บทบรรณาธิการ |
จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ |
ปีที่ 11 ฉบับที่ 2848 ประจำวัน จันทร์ ที่ 26 กรกฏาคม 2010 |
โดย หนังสือพิมพ์โลกวันนี้รายวัน |
ท่านพุทธทาสภิกขุได้บรรยายธรรมในหัวข้อ “ธรรมะกับการเมือง” ที่สวนโมกขพลาราม ซึ่งเป็นการบรรยายทุกวันเสาร์และตรงกับช่วงวันอาสาฬหบูชาวันที่ 3 กรกฎาคม ถึง 25 กันยายน 2519 รวม 11 ครั้ง โดยเน้นว่าการเมืองเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง เพราะประชาชนทุกคนเป็นนักการเมือง และทุกคนเป็นนักการเมืองโดยความรู้สึก ดังนั้น การเมืองจึงไม่อาจแยกจากธรรมะ ไม่อาจแยกจากศีลธรรม
“ธรรมกับการเมืองเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ได้ แยกกันเมื่อไรการเมืองก็กลายเป็นการทำลายโลกขึ้นมาทันที”
ท่านพุทธทาสภิกขุยังใช้คำว่า “อิสรภาพในการใช้สติปัญญาแก้ปัญหา” หรือ “อิสรภาพในการตัดสินใจ” ไม่ใช่ปล่อยให้เกิด “ภาวะจำเป็นต้องทิ้งธรรมะ” ที่เป็น “การตกอยู่ในห้วงของความกลัว”
“นักปราชญ์การเมืองแต่โบราณขอร้องให้ทุกคนเป็นสัตว์การเมือง (Political animal) คือมีหน้าที่สนใจการเมือง ร่วมกันจัดสังคมให้อยู่กันอย่างสงบสุขโดยไม่ต้องใช้อาชญา แต่คนสมัยนี้ทำได้มากเกินไป ขนาดที่เรียกว่าการเมืองขึ้นสมอง แล้วใช้การเมืองนั้นเองเป็นเครื่องมือกอบโกยหรือฟาดฟันผู้อื่น ครอบงำผู้อื่นเพื่อประโยชน์ของตนฝ่ายเดียว ดังนั้น แทนที่การเมืองจะตั้งอยู่ในฐานะเป็นเรื่องศีลธรรม ก็กลายเป็นเรื่องอุปัทวะจัญไรในโลกไปเสีย”
ท่านพุทธทาสภิกขุจึงเห็นว่า โดยปรัชญาทางศีลธรรมแล้วการเมืองก็คือหน้าที่ของมนุษย์ ที่จะต้องประพฤติกระทำให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติอันเฉียบขาด เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างผาสุกโดยไม่ต้องใช้อาชญา ถ้าไม่มีการคำนึงถึงศีลธรรม การเมืองก็กลายเป็นเรื่องสกปรกสำหรับหลอกลวงกันอย่างไม่มีขอบเขต จนกระทั่งโลกนี้กลายเป็นโลกแห่งการหลอกลวง
“มีแต่สัตว์การเมืองที่เป็นสัตว์เอาเสียจริงๆ กล่าวคือบูชาเรื่องกิน-กาม-เกียรติแทนสันติสุข”
การเมืองที่แท้จริงจึงต้องตั้งอยู่บนรากฐานทางศาสนาทุกศาสนา เพราะ “สัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น”
นักการเมืองที่มีธรรมสัจจะย่อมเป็นนักการเมืองของพระเจ้า ซึ่งการเคลื่อนไหวทุกกระเบียดนิ้วจะมีแต่บุญกุศล จนกระทั่งกลายเป็นปูชนียบุคคลไป
ไม่ใช่ถูกประณามว่าเป็นทรราชหรือเผด็จการ “มือเปื้อนเลือด”