ที่มา ประชาไท
ความรู้ทางสังคม ศาสตร์-มนุษยศาสตร์ จะต้องตอบหรืออธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมให้แก่สังคมได้ หากความรู้ทางสังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์ ไม่สามารถตอบคำตอบปรากฏการณ์ทางสังคมหรือตอบแบบมักง่าย ก็ไร้ค่าไร้ความหมายที่จะดำรงอยู่ในสังคม
ในฐานะที่ผมหากินอยู่กับความรู้สังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์ ผมจึงขอตั้งคำถามเพื่อให้เราทั้งหลายได้ร่วมกันหาคำตอบให้แก่สังคมไทยครับ
คำถามที่ผมคิดว่าสำคัญมากในช่วงเวลานี้ ได้แก่ การเข้าการรวมกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนเสื้อแดงเกิดขึ้นเพราะอะไรและ เกิดขึ้นได้อย่างไร แน่นอนว่า การเกิดขึ้น บทบาท และการดำรงอยู่ของกลุ่มเสื้อเหลืองก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน หากแต่บทบาทของกลุ่มเสื้อเหลืองน่าจะแผ่วลงไปในช่วงนี้ จึงขอยกยอดเอาไว้เป็นคำถามที่สำคัญรองลงมาครับ
ก่อนที่ผมจะลองตอบว่าการรวมกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มเสื้อแดง เกิดขึ้นเพราะอะไร ผมขออธิบายเท้าความกลับไปยังความเป็นคนเสื้อแดงก่อนนะครับ (ซึ่งผมได้เคยกล่าวไว้บ้างแล้วในหลายบทความก่อนหน้านี้ ขออภัยที่เขียนซ้ำบ้าง) กล่าวคือ คนเสื้อแดงเป็นผลมาจากความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา ความเปลี่ยนแปลงของการผลิตเชิงพาณิชย์ขยายตัวเข้าไปสู่ภาคการเกษตรและดึงดูด ให้คนในภาคเกษตรกรรมได้เปลี่ยนแปลงตนเองมาสู่การทำงานนอกภาคการเกษตรมาก ขึ้นๆ และช่องทางที่คนกลุ่มนี้เข้ามาได้มากที่สุด ได้แก่ การผลิตภาคไม่เป็นทางการ
การขยายตัวของการผลิตภาคไม่เป็นทางการได้เชื่อมต่อและเปลี่ยนแปลงลักษณะ ความสัมพันธ์ระหว่างเมืองกับชนบทไปอย่างสิ้นเชิง คนในพื้นที่ชนบทได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่เมือง ความเป็นเมืองและชนบทละลายและพร่ามัวไม่ชัดเจนอย่างเดิมอีกต่อไป (จึงไม่น่าแปลกใจที่อาจารย์ชาญวิทย์ได้เสนอว่ากลุ่มเสื้อแดงไม่ใช่คนภูธรแล้ว)
รายได้จากการผลิตไม่เป็นทางการนี้ กลายมาเป็นหลักในการดำรงชีวิตแทนการทำนาหรือทำเกษตรกรรมรูปแบบอื่นๆ การทำงานในภาคเกษตรกรรม อาทิเช่น การทำนากลายเป็นเพียงหลังพิงให้แก่ครอบครัวเท่านั้น คนขับแท็กซี่หลายท่านได้บอกตรงกันว่าการทำนาสมัยนี้ง่ายกว่าสมัยก่อนมาก พวกเขาหาเงินสดจากการขับรถแท็กซี่แล้วไปเป็น "ผู้จัดการนา" สักหนึ่งอาทิตย์ก็เรียบร้อยแล้ว และข้าวที่ได้ก็เป็นเพียงหลักประกันพื้นฐานสำหรับครอบครัวที่ยังอยากจะเก็บ ข้าวเอาไว้กินเท่านั้นเอง แต่ส่วนมากแล้ว ก็มักจะขายเอาเงินสดทันที (รถเกี่ยวข้าวจะเกี่ยวข้าวเสร็จแล้วใส่กระสอบส่งไปสู่โรงสีทันที) แล้วซื้อข้าวสารกินจากร้านค้าในหมู่บ้าน
การขยายตัวของภาคการผลิตไม่เป็นทางการนี้ เป็นการสร้างสรรค์ที่สำคัญและยิ่งใหญ่มากอันเกิดขึ้นโดยธรรมชาติของกลุ่มคน ที่ไม่ได้รับโอกาสต่างๆ จากรัฐ การสร้างสรรค์ที่มุ่งเพียงเพื่อที่จะอยู่รอดให้ได้นี้กลายมาเป็นช่องทางที่ สำคัญของคนจำนวนมากในสังคมไทย เท่าที่นักวิชาการคาดการณ์ไว้น่าจะอยู่ประมาณร้อยละหกสิบห้าของกำลังแรงงาน ทั้งหมด
กลุ่มคนในภาคการผลิตไม่เป็นทางการที่ขยายตัวมากขึ้นๆ ได้รับอานิสงส์โดยตรงจากนโยบายประชานิยมจากรัฐบาลทักษิณ ซึ่งกุนซือของอดีตนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่ง ได้แก่ คุณพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ได้ใช้ความคิดจากหนังสือเรื่อง The Other Path : The Invisible Revolution in the Third World ของ Hernado de Soto ซึ่งเน้นการทำความเข้าใจในความหมายและความสำคัญของภาคการผลิตไม่เป็นทางการ นี้มาใช้เป็นฐานในการสร้างนโยบายประชานิยม ไม่ว่าจะเป็นนโยบายแปลงสินทรัพย์เป็นทุน การเจาะเข้าสู่กลุ่มที่อยู่ในภาคการผลิตไม่เป็นทางการ อาทิเช่น การคมนาคมไม่เป็นทางการ (วินมอเตอร์ไซค์ เป็นต้น) รวมถึงการขยายพื้นที่ให้แก่การผลิตไม่เป็นทางการ อาทิเช่น การสร้างตลาดภายในให้แก่สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์
