ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Friday, 2 April 2010

สัมภาษณ์ ‘สลักธรรม โตจิราการ’ : “เราเป็นแพทย์ เราเป็นคน" และเรื่องแบบ 'เหวงๆ' ที่ไม่โหวง

ที่มา ประชาไท

สัมภาษณ์โดย : ปาลิดา ประการะโพธิ์
นักศึกษาชั้นปีที่ 1 (อาสาทำงาน ‘ประชาไท’)





“ก่อนที่เราจะเป็นแพทย์ พยาบาล หรือเทคนิคการแพทย์

ข้อสำคัญที่สุดคือเราเป็น ‘คน’ เหมือนกับคนอื่นๆ
เมื่อเป็น ‘คน’ แล้ว
เราก็มีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นทางการเมือง
แล้วสามารถที่จะทำงานทางการเมืองได้
ตราบใดที่ยังไม่ละเมิดกรอบของวิชาชีพ”

สลักธรรม โตจิราการ

16 มี.ค.53 ‘สลักธรรม โตจิราการ’ นิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 6 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บุตรชายของ นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. พาทีมบุคลากรทางการแพทย์เจาะเลือดคนเสื้อแดงเพื่อประท้วงรัฐบาล ไม่นานหลังจากนั้น ศิษย์เก่าแพทย์จุฬาฯ ได้ยื่นเรื่องต่อคณะผู้บริหาร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และสมาคมศิษย์เก่าแพทย์จุฬาฯเรียกร้องไม่ให้ออกใบประกอบวิชาชีพแพทย์ให้ และขอให้นำตัวสลักธรรมมาชี้แจงต่อหน้าสื่อ โดยอ้างว่า นำเครื่องหมายกาชาดไปใช้ในทางผิด

นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ อาจารย์คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การตักเตือนนิสิตแพทย์ที่อยู่ในความดูแลด้วยความเป็นห่วงเป็นเรื่องที่ดี แต่ควรเป็นการตักเตือนภายในด้วยความหวังดีและต้องให้เกียรติแก่ นิสิตที่จะต้องเป็นเพื่อนร่วมวิชาชีพในอนาคต ไม่ใช่เป็นการตักเตือนเพื่อสร้างความอับอายให้กับนิสิตต่อหน้าสาธารณะ “ถ้าผมเป็นสลักธรรมและถูกเรียกไปตักเตือนในที่สาธารณะ ผมจะไม่ไป”

ทั้งยังบอกด้วยว่า หากแพทย์สภาไม่อนุมัติใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม สลักธรรมควรที่จะฟ้องศาลปกครอง “ผมคิดว่ามีประเด็นความผิดด้านจริยธรรมอีกมากอย่างเช่น การที่แพทย์ไปประกอบอาชีพทำศัลยกรรมพลาสติกที่ทางผู้ใหญ่ในวงการควรที่จะเอาผิด”

ในขณะที่กิติภูมิ จุฑาสมิต ผอ.รพ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ เห็นว่า เมื่อผู้ป่วยมีความต้องการ (แม้แพทย์จะไม่เห็นด้วยก็ตาม) การที่แพทย์เข้าไปช่วยให้การกระทำนั้นปลอดภัย เป็นการปฏิบัติหน้าที่ ที่แสดงถึงความเคารพใน AUTONOMY ของผู้ป่วย ซี่งเป็นประเด็นที่วงการแพทย์ไทยไม่ค่อยคำนึงถึงนัก

“ที่ผมแปลกใจก็คือ เวลาแพทย์ประกาศจะไม่ให้การรักษากับตำรวจ หรือนักการเมือง หรือกรณีที่แพทย์ปฏิเสธการรักษาผู้ป่วยที่มีญาติใส่เสื้อแดง ทำไมวงการแพทย์ไทยจึงเฉยชาจนน่าตกใจ น่าคิดนะครับ" กิติภูมิตั้งข้อสังเกต

ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา อาจารย์ฝ่ายกิจการนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เรียกสลักธรรมเข้าไปพบเพื่อชี้แจงต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ‘ประชาไท’ เลยถือโอกาสเข้าไปพูดคุยกับนักศึกษาแพทย์หนุ่ม เพื่อสอบถามผลการพิจารณาและเรื่องราวที่เกิดขึ้น

0 0 0

ประชาไท : มีคนออกมาโจมตีเรื่องการเจาะเลือดของกลุ่ม นปช.ในหลายแง่ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการเจาะเลือด คิดว่าอย่างไร?
สลักธรรม : ก่อนอื่นต้องอธิบายว่า ผมไม่ได้ไปเจาะเลือด 100% งานหลักของผม คือช่วยการประสานงาน ดูว่าของตรงไหนขาด อย่างเช่น เข็มฉีดยา, กระบอกฉีดยา สำลี หรือว่าแอลกอฮอล์ จัดหาสิ่งที่อำนวยความสะดวกมากกว่า

ตอนแรกทางกลุ่ม นปช.ของเราต้องการจะแสดงให้สังคมโลกเห็นว่า เรายินดีที่จะสละเลือด สละเนื้อของเราเพื่อประชาธิปไตย ต้องการแสดงสัญลักษณ์แบบนั้น แต่เราก็มาดูว่า การประท้วงแบบเก่าๆ เช่น การกรีดเลือดให้พุ่งออกมา การตัดนิ้ว ตัดแขน อะไรแบบนี้มันดูเป็นภาพที่รุนแรงและ “อนารยะ” มากเกินไป แล้วก็ไม่ใช่ว่าเราจะไปเสียเลือดเนื้อด้วยการตีรันฟันแทง เพราะว่ามันผิดกับนโยบายของเราที่จะใช้สันติวิธี เรามีการพูดคุยกัน จนสรุปได้วิธีการเจาะเลือด โดยพยายามใช้บุคลากรทางการแพทย์ในการเจาะเลือดและดำเนินการต่างๆ เพื่อให้การเจาะเลือดเป็นมาตรฐานเหมือนกับที่ทำในโรงพยาบาลและคลินิกต่างๆ

ทางฝ่ายกิจการนิสิตจุฬาฯเรียกเข้าไปพบเป็นอย่างไรบ้าง?
การเจาะเลือดในทางการเมือง อาจารย์ไม่ได้ถาม เพราะท่านทราบว่าเป็นประเด็นละเอียดอ่อน แล้วคิดว่าอาจารย์ก็คงจะเข้าใจว่า ทัศนะทางการเมืองของแต่ละคนมีสิทธิที่จะแตกต่างกัน แต่สิ่งที่ทางอาจารย์เป็นกังวลและอยากจะตักเตือนก็คือ เรื่องที่ผมใส่เสื้อกาวน์สั้น มีตรากาชาดเขียนว่า โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มาในสถานที่เจาะเลือดด้วย ท่านก็เป็นกังวลว่า ตรากาชาดจะถูกดึงไปใช้ในทางการเมืองของฝ่ายเสื้อแดงหรือเปล่า

ผมก็เลยอธิบายไปว่า ที่เราใส่เสื้อกาวน์มา ไม่ได้มีเจตนาที่จะสำแดงว่า เราเป็นคนของสภากาชาดไทยหรือโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ แต่ที่ผมใส่เข้ามาเพื่อแสดงให้เห็นว่า คนที่มาดำเนินการเจาะเป็นบุคลากรทางการแพทย์ มีมาตรฐานเดียวกันกับผู้ที่ดำเนินการอยู่ตามโรงพยาบาลต่างๆ สมมติว่า เราเอาคนที่ไหนไม่รู้มาใส่เสื้อแดง ก็จะกลายเป็นว่า เราเอาใครที่ไหนไม่รู้มาเจาะเลือด แต่ไปๆ มาๆ เราระดมคนมากขึ้นก็อาจจะทำไม่ได้ 100% แต่ทุกคนที่มาก็มีการตรวจสอบบัตรกันแล้วว่า เป็นพยาบาล เทคนิคการแพทย์ หรือว่าเป็นแพทย์

