กับชุดเครื่องแบบของนายก่อแก้ว พิกุลทอง แกนนำ นปช.
ที่สวมเสื้อยืด นุ่งกางเกงขาสั้น ลากรองเท้าแตะ ออกจากเรือนจำมากรอกใบสมัครลงเลือกตั้งซ่อมส.ส.เขต 6 กทม. ในนามพรรคเพื่อไทย
แถมหน้าอกเสื้อเขียนข้อความ"เสรีภาพ เสมอภาค ประชาธิปไตย"ด้วยปากกาเมจิก สลักลายเซ็นกลุ่มแกนนำนปช.เพื่อนร่วมกรงขัง
แค่รูปลักษณ์ภายนอกก็แสดงถึงความแตกต่างกับนายพนิช วิกิตเศรษฐ์ คู่แข่งจากพรรคประชาธิปัตย์ชนิดคนละสุดสายปลายขั้ว
ครั้งนี้ถึงจะเป็นเลือกตั้งแค่เขตเดียว ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในสภาโดยตรง
แต่หลายคนมองตรงกัน ว่าเป็นการเลือกตั้งซ่อมที่คนไทยให้ความสนใจจับตามากที่สุด เพราะเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกภายหลังเหตุการณ์ 19 พ.ค. 53
จะเป็นเครื่องบ่งบอกได้ในระดับหนึ่งว่าคนกรุงรู้สึกอย่างไรกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
มองกันตามสูตรไม่ว่าการเลือกตั้งทั่วไปหรือเลือกตั้งซ่อมบางเขต ผู้สมัครพรรครัฐบาลมักเป็นฝ่ายได้เปรียบผู้สมัครจากพรรคที่ไม่ใช่รัฐบาล
ครั้งนี้ก็ไม่แตกต่าง นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ มีสถานะความได้เปรียบเหนือนายก่อแก้ว พิกุลทอง
อย่างไรก็ตามสิ่งที่รัฐบาลต้องระมัดระวังคือการใช้เงื่อนไขความได้เปรียบที่ตนเองมีอยู่แบบเกินความพอดี กลายเป็นการเอารัดเอาเปรียบ
เพราะถ้าสังคมรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันเมื่อไหร่
อาจเกิดกระแสตีกลับได้เมื่อนั้น
ในบรรยากาศการเลือกตั้งตามกติกาประชาธิปไตย
พ.ร.ก.ฉุกเฉินกำลังเป็นปัญหา"ดาบสองคม"สำหรับรัฐบาล
ด้านหนึ่งรัฐบาลใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นอาวุธฟาดฟันฝ่ายตรงข้ามอย่างเมามัน
แต่การคงพ.ร.ก.ฉุกเฉินเอาไว้และมีแนวโน้มจะต่ออายุออกไปอีกนั้น แสดงให้เห็นด้วยเหมือนกันว่ารัฐบาลยังกุมสภาพการเมืองไว้ไม่ได้
รัฐบาลอ้างว่าพ.ร.ก.ฉุกเฉินยังจำเป็นเนื่องจากการเคลื่อนไหวในลักษณะเป็นภัยต่อความมั่นคง รวมถึงการก่อวินาศกรรมสร้างความปั่นป่วนวุ่นวายในบ้านเมืองยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง
โดยยกตัวอย่างกรณีวางระเบิดพรรคภูมิใจไทย และเหตุยิงถล่มคลังน้ำมันในกรมพลาธิการทหารบกด้วยจรวดอาร์พีจี ที่หลังเกิดเหตุรัฐบาลพยายามอย่างมากที่จะลากโยงพยานหลักฐานเข้าหากลุ่มเสื้อแดง
แต่ความพยายามดังกล่าวก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเต็มไปด้วยเงื่อนงำข้อพิรุธมากมาย
ทั้งการจับกุมคนร้ายวางระเบิดพรรคภูมิใจไทยที่ดูเหมือนง่ายดายและรวดเร็วเกินไป รวมถึงคดียิงถล่มคลังน้ำมันซึ่งภายหลังปรากฏว่าเป็นถังน้ำมันเปล่า
ตรงจุดนี้เองที่เป็นช่องโหว่ให้ฝ่ายตรงข้ามหยิบขึ้นมาโจมตี
สังคมเองก็ตั้งข้อสงสัยเช่นกัน ว่าเป็นการสร้างสถานการณ์ของรัฐบาลเพื่อหาข้ออ้างในการยืดอายุพ.ร.ก.ฉุกเฉิน สานต่อปฏิบัติการขุดรากถอนโคนกลุ่มเสื้อแดง
พร้อมกับดิสเครดิตคู่แข่งช่วงเลือกตั้งซ่อมหรือไม่
การที่หลายคนไม่ยินดียินร้ายกับข้อมูลเป้าหมายก่อวินาศกรรม 68 จุด
