ในฐานะที่เป็นคนที่ทำงานกับชาวบ้านในประเด็นร้อน ๆ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วการเรียกร้องให้รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาเหล่านั้น หากใช้ช่องทางการร้องเรียนตามปกติ เช่น การร้องเรียนผ่านกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ส.จ. ส.ส. ศูนย์ดำรงธรรม สำนักนายกรัฐมนตรี แม้กระทั่งสำนักพระราชวัง ก็มักจะไม่ได้รับการแยแสสนใจจากหน่วยงานเหล่านั้นสักเท่าใด หรือกว่าจะได้รับความสนใจเรื่องราวก็ลุกลามบานปลายไปเกินกว่าที่จะเยียวยา การชุมนุมจึงเป็นทางเลือกสุดท้ายที่จะทำให้รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหันมาสนใจได้ และการชุมนุมเป็นการใช้สิทธิเพียงช่องทางเดียวของชาวบ้านที่สร้างพื้นที่ทางสังคมสำหรับคนจน คนเล็กคนน้อยได้
แต่การใช้เสรีภาพการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ง่าย ตรงกันข้ามการใช้เสรีภาพในการชุมนุมกลับเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก ซับซ้อนมาก เพราะกว่าจะต้องทำความเข้าใจกับชาวบ้านว่าการชุมนุมเป็นเสรีภาพ ผู้ชุมนุม ไม่ใช่คอมมูนนิสต์ ไม่ใช่พวกหัวรุนแรง ไม่ใช่พวกไม่เคารพกฎหมาย แค่เรื่องนี้ก็ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจกันมากมายแล้ว นอกจากนี้ยังต้องสร้างกฎระเบียบในการอยู่ร่วมกันในระหว่างชุมนุม เช่น ไม่พกพาอาวุธ ไม่เสพยาเสพติด ไม่เล่นการพนัน ไม่มีพฤติกรรมชู้สาว ไม่ดื่มสุรา ไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น ต้องร่วมกิจกรรม แบ่งภาระกิจหน้าที่การทำงาน ฯลฯ และเมื่อออกมาชุมนุมก็ต้องเจอการข่มขู่คุกคามจากเจ้าหน้าที่ เจอการต้อนรับแบบขับไล่ของฝ่ายปกครองที่มีทัศนคติทางลบกับชาวบ้าน ที่ยังคิดว่าตนเองเป็นเจ้านาย เป็นผู้ปกครอง ในบางพื้นที่ก็เข้มงวด กลั่นแกล้ง ไม่ยอมให้ใช้ห้องน้ำห้องส้วม ฝนตกก็ไม่ให้ที่หลบฝน บางทีถึงขนาดตั้งข้อกล่าวหาว่าไม่ขออนุญาตใช้เครื่องเสียงก็ยังมี ทิ้งก้นบุหรี่ในที่สาธารณะก็อาจถูกขู่ถูกจับได้ ในพื้นที่กฎอัยการศึกก็ถึงขนาดตั้งข้อหากบฎกันเลยทีเดียว สรุปได้ว่าการใช้เสรีภาพการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญนั้นกลับขัดต่อกฎหมายอื่น ๆ เป็นจำนวนมาก และไม่ได้มีการคิดจะแก้ไขกฎหมายต่าง ๆเพื่อรองรับการใช้เสรีภาพนี้เลย
การพัฒนาของรัฐเป็นประเด็นที่ทำให้ชาวบ้านต้องออกมาชุมนุมเรียกร้องมากที่สุด เพราะการพัฒนาของรัฐส่วนใหญ่แล้วเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของบุคคลนอกชุมชนมากกว่าบุคคลในชุมชน เป็นการแย่งชิงทรัพยากรของชุมชน เป็นการทำลายทรัพยากรของชุมชน เป็นการทำลายวิถีชีวิตของชุมชน และคนที่ได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาของรัฐนอกจากนักการเมืองขี้ฉ้อ นายทุนผู้ขูดรีดแล้ว ก็ยังมีชนชั้นกลางผู้รังเกียจการชุมนุมเป็นผู้ได้ผลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมเป็นอันมากอีกด้วย เช่น การสร้างเขื่อนปากมูล เขื่อนสิรินธร เขื่อนอุบลรัตน์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า แต่ปรากฎว่าปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ทั้งสามเขื่อนผลิตได้ต่อปีนั้นมีปริมาณเท่า ๆ กับห้างเซ็นทรัลเวิร์ล ห้างสยามพารากอนและห้างสยามเซ็นเตอร์ ใช้ไฟฟ้าทั้งปีเช่นกัน