พอใจไหมกับผลการพิจารณาของอาจารย์ฝ่ายกิจการนิสิต?
ท่าทีของท่านก็มีการระมัดระวังอยู่พอสมควร จะไม่พูดก้าวล่วงทางการเมือง ผมรับทราบแล้วก็เข้าใจ คนที่เข้ามาทำเรื่องที่จะถอดใบปริญญาของผมหรือว่าอะไร เขาไม่ได้เป็นฝ่ายบริหารของคณะ มันก็เป็นแค่ความเห็นของศิษย์เก่าของคณะที่อาจจะไม่พอใจในการกระทำของผม ท่านก็ได้แสดงออกมาในเฟซบุ๊ค แล้วก็ให้คนไปลงชื่อ เพื่อจะนำไปร้องเรียนผู้บริหารอีกที

เขานำหนังสือร้องเรียนไปยังแพทยสภาหรือยัง?
เท่าที่ทราบ ไม่มีการดำเนินการในส่วนดังกล่าว แม้กระทั่งคณาจารย์หลายท่านที่เป็นเสื้อเหลืองก็ไม่เห็นด้วยที่จะถอดใบประกอบวิชาชีพหรือถอดใบปริญญา

ผมคิดว่าแต่ละท่านมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นได้ ถ้าจะมีการถอดปริญญา ก็ต้องมีการตั้งคณะกรรมการมาคุย แล้วก็มีการชี้แจง อธิบายไปตามหลักเกณฑ์ ไม่ใช่นึกจะถอดก็ถอดได้ สังคมจะเป็นผู้ตัดสินเองว่า สิ่งที่ผมทำมันเหมาะสมหรือไม่

เจอแรงเสียดทานอะไรไหม?
ผมไม่ได้เจอแรงเสียดทานอะไรรุนแรง ผมทำงานตามปกติ เชื่อว่าอาจารย์ทั้งหลายคงจะสามารถเข้าใจว่า ทุกคนมีทัศนะทางการเมืองที่ต่างกันได้

ช่วงที่ผมอยู่ปี 4 เวลาเรียนแพทย์ เขาจะแบ่งงานกันไปตามสายการทำงาน ผมไปอยู่แผนกสูติศาสตร์ แผนกเดียวกับ อ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ (อาจารย์ที่ประกาศตัวสนับสนุนและขึ้นเวทีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ - วงเล็บโดย 'ประชาไท') อาจารย์เป็นคนดูแลผมเลย สอนผมทำคลอด ผมยังจำได้ ท่านก็ไม่ได้แตะทางการเมืองหรือมาเล่นงานกัน หรือแม้กระทั่งช่วงหลัง ก่อนหน้าที่จะมีเรื่องนี้ ท่านก็ยังทักทายผมเลยว่า เธอเป็นอย่างไรบ้าง

ผมเลยคิดว่า ถ้าเรามีจิตใจที่ “เปิดกว้าง” มากพอก็จะเป็นประโยชน์ ไม่ว่าจะอยู่ในที่ใด เวลามีคนมาถามว่า เรื่องราวเป็นอย่างไร เราก็อธิบายแลกเปลี่ยนทัศนะไป ให้เรารับรู้ความคิดของเขา และเขารับรู้ความคิดของเรามากขึ้น ซึ่งผมคิดว่าอันนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นในระบอบประชาธิปไตย เราไม่ได้คาดหวังว่า เขาจะมาเชื่อหรือจะต้องเปลี่ยนความคิดเป็นสีแดงทันที

