ในที่สุดเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมา คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินก็ดิ้นรนกลับเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าฯอีกครั้งหนึ่งสำเร็จ
หลังจากก่อนหน้านี้( 2 กรกฎาคม2553)คุณหญิงจารุวรรณทำบันทึกแจ้งเจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)ว่า ได้แต่งตั้งรองผู้ว่าฯรักษาราชการแทนชั่วคราว เนื่องจากมีปัญหาข้อกฎหมายเรื่องการพ้นจากตำแหน่งของผู้ว่าฯจนกว่าจะมีการวินิจฉัยเป็นที่ยุติ(อายุครบ 65ปี ต้องพ้นจากตำแหน่งตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ2542 แต่อ้างว่า ประกาศ คปค. ฉบับที่ 29 ให้ปฏิบัติหน้าที่ทำหน้าที่ไปพลางก่อนจนกว่าจะมีการสรราหาผู้ว่าฯคนใหม่)
ในช่วงที่หยุดพักการทำหน้าที่นั้น คุณหญิงจารุวรรณทำหนังสือถึงประธานวุฒิสภา นายกรัฐมนตรีและเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาให้วินิจฉัยว่า สามารถที่จะปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าฯต่อไปได้หรือไม่
ต่อมา วันที่ 14 กรกฎาคม คณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายประธานวุฒิสภาที่มีนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.ระบบสรรหาเป็นโตโผใหญ่ฟันธงว่า คุณหญิงจารุวรรณสามารถปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าฯต่อไปได้
ทำให้คุณหญิงจารุวรรณ(รีบ?)ทำบันทึกลงวันที่ 30 กรกฎาคมโดยไม่รอคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา แจ้งเจ้าหน้าที่ สตง.ว่า จะกลับมาปฏิบัติราชการตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะมีการสรรหาผู้ว่าฯคนใหม่เสร็จสิ้น
(อาจจะมีการขอถอนเรื่องจากคณะกรรมการกฤษฎีกาเพราะเกรงว่า คำวินิจฉัยจะขัดแย้งกับความเห็นของคณะที่ปรึกษากฎหมายประธานวุฒิสภา)
ปรากฏการณ์ดังกล่าว อาจทำให้ทำให้สงสัยว่า ทำไมคุณหญิงจารุวรรณต้องดิ้นรนอย่างหนักเพื่อกลับมาทำหน้าที่ผู้ว่าฯอีกครึ่งหนึ่งท่ามกลางความสับสนของเจ้าหน้าที่ และผู้บริหารระดับสูงใน สตง.บางคนที่ไม่พอใจเนื่องจากไม่อาจเติบโตได้ใต้เงาทะมึนของ"นายเก่า"ที่ไม่ยอมลุกจากเก้าอี้
น้อยคนนักที่จะรู้ว่า ภายใต้ภาพลักษณ์ที่สาธารณชน(เคย?)เชื่อว่า มีความซื่อสัตย์สุจริต จัดการกับคนทุจริตคดโกง(เฉพาะหน่วยงานอื่น?)อย่างตรงไปตรงมา ได้เกิดปัญหาขึ้นภายใน สตง.มากมาย มีการร้องเรียนเรื่องการทุจริตของผู้บริหารระดับสูงหลายเรื่อง แต่ถูกเก็บเงียบไว้ กระทั่งถึงช่วงปลายสมัยจึงมีเรื่องอื้อฉาวปูดออกมาภายนอก
