ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Thursday, 24 June 2010

คู่กัดเหลืองและแดง 2553 คอลัมน์ ดุลยภาพ ดุลยพินิจ

ที่มา มติชน


โดย ผาสุก พงษ์ไพจิตร คอลัมน์ ดุลยภาพ ดุลยพินิจ

ขณะนี้เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าความขัดแย้งทางการเมืองที่พัฒนาเป็นคู่กัดระหว่างกลุ่มคนเสื้อเหลืองและกลุ่มคนเสื้อแดงนั้น แต่ละฟากมีมวลชนหนุนหลังเป็นจำนวนมากและก้ำกึ่งกัน คือระหว่าง 3-4 ล้านคน (งานวิจัยของเอนก เหล่าธรรมทัศน์ และคณะ) หรือประมาณร้อยละ 10 ของประชากรผู้ใหญ่ทั้งประเทศ 2 กลุ่มรวมกันก็เป็นร้อยละ 20

แต่ละฟากระดมมวลชนโดยชูประเด็นข้อเรียกร้องที่สะท้อนความแตกต่างด้านอุดมการณ์ทางการเมือง

ฟากเหลืองชูประเด็นปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ การเมืองจริยธรรมที่ปลอดจากการคอร์รัปชั่น การเมืองที่คนชั้นกลางมีบทบาทในการกำหนดนโยบาย

ฟากแดงเรียกร้องประชาธิปไตยภายใต้หลักการ 1 คน 1 เสียง ความเป็นธรรมในสังคม การยกเลิกระบบสองมาตรฐาน บางกลุ่มในคนเสื้อแดงตั้งคำถามเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่จากผู้ที่ศึกษาพบว่ากลุ่มนี้เป็นคนส่วนน้อยมาก และส่วนใหญ่ไม่ได้ปฏิเสธระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อีกทั้งไม่ได้ปฏิเสธเศรษฐกิจในระบอบทุนนิยม

ในงานศึกษาของเอนกและคณะก็พบว่า ส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 90 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั่วประเทศ เห็นด้วยกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

สำหรับต้นตอของปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในครั้งนี้นั้น วิเคราะห์ได้เป็นความขัดแย้ง 2 ระดับที่ทับซ้อนกันอยู่

ระดับที่หนึ่ง คือ ความขัดแย้งในบรรดาส่วนหัวของชนชั้นนำ

อีกระดับหนึ่งเป็นความขัดแย้งเกิดจากปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม การเมืองที่ทับถมมานาน เป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มมวลชนที่มีรากฐานทางเศรษฐกิจสังคมที่ต่างกัน

ความขัดแย้งในบรรดาส่วนหัวชนชั้นนำ คือ การแก่งแย่งที่จะนำสังคม ระหว่างขั้ว นักธุรกิจ นักการเมือง ข้าราชการ ฟากทักษิณ (แดง) กับนักธุรกิจ นักการเมือง ข้าราชการ ฟากต่อต้านทักษิณ (เหลือง)

อันที่จริง ณ จุดเริ่มต้นเมื่อปี 2544 ชนชั้นนำไทยยังไม่ได้แบ่งขั้ว แทบทุกกลุ่มสนับสนุนทักษิณให้ขึ้นเป็นรัฐบาล โดยพวกเขามีความคาดหวังให้ทักษิณฟื้นฟูและปกป้องระบบเศรษฐกิจจากภาวะวิกฤต อีกทั้งให้นำนักธุรกิจไทยอยู่รอดปลอดภัยจากกระแสโลกาภิวัตน์ พวกเขาได้ร่วมกันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง จนพรรคทักษิณได้เป็นพรรคเสียงข้างมากในสภา แต่ต่อมาพบว่าทักษิณดำเนินนโยบายผิดแผกไปจากความคาดหวังในหลายเรื่องที่สำคัญ ได้แก่

หนึ่ง แทนที่จะปกป้องทุนไทยจากโลกาภิวัตน์ ทักษิณกลับนำเศรษฐกิจถลำลึกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกระแสโลกาภิวัตน์มากขึ้นๆ พร้อมกับที่สามารถสร้างความมั่งคั่งให้กับธุรกิจของตนเองและครอบครัวรวมทั้งพวกพ้องได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ขณะที่สร้างปัญหาให้กับกลุ่มทุนที่ไม่ใช่พรรคพวก

