ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Monday, 8 August 2011

"จตุพร"พ้นบ่วง กกต."ขุนค้อน"นั่ง ปธ.สภา"นายกฯ ปู"ยังหืดจับโผเก้าอี้ รมต.-ฝุ่นตลบ

ที่มา thaifreenews

โดย bozo

การเมืองช่วงเปลี่ยนผ่านอำนาจก้าวไปตามจังหวะอย่างราบรื่น

เริ่มตั้งแต่การที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรอง ส.ส. ครบทั้ง 500 คน
โดยมี นายจตุพร พรหมพันธุ์ เป็น ส.ส. แกนนำ นปช. รายสุดท้ายของพรรคเพื่อไทย
ที่ผ่านการรับรองมาแบบกองเชียร์ใจหายใจคว่ำ

วันที่ 1 สิงหาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ทรงเปิดประชุมรัฐสภา พุทธศักราช 2554
ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม

ขณะที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โดย
นายพิทูร พุ่มหิรัญ เลขาธิการสภาผู้แทนฯ ได้ออกหนังสือถึง ส.ส.
เพื่อประชุมสภาผู้แทนฯ นัดแรก วาระเลือกประธานสภาและรองประธานสภา ในวันที่ 2 สิงหาคม

การประชุมสภาวันที่ 2 สิงหาคม ใช้เวลาสั้นๆ เพียง 20 นาที
ในการโหวตเลือก นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ส.ส.ขอนแก่น ดำรงตำแหน่งประธานสภา

และ นายเจริญ จรรย์โกมล ส.ส.ชัยภูมิ กับ นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ส.ส.พะเยา
ดำรงตำแหน่งรองประธานสภา คนที่ 1 และ 2 ตามลำดับ แบบม้วนเดียวจบ

เป็นไปตามรายชื่อที่พรรคเพื่อไทยล็อกเอาไว้ในการประชุมคณะผู้บริหารพรรคก่อนหน้านั้น

ต่อมาในช่วงค่ำวันที่ 2 สิงหาคม ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ
แต่งตั้งบุคคลทั้ง 3 ให้ดำรงตำแหน่งประธานและรองประธานสภาอย่างเป็นทางการ

ในวันพิธีรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง วันที่ 3 สิงหาคม

นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาคนใหม่ ได้แจ้งเลขาธิการสภาผู้แทนฯ
ให้ออกหนังสือเชิญถึง ส.ส. เข้าร่วมประชุมสภาในวันที่ 5 สิงหาคม

ในวาระสำคัญคือโหวตเลือก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี



ภายหลังการเซ็ตทีมคุมงานฝ่ายนิติบัญญัติเป็นที่เรียบร้อย

ในจังหวะเดียวกันบรรยากาศการจัดวางคนลงตำแหน่งฝ่ายบริหาร คือ
รัฐมนตรีที่จะไปนั่งคุมกระทรวงต่างๆ หรือที่เรียกกันว่า "โผ ครม."
ซึ่งผลุบๆ โผล่ๆ ทางหน้าหนังสือพิมพ์ ได้เริ่มกลับมาเข้มข้นคุกรุ่นอีกครั้ง

โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ผู้ที่กำลังจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกฯ หญิงคนแรกของประเทศไทยอย่างเต็มตัว

ยืนยันว่าการจัดทำโผ ครม. จะเป็นการหารือร่วมกัน
ระหว่างตนเอง กับ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ หัวหน้าพรรค
ตามที่พรรคมอบอำนาจไว้ให้แล้วเท่านั้น
เช่นเดียวกับการเสนอชื่อประธานและรองประธานสภา
โดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่ได้เข้ามามีบทบาทเกี่ยวข้อง

กระนั้นก็ตาม การปฏิเสธของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ดูเหมือนจะสวนทางกับข้อวิจารณ์ที่ว่า
ในบรรดาบุคคลที่ปรากฏชื่อเป็นตัวเก็งรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ในเวลานี้

หลายคนเคยมีประวัติแวดล้อมอยู่กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่ง

