาเปิดเผยผ่านสื่อมวลชนต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม ทำให้การต่อสู้ขององค์การพัฒนาเอกชนและภาคประชาชนมีเหตุผลที่น่าเชื่อถือ ยิ่งขึ้น
5. รัฐบาลอาจพิจารณาซื้อหรือเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ อันได้แก่ ที่อยู่อาศัย ที่เกษตรกรรมและอื่น ๆ ที่อยู่ในบริเวณที่จำเป็นสำหรับการขยายตัวของอุตสาหกรรม ทั้งนี้เพื่อผลประโยชน์แก่ทุกฝ่าย โดยคำนึงถึงการจ่ายค่าทดแทนให้เหมาะสม ซึ่งอาจจ่ายสูงกว่าราคาตลาดเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ถูกเวนคืนยินดีที่จะ ย้ายออกโดยพลัน
6. รัฐบาลควรดำเนินการเสนอต่อรัฐสภาเพื่อขอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 67 ให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ด้วยการมีผู้แทนของภาคประชาชนในพื้นที่ในคณะกรรมการแก้ไขปัญหา และรับฟังเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน โดยไม่ให้ความสำคัญเฉพาะนักวิชาชีพหรือองค์การบางกลุ่ม
หมายเหตุ
*ดร.โสภณ พรโชคชัย ดำเนินการนี้ในนามส่วนตัว ด้วยความบริสุทธิ์ใจโดยไม่ได้รับอามิสสินจ้างจากฝ่ายใด ไม่เคยมีส่วนได้ส่วนเสียกับกรณีมาบตาพุด เป็นประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย จบปริญญาเอกด้านการวางแผนพัฒนาเมืองจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย และประกาศนียบัตรชั้นสูงการประเมินค่าทรัพย์สินจากสถาบันนโยบายที่ดิน ลินคอล์น และการพัฒนาที่อยู่อาศัยจากมหาวิทยาลัยคาธอลิกลูแวง เมื่อปลายปี 2552 ได้ทำการสำรวจความเห็นของประชาชนและนำเสนอต่อรัฐบาลมาครั้งหนึ่งแล้ว โปรดดูรายละเอียดได้ตามเว็บไซต์นี้: http://www.thaiappraisal.org/thai/research/research_2.htm ติดต่อได้ที่ sopon@thaiappraisal.org