ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Sunday, 27 June 2010

รุนแรงซ้ำซาก สูญเสียไม่จบสิ้น

ที่มา ข่าวสด

พลาดิศัย จันทรทัต




เหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองในประเทศเราตั้งแต่ ตุลา 16, 19, พฤษภา 35 มาจน ถึงพฤษภา 53 ทุกเหตุการณ์มีผู้คนล้มตาย แต่สังคมไทยกลับไม่เคยสรุปบทเรียน และไม่เคยเรียนรู้หาทางแก้ไข เพราะสังคมไทยเป็นสังคมแห่งการให้อภัย พอให้อภัยกันง่ายๆ โดยไม่เคยค้นหาความจริงก่อนที่จะนำมาสู่การให้อภัย จึงเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง"

คำกล่าวช่วงหนึ่งของนางอังคณา นีละไพจิตร ประธานคณะทำงานยุติความรุนแรงเพื่อสันติภาพ ในเวทีเสวนา "ปากคำผู้สูญเสียและการเยียวยา" เพื่อรำลึกถึงผู้จากไปในเหตุการณ์ที่รัฐกระทำรุนแรงต่อประชาชน ทั้งเหตุชุมนุมทางการเมือง รวมไปถึงสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจัดขึ้นที่สวนเงินมีมา เจริญนคร

อังคณา ระบุด้วยว่า ทุกครั้งที่มีการสูญเสียเยอะๆ ภาครัฐจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบหาข้อเท็จจริง แต่เมื่อทำงานเสร็จกลับไม่เปิดเผยต่อสาธารณชน และยังลบบางช่วงบางตอนของรายงาน หรือลบชื่อบุคคลออกไป สุดท้ายจึงไม่รู้ว่าใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

เหมือนกับเหตุการณ์ที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส มีคนตายอย่างไม่น่าตายถึง 78 คน เหตุการณ์นั้นมีการตั้งคณะกรรมการอิสระลงไปตรวจสอบ แต่ผลสรุปกลับมีบางส่วนที่เปิดเผย บางส่วนที่ไม่เปิดเผย จึงมีคำถามในวันนี้ว่า ขบวนการยุติธรรมได้ทำหน้าที่ของตนเองหรือไม่ เพราะอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอ แล้วชีวิตที่สูญเสียไปจะรับผิดชอบอย่างไร ไม่ใช่เพียงให้เงินแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตแล้วจบไป



"ในต่างประเทศเมื่อผู้นำทำผิดยังต้องรับโทษ นายพลออกุสโต ปิโนเชต์ อดีตผู้นำเผด็จการของชิลี ยังถูกนำตัวขึ้นศาล หรืออย่างอดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้ยังถูกใส่กุญแจมือเมื่อทำผิดกฎหมาย แล้วสุดท้ายจะขอนิรโทษกรรมในภายหลังหรืออย่างไรก็ได้ เพราะอย่างน้อยประชาชนจะรู้สึกได้ว่าเมื่อทำผิดต้องถูกลงโทษ เจ้าหน้าที่รัฐจะรู้ว่าทำแบบนี้ไม่ได้จะถูกลงโทษ แต่ประเทศไทยไม่เคยมี"

อังคณามองว่าความรุนแรงในประเทศไทยมี วิวัฒนาการที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 และ 6 ตุลา 19 ยิงกันคืนเดียวเช้ามาก็จบแล้ว หรือพฤษภา 35 ความรุนแรงมีเพียง 1-2 วันแล้วทุกอย่างก็ยุติ แต่ครั้งล่าสุดยิงกันตั้งแต่ 10 เม.ย. ก่อนที่ต่างฝ่ายต่างกลับไปประจำฐานที่มั่น วันดีคืนดีออกมาปะทะกันจนมีคนตายอีก ประชาชนไม่รู้เลยว่าเหตุการณ์จะเกิดขึ้นอีกเมื่อไหร่ เหตุการณ์มันเรื้อรังจนทุกฝ่ายไม่รู้ว่าทำอย่างไรถึงจะจบ

เท่าที่เห็นสถานการณ์ในตอนนี้เหมือนกำลังฟักตัว รอว่าเมื่อไหร่จะปะทุออกมาอีกครั้ง จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่หัวเรือทั้ง 2 ฝ่ายต้องหันหน้าเข้ามาพูดคุยตกลงกันอย่างจริงจัง ไม่อย่างนั้นจะเกิดความขัดแย้งที่รุนแรงกว่าที่ผ่านมาอย่างแน่นอน