หรือแม้แต่ข้อมูลการลอบปองร้ายนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง ที่ฝ่ายรัฐบาลปล่อยออกมา
ก็พอสะท้อนได้ว่าประชาชนจำนวนไม่น้อยในสังคมไม่ให้ความเชื่อถือข้อมูลที่ออกมาจากรัฐบาลหรือแม้แต่ตัวรัฐบาลเองก็ตาม
ความไม่เชื่อถือนี้น่าจะเป็นผลมาจากพฤติกรรมรัฐบาลที่อาศัยชั้นเชิงข้อกฎหมายเล่นงานฝ่ายตรงข้ามจนเกินขอบเขต
ตลอดจนการโกหก บิดเบือนข่าวสารและข้อมูลข้อเท็จจริงในเหตุการณ์เดือนพ.ค.53
เหล่านี้คือสิ่งสำคัญที่ย้อนมาทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาลโดยไม่รู้ตัว
ภายหลังเหตุการณ์ 19 พ.ค. รัฐบาลนายกฯอภิสิทธิ์ ตกอยู่ในที่นั่งลำบาก
นายอภิสิทธิ์ พยายามจะผลักดันแผนปรองดอง จัดตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเหตุการณ์สลายม็อบเสื้อแดงขึ้นมา ควบคู่ไปกับการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ
แต่ผ่านไป 2-3 สัปดาห์ภาพก็ยังเบลอๆ จับทิศทางการทำงานไม่ได้
เสียงเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงถึงความจริงใจในเบื้องต้นด้วยการยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินเริ่มดังกระหึ่มไปทุกวงการ
ทั้งยังถูกตั้งข้อสงสัยในเรื่องงบประมาณ 600 ล้านบาท ที่รัฐบาลอนุมัติให้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าหรือไม่
เช่นเดียวกับคำถามเรื่องนโยบายประชานิยม น้ำประปา-ไฟฟ้า-รถเมล์ฟรีแบบถาวร ที่นายกฯอภิสิทธิ์ เพิ่งออกมาประกาศถึงความเป็นไปได้เมื่อไม่กี่วันก่อน
หรือการเดินหน้าแผนขึ้นเงินเดือน จัดโบนัสพิเศษเป็นของขวัญปีใหม่ให้ข้าราชการ
ซึ่งนอกจากเป็นการหวังผลระยะยาวซึ่งหมายถึงการกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้งในสมัยหน้า ยังถูกมองว่าเป็นการหวังผลทางการเมืองระยะสั้น คือการเลือกตั้งซ่อมส.ส.เขต 6 กทม.
ที่พรรคประชาธิปัตย์จะแพ้ไม่ได้อีกด้วย
นายอภิสิทธิ์ ปฏิเสธว่านโยบายดังกล่าวไม่ใช่ประชานิยมแต่เป็นนโยบายรัฐสวัสดิการ
แต่ในสายตานักวิชาการทีดีอาร์ไอ และนักเศรษฐศาสตร์ทั่วไป กลับมองว่านโยบายรัฐสวัสดิการฉบับอภิสิทธิ์นี้ อาจสร้างภาระงบประมาณให้ประเทศ
ยิ่งกว่าประชานิยมฉบับทักษิณด้วยซ้ำ
กระแสการเมืองต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายหลังวันที่ 19 พ.ค. ชี้ว่ารัฐบาลกำลังสอบตกความน่าเชื่อถือ
คดีความเกี่ยวกับผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงล้วนแต่มีพิรุธข้อสงสัย ไม่ว่าคดีก่อการร้าย ล้มล้างสถาบัน หรือคดีก่อวินาศกรรมต่างๆ
ตรงข้ามกับคดีความที่คนในซีกฝ่ายรัฐบาลเป็นผู้ถูกกล่าวหาที่เป็นไปอย่างเนิบนาบเชื่องช้า เช่น คดียึดสนามบิน คดีสั่งฆ่าประชาชนเดือนพ.ค. คดียุบพรรค ฯลฯ
ความคับข้องใจเหล่านี้เมื่อบวกรวมกับพฤติกรรมการส่อทุจริตโครงการรายกระทรวง ซึ่งถูกเปิดโปงมากขึ้นทั้งจากฝ่ายค้านและคนในรัฐบาลที่จ้องเสียบสกัดกันเอง
ในสถานการณ์ดังกล่าวถึงรัฐบาลจะฝืนยืนอยู่ต่อไปได้
แต่โอกาสที่ขาจะพันกันเองล้มทั้งยืนก็มีความเป็นไปได้พอกัน