ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Tuesday, 21 September 2010

ย้อนรอย"ปม"ขัดแย้งภท.-ปชป.

ที่มา ข่าวสด

รายงานพิเศษ




ตลอด 2 ปีกว่าที่ นายเนวิน ชิดชอบ นำ 22 ส.ส.พรรคภูมิใจไทยผละจากอ้อมอกของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ย้ายขั้วหันมาอุ้ม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จัดตั้งรัฐบาล ในเดือน ธ.ค.2551

แต่สภาพภายในรัฐบาลระหว่างพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคแกนนำ กับพรรคภูมิใจไทยดูจะไม่แฮปปี้เหมือนตอนข้าวใหม่ปลามัน

ทั้ง ที่งานหนักอย่างรับมือเสื้อแดง ก็ได้ นายเนวิน ชิดชอบ มาเป็นคนเดินหมาก ส่งผลให้รัฐบาลผ่านห้วงวิกฤตแดงมาได้ถึง 2 ครั้งตั้งแต่เม.ย.2552 กระทั่งหนสองในช่วงเม.ย.-พ.ค.2553

แต่ทั้ง 2 พรรคเกิดปมขัดแย้งขึ้นหลายครั้งหลายครา

เนื่อง จากพรรคภูมิใจไทยในยามนี้ มิใช่แค่พรรค 20 กว่าเสียง แต่มีทั้งกระสุนดินดำ ส.ส.ทั้งที่อยู่ในพรรคและฝากพรรคอื่นเลี้ยงไว้รวมกว่า 50 เสียง

ขยายฐานจากพรรคระดับกลาง เป็นพรรคที่มีอำนาจต่อรองสูง

จึงต้องเร่งสร้างผลงานไว้รองรับการเลือกตั้ง กลายเป็นพรรคตัวแปรสำคัญที่พรรคประชาธิปัตย์มองข้ามไม่ได้

นับ ตั้งแต่ตั้งรัฐบาล มีเสียงไม่พอใจจากคนในพรรคประชาธิปัตย์ ถูกเฉือนเนื้อ แบ่งโควตาเก้าอี้รัฐมนตรีในกระทรวงหลักให้กับพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม และกระทรวงพาณิชย์ ให้กับพรรคภูมิใจไทย

พรรคที่มีแค่ 20 กว่าเสียงเท่านั้น

บริหารงานผ่านไปไม่กี่เดือน นางพรทิวา นาคาศัย รมว. พาณิชย์ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ออกมาตัดพ้อนายกฯ น้ำเสียงสั่นเครือ น้ำตาคลอเบ้า

"อยาก ให้นายกฯ ให้ความเป็นธรรมด้วย ที่ผ่านมาตั้งใจทำงานอย่างดี และกว่าจะตั้งรัฐบาลชุดนี้ได้ก็แสนยาก ผู้ใหญ่สั่งให้ช่วยดูแลพรรคร่วมรัฐบาล ก็ขอความเป็นธรรมให้พรรคร่วมรัฐบาลด้วย อย่าทำอะไร 2 มาตรฐาน"

หลัง ครม.เบรกการประมูลข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 4.4 แสนตัน มูลค่ากว่า 2,041 ล้านบาท โดยให้กระทรวงพาณิชย์ส่งข้อมูลรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับการประมูลแก่ นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พิจารณาตัดสินใจในขั้นตอนสุดท้าย และเกิดการปะทะคารมกันระหว่างนายกฯ กับนายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน จนอธิบดีถูกเชิญออกจากห้องประชุม

แต่ที่สร้างรอยร้าวระหว่างพรรคภูมิใจไทยกับพรรคประชาธิปัตย์มายาวนาน

โครงการ รถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คัน เมกะโปรเจ็กต์หลักของพรรคภูมิใจไทยที่พยายามผลักดันมาตลอดช่วงที่ ดูแลกระทรวงคมนาคม แต่ถูกรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์สั่งดองเค็ม

ภายใต้คอนเซ็ปต์ยึดประโยชน์ส่วนรวม-โปร่งใส-คุ้มค่า

นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม จากพรรคภูมิใจไทย เปิดใจหลังถูกครม.ตีกลับเป็นหนที่ 4