ผู้ที่มีวิชาชีพเกี่ยวกับการดูแลรักษาชีวิตคน คิดว่าเขาต้องมีลิมิตในการแสดงออกทางการเมืองหรือไม่?
ก่อนที่เราจะเป็นแพทย์ พยาบาล หรือเทคนิคการแพทย์ ข้อสำคัญที่สุดคือเราเป็น “คน” เหมือนกับคนอื่นๆ เมื่อเป็น “คน” แล้ว ไม่ว่าเราจะเป็น นายแพทย์ ก นายแพทย์ ข นางพยาบาล ก นางพยาบาล ข เราก็มีสิทธิที่ไม่อาจปฏิเสธได้ คือสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นทางการเมือง แล้วสามารถที่จะทำงานทางการเมืองได้ ตราบใดที่ยังไม่ละเมิดกรอบของวิชาชีพ

ผมจะยกตัวอย่าง เช่น ซุนยัดเซ็น บิดาการปฏิวัติของจีน ท่านก็เป็นแพทย์ แต่ก็ทำงานทางการเมือง แล้วไม่ได้ทำอะไรล่วงละเมิดจรรยาบรรณของแพทย์ในช่วงชีวิตท่าน แพทย์ก็มีจรรยาบรรณอยู่ว่า จะรักษาทุกคนที่เข้ามา แม้เป็นสัตว์ร้ายเราก็ต้องรักษา ถ้าเราไม่ละเมิดตรงนี้ เราก็มีสิทธิที่จะดำเนินการทางการเมืองได้อย่างเต็มภาคภูมิ เต็มศักดิ์ศรี

ช่วง 2-3 วันนี้ คนที่มาร่วมชุมนุมน้อยลงมากไหม คิดอย่างไร?
จุดสำคัญที่สุดอยู่ที่ไอเดียของเสื้อแดงได้กระจายทั่วแผ่นดินไปแล้ว แน่นอนว่า คนของเราก็ต้องมีพักเหนื่อย ไปทำงานทำการกันบ้าง เพราะเราไม่ใช่ประเภทเกณฑ์คนมานั่งนอนได้ตลอด 24 ชั่วโมง แต่เท่าที่คุยเขาบอกว่ากลับมาแน่นอน แต่จะเห็นว่า ในช่วงค่ำแนวโน้มจะมีคนมาเพิ่มมากขึ้น แสดงว่าคนที่มาร่วมชุมนุมนั้นเป็นคนกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดครึ่งต่อครึ่ง การที่รัฐบาลยอมเจรจา เขาก็ต้องประเมินแล้วว่าคนของเรามีมาก

ได้ติดตามการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับตัวแทนคนเสื้อแดงหรือเปล่า?
ได้ดูบ้างครับ ผมก็ไม่ทราบว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์ได้รับแรงกดดันอะไรหรือเปล่า เห็นได้ชัดจากท่าทีวันแรก ว่าการยุบสภาไม่ได้พูดอย่างชัดเจน พอมาตอนหลังเขาก็ค่อนข้างจะชัดแล้วว่าจะมีการยุบสภา แสดงให้เห็นว่า การเจรจาได้ประสบผลไปทีละนิดหน่อย แน่นอนว่ารัฐบาลก็ต้องเรียกราคาให้สูงที่สุด ก็เป็นว่าจะยุบสภาภายใน 9 เดือน แต่ในทัศนะของผม ถ้ามัวแต่จะไปแก้รัฐธรรมนูญ ก็จะเกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้นมาอีก กลายเป็นไฟที่มาจุดเชื้อให้มันโหมกว้างออกไป ควรจะยุบสภาให้เร็วที่สุด แล้วไปแก้รัฐธรรมนูญหลังจากมีรัฐบาลใหม่ขึ้นมาแล้ว ก็จะเป็นข้อเสนอที่สมเหตุสมผลและแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็วมากกว่า

