ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Tuesday, 6 October 2009

สรุปสาเหตุตกราง พขร.หลับใน เสียหาย129ล้าน

ที่มา ไทยรัฐ
Pic_37774

ผู้ว่าการ รฟท.สรุปสาเหตุรถไฟตกรางที่ จ.ประจวบฯ เกิดจาก พขร.หลับใน ขณะที่มูลค่าความเสียหายประมาณ 129 ล้านบาท "โสภณ"คาดโทษผู้ที่เกี่ยวข้อง ยืนยันจะยังไม่มีการปลด "ยุทธนา" ออกจากตำแหน่ง..

ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เวลา 11.30 น. วันที่ 6 ต.ค. นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แถลงสถานการณ์ล่าสุด หลังเกิดเหตุรถไฟตกรางบริเวณสถานีเขาเต่า อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทาง รฟท. จะต้องทบทวนเรื่องการทำประกันภัยบุคคลที่ 3 เพื่อให้ความคุ้มครองผู้โดยสารที่ใช้บริการรถไฟ โดยจะเก็บค่าบริการเพิ่มจากค่าโดยสาร 1 บาทต่อเที่ยว พร้อมตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจสำรวจเส้นทางรถไฟทั่วประเทศ สถานี ขบวนรถ และหัวรถจักรที่ชำรุดและเสียหาย รวมทั้งปัญหาจุดตัดรถไฟทั่วประเทศ เพื่อประเมินวงเงินในการขอสนับสนุนจากรัฐบาล และเตรียมเสนอขอทบทวนมติ ครม.เพื่อขอบรรรจุพนักงานฝ่ายเดินรถเพิ่มอีก 171 ตำแหน่ง

นายยุทธนา ยอมรับว่า ผลจากมติ ครม.เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2541 มีการจำกัดอัตรากำลังพลภาครัฐ ส่งผลให้พนักงานขับรถและฝ่ายช่างกลขณะนี้มีอยู่ประเภทละ 1,000 อัตรา ไม่เพียงพอกับความต้องการจริง ซึ่งจะต้องมีประเภทละ 1,300 อัตรา ทำให้พนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ต้องทำงานล่วงเวลา บางรายต้องทำงานควบกะ ดังนั้นในระยะเร่งด่วน รฟท.จะกำหนดระเบียบเพื่อระบุชั่วโมงในการพักผ่อนให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

สำหรับสาเหตุที่ทำให้รถไฟตกราง เบื้องต้นคาดว่าอาจเกิดจากพนักงานขับรถไฟ (พขร.) หลับใน เพราะมีหลักฐานว่า พนักงานขับรถไฟซึ่งจะต้องแวะจอดเพื่อรอรับเอกสารใบสับหลีกขบวนรถที่บริเวณ สถานีวังก์พง แต่ปรากฎว่าขบวนรถคันดังกล่าวได้ขับขบวนรถฝ่าไฟแดงตรงไปยังสถานีเขาเต่า ซึ่งมีขบวนรถสินค้าขาล่องจอดรอสับหลีก แต่เมื่อได้รับการติดต่อว่าขบวนรถดังกล่าววิ่งฝ่ามาด้วยความเร็วสูงถึง 105 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พนักงานที่สถานีเขาเต่าจึงได้สับหลีกรางเพื่อไม่ให้ขบวนรถไปชนกับขบวนรถสินค้าที่จอดอยู่ ในส่วนนี้คงจะต้องลงไปตรวจสอบในรายละเอียดต่างๆ ทั้งหมดอีกครั้ง

ส่วนความผิดของพนักงานขับรถนั้น นายยุทธนากล่าวว่า เบื้องต้นจะมีความผิดในข้อหาประมาทเลินเล่อทำให้ผู้อื่นถึงแก่ชีวิต โทษจะต้องไล่ออก และถูกดำเนินคดีอาญา และอาจต้องโทษจำคุก ขณะเดียวกันต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกส่วนหนึ่งที่พนักงานคนนี้ต้องทำงานเกินเวลา เพราะ รฟท.มีปัญหาขาดแคลนพนักงานขับรถด้วย คาดว่าจะสรุปผลได้ภายในไม่เกิน 5 วันจากนี้

นอกจากนี้ ผู้ว่าการ รฟท.ยังกล่าวถึงความเสียหายเบื้องต้นว่า ประมาณ 129 ล้าน จากขบวนรถไฟตู้โดยสารทั้งหมด 14 ตู้ ได้รับความเสียหาย 9 ตู้ และความเสียหายของราง คิดเป็นมูลค่าประมาณ 120 ล้านบาท และความเสียหายจากการ สั่งระงับการให้บริการรถไฟในเส้นทางสายใต้ 28 เที่ยว และขบวนรถสินค้า 5 เที่ยว เป็นเงิน 9 ล้านบาท