"ยอม รับว่ารู้สึกเหนื่อยใจและหมดแรง ต่อไปนี้คงปล่อยไปตามยถากรรม แล้วแต่คณะกรรมการที่มีนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกฯ จะดำเนินการ ส่วนประเด็นการถูกตีกลับของโครงการนี้จะนำไปสู่ปัญหาการถอนตัวออกจากรัฐบาล หรือกระทบต่อการร่วมงานกันกับรัฐบาลหรือไม่นั้น ผมไม่รู้ และผมก็เป็นคนงอนคนไม่เป็น สำหรับผมแล้วตรงไปตรงมา จะให้ไปสาบานที่วัดไหนก็ได้"

แต่ฟีดแบ็กที่เกิดขึ้นหลังผลงานที่พรรคภูมิใจไทย ภูมิใจนักหนาต้องแท้งเป็นหนที่ 4

ปัญหา องค์ประชุมไม่ครบ ส่งผลให้สภาล่ม ก่อนหน้าการพิจารณาโหวตร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2554 ในวาระ 2 และ 3 เพียงไม่กี่วัน

เขย่าขวัญรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ เพราะหากร่างพ.ร.บ. งบประมาณฯ ไม่ผ่าน ย่อมหมายความว่าอายุรัฐบาลอาจต้องไปก่อนเวลาอันควร

แต่สุดท้ายร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2554 ผ่านสภาด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น

เพราะ พรรคร่วมรัฐบาลเองก็ยังไม่พร้อมเลือกตั้ง และหากร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ไม่ผ่าน ย่อมหมายความว่าต้องกลับไปใช้ร่างพ.ร.บ.เดิมที่ครม.เสนอ โดยยังไม่มีการแปรญัตติ

งบส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นที่กระจุก ตัวอยู่ในพื้นที่ของพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพื้นที่อีสานของพรรคภูมิใจไทยและเครือข่ายย่อมกระเทือนไปด้วย

ตามติดด้วยการทวงสัญญาใจ แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550

งัด สารพัดวิธีทั้งขู่ถอนตัวจากรัฐบาล เปลี่ยนขั้วจับมือเพื่อไทย หรือการล่าชื่อผนึกกำลังกับพรรคร่วมรัฐบาลอื่น ขอแก้แค่ 2 ประเด็น มาตรา 190 ว่าด้วยการทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศ และแก้ระบบเขตเลือกตั้งจากเขตใหญ่เรียงเบอร์ หันกลับมาใช้เขตเดียวเบอร์เดียว หวังเอื้อประโยชน์ให้พรรคเล็ก

แม้ รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์จะยืนกรานจุดยืนเดิม คือไม่สนับสนุนให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เพื่อแก้ปัญหาเสียงแตก จึงยอมตั้งคณะกรรมการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ขึ้นมาศึกษาต่อใน 6 ประเด็นที่คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ของรัฐสภาสรุปไว้แล้ว

หรือ กรณี นายเนวิน ชิดชอบ ออกมาเขี่ยลูกเล่นเอง ชงร่างพ.ร.บ.การนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดทางอาญา หวังสร้าง ความปรองดอง นิรโทษกรรมให้กับทุกกลุ่มทุกสี เว้นนักการเมืองและแกนนำที่ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง

พร้อมทั้งสั่งส.ส. ว่าที่ผู้สมัครส.ส. สมาชิกพรรค เดินหน้าล่า 5 หมื่นชื่อ เพื่อสนับสนุนร่างกฎหมายดังกล่าว

แต่ถูกปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงจากนายอภิสิทธิ์ ว่ารัฐบาลไม่มีนโยบายผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรม เพราะเกรงจะกลายเป็นปมขัดแย้งขึ้นมาใหม่

เบรก พรรคภูมิใจไทย จนยอมถอนร่างพ.ร.บ. นิรโทษกรรมออกจากวาระในสภา กลับไปทบทวนใหม่ อ้างเพื่อให้ครอบ คลุมถึงเหตุการณ์ช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.2553 ด้วย