ด้าน น.ส.น้ำผึ้ง ไชยรังษี นักกฎหมายจากศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา สรุปยอดคนหายที่ศูนย์ได้รับแจ้งจากประชาชนหลังจากเหตุการณ์วันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา มีจำนวน 85 ราย เบื้องต้นทางศูนย์ติดตามตรวจสอบข้อมูลทุกราย จนขณะนี้เจอแล้ว 46 ราย จากการสอบถามทำให้ทราบว่าส่วนใหญ่หลบหนีไปกบดานที่ต่างจังหวัด และขาดการติดต่อไปเลยในช่วงเวลานั้น เนื่องจากกลัวรัฐบาลจับกุมตัว

สำหรับที่ยังหาไม่พบอีก 39 ราย ทางศูนย์มี 4 ขั้นตอนในการตามหา 1.ตรวจสอบรายชื่อผู้บาดเจ็บ ซึ่งมีบางส่วนที่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถติดต่อทางบ้านได้ เนื่องจากไม่มีข้อมูล 2.ตรวจสอบรายชื่อผู้เสียชีวิต 3.ตรวจสอบรายชื่อผู้ถูกคุมขัง และ 4.ถ้าดำเนินการทั้ง 3 ขั้นตอนแล้วยังไม่พบ เจ้าหน้าที่ศูนย์จะสืบค้นต่อไปว่าหายไปได้อย่างไร เช่น หายจากการถูกลักพาตัว หายจากการถูกล่อลวง หายจากการถูกจับกุม

ขณะที่ นายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระ ร่วมให้มุมมองว่า เหตุการณ์วันที่ 19 พ.ค. ส่งผลกระทบ ทำให้ความเชื่อมั่นในการพูดคุยเจรจาต่อรองของคน ในสังคมถูกทำลายลง เคยคิดว่าเหตุการณ์ตากใบจะร้ายแรงที่สุดในชีวิต ไม่คิดว่าจะต้องมาเจออีก อาจวิเคราะห์ได้ว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มักนิยมใช้ความรุนแรงในการสร้างสังคม

"คิดว่าเหตุการณ์ 19 พ.ค. คือการรัฐประหารปีพ.ศ.2553 นั่นเอง จากนั้นการปรองดองจึงเกิดขึ้น เพื่อให้เรื่องคนตายในช่วงนั้นเงียบหายไป ตอนนี้เกิดคำถามในสังคมว่า ถ้าเราต้องอยู่ในสังคมที่การฆ่าชีวิตกลายเป็นเรื่องธรรมดา เราจะอยู่อย่างไร นี่เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องคิด"

"ผมคิดว่าเหตุการณ์ครั้งนี้คงไม่ใช่ครั้งสุดท้าย แต่กระบวนการฆ่าจะรุนแรงและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ดูได้จากเหตุการณ์กระชับพื้นที่ รัฐบาลไม่นำทหารมายิงประชาชนซึ่งๆ หน้าเหมือนพฤษภา 35 แต่ใช้สไนเปอร์ฆ่าแทน และยังคงเป็นคำถามว่า ฝ่ายไหนอยู่เบื้องหลังการบงการนี้"

ส่วน อับดุลเราะมัน มอลอ โฆษกสหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ นำบทเรียนจากภาคใต้มาถ่ายทอดว่า การที่รัฐบาลใช้ความรุนแรงแก้ไขปัญหา เปรียบเสมือนการผูกปมปัญหาเพิ่มมากยิ่งขึ้น เพราะฝ่ายตรงข้ามจะคิดว่าตนเองมีความชอบธรรมในการใช้กำลังตอบโต้เช่นกัน

อับดุลเราะมันชี้ว่าการประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือกฎอัยการศึก ทำให้รัฐบาลมีอำนาจมากขึ้นก็จริง แต่ในทางกลับกันประชาชนจะสูญเสียมากขึ้นยิ่งเช่นกัน ถ้ารัฐบาลกดดันประชาชนอยู่แบบนี้ ในอนาคตภาคอีสานจะเหมือนภาคใต้ตอนนี้ ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มที่สูญเสียญาติพี่น้องที่รักไป จะลุกขึ้นมาเรียกร้องความเป็นธรรมและปกป้องตัวเอง ด้วยการใช้ความรุนแรงตอบโต้เช่นกัน