ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Sunday, 23 August 2009

ประกาศเสียเลยว่า ผมไม่ใช่แดงซ้าย และไม่ใช่พวกไม่เอาเจ้า

ที่มา thaifreenews

บทความโดย...ลูกชาวนาไทย




ตอนนี้เห็นมีวิวาทะกันในเรื่องนี้มากพอสมควร ผมเลยขอเคลียร์ประเด็นให้ชัดเจน

คนเสื้อแดงนั้นประกอบขึ้นมาจากหลายกลุ่มด้วยกันเพราะเป็นการรวมตัวกันขึ้นมาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่หากแยกความเห็นทางการเมืองโดยใช้ "อุดมการณ์ทางการเมือง" หรือ Idealism แล้ว ผมคิดว่าคนเสื้อแดงจริงๆ แล้วแบ่งออกเป็นสองกลุ่มเท่านั้นคือ พวกแนวทาง "เสรีนิยม" (ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม) กับอีกพวกหนึ่งคือพวกสังคมนิยมหรือมาร์กซิสต์







ทั้งสองกลุ่มนี้ต้องการ "ปฏิวัติประชาธิปไตยดึงอำนาจจากระบอบอำมาตยาธิปไตย เข้ามาสู่คนส่วนใหญ่ของประเทศ ในเรื่องนี้ผมคิดว่าทั้งสองกลุ่มนี้มีความเห็นหรือเป้าหมายที่คล้ายกัน จึงร่วมมือกันได้อย่างไม่มีปัญหาอะไรมากนัก เพราะปัญหาเฉพาะหน้าคือ การปฏิวัติประชาธิปไตย ให้อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงแต่ในนาม มีพวกแอบอ้างประชาชนเข้ามาตัดสินใจแทนประชาชน

พวกเสรีนิยม มีแนวคิดทางการเมืองแบบเปิดกว้าง สนับสนุนระบอบเศรษฐกิจแบบเสรี และสนับสนุนประชาธิปไตย ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคม แต่ไม่ได้ปฏิเสธระบอบกษัตริย์ หากสามารถปรับตัวได้ไม่ขัดแย้งกับเป้าหมายของสังคม เป้าหมายของเสรีนิยมคือ เสรีภาพทางเศรษฐกิจและสังคม ทุกคนสามารถแสวงหาความมั่งคั่งได้อย่างเสรีภายใต้กฎกติกาของสังคม

มาร์กซิสต์หรือคอมมิวนิสต์ สนับสนุนการปฏิวัติสังคมเพื่อให้ทุกคนเท่าเทียมกันทั้งทางเศรษฐกิจและ สังคม และต้องการสังคมที่ไม่มีชนชั้น พวกนี้เชื่อว่า "กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน" นั้นคือสาเหตุแห่งความไม่เท่าเทียมกัน คอมมิวนิสต์จึงต้องการให้ทุกอย่างเป็นของรัฐหรือของสังคม เป็นกรรมสิทธิ์ของส่วนกลาง มาร์กซิสต์จริงๆ แล้วไม่เอากษัตริย์หรือแนวคิดอะไรก็ตามที่ทำให้คนไม่เท่าเทียมกัน ในความเห็นของมาร์กซิสต์คือ คนเท่าเทียมกันในทุกระดับ ภาษาเศรษฐศาสตร์คือ Homogeneous degree Zero คือไม่แตกต่างกันเลย

แต่ผมคาดว่ามาร์กซิสต์หรือคนที่นิยมในแนวทางนี้ในกลุ่มเสื้อแดงมีไม่มากนัก ส่วนมากคนเสื้อแดงจริงๆ ต้องการประชาธิปไตย ความเท่าเทียมกันในความเป็นมนุษย์ และยังยอมรับระบอบกษัตริย์อยู่ แต่ไม่ใช่แบบแนวคิดแบบเทวะราชา แต่ต้องการให้อยู่พ้นการเมืองออกไปแบบอังกฤษ ญี่ปุ่น ซึ่ง ในทางทฤษฎีหรือกฎหมาย ประเทศไทยเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว แต่ในทางปฏิบัติยังมีปัญหาอยู่มากมาย