แต่คนที่เดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนทั้งสามนี้ได้ประโยชน์อะไรบ้าง อย่าว่าแต่มาเดินเที่ยวห้างเลย หลายคนชื่อห้างทั้งสามนี้ยังไม่รู้จักด้วยซ้ำไป และเมื่อคนที่เดือดร้อนเหล่านี้ออกมาชุมนุม ออกมาร้องเรียน แต่สิ่งที่ตอบรับจากคนชั้นกลางแทนที่จะเป็นความเข้าใจกลับกลายเป็นความรังเกียจเดียจฉันท์ เป็นพวกสร้างความเดือดร้อน ขี้เกียจ ไม่รู้จักทำมาหากิน ทำให้รถติด สกปรก รับจ้างมาม๊อบ สารพัดสารพันเท่าที่จะคิดได้ ยิ่งมาชุมนุมนาน ๆ ก็ยิ่งละเมิดสิทธิเสรีภาพของชนชั้นกลาง ทำให้ชนชั้นกลางเดือดร้อน จนกระทั่งครั้งหนึ่งนายสมัคร สุนทรเวช สมัยที่เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครถึงขนาดเอาเจ้าหน้าที่เทศกิจมาสลายการชุมนุมของพี่น้องปากมูล เพราะมาสร้างความเดือดร้อนให้กับคนกรุงเทพ ฯ
เมื่อผมได้ทราบว่ามีการยกร่าง พรบ.การชุมนุมสาธารณะ นั้นเดิมทีเดียวผมเข้าใจว่าจะเป็นการสนับสนุนการชุมนุมสาธารณะ มากกว่าเป็นการจำกัดสิทธิ เพราะบรรดาผู้รู้หลายคนที่ออกมาพูดว่า ร่าง พรบ.นี้จะเป็นการปกป้องผู้ชุมนุม จะเป็นข้อจำกัดในการทำงานของเจ้าหน้าที่ จะทำให้การสลายการชุมนุมไม่เป็นไปได้ง่าย และจะไม่ทำให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องเดือดร้อน แต่เมื่อผมเห็นร่าง พรบ.นี้ จากการที่ได้รับเชิญจากมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ไปร่วมรับฟังความคิดเห็น ผมพบว่าไอ้พวกผู้รู้ที่ออกมาพูดนั้นล้วนแล้วแต่โกหกตอแหลทั้งสิ้น เพราะร่าง พรบ.นี้เป็นการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุม ไม่ใช่การส่งเสริมเสรีภาพในการชุมนุม และยังเป็นการสร้างความชอบธรรมในการสลายชุมนุมของเจ้าหน้าที่ ทำนองว่าถ้าเลยเส้นเมื่อไรเจ้าหน้าที่ก็ล่อได้เลย ยิ่งเมื่อมาได้ฟังจากปากคำของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ยกร่างเอง ก็ยิ่งเป็นที่ชัดเจนขึ้น เพราะท่านยืนยันว่า ตำรวจไม่มั่นใจว่าจะจัดการกับการชุมนุมอย่างไร เพราะไม่มีอำนาจตามกฎหมาย ถ้าทำอะไรไปก็อาจจะผิดเหมือนการสลายการชุมนุมของพันธมิตรฯเมื่อสองสามปีที่ผ่านมา ถ้ามี พรบ.นี้เจ้าหน้าที่จะได้รู้ว่าอะไรควรทำไม่ควรทำ และทำได้แค่ไหนจะได้ไม่ต้องรับผิด นักกฎหมายก็ว่าเป็นการควบคุมการใช้สิทธิไม่ให้ไปละเมิดคนอื่น เช่น ไม่ไปปิดสนามบิน ไม่ไปปิดทำเนียบ ไม่ไปปิดโรงพยาบาล ไม่ไปปิดโรงเรียน หรือถ้าจะชุมนุมผู้นำการชุมนุมต้องแจ้งการชุมนุมเป็นลายลักษณ์อักษรต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ที่จะชุมนุม มีวันกำหนดเริ่มมีวันเลิกชุมนุม ฯลฯ เพื่อที่จะให้เจ้าหน้าที่ได้เตรียมการ หรือบุคคลที่เขาไม่เกี่ยวข้องได้เตรียมตัว ถ้าไม่ทำตามก็มีความผิดตามกฎหมายทั้งโทษจำและโทษปรับ
ผมอยากจะบอกว่านี่มันเป็นความคิดของพวกอำมาตย์และชนชั้นกลาง เป็นความคิดต้องต้องการปิดกั้นพื้นที่ทางสังคมของคนจน ของไพร่ นี่คือความเอาเปรียบทางชนชั้น เพราะถ้าเป็นการชุมนุมเพื่อแสดงออกทางการเมืองของพวกชนชั้นกลาง เขาไม่สนใจกฎหมายนี้หรอกครับ เขาทำได้ เขาขออนุญาตชุมนุมได้ง่าย ๆ ถ้าเขาจะมาชุมนุมในกรุงเทพ แต่ถ้าพี่น้องจากอมก๋อยจะมาชุมนุมหน้าทำเนียบจะต้องมาขออนุญาตที่ สน.ดุสิต ก่อน 7 วัน เขาจะทำได้ไหม ถ้าไม่ทำเขาถูกปรับ ลองคิดว่าคนจนถูกปรับสองพันบาทซึ่งอาจจะเป็นค่าใช้จ่ายทั้งเดือนของเขาเมื่อเทียบกับคนชั้นกลางถูกปรับสองพันบาทที่อาจจะเป็นค่าเหล้าเพียงคืนเดียวของเขา มันสร้างความเดือดร้อนต่างกันขนาดไหน การอนุญาตให้เจ้าหน้าที่สั่งให้สลายการชุมนุมได้ การกำหนดกติกาให้เจ้าหน้าที่ใช้กำลังในการสลายการชุมนุม แม้จะดูเหมือนเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อผุ้ชุมนุม แต่เอาเข้าจริงมันก็จะกลายเป็นเครื่องมือในการข่มขู่คุกคามผู้ชุมนุม และอาจจะเป็นช่องทางในการเรียกรับ/หาผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่อีกด้วย
