ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Sunday, 22 March 2009

หากทักษิณตกลงกับอำมาตย์ได้ และบอกให้เสื้อแดงหยุด?

ที่มา thaifreenews

บทความโดย...ลูกชาวนาไทย


มีคนถามคำถามนี้กับผมหลายคนแล้วเหมือนกันว่า หากคุณทักษิณเจรจากับ "อำมาตย์+ศักดินา" และตกลงประนีประนอมกันได้แล้ว คุณทักษิณถอนตัวออกไป กลุ่มสีแดงจะเป็นอย่างไร

บางคนตั้งประเด็นไปถึง คุณทักษิณบอกให้เลิก ซึ่งกลุ่มคนรักทักษิณก็จะถอนตัวออกไป เหลือแต่ขบวนการเสื้อแดงที่รักประชาธิปไตย แล้วพวก "อำมาตย์" ก็จะดำเนินกลยุทธ์แบบ 6 ตุลาคม" คือ การล้อมปราบ หรือการใช้กำลัง เพื่อทำลายกลุ่มเสื้อแดงเสีย

จินตนภาพนี้มีหลายคนหวั่นไหวและกังวลมากเหมือนกัน

สำหรับตัวผมเองแล้วผมไม่ค่อยได้ให้ความกังวลในประเด็นนี้มากนัก แม้ผมจะรู้ว่ามีการเจรจากกันอยู่บ้างก็ตาม และเชื่อว่าแต่ละฝ่ายอาจต้องการถอย เนื่องด้วยภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ยิ่งต่อสู้ต่อไปกลุ่มอำมาตย์ก็ยิ่งแพ้ภัยตัวเองมากขึ้น กลุ่มเสื้อแดงลุกฮือมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นการลุกฮืออย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในการต่อสู้ทางการเมืองไทย ไม่ใช่เป็นการลุกฮือเพราะมีคนไปปลุกระดม แต่เขาลุกฮือขึ้น แล้วเรียกแกนนำไปคุยให้ฟัง หากไม่ไปพวกเขาก็เดินกันไปเอง



ผมเชื่อว่าแม้จะมีการประนีประนอมกัน เหตุการณ์ก็จะไม่หยุดอย่างที่หลายคนคาดหวังไว้อย่างแน่นอน เพระผมเชื่อว่า ความขัดแย้งทางการเมืองครั้งนี้ ไม่ใช่เป็นการขัดแย้งกันใน "หมู่นักการเมืองและคนชั้นสูง" เท่านั้น แต่เป็นการขัดแย้งกันในปัญหารากฐานเลยทีเดียว คือ มีทั้งการขัดแย้งกันระหว่างอุดมการณ์ประชาธิปไตยแบบมวลชน+ทุนนิยม กับ ระบอบอำมาตยาธิปไตย+พวกต่อต้านโลกาภิวัฒน์ (พอเพียง) นี่เป็นการขัดแย้งกันในระดับรากฐานอุมการณ์และความคิดเลยทีเดียว

ความขัดแย้งกันในประเด็นที่สอง จะเรียกว่า ความขัดแย้งทางชนชั้น ระหว่าง คนจน กับคนรวย หรือ Have and have not หรือจะเรียกว่า ระหว่างคนรากหญ้ากับคนชั้นกลางบวกคนชั้นสูงก็ว่าได้ ในประเด็นหลังนี้ สังคมไทยไม่เคยชินกับความขัดแย้งเช่นนี้มากนัก ก็จินตภาพไม่ออก ไปนึกแต่ทฤษฎีชนชั้นของมาร์กซิสต์ ซึ่งเข้าใจยาก ทำให้ไม่เห็นว่ารากฐานความขัดแย้งทางชนชั้นในครั้งนี้รุนแรงพอสมควร อาจไม่มีการปฎิวัติชนชั้น แต่เป็นแบบที่คนยากจนส่วนใหญ่ "เข้ามามีอำนาจทางการเมือง" ผ่านระบบเลือกตั้ง และเกิดประชาธิปไตยแบบมวลชน ที่ตอบสนองคนหมู่มาก ไม่ใช่คนส่วนน้อยที่มี connection จะสามารถชี้นำสังคมได้อีกต่อไป

ก็อย่างที่ผมบอก คนรากหญ้าไม่ได้สนใจประชาธิปไตยมากกว่าเรื่องปากท้องของพวกเขามากนัก แต่เขาสนใจความกินดีอยู่ดีของเขามากกว่า แต่ที่ผ่านมา 70 ปี ของประชาธิปไตย คนรากหญ้าไม่เคยตระหนักถึง "หนึ่งเสียงของตน" ว่ามีพลังมากเพียงใด และไม่ได้ประโยชน์อะไรจากรัฐบาลมากนัก พฤติกรรมการเลือกตั้งของคนรากหญ้า จึงเป็นการเลือกผลประโยชน์เฉพาะหน้า และเลือกตัวบุคคล มากกว่าเลือกเป็นพรรค และคำนึงถึงนโยบายเป็นหลัก



แต่หลังปี 2540 ลักษณะของสังคมไทยก็เปลี่ยนไป คนรากหญ้าเลือกพรรค และเกิด "สำนึกถึงพลังหนึ่งเสียงของตน" ดังนั้นพฤติกรรมการเลือกตั้งของคนรากหญ้าจึงเปลี่ยนไปเป็น "เลือกแบบพรรค" ที่มีนโยบายสร้างความกินดีอยู่ดีที่จับต้องได้ ไม่ใช่เพ้อฝันแทน การเปลี่ยนไปอย่างมีนัยยะสำคัญ เกิดจากรัฐบาลทักษิณได้สอนบทเรียนภาคปฎิบัติที่ประสบกับตนเองให้ชาวรากหญ้า เมื่อพฤติกรรมเปลี่ยน การเมืองไทย ก็ไม่มีทางเหมือนเดิมอีกแล้ว

