ที่มา Thai E-News
แถลงการณ์กลุ่ม ๕ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เรื่อง ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
ตามที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี อำเภอเมืองสมุทรปราการ อำเภอบางพลี อำเภอพระประแดง อำเภอพระสมุทรเจดีย์ อำเภอบางบ่อ และอำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ อำเภอธัญบุรี อำเภอลาดหลุมแก้ว อำเภอสามโคก อำเภอลำลูกกา และอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม และอำเภอวังน้อย อำเภอบางปะอิน อำเภอบางไทร และอำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวมทั้งประกาศ คำสั่ง และข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๓ นั้น
เรา กลุ่ม ๕ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความเห็นและข้อเรียกร้อง ดังนี้
๑. เสรีภาพการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ เป็นเสรีภาพที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ และเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานในรัฐเสรีประชาธิปไตย
๒. ข้อเรียกร้องของคนเสื้อแดง คือ ให้นายกรัฐมนตรียุบสภาผู้แทนราษฎรภายใน ๑๕ วัน ข้อเรียกร้องดังกล่าว เป็นข้อเรียกร้องทางการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องปกติในรัฐเสรีประชาธิปไตย การปิดถนนและการยึดพื้นที่สาธารณะบางส่วน เป็นเครื่องมือในการเรียกร้องให้รัฐบาลเจรจาต่อรองกับผู้ชุมนุม หากการกระทำดังกล่าว มีความผิดตามกฎหมายใด รัฐบาลและเจ้าหน้าที่สามารถบังคับใช้กฎหมายนั้นเพื่อออกมาตรการที่เหมาะสมเพื่อป้องกัน ปราบปราม หรือลงโทษผู้กระทำผิดนั้นได้
๓. ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน มีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง ไม่เพียงต่อผู้ชุมนุมเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงประชาชนทั่วไปในวงกว้างอีกด้วย การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงต้องคำนึงถึงหลักความได้สัดส่วนเป็นสำคัญ
เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริง เราเห็นว่า การชุมนุมทางการเมืองของคนเสื้อแดง ยังอยู่ในกรอบของการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ หากรัฐบาลต้องการให้ผู้ชุมนุมออกจากสถานที่สาธารณะ รัฐบาลสามารถใช้มาตรการอื่นๆได้ โดยไม่จำเป็นต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ส่วนกรณีระเบิดตามสถานที่ต่างๆ ในแต่ละวันนั้น ยังไม่มีข้อเท็จจริงใดแสดงให้เห็นว่า เหตุการณ์นี้เกี่ยวข้องกับการชุมนุมของคนเสื้อแดง
เมื่อพิจารณาถึงเนื้อหาของประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน คำสั่ง และข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง จะเห็นได้ว่า มีเนื้อหาที่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพจำนวนมาก ทั้งในแง่ความเข้มข้นของมาตรการ และในแง่พื้นที่ซึ่งครอบคลุมในหลายจังหวัด
เราเห็นว่าการชุมนุมของคนเสื้อแดงยังไม่ถือเป็น “สถานการณ์ฉุกเฉิน” ตามความในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ อันเป็นเหตุให้นายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้ และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนี้ เป็นมาตรการที่เกินความจำเป็น และไม่ได้สัดส่วน
๔. มาตรา ๑๖ ของ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ บัญญัติว่า ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามพระราชกำหนดนี้ ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง
นั่นหมายความว่า ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามพระราชกำหนดนี้ ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมความชอบด้วยกฎหมายของศาลปกครอง และไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะไม่ได้เป็นคดีรัฐธรรมนูญ ส่วนจะอยู่ภายใต้การควบคุมของศาลยุติธรรมหรือไม่นั้น ยังไม่มีคำพิพากษาบรรทัดฐานยืนยันไว้ ความข้อนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่า สิทธิและเสรีภาพของประชาชน ไม่ได้รับการประกันโดยองค์กรตุลาการเพียงพอ จนอาจทำให้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนถูกละเมิดจากการใช้อำนาจโดยมิชอบได้
เราเห็นว่า ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนี้ เป็นไปเพื่อสลายการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มคนเสื้อแดง รักษาอำนาจและความมั่นคงของรัฐบาลต่อไป ไม่ใช่รักษาอำนาจและความมั่นคงของรัฐ
ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกิดขึ้น มีผลเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง เป็นการใช้อำนาจเพื่อทำให้มาตรการที่ปกติแล้วไม่ชอบด้วยกฎหมายในทางเนื้อหา ให้กลายเป็นมาตรการที่ชอบด้วยกฎหมายในทางรูปแบบ และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนี้ ไม่เพียงแต่ไม่ช่วยแก้ไขวิกฤติความขัดแย้งครั้งนี้ให้บรรเทาเบาบางลงไปได้ แต่กลับเป็นตัวเร่งให้สถานการณ์ตึงเครียดและรุนแรงมากขึ้น
เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ประกาศ คำสั่ง และข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องโดยทันทีและไม่มีเงื่อนไข
รองศาสตราจารย์ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์
รองศาสตราจารย์ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช
อาจารย์ ดร.ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล
อาจารย์ธีระ สุธีวรางกูร
อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล
วันที่ ๘ เมษายน ๒๕๕๓