ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Monday, 8 August 2011

นักปรัชญาชายขอบ: อาจารย์แจ้งความลูกศิษย์ “ข้อหาหมิ่นเบื้องสูง” สะท้อนวุฒิภาวะประชาธิปไตยในมหาวิทยาลัยไทย

ที่มา ประชาไท

ข่าวที่น่าสะเทือนใจที่สุดในรอบสัปดาห์นี้ คือข่าวรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่ง แจ้งความตำรวจในข้อหากระทำผิดกฎหมายหมิ่นฯ ม.112 ให้ดำเนินคดีกับลูกศิษย์ตนเอง เนื่องจากได้รับร้องเรียนว่าลูกศิษย์คนดังกล่าวถูก “ล่าแม่มด” ในเว็บไซต์แห่งหนึ่ง (ดูมติชนออนไลน์, 6 ส.ค.54)

นักศึกษาคนดังกล่าถูกแจ้งความตั้งแต่เดือนตุลาคม 2553 และเพิ่งถูกตำรวจจับกุมดำเนินคดีโดยศาลไม่ให้ประกันตัวเมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา
ที่น่าสนใจคือ เหตุผลในการแจ้งความของรองอธิการฝ่ายกิจการนิสิตที่ว่า จำเป็นต้องแจ้งความ เพราะ
1. ถูกกดดันจากสภามหาวิทยาลัย
2. ต้องการปกป้องชื่อเสียงของสถาบัน (มหาวิทยาลัย)
นี่คืออักหนึ่งตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นปัญหาของ “ม.112” ที่ใครจะแจ้งความดำเนินคดีก็ได้ จะเห็นว่า เหตุผลในการแจ้งความไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการแสดงความรับผิดชอบของผู้แจ้ง เพราะพิจารณาเห็นว่า “ตนเองต้องแจ้งความเพื่อปกป้องเจตนารมณ์ของกฎหมาย”
สมมุติว่า คุณเห็นชายคนหนึ่งกำลังวิ่งออกกำลังกายที่สวนสาธารณะ และคุณจำได้ว่าคนๆ นี้คืออดีตรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขที่กำลังเป็นข่าวถูกแจ้งความจับเรื่อง ทุจริตยา และขณะนี้ตำรวจกำลังติดตามตัว แล้วคุณก็โทรไปแจ้งตำรวจ ด้วยเหตุผลว่าในฐานะพลเมืองต้องรักษากฎหมายให้ศักดิ์สิทธิ์ คนทำความผิดต้องได้รับการลงโทษตามเจตนารมณ์ของกฎหมายเพื่อปกป้องความ ยุติธรรม และความสงบสุขของบ้านเมือง การกระทำของคุณย่อมสมเหตุสมผล
แต่เหตุผลในการแจ้งความเอาผิดลูกศิษย์ตนเองของอาจารย์คนดังกล่าว ไม่ใช่เหตุผลเรื่องการช่วยกันรักษากฎหมาย หรือรักษาเจตนารมณ์ของกฎหมายในฐานะพลเมืองดี แต่เป็นเรื่องของ “การถูกกดดัน” และต้องการ “รักษาชื่อเสียงสถาบัน”
คำถามคือ นี่มันคือ “เหตุผล” หรือครับ ข้ออ้างเรื่องถูกกดดันจากอำนาจที่เหนือขึ้นไป ข้ออ้างเรื่องรักษาชื่อเสียงสถาบัน มันมีความสัมพันธ์เป็นเหตุเป็นผลอย่างไรกับการแจ้งความดำเนินคดีกับนักศึกษา คนนั้น เพราะ
1. การกระทำของนักศึกษาคนนั้นเป็นความผิดส่วนบุคคล มหาวิทยาลัยไม่ได้ส่งเสริมให้ทำ แล้วมหาวิทยาลัยจะเสียชื่อเสียงอย่างไรไม่ทราบ (ถ้าอาจารย์อ้างเครดิตสถาบันไปหาเงินจากการทำวิจัยสร้างความชอบธรรมแก่โรง งานอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษแก่ชาวบ้าน ก็ว่าไปอย่าง)
2. สภามหาวิทยาลัยมีอำนาจตามกฎหมายอะไรที่จะมากดดันในเรื่องดังกล่าวนี้ (ถ้าสภามหาวิทยาลัยไปกดดันผู้บริหารให้เอาผิดกับอาจารย์ที่อ้างเครดิตสถาบัน ไปหาเงินจากการทำวิจัยสร้างความชอบธรรมแก่โรงงานอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษแก่ ชาวบ้าน ก็ว่าไปอย่าง)
ประเด็นสำคัญคือ การที่ “ม.112 เป็นกฎหมายที่ให้ใครก็ได้แจ้งความเอาผิด” คือปัญหาสำคัญที่ทำให้การแจ้งความเอาผิดตามกฎหมายดังกล่าว ไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของกฎหมาย แต่อาจเป็นไปตาม “อคติ” ของผู้แจ้งอย่างไรก็ได้ เช่น ความเกลียดชังกันเป็นส่วนตัว ความขัดแย้งทางความคิดเรื่องเสรีภาพและความเสมอภาค ความขัดแย้งของอุดมการณ์ทางการเมือง การคลั่งเจ้า การต้องการทำลายศัตรูทางการเมือง ฯลฯ
ในกรณีของอาจารย์แจ้งจับนักศึกษาก็ชี้ชัดว่าเป็นเรื่อง “อคติ” คือ “ความกลัว” การถูกกดดันจากสภามหาวิทยาลัย และ “ความกลัว” ว่า มหาวิทยาลัยจะเสียชื่อเสียง ฉะนั้น การแจ้งความจับนักศึกษาของตนเองจึงสะท้อน “วุฒิภาวะความเป็นประชาธิปไตย” ภายในมหาวิทยาลัยได้ในแง่หนึ่งว่า แม้คนระดับรองอธิการบดีก็สามารถใช้ “ความกลัว” แจ้งความให้ลูกศิษย์ของตนต้องติดคุก
ประเด็น “ด้อยวุฒิภาวะ” ต่อมาคือ คนระดับรองอธิการบดีนอกจากจะมองไม่เห็นปัญหาของการที่ ม.112 ที่ใครจะแจ้งความเอาผิดก็ได้ดังกล่าวแล้ว ยังไม่เข้าใจว่ากฎหมายฉบับนี้ขัดแย้งต่อหลักการพื้นฐานประชาธิปไตยคือหลัก เสรีภาพในการพูด “ความจริง” และหลักความเสมอภาคในความเป็นมนุษย์ ซึ่งหมายความว่า หาก “หลักความยุติธรรม” (principle of justice) ที่เป็นรากฐานของการออกกฎหมายในสังคมประชาธิปไตยคือหลักเสรีภาพและหลักความ เสมอภาค ม.112 ย่อมขัดแย้งต่อ “หลักความยุติธรรม” ดังกล่าวนี้อย่างชัดเจน
ฉะนั้น ขณะที่กระแสการเรียกร้องความเป็นประชาธิปไตยส่วนหนึ่งกำลังเรียกร้องให้ แก้ไข และ/หรือให้ยกเลิก ม.112 การที่คนระดับรองอธิการบดีของมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงออกมาแจ้งความดำเนิน คดีแก่ลูกศิษย์ของตนที่ “ถูกล่าแม่มด” จึงสะท้อนวุฒิภาวะประชาธิปไตยในสังคมมหาวิทยาลัยไทยอย่างน่าเป็นห่วง!