แน่นอนว่า มีบางคนบอกว่าการเลือกตั้งไม่ใช่ที่สุดของทุกอย่าง แต่มันคือสิ่งพื้นฐานของประชาธิปไตย ถ้าเราไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง เราก็ไม่รู้จะยอมรับอะไรแล้ว

ผมคิดว่าคุณพ่อได้พยายามชี้แจงอย่างเต็มที่แล้ว จะเห็นว่ามีการหยิบยกปัญหาทางด้านรัฐธรรมนูญมาถกกัน ท่านก็จะอธิบาย ถ้าตั้งใจฟังก็จะรู้ชัดเจนว่า มันเป็นปัญหาของรัฐธรรมนูญ ปัญหาของตัวประชามติ ท่านพยายามอธิบาย แต่อาจจะมีบางคนไม่รู้ ไม่เข้าใจจริงๆ หรือว่าไม่อยากเข้าใจ ก็มาบอกว่า พูดจาวกวน ไปบัญญัติศัพท์ใหม่อยู่ในอินเตอร์เน็ต แต่เท่าที่ผมฟังเอง ผมว่าคุณพ่อก็อธิบายชัดเจน คนอื่นที่ไม่ได้ตั้งใจฟังเขาก็อาจจะไม่เข้าใจ

แล้วพยายามสร้างวาทกรรมใหม่ขึ้นมา แทนที่จะให้เป็นวาทกรรมที่เกิดขึ้นแบบเป็นไปเอง อย่าง กรณี 'ไพร่' กับ 'อำมาตย์' มีความพยายามที่จะสร้างวาทกรรมใหม่เพื่อกลบเกลื่อนสารัตถะสำคัญของการเจรจา เพราะว่าเขาไม่สามารถที่จะโต้เถียงในเรื่องนี้ได้ ก็พยายามเฉไฉไปเรื่องอื่น ผมคิดว่าคุณพ่อได้ทำหน้าที่ได้ดีที่สุดแล้วในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

มีเว็บข่าวเว็บหนึ่งนำเรื่องคำที่เกิดขึ้นใหม่จากการเจรจาไปเผยแพร่ คิดอย่างไร?
โดยทั่วไป ตามมารยาทและวัฒนธรรมของสังคมไทย คนไทยจะไม่ชอบเอาชื่อคนอื่นไปล้อเลียนข่มขู่หรืออะไร ผมคิดว่าคำนี้คงอยู่ได้ไม่นาน ข้อที่สองคือ วาทกรรมนี้ไม่ได้มีฐานรองรับจากความเป็นจริงของสังคม ไม่เหมือนคำว่า “อมาตยาธิปไตย” และ “สองมาตรฐาน” ซึ่งมันมีความเป็นจริงในสังคมรองรับให้วาทกรรมนี้เติบโตและเบ่งบานอย่างรวดเร็ว ผมก็เลยไม่กังวลใจหรอก เขาอยากจะพูดก็พูดไป

ครั้งหนึ่งถูกถามว่า ทำไมคนต้องลุกมาต่อสู้ทางการเมือง คนชอบพูดว่าประเทศไทยอุดมสมบูรณ์ ทุกคนมีกินมีใช้ ไม่มีใครอดตาย แต่มีอยู่ครั้งหนึ่ง คนไข้นอนอยู่หอผู้ป่วย มีญาติเขาเดินเข้ามาถามว่า คุณหมอครับ จะให้คนไข้กลับบ้านวันนี้เลยได้ไหม คือสภาพคนไข้จริงๆ ยังไม่ถึงกับให้กลับบ้านได้ ต้องคุยกับอาจารย์ที่เป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลอีกที ผมเลยถามไปว่า คุณมีความจำเป็นอะไรถึงต้องออกจากโรงพยาบาล ผมไปเปิดดูในแฟ้มประวัติว่า คนนี้ก็มีสิทธิ 30 บาทอยู่แล้ว ก็ไม่น่าจะมีปัญหาการเงิน คนเฝ้าไข้ก็บอกว่า ผมไม่มีเงินจะกินข้าวแล้ว