ผมว่าแนวคิดทางการ เมืองไม่มีใครผิด เพราะเป็นค่านิยมพื้นฐานของแต่ละคน คนบางคนยังบูชาเจ้า คลั่งเจ้า จะไปตำหนิบางคนที่เขาคลั่งความเท่าเทียมกันได้อย่างไร

ในส่วนตัวผมเองนั้น ผมไม่เห็นด้วยกับแนวคิดมาร์กซิสต์ ผมปฏิเสธทฤษฎียกเลิกกรรมสิทธิ์ทรัพย์สิน เพราะผมคิดว่ามนุษย์ยังมีกิเลสเป็นตัวขับเคลื่อนอยู่ และมาร์กซิสต์จริงๆ นั่นจะขาดความคิดริเริ่ม ขาดแรงจูงใจในการผลิต และขาดการคิดค้นนวัตกรรม นี่เป็นสาเหตุหลักๆ ให้ประเทศคอมมิวนิสต์ล้มเหลว คือ มาร์กซิสต์หากทำให้ได้ก็ต้องให้มนุษย์ทุกคน "บรรลุโสดาบัน" เป็นอริยบุคคลหมดเสียก่อน และในสังคมของพระอรหันต์นั้น จึงจะเป็นมาร์กซิสต์ได้อย่างสมบูรณ์ เพราะตัดกิเลสสิ้นไปแล้ว




ผมไม่ได้ปฏิเสธระบบกษัตริย์ แต่ผมไม่เห็นด้วยกับกลุ่มคนชั้นสูงที่ใช้สถาบันกษัตริย์เป็นเครื่องมือ เข้ามาแทรกแซงอำนาจทางการเมือง ผมต้องการให้ระบอบกษัตริย์เป็นแบบอังกฤษและอยู่เหนือการเมือง

บางคนพยายามปฏิเสธว่า อำมาตยาธิปไตยไม่มี ไม่มีใครแทรกแซงทางการเมือง แต่ยุคนี้อย่าคิดว่าประชาชนโง่ และผมยืนยันว่าองคมนตรีไม่ใช่สถาบันกษัตริย์ พวกนี้เป็นกลุ่มชนชั้นสูงที่เป็นอำมาตยาธิปไตย และมีผลประโยชน์ในสังคม แต่ผลประโยชน์ของพวกเขาไม่ใช่ของสถาบัน

แต่ผมเห็นว่าระบอบกษัตริย์ยังมีประโยชน์ในการ "รักษาขนบธรรมเนียมประเพณี" และวัฒนธรรมบางประการของสังคมเอาไว้ได้ แต่ผมก็ไม่ใช่พวกคลั่งเจ้า และผมเป็นชาวพุทธที่ศึกษาพุทธศาสนามามากพอสมควรผมจึงไม่คิดว่า เจ้ามีความแตกต่างจากมนุษย์ทั่วไป และเป็นสมมุติเทพ นั่นเป็นศาสนาพราหมณ์ ผมคิดว่ากษัตริย์เป็นผู้ดำรงตำแหน่งประมุขแห่งรัฐมาตามประเพณี ไม่เสียหายอะไรที่ประเทศจะมีประมุขที่มาจากประเพณีแบบอังกฤษ หากไม่ขัดแย้งต่อ "อำนาจของปวงชน"

ผมไม่ใช่แดงซ้าย แต่เป็น แดงขวา คือ ทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ ที่อยู่ร่วมกับระบบ ได้หากปรับตัว และก็อยากให้ปรับตัวใจจะขาด ทุกวันนี้ก็ยังงงๆ อยู่ว่า "สู้เพื่อระบอบอำมาตย์ไปทำไม" ไม่ใช่ผลประโยชน์ของระบบสักหน่อย แต่เป็นผลประโยชน์ของขุนนาง สู้เพื่อขุนนางไปทำไม เฮ้อ เลยงงๆ

บางคนอาจคิดว่ายุคนี้ คอมมิวนิสต์นั้นล้าหลังไม่มีใครพูดถึงไปแล้ว คนอาจแค่ต้องการประชาธิปไตย เป็นซ้ายนิดๆ