ผู้ที่ร่วมยกร่าง พรบ.นี้ ล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ มีการศึกษาร่างกฎหมายของเกาหลีใต้ เพื่อนำมาเป็นแนวทางข้อเปรียบเทียบในการยกร่างกฎหมายของไทย โดยสรุปว่าร่างกฎหมายของเกาหลีใต้นั้นดี ทำให้การชุมนุมอยู่ในความสงบเรียบร้อย และไม่รบกวนคนอื่น แต่เมื่อผมสอบถามไปยังสมาคมชาวนาเกาหลีใต้และสมาคมชาวนาผู้หญิงเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นสมาชิกองค์กรชาวนาโลกเช่นเดียวกับสมัชชาคนจนกลับได้รับคำตอบว่ากฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายที่ละเมิดสิทธิในการชุมนุม เป็นกฎหมายของจอมเผด็จการ โรห์ แต วู และยังให้คำแนะนำเพิ่มเติมมาว่าคนไทยต้องคัดค้านกฎหมายลักษณะนี้ให้ถึงที่สุดเพราะหากปล่อยให้มีกฎหมายอย่างนี้ออกมาก็จะเป็นปัญหากับคนไทยเอง โดยเฉพาะกับคนจน คำกล่าวนี้แสดงให้เห็นว่าผู้ศึกษานั้นศึกษาเฉพาะตัวกฎหมายและผู้ได้รับประโยชน์จากการใช้กฎหมายก็คือชนชั้นกลางและชนชั้นสูง โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายซึ่งเป็นคนจนเลย กลุ่มคณะผู้ยกร่างกฎหมายนี้ดูปรากฎการณ์จากการชุมนุมของพวกเสื้อเหลืองและเสื้อแดงเป็นหลัก แต่ไม่ได้ดูการชุมนุมของคนเล็กคนน้อยตามหัวเมืองเลยแม้แต่น้อย พวกเขาไม่เคยเห็นพี่น้องคนจนที่ถูกกดขี่ ทารุณจากอำนาจรัฐท้องถิ่น จนต้องออกมาประท้วงโดยทันทีทันควัน พวกเขาคิดว่าการชุมนุมเป็นเรื่องง่าย ๆ กำหนดวันเริ่มกำหนดวันเลิกก็ได้ พวกเขาไม่เคยคิดว่าปัญหาอันเนื่องมาจากการชุมนุม เช่น การที่ผู้ชุมนุมปิดถนนก็เพราะตัวแทนของรัฐที่มาเจรจาไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีทักษะในการเจรจา การที่เจ้าหน้าที่ใช้อาวุธสลายการชุมนุมจนเกิดการบาดเจ็บล้มตายก็เนื่องมาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการสลายการชุมนุมตามหลักสากล ดังจะเห็นได้จากการสลายการชุมนุมที่สี่แยกคอกวัวเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2553 ที่ตำรวจ ทหารใช้ปืนยิงเข้าใส่ผู้ชุมนุมโดยไม่ได้ใช้น้ำ สเปรย์พริกไทย กระบอง กระสุนยาง ตามที่โฆษก ศอฉ. ออกมาแถลงโกหกต่อสาธารณชนไว้
นอกจากนี้ผู้ที่ร่วมยกร่างกฎหมายนี้ล้วนแล้วแต่เป็นชนชั้นกลาง ชนชั้นปกครอง ที่ปกป้องผลประโยชน์ของชนชั้นของเขาเป็นหลัก ถ้าชนชั้นของเขาได้รับความลำบากเพียงเล็กน้อย เสียผลประโยชน์เพียงบางส่วนเขาก็ออกมาโวยวาย มาปกป้อง โดยไม่ได้คิดคำนึงเลยว่าความสะดวกสบาย ผลประโยชน์ที่ได้ชนชั้นพวกเขาได้รับอยู่ทุกวันนี้ ล้วนแล้วแต่มาจากการขูดรีดของชนชั้นปกครอง ชนชั้นกลางทั้งนั้น ที่พวกเราคนจน ชนชั้นล่างที่ต้องออกมาเคลื่อนไหว ออกมาชุมนุม ก็เพราะอดรนทนไม่ไหวต่อการกดขี่ขูดรีดจากพวกชนชั้นกลาง ชนชั้นปกครองเหล่านี้
พรบ.การชุมนุมสาธารณะ จึงเป็นเครื่องมือในการกดขี่ขูดรีดคนจนอีกชิ้นหนึ่งที่พวกเราต้องคัดค้านให้ถึงที่สุด