ผมได้ยินแล้วก็อึ้ง ที่บอกว่าประเทศนี้อุดมสมบูรณ์ ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ทำไมคนของเราถึงยังยากจน ถึงขนาดมี 30 บาทแล้ว เขายังไม่สามารถมีเงินเพื่อที่จะกินข้าวได้ ทั้งๆ ที่อีก 1-2 วัน เขาก็จะได้กลับบ้านแล้วแท้ๆ

นี่คือสาเหตุที่ผมเข้าใจเลยว่า ทำไมประชาชนถึงออกมาตากแดดตากฝน สู้เพื่อการเมือง คนชั้นกลางเขาจะไม่เข้าใจหรอกว่า ทำไมถึงต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง เพราะเขาไม่ได้เจอความลำบากแบบนี้

จุดเริ่มต้นที่หันมาสนใจการเมือง
ผมเป็นบุคคลธรรมดาที่สนใจการเมือง ส่วนหนึ่งก็มาจากการที่คุณพ่อคุณแม่ได้ทำกิจกรรมทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ถ้าผมสงสัยอะไรก็ถามเขา แต่ก็ไม่ได้ออกไปเคลื่อนไหวทำกิจกรรมอะไร

ต้องเท้าความว่า มาเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองตั้งแต่ตอนที่มีกลุ่ม 19 กันยา หลังรัฐประหารใหม่ๆ ผมก็มาฟังปราศรัยที่สนามหลวง หรือมาส่งคุณพ่อบ้าง แต่ก็ไม่ได้มาทุกวันทุกคืน เพราะว่าผมติดเรียน เวลามาก็มานั่งคุยกับคนอื่นมากกว่า

ตอนนี้เรียนจบแล้วใช่ไหม?
จบแล้วครับ ได้ใบจบมาแล้ว รอจับฉลากใช้ทุนไปต่างจังหวัด 3 ปี

ชีวิตจะเอาอย่างไรต่อ?
ผมเคยไปอยู่จังหวัดหนึ่งทางอีสานใต้ หอผู้ป่วยอยู่ชั้นสอง ก็ต้องเริ่มดูคนไข้ทีละคน ตั้งแต่ระเบียงไปจนถึงข้างใน มีหมอไม่พอ ต้องใช้คำนี้เลย ทั้งหมอทั่วไปและเฉพาะทาง

มี 2 อย่างคือ 1.ทำงานเป็นคุณหมอในพื้นที่ 2.คือเรียนต่อเฉพาะทางเพื่อกลับไปทำงานในพื้นที่ แต่คิดว่าคงทำงานต่างจังหวัดมากกว่า เพราะหมอในกรุงเทพฯมีมากแล้ว

หนังสือส่งถึง คณะผู้บริหาร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และสมาคมศิษย์เก่าแพทย์จุฬาฯ
กรณีนายสลักธรรม โตจิราการ ใส่เสื้อกาชาดไปเจาะเลือด
(จาก facebook ของ นพ.พีร์ เหมะรัชตะ)

เรียน คณะผู้บริหาร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสมาคมศิษย์เก่าแพทย์จุฬาฯ

เนื่องด้วยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สื่อต่างๆ ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ และอินเตอร์เน็ต ได้เผยแพร่ข่าวนำเสนอว่า นายสลักธรรม โตจิราการ นิสิตปี 6 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ไปตั้งตนเป็นแกนนำ ดำเนินการอำนวยความสะดวกในการเจาะโลหิตให้ผู้ประท้วงกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ซึ่งสื่อได้นำเสนอภาพของนายสลักธรรม สวมเสื้อกาวน์สั้น มีเครื่องหมายกาชาดและชื่อโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ที่อกเสื้ออย่างชัดเจน มือข้างหนึ่งถือแกลลอนพลาสติกบรรจุโลหิตของผู้ประท้วง