ผมคิดว่าจริงๆ แล้ว คอมมิวนิสต์แบบรัสเซียหรือจีนไม่มีคนพูดถึงกันแล้ว แต่นักมาร์กซิสต์จริงๆ แล้วเขาคิดว่า นั่นไม่ใช่ระบอบมาร์กซิสต์ แต่เป็นลัทธิเลนินนิสต์ หรือสตาลินนิสต์ครับ คือ เอาแนวคิด "ปฏิวัติชนชั้น+มาร์กซิสต์" มาใช้ โดยมี "นักปฏิวัติ เป็นผู้จุดประกาย เพื่อกระโดดข้ามทุนนิยม ไปสู่คอมมิวนิสต์เลย เป็นการกระโดดข้ามการพัฒนาตามลำดับของสังคมตามแนวคิดของมาร์ก เข้าสู่การพัฒนาสังคมในระยะสุดท้ายที่สมบูรณ์เลยคือ ไม่มีชนชั้น ที่เรียกว่าคอมมิวนิสค์

มาร์กซิสต์ หรือนีโอมาร์กซิสต์ ถือว่านั้นเป็นความผิดพลาด พวกเขาคิดว่าต้องให้สังคมพัฒนการไปตามพัฒนาการของมันคือจากศักดินาเข้าสู่ทุนนิยม แล้วไปสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ในภายหลังมาร์กซิสต์ แบบ อ.ใจ จึงมาสนับสนุนการปฏิวัติประชาธิปไตย และให้สังคมผ่านระบอบทุนนิยมไปก่อน

ที่จริงระบอบการเมือง กับระบอบเศรษฐกิจมันก็ต้องสอดคล้องกันด้วย แต่บางทีมันก็สับสนปนเประหว่าง ประชาธิปไตย กับ ระบบเผด็จการ

มาร์กซิสต์จริงๆ เป็นประชาธิปไตย เน้นปวงชน

ทุนนิยมก็ต้องการประชาธิปไตย

แต่แนวทางเลนิน สตาลิน เหมา ทำให้เกิดเผด็จการโดยระบบพรรคขึ้น

สรุป คือ ทุนนิยมตอนนี้ เขาก็ลดแนวคิดลงเป็นเพียง Market Mechanism คือเน้นกลไกตลาดเป็นตัวจัดสรรทรัพยากร ใครจะผลิตอะไร ประชาชนจะบริโภคอะไร จะซื้ออะไร ให้เป็นไปตามดีมานต์ ซับพลาย เพราะจะเกิดประสิทธิภาพ

เยอรมันพัฒนาแนวคิด Social market Economy ขึ้นคือ ในระดับการจัดสรรทรัพยากร ใช้ระบบตลาด แต่ในเรื่องสังคม ใช้ระบบ สังคมนิยม เช่น สวัสดิการต่างๆ เพื่อให้คนที่แข่งขันไม่ได้ ได้รับการดูแล้วเป็นต้น

มันก็ผสมกันไปหมดแล้ว จะน้อยหรือมากเท่านั้น

ผมคิดว่าเรื่องสังคมมันแยกออกมาจากระบบเศรษฐกิจได้ แต่สุดท้ายมันก็ขึ้นอยู่กับว่า ระบบเศรษฐกิจคุณ จะเอากรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล หรือ ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ

ผมว่าคนส่วนใหญ่ออกแนวผสม

แต่เชื่อเถอะไม่มีใครเอา ศักดินา หรืออำมาตย์ที่เราเรียกว่า Aristocracy สักกลุ่ม สำหรับคนธรรมดานะครับ

ยกเว้นชนชั้นนำที่เกิดมาบนกองเงินกองทองและสถานะทางสังคมสูง ก็อยากให้มีคนกราบไว้บูชาตน อยากมีอำนาจในสังคม โดยไม่ต้องมีประชาชนยอมรับ

ยุคก่อนคนไม่มีความรู้ก็ไม่มีปัญหาอะไร ยุคนี้คนมีความรู้มากขึ้น ใครเขาจะยอมให้คนเอา ชาติตระกูล ฐานะมากดขี่เขาได้ อะไรประมาณนี้