แต่ปัญหาที่ส่งผลกระทบรัฐบาลมากที่สุด กระทบต่อกฎเหล็ก 9 ข้อของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

นั่นคือการแต่งตั้งโยกย้ายภายในกระทรวงมหาดไทย โดยพุ่งเป้ามาที่ นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย และ นายเนวิน ชิดชอบ

เพราะเซ็งแซ่งด้วยข้อครหาซื้อ-ขายตำแหน่ง เด็กเส้นเด็กฝาก การกระโดดข้ามหัวผู้อาวุโส

นายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) จึงมีคำสั่งให้ตรวจสอบกรณีแต่งตั้งไม่เป็นธรรม

ทำ ให้คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) สำนักงานก.พ. มีมติเอกฉันท์กรณีให้ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้ง นายอำเภอประเภทอำนวยการระดับสูง ประเภทวิชาการ และระดับเชี่ยวชาญ จำนวน 41 ราย ตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 15 ม.ค.2553

เพราะเป็นการแต่งตั้งที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และหลักอาวุโส

แต่กรณี 41 นายอำเภอยังไม่ทันจาง

กระทรวงมหาดไทยเสนอครม.แต่งตั้ง นายมงคล สุระสัจจะ อธิบดีกรมการปกครอง ขึ้นเป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย

ตามติดด้วยเสียงวิจารณ์ว่าได้เป็นเพราะใกล้ชิด นายเนวิน ชิดชอบ

จาก ผู้ว่าฯ บุรีรัมย์ กระโดดขึ้นเป็นอธิบดีกรมพัฒนาชุมชน และอธิบดีกรมการปกครอง ไม่ทันถึง 5 เดือนก็ก้าวข้ามอาวุโสขึ้นนั่งปลัดกระทรวงมหาดไทย

โดยที่นายชวรัตน์ ในฐานะ มท.1 ยังยอมรับว่าอาจเป็นเพราะมียาดี

แต่ยังไม่ทันไร ถูกอดีตปลัดกระทรวงมหาดไทยและสังคมออกมาโจมตี ผิดหลักอาวุโส

"หนัก ครับ ถ้าไม่หนักก็เชื่อรายงานของกระทรวงมหาดไทยในเรื่องโครงการเช่าซื้อระบบ คอมพิวเตอร์จำนวน 3,490 ล้านบาทไปแล้ว บังเอิญ มีข้อมูลอื่นมาด้วย"

คำ พูดแสดงความไม่พอใจของนายอภิสิทธิ์ ต่อกรณีนายชวรัตน์ ระบุอยากให้นายกฯ ช่วยฟังคนอื่นๆ ด้วย ในเรื่องการแต่งตั้งปลัดกระทรวงมหาดไทย โดยบอกว่าถึงขั้นอยากให้นายกฯ หูหนักกว่านี้หน่อย

หลังนาย อภิสิทธิ์ ยอมรับว่าสั่งชะลอการนำชื่อปลัดกระ ทรวงมหาดไทยคนใหม่ ขึ้นทูลเกล้าฯถวายเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งไว้ก่อน อ้างว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาได้เชิญผู้เกี่ยวข้องมาชี้แจงให้ข้อเท็จจริงและขอเอกสาร ต่างๆ มาพิจารณา พบว่าโครงการนี้มีปัญหาบางประการ และบังเอิญอธิบดีกรมการปก ครองซึ่งไปลงนามสัญญาเรื่องนี้ เป็นผู้ที่ได้รับการเสนอแต่งตั้งให้เป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย

จึงตรวจสอบเรื่องนี้ให้เกิดความชัดเจน เพราะต้องรับผิดชอบในหน้าที่และรักษาผลประโยชน์ส่วนรวม

ต่อกรณีแต่งตั้งโยกย้ายภายในกระทรวงมหาดไทย อาจกลายเป็นจุดแตกหักระหว่างพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย

ส่งสัญญาณให้เห็นว่ารัฐบาลอาจจะอยู่ได้ไม่ครบเทอมจนถึงเดือน พ.ย.2554

แต่อาจจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2554 อย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ก็ได้