เช่นเดียวกับข้อสังเกตว่า
ถ้าหากบุคคลใดไม่ได้รับการสนับสนุนจาก พ.ต.ท.ทักษิณ
ด้วยเหตุผลเกี่ยวกับบุญคุณความแค้น หรือความเหมาะสมใดก็ตาม

ถึงจะได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกพรรคเพื่อไทย
แต่ชื่อของคนนั้นก็จะหลุดจากโผ หรือไม่ก็จะค่อยๆ เงียบหายไปในที่สุด
อย่างเช่นกรณีของ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย เป็นต้น

พ.อ.อภิวันท์ คือหนึ่งในแคนดิเดตประธานสภา
มีชื่อตีคู่มากับ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ มาตลอดในลักษณะผลัดกันแรง ผลัดกันแผ่ว

กระทั่งช่วงโค้งสุดท้ายมีข่าวระบุ พ.ต.ท.ทักษิณ
ไม่ต้องการให้ พ.อ.อภิวันท์ เป็นประธานสภา เนื่องจากมีภาพของเสื้อแดงติดแน่นมากเกินไป

ดังจะเห็นได้จากการที่มีตัวแทนแนวร่วมเสื้อแดงรวมตัวกันยื่นหนังสือต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์
เรียกร้องให้พรรคเพื่อไทย เสนอชื่อ พ.อ.อภิวันท์ ขึ้นเป็นประธานสภา

ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ มองว่าหากประมุขฝ่ายนิติบัญญัติมีภาพของเสื้อแดงชัดเจนเกินไป
อาจขัดกับแนวทางสร้างความปรองดอง
ไม่เหมาะกับสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันที่ปัญหาการแบ่งสีเริ่มเบาลง

ท่ามกลางกระแสข่าวการเจรจาต่อรองบางอย่าง

ทำให้ พ.อ.อภิวันท์ ได้เปิดแถลงข่าวถอนตัวจากการเป็นแคนดิเดตประธานสภาไปในที่สุด



ด้าน นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ เจ้าของฉายาขุนค้อน

มีชื่อเป็นเต็งหนึ่งประธานสภามาตลอดตั้งแต่ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม ออกมาว่า
พรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายชนะการเลือกตั้ง

โดยมีข่าวหลังจากนั้นไม่กี่วันว่านายสมศักดิ์ ได้เดินทางไปดูไบ
เพื่อทวงถามสัญญาใจกับคนซึ่งพำนักอยู่ที่นั่น

ในเรื่องที่นายสมศักดิ์ เคยหลีกทางให้ นายชัย ชิดชอบ ขึ้นนั่งเก้าอี้ประธานสภามาแล้วครั้งหนึ่ง
แทน นายยงยุทธ ติยะไพรัช ซึ่งถูกศาลตัดสินเว้นวรรค 5 ปี ต้องพ้นจากเก้าอี้นี้ไปในสมัยรัฐบาลสมัคร

มาครั้งนี้นายสมศักดิ์ จึงไม่อยากอกหักซ้ำสอง

ซึ่งต่อมามีกระแสข่าวจากฝ่ายนายสมศักดิ์ ว่า
ผู้ใหญ่สั่งให้อยู่เฉยๆ นิ่งๆ พร้อมยืนยันสัญญาเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้การจัดทีมประธานและรองประธานสภา
จะจบลงแบบไร้แรงกระเพื่อมในพรรคเพื่อไทย ซึ่งถือเป็นสัญญาณการเปลี่ยนผ่านการเมืองที่ดี

แต่ที่ถูกจับตาว่าเป็นการบ้านข้อยากจริงๆ ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ คือ
การจัดทำโผ ครม. ภายใต้ข้อจำกัดหลายด้านด้วยกัน
อย่างแรกเลยก็คือ การสรรหามืออาชีพ เข้ามาผลักดันนโยบายที่หาเสียงไว้ให้ประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรม

ทั้งยังต้องแบกความคาดหวังของสังคม ที่ต้องการคนดีมีฝีมือเข้ามาเป็นรัฐมนตรี
เพื่อแก้ไขปัญหาปากท้องประชาชน และสร้างความสามัคคีปรองดองในบ้านเมือง