สอง ทักษิณผงาดขึ้นเป็นผู้นำประชานิยมที่สามารถดึงดูดความนิยมชมชอบจากมวลชนชนบทภาคเหนือ ภาคอีสาน และคนรายได้น้อย-ปานกลาง ในเขตเทศบาลอย่างล้นหลาม โดยใช้ชุดนโยบายประชานิยมและบารมีความเป็นผู้นำที่มวลชนรู้สึกว่าให้ความเป็นกันเอง และทำให้พวกเขารู้สึกมีความสำคัญอย่างที่ไม่เคยมีนักการเมืองใดในระบอบรัฐสภาประชาธิปไตยเคยทำได้ถึงขนาดนี้

นโยบายประชานิยมส่งผลให้ต้องดึงเอางบประมาณประจำปีที่ชนชั้นกลางในเมืองเคยได้รับประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยออกไปปันให้ชาวบ้าน

ขณะที่ชนชั้นกลางเห็นว่าเงินงบประมาณส่วนใหญ่มาจากภาษีที่พวกเขาจ่ายมากกว่าชาวบ้านในชนบท ก่อให้เกิดความไม่พอใจและเป็นกังวลต่อไปว่า การใช้เงินเพื่อนโยบายประชานิยมนั้น นอกจากว่าพวกเขาจะไม่ได้ประโยชน์แล้ว ยังจะก่อหนี้สาธารณะที่จะต้องชดใช้ต่อไปในอนาคต

สาม ความนิยมทักษิณอย่างล้นหลามมีนัยยะว่า พรรคของเขาจะสามารถชนะการเลือกตั้งครั้งแล้วครั้งเล่า ก่อให้เกิดความเป็นกังวลว่าทักษิณจะครองเมืองเนิ่นนานไม่สิ้นสุด

สี่ นโยบายต่อต้านยาเสพติดและวิธีแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ภาคใต้ ใช้ความรุนแรงจนเกินเหตุ อีกทั้งปัญหาการคอร์รัปชั่นที่โยงกับตัวเขา สมาชิกครอบครัวและพรรคพวก ทำให้ผู้ที่เคยนิยมทักษิณเปลี่ยนใจ

ขบวนการคนเสื้อเหลืองจึงก่อตัวขึ้นเพื่อต่อต้านทักษิณและพรรคพวกของเขา (ผู้สนับสนุนเสื้อแดงจำนวนมากก็เคยอยู่ในขบวนการนี้ แต่ได้แยกออกไปในภายหลัง) ต่อมาได้มีการขยายประเด็นปัญหาคอร์รัปชั่น บวกกับความไม่จงรักภักดี เป็นประเด็นดึงมวลชนเข้าร่วมขบวนการคนเสื้อเหลือง เพื่อล้มระบอบ "ทักษิณา-ประชานิยม"

แล้วนำเมืองไทยกลับสู่ระบอบก่อนทักษิณ หรือที่เอนกเรียกว่า ระบอบหลัง 14 ตุลา 2516

สำหรับต้นตอของความขัดแย้งที่เกิดจากปัญหาโครงสร้างนั้น นักวิชาการหลายท่านได้วิเคราะห์ว่า เกิดจากปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองระหว่างคนจนและคนรวย ซึ่งได้ทับถมมาจากอดีต (นิธิ, บวรศักดิ์, เอนก, เกษียร, ปีเตอร์ วอร์, ริค โดเนอร์, ชาร์ลส์ คายส์)

งานวิจัยภาคสนามของเอนกและคณะ สุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ ใช้ตัวอย่างกว่า 5,500 ราย พบว่าผู้ที่เข้าร่วมการชุมนุมประท้วงของคนเสื้อแดงจำนวนมากมีรายได้ต่ำกว่า 5,000-10,000 บาทต่อเดือน และเป็นที่ตระหนักกันว่า ผู้สนับสนุนกลุ่มเสื้อแดงมาจากเขตชนบทของภาคอีสานและเหนือเป็นจำนวนมาก และที่เป็นคนงานอพยพทำงานในเขตเมืองต่างๆ และที่กรุงเทพฯ และยังมีมาจากคนรายได้ระดับปานกลางและต่ำภายในเขตเทศบาล

