แต่เฉไฉ-สื่อปิดวันที่ แจงวุ่นสั่งจนท.ใชปืน หลัง'ชุดดำ'อาละวาด
คำสั่งจริง - นายสุเทพ เทือกสุบรรณ โชว์เอกสารคำสั่งศอฉ.ฉบับจริง โดยยอมรับว่าตรงกับที่เผยแพร่ในเน็ต แต่อ้างว่าที่สื่อนำมาเสนอนั้นคลาดเคลื่อนเรื่องวันที่ ส่วนสาเหตุที่อนุญาตให้ใช้ปืนได้เพราะมีคนชุดดำ |
เทือกโต้-อ้างสำเนาถูกตัดวันที่
เมื่อ เวลา 12.15 น. วันที่ 7 ส.ค. ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส. สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ อดีตผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) แถลงชี้แจงกรณีสื่อมวลชนเสนอข่าวเอกสารลับของ ศอฉ. ที่มีคำสั่งให้ทหารใช้อาวุธปืนยิงประชาชนที่มาชุมนุมในวันที่ 10 เม.ย.2553 ว่า ไม่รู้เจตนาของผู้เสนอข่าวว่าต้องการอะไร แต่อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิดต่อผู้สั่งการและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานได้ จึงขอชี้แจงเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง ดังนี้ 1.สำเนาเอกสารคำสั่งการที่หนังสือ พิมพ์ฉบับหนึ่งนำมาแสดง ได้ตัดวันที่สั่งการออกไป ไม่ได้นำมาแสดง แต่จริงๆ แล้วคำสั่งปฏิบัติการที่นำมาแสดงในหนังสือพิมพ์เป็นคำสั่งลงวันที่ 13 เม.ย.2553 ไม่ใช่วันที่ 10 เม.ย.2553 ซึ่งเป็นการสั่งการหลังเกิดเหตุคนชุดดำที่แฝงตัวอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อ แดง นำอาวุธสงครามมายิงเจ้าหน้าที่และประชาชน จนมีผู้เสียชีวิต 26 คน บาดเจ็บ 800 คน เป็นความสูญเสียที่รุนแรง ศอฉ.จึงจำเป็นต้องยับยั้งไม่ให้เกิดเหตุขึ้นอีก
นายสุเทพ กล่าวว่า แต่ปรากฏว่า หลังจากวันที่ 10 เม.ย.2553 เหตุรุนแรงยังไม่ยุติ คนชุดดำยังถืออาวุธร้ายแรงก่อเหตุร้ายต่อเนื่องแทบทุกวัน ศอฉ.จึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่ใช้ปืนลูกซอง ซึ่งเป็นอาวุธไม่ร้ายแรง สามารถควบคุมการยิงได้ เพื่อป้องกันตัวเจ้าหน้าที่และประชาชนผู้บริสุทธิ์ ให้รอดพ้นจากภัยคุกคามของคนชุดดำ ซึ่งคำสั่งนี้ระบุเรื่องการควบคุมวิถีกระสุน โดยไม่มุ่งประสงค์ต่อชีวิตของเป้าหมาย ต้องการเพียงเพื่อป้องกันเจ้าหน้าที่และประชาชนเท่านั้น จึงมีคำสั่งชัดเจนว่า ในการใช้อาวุธให้เล็งยิงส่วนล่างของร่างกายตั้งแต่เข่าลงมา ยืนยันว่าสำเนาคำสั่งที่พาดหัวข่าวหน้าหนึ่งในหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าว เป็นคำสั่งการในวันที่ 13 เม.ย.2553 ไม่ใช่วันที่ 10 เม.ย.2553 ตามที่พยายามจะให้ผู้อ่านเข้าใจผิด การสั่งการอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ใช้อาวุธ ปืนลูกซอง มุ่งหมายเพื่อควบคุม ความสูญเสีย ไม่ต้องการให้เสียหายร้ายแรง
แจงวุ่นคำสั่ง 10 เม.ย.กับ 13 เม.ย.