ล่าสุดคือ เรื่องการล็อกสเป๊กการประกวดราคาออกแบบอาคาร สตง.แห่งใหม่ ปทุมธานีมูลค่า 1,500 ล้านบาท และ อาคารธรรมาภิบาล หรือศูนย์ฝึกอบรม อ.สัตหีบ ชลบุรีที่เปิดช่องให้บริษัทที่ไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมยื่นประมูลงได้ ทำให้สภาสถาปนิกทักท้วงให้แก้ไขหลายครั้ง แต่ไม่เป็นผล ในที่สุดคณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยการประมูลดังกล่าวว่า ฝ่าฝืน พ.ร.บ.สถาปนิก พ.ศ.2543
แต่ยังไม่มีใครหน้าไหนใน สตง.รวมถึงผู้ทำหน้าที่ผู้ว่าฯออกแสดงความรับผิดชอบหรือแถลงให้ทราบว่าจะดำเนินการแก้ไขเรื่องนี้อย่างไร
นี่ยังไม่รวมข้อพิรุธที่มีการประกาศประกวดราคาก่อสร้างอาคารแล้วยกเลิกหลายครั้งจนน่าสงสัย
นอกจากเรื่องข้างต้น ยังมีเรื่องที่ถูกเก็บเงียบอีก 3 เรื่องคือ
หนึ่ง คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร(กวฉ.)สาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดินฯ ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษที่ สน.ดุสิตเพื่อให้ดำเนินคดีอาญา นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และคุณหญิงจารุวรรณ ในข้อหาจงใจที่จะหลีกเลี่ยงไม่ยอมปฏิบัติคำสั่งของ กวฉ. มีความผิดตามมาตรา 40 แห่ง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ โทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ปรากฏว่า พนักงานสอบสวน สน.ดุสิตดองเรื่องไว้ โดยคดีไม่มีความคืบหน้าใดๆ
สอง กรณีกล่าวหาอมตั๋วฟรีการบินไทยในฝึกอบรมหลักสูตร "ผู้บริหาร/ผู้เชี่ยวชาญยุคใหม่" ไปดูงาน ณ สตง.ที่ฝรั่งเศส สวิสเซอร์แลนด์และอิตาลี ในช่วงปลายปี 2546 โดย สตง.ขอตั๋วเครื่องบินฟรีไป-กลับจากการบินไทย 10 ใบ อ้างว่า เพื่อให้ใช้การเดินทางไปฝึกอบรม แต่กลับเอาชื่อลูกสาว-น้องสาวของ"บิ๊ก สตง."ไปใส่ในตั๋วฟรี 2 ที่นั่ง และยังเบิกค่าใช้จ่ายในส่วนค่าตั๋วที่ได้ฟรีทั้ง 10 ใบด้วยโดยไม่มีส่วนลดค่าจ้างบริษัททัวร์จาก 3.12 ล้านบาท
ทำให้คนสงสัยว่า เป็นค่าใช้จ่ายในส่วนของลูกสาวและน้องสาว"บิ๊ก สตง." และมีการไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นหรือไม่
สาม กรณีการเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางและค่าที่พักในการจัดอบรมตามโครงการประชุมสัมมนาผู้บริหารที่จังหวัดน่านโดยมิชอบ
มีการกล่าวหาว่า เป็นการจัดสัมมนาบังหน้าเพื่อเบิกค่าเบี้ยเลี้ยงได้ เพราะความจริงแล้ววันดังกล่าว สตง.จัดทอดกฐินหลวง แต่การเดินทางไปทอดกฐินไม่สามารถเบิกค่าเบี้ยเลี้ยงได้ เลยทำเป็นจัดสัมมนาในวันเดียวกัน แต่มาขอยกเลิกในภายหลัง แต่ได้เบิกเบี้ยเลี้ยงเข้ากระเป๋าไปแล้ว
สองเรื่องหลังนี้อยู่ระหว่างการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ( ป.ป.ช.)ทั้งๆที่เป็นเรื่องที่ไม่มีความซ้อบ แต่ ป.ป.ช.กลับใช้เวลาในการไต่สวนนานมาก ผิดกลับบางเรื่องที่ดำเนินการเร็วเป็นพิเศษ
หรือ ป.ป.ช.ถือคติว่า (รอ)ให้น้ำลด(ก่อน) ตอ(จึงจะ)ผุด