นอกเหนือจากความเหลื่อมล้ำด้านรายได้แล้ว ยังมีปัจจัยด้านสังคมและวัฒนธรรม ชาวบ้านที่อีสานและภาคเหนือของไทยรู้สึกอยู่เสมอว่าชาวเมืองโดยเฉพาะที่กรุงเทพฯดูถูกดูแคลนพวกเขา บ้างก็ว่าเป็นคนลาว คนเมือง ไร้การศึกษา ไม่ศิวิไลซ์ ละครโทรทัศน์จำนวนมากให้ภาพตัวละครจากอีสานหรือชาวบ้านชนบทเป็นคนเซ่อๆ ซ่าๆ ไม่ค่อยรู้อะไร ถูกหลอกได้ง่าย ฯลฯ และผู้สร้างละครมักจะไม่สนใจว่าชาวบ้านจริงๆ เขารู้สึกรู้สากับภาพพจน์เช่นนั้นอย่างไรบ้าง แต่จริงๆ แล้วพวกเขาตระหนักดี และอาจจะเก็บกดความรู้สึกไม่พอใจเอาไว้ลึกๆ มาเป็นเวลานาน

สำหรับปัญหาโครงสร้างที่เกี่ยวโยงกับเรื่องรายได้นั้น ต้องทำความเข้าใจว่าไม่ใช่เรื่อง "จนแทบตายแบบแต่ก่อน" แต่เป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่าง "คนมี" "คนไม่มี" โดยในประเด็นหลังเกี่ยวโยงกับความมุ่งหวัง (rising expectation) ด้วย

คนจนในเมืองไทยเคยมีถึงร้อยละ 60 ของประเทศ (พ.ศ.2503) แต่ขณะนี้ (2550) ลดลงเหลือไม่ถึงร้อยละ 5 แต่ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และความมั่งคั่งกลับสูงขึ้น สถิติที่มีอยู่บอกเราว่า คนจนร้อยละ 20 ของประเทศเคยมีส่วนแบ่งรายได้ทั้งหมดของประเทศ ร้อยละ 6 ขณะนี้ส่วนแบ่งนี้ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 4 แต่คนรวยสุดร้อยละ 20 มีส่วนแบ่งในรายได้รวมของประเทศเพิ่มจากร้อยละ 49 เป็นร้อยละ 54

ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ในเมืองไทยขณะนี้สูงกว่าที่ในยุโรป และสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านแถบอาเซียน แต่สูงกว่าที่อเมริกาเพียงเล็กน้อย

นักวิชาการบางท่านวิเคราะห์ว่า บางทีเจ้าตัวปัญหาอาจจะไม่ใช่ขนาดของความเหลื่อมล้ำเท่านั้น เพราะที่อเมริกาก็ไม่ต่างจากไทยเท่าไหร่ บางทีเจ้าตัวปัญหาหลัก คือ มีความคาดหวังแล้วผิดคาด

ในกรณีของเมืองไทยนั้น ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจได้ก่อตัวมาเป็นเวลาสักพักหนึ่งแล้ว แต่มาปะทุขึ้นมากหลังจากที่เศรษฐกิจบูม แล้วฟุบลงอย่างฮวบฮาบ เศรษฐกิจบูมสร้างความมุ่งหวังให้ผู้คนจำนวนมาก แล้วจู่ๆ เศรษฐกิจฟุบฮวบลงเมื่อ พ.ศ.2540 คนรวยก็เจอปัญหา แต่คนรวยสายป่านยาวกว่า และมีพรรคพวกอยู่ในศูนย์กลางอำนาจที่จะช่วยได้มากกว่าคนจน ผู้ที่อยู่ในฐานะด้อยว่าจึงมีความคับข้องใจสูง