การที่รัฐได้เปิดโอกาสให้แก่คนในภาคการผลิตไม่เป็นทางการนี้เอง จึงทำให้คนจำนวนมากที่สังกัดอยู่ในภาคการผลิตนี้ชื่นชมนโยบายเหล่านี้อย่าง ยิ่ง (ผมอยากให้คนในรัฐบาลอ่านหนังสือที่เกี่ยวข้องกับการผลิตไม่เป็นทางการให้ มากกว่านี้ จะได้คิดอะไรได้มากขึ้น หรืออย่างน้อยก็ส่งคนไปคุยกับคุณพันศักดิ์ วิญญรัตน์ บ้างจะเป็นไร)
เมื่อเปลี่ยนมาสู่รัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แม้ว่าจะพยายามสานต่อนโยบายประชานิยมแต่คงเป็นเพราะไม่เข้าใจหัวใจของภาคการ ผลิตไม่เป็นทางการ จึงทำให้ไม่สามารถเจาะเข้าไปในแต่ละกลุ่มอาชีพได้ ผมรู้สึกว่ารัฐบาลนี้ยังมองสังคมไทยแบบเดิมที่คนส่วนใหญ่ยังเป็นชาวนา ส่วนการทำงานนอกภาคเกษตรนั้นเป็นเพียงหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยว (ซึ่งหากเป็นอย่างที่ผมรู้สึก ก็คงต้องโทษบรรดานักวิชาการและนักพัฒนาเอกชนที่แวดล้อมรัฐบาลว่าเชยมาก)
ผมได้มีโอกาสเสวนาร่วมกับผู้นำทางเศรษฐกิจท่านหนึ่ง ที่ได้ร่วมสร้างรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ท่านอธิบายแก้ตัวให้แก่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำนองว่าในกระบวนการร่างได้พบปะชาวบ้านมากมาย แม้ว่าผมยอมรับว่าท่านได้พบประชาชนจริง แต่ผมรู้สึกว่าการพบปะชาวบ้านของกลุ่มผู้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นการพบปะชาวบ้านเพียงกลุ่มเดียว คือ กลุ่มที่มีนักพัฒนาเอกชนสายพี่เปี๊ยก และสาย กป.อพช. (พิภพ ธงไชย บำรุง บุญปัญญา ฯลฯ) ดังจะเห็นได้ว่าคนที่เข้าไปมีส่วนร่วมในรัฐธรรมนูญฉบับนี้มักจะเป็นคนจากสายนี้ ซึ่งชาวบ้านของปัญญาชนกลุ่มนี้มีอยู่น้อยมาก ถ้าเทียบกับสัดส่วนชาวบ้านที่อยู่ในภาคการผลิตไม่เป็นทางการ
แม้ว่าปัญญาชนกลุ่มนี้จะปรารถนาดีต่อชาวบ้าน แต่กระบวนทัศน์ของเขาก้าวไม่ทันความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย ผมเองมีเพื่อนอยู่กลุ่มนี้มากมายทุกภาค แต่หลังจากพยายามทะเลาะกับเพื่อนเพื่อให้เพื่อนมองสังคมไทยให้ดีขึ้น (ไม่จำเป็นต้องมองอย่างผมหรอก แต่มองให้ออกนอกกรอบเดิมหน่อย) ก็ทำให้ไม่ถูกเชิญไปอภิปรายร่วมด้วยเลย (ด้วยข้อหาว่าท่าทีไม่เป็นมิตร: คำกล่าวนี้มาจากพี่ชัชของน้องๆ ภาคเหนือครับ ฮา)
การที่ผู้นำในรัฐบาลและปัญญาชนในสังคมไทยไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของ สังคมจริงๆ จึงยิ่งทำให้คนในภาคการผลิตไม่เป็นทางการรู้สึกว่าตนเองถูกปิดกั้นโอกาสใน การเลื่อนฐานะ (รัฐบาลไม่ชอบคำว่า "ชนชั้น" ผมไม่ใช้ในตอนนี้ก็ได้) และทำให้ขัดเคืองมากขึ้น เมื่อตลาดภายในไม่ขยายตัวอันเนื่องมาจากระบบเศรษฐกิจภาคทางการซวนเซ
คำตอบเบื้องต้นในเรื่องที่มาของกลุ่มคนเสื้อแดง ก็คือ การขยายตัวของคนในภาคการผลิตไม่เป็นทางการที่มีจำนวนมหาศาล และคนกลุ่มนี้กำลังประสบโอกาสในการเลื่อนฐานะ แต่ถูกทำให้รู้สึกว่าโอกาสนั้นถูกปิดตายไปภายใต้รัฐบาลนี้
ความรู้สึกคับข้องใจและเจ็บปวดที่โอกาสของตนถูกปิดเช่นนี้ จึงเป็นช่องทางให้การแพร่ขยายของความคิดเรื่อง "อำมาตย์กับไพร่" สะพัดไปได้อย่างกว้างขวาง และกลายเป็นคำกล่าวที่สรุปยกระดับต้นเหตุของการปิดโอกาสชีวิตของตนได้ชัดเจน สำหรับความรู้สึกของพวกเขา
คำถามต่อไป ได้แก่ การเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อแดงมาได้อย่างไร เอาไว้คราวหน้าครับ