ความขัดแย้งทางการเมืองไทยได้เลย "คุณทักษิณ" ไปมากแล้ว ไม่ใช่เรื่องตัวบุคคลอีกแล้ว แม้จะมีการประนีประนอมกับคุณทักษิณ ประเด็นขัดแย้งของสังคมก็ยังอยู่ การเมืองไทยไม่มีทางย้อนหลังไปก่อนปี 2540 ได้อีกแล้ว แม้ว่า คุณทักษิณจะตกลงกับอำมาตย์ได้ เสื้อแดงอาจหย่อนพลังลงไปบ้าง แต่การต่อสู้ทางการเมืองก็ไม่จบ

เพราะหากมีการเลือกตั้งใหม่ ปี่กลองการเลือกตั้งก็เหมือนเดิม ทุกพรรคก็ต้องแข่งกัน "เสนอนโยบายที่จับต้องได้และน่าเชื่อถือให้แก่ประชาชน" การต่อสู้ระหว่างพรรคก็ดำเนินต่อไป เข็มข้นเหมือนเดิม สีแดงก็จะไปเลือกพรรคที่มีนโยบายที่คนเสื้อแดงต้องการ เช่น แก้รัฐธรรมนูญ เรื่องเศรษฐกิจ ความโปร่งใสเป็นต้น สีเหลืองก็ไปเลือกอีกพรรคที่ตรงกันข้าม เลือกพรรคที่อำมาตย์สนับสสนุน และไม่มีสีใด กล้ายอมให้เสียงแตก ไปเลือกพรรคเล็กพรรคน้อย เพราะหากฝ่ายใดเสียงแตก ฝ่ายนั้นก็แพ้ สุดท้ายก็เกิดระบบสองพรรค หากเกิดระบบสองพรรค พวกอำมาตย์ก็หมดอำนาจชี้นำอยู่ดี

สุดท้ายมันก็ยังเป็นการต่อสู้ทางการเมืองอย่างหนักเหมือนเดิม เป็นการต่อสู้ระหว่าง "อุดมการณ์สีแดง กับ อุดมการณ์สีเหลืองเหมือนเดิม แต่จะเข็มขันกว่าเดิม เพราะทั้งสองฝ่ายต้องหา "เครื่องมือที่จะได้อำนาจทางการเมือง" ซึ่งก็ไม่พ้น "พรรคการเมือง" มันเป็นอย่างนี้ทุกสังคม หากไม่รบกันแบบสงครามกลางเมือง ก็ต้องรบกันผ่านการรณรงค์ทางการเมืองคือสนามเลือกตั้ง และตามการพัฒนาการของสังคมทั่วโลก ฝ่ายประชาธิปไตยแบบมวลชน+ทุนนิยม ก็จะชนะเพราะมีประชาชนจำนวนมากกว่า

ผมจึงไม่ได้กังวลเรื่องการต่อสู้ครั้งนี้มากนัก ไม่ว่าคุณทักษิณจะตกลงกับอำมาตย์ได้ หรือไม่ได้ก็ตาม มันไม่ได้มีผลต่อสถานการณ์มากนัก และอุดมการณ์เก่าๆ เช่น พอเพียง+เทวราชา ก็เสื่อมคลายพลังในการชี้นำมวลชนไปมากแล้ว แนวคิดแบบใหม่คือ เสรีภาพ ความเท่าเทียมกัน ความเป็นธรรม ได้เข้ามาแทนที่แล้ว สังคมไทยเปลี่ยนจากสังคมเก่าไปสู่สังคมใหม่แล้ว การจะชี้นำด้วยแนวคิดเก่าๆ เรื่องรักไม่รักใคร ไม่ค่อยมีพลังเท่าใดแล้ว

การที่ฝ่ายอำมาตย์+ศักดินา จะใส่ร้ายเสื้อแดง ด้วยวิธีการเช่นเดียวกับ 6 ตุลาคม ผมว่าไม่มีผลเท่าไหร่แล้ว ประชาชนตาสว่างกันแทบหมดแล้ว การประชาสัมพันธ์ว่าจะมีการล้มล้างราชบัลลังค์ หรืออะไรประมาณนี้ ผมไม่คิดว่าจะสามารถชี้นำปี 2552 ออกไปฆ่ากันได้เหมือน 6 ตุลาคม 2519 แล้ว แม้พวกเขาจะพยายามทำอยู่ก็ตาม แต่ผมคิดว่าพวกเขาตามประชาชนไม่ทัน เรื่องน้องโบเป็นอะไรที่พิสูจน์หลายสิ่งหลายอย่างว่า “เปลี่ยนไป” แล้ว

การนำยุทธวิธีเก่า ๆ ความถนัดและความเคยชินเก่าๆ มาใช้ในสงครามครั้งใหม่ในศตวรรษที่ 21 มันไม่ได้ผลแล้ว

พวกเขาได้นำสังคมออกมาถึงจุดนี้ด้วยตัวเอง แล้วจะดันกลับไปอยู่กันแบบพอเพียง มีระบบหลายพรรค นักการเมืองหลอกประชาชนเรื่องนโยบายเพ้อฝัน คงไม่ได้อีกต่อไปแล้ว คนจะต้องเลือกระหว่าง จะเลือก สีแดง หรือ สีเหลือง และเกิดการต่อสู้ระหว่างสีแดงกับสีเหลือง ไม่มีช่องว่างให้สีอื่นอีกต่อไป