ไหนยังต้องเผชิญกับแรงกดดันของคนเสื้อแดง รวมถึงกลุ่มก๊วนการเมืองต่างๆ ในพรรค
ที่ต้องการผลักดันแกนนำกลุ่มของตนเองเข้ามามีตำแหน่ง

โดยเฉพาะในส่วนของคนเสื้อแดง
หัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญที่ช่วยให้พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งถล่มทลาย

หลังจาก พ.อ.อภิวันท์ ถอนตัวจากเก้าอี้ประธานสภาไปแล้ว
การเบนเข็มไปรับตำแหน่งฝ่ายบริหาร อาจกระทบถึงโควต้าของแกนนำ นปช. คนอื่นๆ

หรือหากจะเพิ่มโควต้าให้แกนนำ นปช. ก็จะกลายเป็นปัญหาลูกโซ่กระทบไปถึงโควต้ากลุ่มก๊วนอื่นเช่นกัน



เช่นเดียวกับการดึง "คนนอก" เข้ามาเบียดแย่งเก้าอี้
ที่นอกจากเหมือนเป็นการดูแคลนฝีมือ "คนใน" และถูกมองเป็นการชุบมือเปิบแล้ว

ยังอาจทำให้ลูกพรรคเกิดอาการน้อยอกน้อยใจ เสี่ยงต่อการเกิดปัญหา"คลื่นใต้น้ำ"ตามมา

อย่างเพียงแค่มีกระแสข่าวว่า
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ชื่อหลุดหายไปจากโผ ครม. ในช่วงโค้งสุดท้าย
สมาชิกในกลุ่มที่เป็น ส.ส.ภาคอีสานก็เดือดร้อนทันที

"ที่ผ่านมาใครทุ่มเทให้กับพรรคก็ควรจะพิจารณาด้วย ผู้บริหารจะมางี่เง่าไม่ได้ ดังนั้น
จะเกิดแรงกระเพื่อมแน่นอนถ้า ร.ต.อ.เฉลิม ไม่ได้เป็นรัฐมนตรี"

ยังไม่นับรวมถึงกลุ่ม ส.ส. ในสายภาคอีสาน ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาค กทม.
ที่พร้อมใจกันเคลื่อนไหวเรียกร้องโควต้าเก้าอี้กันอย่างถึงพริกถึงขิง

กระทั่งต้องมีการส่งสัญญาณจากฟากคนใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณ ออกมาปรามว่า
ขณะนี้โผ ครม. ลงตัวแล้วเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์

การเกาะกลุ่มวิ่งเต้นในช่วงนี้จึงไม่เกิดประโยชน์

ในทางตรงข้ามยังจะเป็นผลร้ายต่อคนที่พยายามวิ่งเต้นเองโดยไม่รู้ตัว
ในการพิจารณาตำแหน่งการเมืองอื่นๆ ของพรรคที่จะตามมา
ไม่ว่าตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรี ที่ปรึกษารัฐมนตรี และประธานคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ ในสภา

เหล่านี้คือภาวะฝุ่นตลบภายในพรรคเพื่อไทย

ที่ต้องจับตาว่าถึงสุดท้ายแล้วระหว่างความต้องการของประชาชนกับกลุ่มก๊วนการเมือง

รายชื่อคณะรัฐมนตรีที่ออกมาจะตอบสนองสิ่งใดมากกว่ากัน


http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1312700558&grpid=no&catid=&subcatid=

Re:

โดย ลูกชาวนาไทย



อ้างถึง
กระทั่งช่วงโค้งสุดท้ายมีข่าวระบุ พ.ต.ท.ทักษิณ
ไม่ต้องการให้ พ.อ.อภิวันท์ เป็นประธานสภา เนื่องจากมีภาพของเสื้อแดงติดแน่นมากเกินไป

ไม่ใช่ทักษิณต้องการครับ พวกอำมาตย์ใหญ่ไม่ต้องการ ดร.อภิวันทน์เลยถอนตัวเพื่อไม่ให้ต้องทะเลาะกัน