ส่วนประเด็นที่มี กระแสข่าวว่า จะมีการปลดออกจากตำแหน่งผู้ว่าการ รฟท.นั้น นายยุทธนา กล่าวว่า จะทำงานเพื่อแก้ปัญหาของ รฟท. อย่างเต็มที่ ส่วนการปรับเปลี่ยนหน้าที่ ขึ้นกับฝ่ายนโยบายจะตัดสินใจ

ด้านนางจันทรา บูรณฤกษ์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวถึงกรณีรถไฟตกรางที่สถานีเขาเต่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ว่า ทาง คปภ.ตรวจสอบไปยังการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ปรากฏว่ารถไฟขบวนดังกล่าว รฟท.ไม่ได้ทำประกันภัยกับบริษัทใด ๆ ทั้งสิ้น แม้ว่าก่อนหน้านี้ บริษัท วิริยะประกันภัย ได้เสนอรายละเอียดเกี่ยวกับประกันอุบัติเหตุต่าง ๆ แต่ทาง รฟท.เห็นว่าการเดินทางด้วยรถไฟมีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ

เลขาธิการ คปภ. กล่าวต่อว่า แม้ทางรฟท.ไม่ได้ทำประกัน แต่คปภ.อยู่ระหว่างตรวจข้อมูลจากฐานระบบไปยังผู้ที่เสียชีวิตทั้ง 7 ราย และผู้ประสบอุบัติเหตุได้รับบาดเจ็บว่ามีการทำประกันชีวิต ประกันอุบัติเหตุ หรือประกันการเดินทางกับบริษัทประกันใดบ้าง เพื่อจะได้ประสานไปยังบริษัทประกันภัยเรียกค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้ที่เสีย ชีวิตและได้รับบาดเจ็บ ทั้งนี้ หากผู้ได้รับบาดเจ็บและญาติผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุครั้งนี้ มีข้อมูลสามารถติดต่อสายด่วนประกันภัย 1186 เพื่อ คปภ.จะได้เร่งรัดดำเนินการต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ต่อมาเวลา 14.00 น. นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เรียกนายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เข้าพบ เพื่อกำชับและให้นโยบาย รฟท. ให้เร่งรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความบกพร่องทั้งในส่วนของระบบว่ามีส่วนใดบ้างที่ต้องการการแก้ไขปรับปรุง และบุคลากร ที่ต้องกลับไปรวบรวมข้อมูลชั่วโมงการทำงานของพนักงานว่าเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนดหรือไม่ แล้วให้ส่งข้อมูลเสนอมายังกระทรวงเพื่อพิจารณาภายในวันที่ 7 ต.ค. ก่อนที่จะเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม.เพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาร่วมกันอีกครั้ง

นายโสภณ กล่าวว่า จากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น จะต้องมีการสอบหาคนมารับผิดชอบ โดยได้มีการคาดโทษผู้ที่เกี่ยวข้องในทุกระดับตั้งแต่รัฐบาลไปจนถึงเจ้า หน้าที่ระดับปฏิบัติการ ว่าหากมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดอุบัติเหตุครั้งนี้จะต้องรับผิดชอบ รวมถึงต้องทบทวนมติ ครม. เมื่อปี 2541 ที่มีการระบุว่าให้ รฟท. สามารถบรรจุพนักงานเข้าแทนที่พนักงานที่ลาออกหรือเกษียณอายุการทำงาน ได้เพียง 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจากมติดังกล่าวได้ส่งผลให้ รฟท. ประสบปัญหาการขาดแคลนพนักงาน ทั้งในส่วนของพนักงานขับรถ และพนักงานฝ่ายช่าง ที่ขณะนี้มีความต้องการพนักงานทั้ง 2 ฝ่าย ฝ่ายละ 1,300 คน แต่ปัจจุบัน รฟท.มีพนักงานฝ่ายละ 1,000 คนเท่านั้น

ขณะเดียวกัน นายโสภณ ยังปฏิเสธข่าวที่มีกระแสข่าวว่าจะมีการปลดผู้ว่าการ รฟท. ออกจากตำแหน่งจากกรณีอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น โดยระบุว่า เรื่องดังกล่าวยังไม่มีสิ่งใดชี้ชัดว่าเป็นความผิดของ ผู้ว่าการ รฟท. จึงยังไม่มีความจำเป็นต้องปลดออกจากตำแหน่ง