โดยสรุป ปัญหาโครงสร้างมีองค์ประกอบของปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจและสังคม และความคาดหวังที่ไม่สมหวังด้วย

ภาวการณ์ดังกล่าวเปิดโอกาสให้นักการเมืองแบบทักษิณพุ่งขึ้นสู่อำนาจได้ ปัญหาโครงสร้างนี้ถ้าไม่รีบเร่งหาทางแก้ไขที่ต้นตอก็ไม่จะไม่สามารถป้องกันการก่อตัวของนักการเมืองแบบทักษิณในอนาคต กล่าวคือ ถ้าไม่ใช้ทักษิณก็อาจมีคนอื่นพุ่งขึ้นมาได้

จากข้อมูลที่ได้เรียบเรียงมานี้ เราได้ข้อคิดอะไรบ้าง?

ประการที่หนึ่ง การที่คู่ความขัดแย้งมีมวลชนหนุนหลังอยู่พอๆ กันและเป็นจำนวนมาก หมายความว่า ทางออกที่จะกำจัดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จะต้องมีต้นทุนสูงมาก จนเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้

ประการที่สอง ทั้ง 2 ขั้ว มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่าง แต่นี่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก (พรรคแรงงานกับพรรคอนุรักษนิยมที่อังกฤษยังอยู่ร่วมกันได้) ที่ต้องคิดคือ ต้องสร้างกรอบกติกาทางการเมืองที่จะทำให้อยู่ร่วมกันได้แบบสร้างสรรค์ เอนกและคณะได้กล่าวไว้ให้คิดต่อว่า

"ทางเลือกที่จะเดินต่อไปนั้น คือ การปราบปราม ขจัด หรือบั่นทอนสีแดง เพื่อที่จะรักษาประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลา 2516 ให้คงต่อไป แต่วิธีการนี้อันตรายเหลือเกินสำหรับสถาบัน จำเป็นที่จะต้องร่วมกันลอกคราบประชาธิปไตยและเดินอีกทางหนึ่ง คือ ไม่ให้ใครแพ้หมด ชนะหมด...

ประชาธิปไตยจากนี้ไปจะต้องฟังเสียงของประชาชนในความหมายของข้างมาก...(หน้า 119)

แต่ต้องเคารพสิทธิของคนส่วนน้อยด้วย" (หน้า 127) และ

"ระบอบใหม่นี้...ยังต้องขึ้นกับสามฝ่ายร่วมกัน ได้แก่ Monarchy (สถาบันในความหมายจำกัดยิ่งขึ้น) หนึ่ง Aristocracy (หมายรวมถึงคนชั้นกลาง คนมีการศึกษา สื่อ ปัญญาชน ข้าราชการ) หนึ่งและ Democracy (ประชาชนผู้หย่อนบัตร คนธรรมดา สามัญชน คนยากจน) เพียงแต่ลูกตุ้มของนาฬิกาการเมืองเรือนนี้จะเหวี่ยงไปสู่ขั้ว Democracy มากขึ้น" (หน้า 119) ผู้เขียนเข้าใจว่าเอนกและคณะวิเคราะห์ระบอบนี้ภายใต้หลักการ 1 คน 1 เสียง

ประการที่สาม เนื่องจากต้นตอของปัญหายังมีเรื่องความขัดแย้งในส่วนหัวของชนชั้นนำด้วย

เมื่อพูดถึงการประนีประนอมเพื่อให้อยู่ร่วมกันได้ จึงต้องหมายถึงการนำคนระดับหัวของทั้งสองฝ่ายให้มาพูดคุยกัน ในประเด็นนี้นั้นข้อคิดจาก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จึงน่าพิจารณา "ถ้าคุณกล่าวว่ามิสเตอร์ x (ทักษิณ) เป็นต้นเหตุของทุกสิ่งที่เกิดขึ้น ตามหลักเหตุผลคุณจะต้องเจรจากับมิสเตอร์ x"

ขอฝากข้อสังเกตทั้งสามประการนี้ให้รัฐบาลนำโดยคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ขบคิดและดำเนินการ เพราะว่านี่เป็นภารกิจของท่านโดยแท้