ภาพของนายสลักธรรมในเครื่องแบบของสภากาชาดไทย พร้อมทั้งเนื้อข่าวที่ระบุชัดเจนว่า นายสลักธรรม เป็นนิสิตคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับการเผยแพร่ไปอย่างกว้างขวางในทุกสื่อ และนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมว่า แท้จริงแล้ว คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือแม้กระทั่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มีความเห็นชอบและสนับสนุนการเรียกร้องในลักษณะดังกล่าวของกลุ่ม นปช. หรือไม่ ทั้งนี้หากติดตามข่าวสารอย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้ว่า ก่อนหน้านี้ สถาบันการศึกษาที่ผลิตบุคลากรทางการแพทย์หลายสถาบัน ได้ออกมาแสดงจุดยืนว่าไม่สนับสนุนแผนการเรียกร้องในลักษณะดังกล่าวของกลุ่ม นปช. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

หากพิจารณาให้ถี่ถ้วนตามหลักจริยธรรมการแพทย์แล้ว การนำโลหิตของบุคคลใดออกจากร่างกาย เพื่อจุดประสงค์อื่นใดนอกเหนือจากเพื่อการวินิจฉัย รักษาพยาบาล หรือบริจาคให้ผู้ป่วยรายอื่นๆ นับเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ โลหิตยังจัดเป็นสิ่งมีค่ายิ่งสำหรับผู้ป่วยและแพทย์ที่ต้องให้การรักษา การนำโลหิตมาเททิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรประพฤติปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง ทางคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นสถาบันอันมุ่งหมายที่จะผลิตแพทย์ที่มีความรู้คู่คุณธรรม ใฝ่รู้และมีเจตคติในการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข ตามพันธกิจของคณะ รวมไปถึงสภากาชาดไทย ซึ่งเป็นองค์กรที่บริหารจัดการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ย่อมต้องมีความเข้าใจในข้อเท็จจริงนี้เป็นอย่างดี

แต่จากเหตุการณ์ข้างต้น จะเห็นได้ว่า นายสลักธรรม ซึ่งเป็นนิสิตคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลับแสดงพฤติกรรมที่สวนทางกับหลักกาชาดสากล และยังนำเอาสัญลักษณ์ของสภากาชาดไทย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ติดตัวออกไปนำเสนอต่อสื่อด้วย ซึ่งจัดเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม และสร้างความเสียหายให้แก่ชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นอย่างยิ่ง หากทางคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่กระทำการใดๆ เพื่อชี้แจงต่อสังคม ว่าพฤติกรรมดังกล่าวไม่เป็นที่ยอมรับ และไม่ได้รับการสนับสนุนจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว อาจทำให้เกิดความเสียหายอย่างถาวรต่อชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือขององค์กร ต่อเนื่องไปได้

จากเหตุผลเหล่านี้ กลุ่มศิษย์เก่า คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอเรียกร้องให้คณะผู้บริหาร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสมาคมศิษย์เก่าแพทย์จุฬาฯ นำตัวนายสลักธรรม โตจิราการ มาชี้แจงข้อเท็จจริง พร้อมรับการตักเตือนตามสมควร ต่อหน้าสื่อมวลชน และสมควรพิจารณาส่งเรื่องให้แพทยสภาเพื่อวินิจฉัยเพิ่มเติมถึงความเหมาะสมใน การรับใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม เพื่อให้สังคมได้รับรู้ว่า คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่สนับสนุนการกระทำเช่นนี้ เพื่อเป็นการรักษาไว้ซึ่งเกียรติของพระนามจุฬาลงกรณ์ ตลอดจนชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมไปถึงศักดิ์ศรีความบริสุทธิ์ของวิชาชิพแพทย์อีกด้วย

จึงเรียนมาเพื่อทราบและโปรดพิจารณา