นาย สุเทพกล่าวว่า 2.ส่วนที่หนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าว ได้นำสำเนาคำสั่งวันที่ 10 เม.ย.2553 และวันที่ 13 เม.ย.2553 มาลงตีพิมพ์ในหน้า 14 ของหนังสือพิมพ์ อาจทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิดว่า เป็นคำสั่งการในเหตุการณ์เดียวกันนั้น ขอชี้แจงว่า คำสั่งวันที่ 10 เม.ย.2553 เนื่องจากก่อนวันที่ 10 เม.ย. ศอฉ.ได้สั่งการห้ามเจ้าหน้าที่ใช้อาวุธโดยเด็ดขาด ให้ใช้เฉพาะอุปกรณ์ควบคุมฝูงชนคือ โล่ กระบอง แก๊ส น้ำตา ปืนลูกซองกระสุนยาง ซึ่งต้องปฏิบัติตามขั้นตอนสากลการควบคุมฝูงชนอย่างเคร่งครัด แต่ปรากฏว่า วันที่ 9 เม.ย.2553 กลุ่มผู้ชุมนุมนับหมื่นคนได้บุกโจมตีสถานีดาวเทียมไทยคม ลาดหลุมแก้ว ใช้ก้อนหิน มีด ทำร้ายเจ้าหน้าที่บาดเจ็บนับร้อยคน และยึดอาวุธปืนเจ้าหน้าที่ไปจำนวนมาก ก่อให้เกิดความกังวลว่าอาจนำอาวุธนั้นมาทำร้ายเจ้าหน้าที่ ศอฉ.จึงมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ใช้อาวุธได้ แต่ต้องเพื่อการป้องกันตนเองและประชาชน โดยให้ใช้กรณีมีผู้กระทำผิดซึ่งหน้า และเพื่อป้องกันอันตรายที่ใกล้จะถึงตัวที่อาจเป็นอันตรายต่อเจ้าหน้าที่และ ประชาชน ที่สำคัญมีการสั่งการว่า ใช้อาวุธเฉพาะเพื่อป้องกันอันตรายที่ใกล้จะถึงตัว หากจำเป็นต้องใช้อาวุธให้ทำตามลำดับขั้นตอนคือ 1.แจ้งเตือนด้วยวาจาให้ผู้ก่อเหตุหยุดการกระทำ 2.ยิงเตือนขึ้นฟ้า หรือในทิศทางที่ปลอดภัย 3.ใช้อาวุธตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายและสมควรแก่ เหตุ
ลั่นพร้อมสู้คดี-พิสูจน์ข้อเท็จจริง
นายสุเทพ กล่าวว่า ยืนยันว่า ศอฉ.ปฏิบัติหน้าที่ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ไม่มีเจตนาร้ายต่อประชาชน ขณะนี้เหตุการณ์ร้ายนั้นได้ผ่านมาปีเศษแล้ว รัฐบาลชุดที่แล้วได้ตั้งคณะกรรมการที่เป็นกลางทำการสืบสวนข้อเท็จจริงทั้ง หมด เพื่อรายงานต่อประชาชนต่อไป และในขณะนี้มีรัฐบาลชุดใหม่ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดเชื่อมโยงกับผู้ก่อเหตุ และผู้ต้องหาก่อการร้ายบางคนได้เป็นส.ส.ในสังกัดพรรครัฐบาล บางคนอาจได้เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดนี้ ในฐานะรัฐบาลเป็นผู้กุมอำนาจรัฐจะสั่งการให้สอบสวน หรือดำเนินคดีกับตนที่เป็นผู้รับผิดชอบสั่งการในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตนก็พร้อมพิสูจน์ความจริงตามกระบวนการยุติธรรม เชื่อว่ามีกระบวนการตามไล่เช็กบิลตน แต่ตนพร้อมพิสูจน์ข้อเท็จจริง ไม่รู้สึกหนักใจ เพราะทำงานด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่คิดหนีไปต่างประเทศ
ผู้ สื่อข่าวรายงานว่าเอกสารคำสั่งลับมากของศอฉ. ซึ่งระบุให้เจ้าหน้าที่ใช้อาวุธได้ ตามที่มีผู้นำมาเผยแพร่ตามเว็บไซต์ต่างๆ ซึ่ง "ข่าวสด" นำมาตีพิมพ์นั้น เอกสารดังกล่าวระบุวันที่ออกคำสั่งปรากฏอย่างชัดเจนคือวันที่ 10 เม.ย.2553 และวันที่ 13 เม.ย.2553 ไม่ได้ตัดออกไปเพื่อให้คนเข้าใจผิดตามที่นายสุเทพกล่าวอ้างแต่อย่างใด
พท.ย้ำตรวจสอบคำสั่งใช้ปืน
เมื่อ เวลา 15.00 น. นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่มีกลุ่มทหารตำรวจประชาธิปไตย 2554 ได้เผยแพร่เอกสาร อ้างว่าเป็นเอกสารลับของ ศอฉ.ที่สั่งการเมื่อวันที่ 10 เม.ย.2553 มีการระบุให้เจ้าหน้าที่พิจารณาใช้ปืนลูกซองในการป้องกันตนเองของเจ้า หน้าที่และประชาชนผู้บริสุทธิ์ว่า ประการแรกจะต้องตรวจสอบก่อนว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารจริง หรือเป็นเพียงการทำขึ้นเพื่อใส่ร้ายกัน แต่หากเป็นเอกสารจริง ต้องเป็นหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้อง คือ ผอ.ศอฉ.ในฐานะผู้สั่งการ รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ทั้งคอป. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือนักวิชาการ ที่ต้องรวมกันถามหาความรับผิดชอบจากผู้สั่งการ ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นเพียงการโยนไปมาของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง ที่พยายามเบี่ยงประเด็นว่าเป็นการทำเพื่อเลื่อยขาเก้าอี้กัน เพราะเรื่องนี้จะต้องดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา ผู้ลงนามคำสั่งต้องออกมารับผิดชอบ ตอบคำถามสังคมได้ เพราะทองแท้ย่อมไม่กลัวไฟ ส่วนการดำเนินการของพรรคเพื่อไทยฐานะว่าที่รัฐบาลว่าจะดำ เนินการอย่างไรในเรื่องนี้นั้น ตอนนี้ยังตอบไม่ได้ เพราะรัฐบาลยังไม่ได้ตั้ง แต่ในฐานะของส.ส.ที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ก็เรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ตรวจสอบเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน และหากมีกระทำตามเอกสารลับดังกล่าวจริง ก็ถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรงถือเป็นความผิดอาญาระดับนานาชาติ
สารคามรณรงค์ปล่อย 9 เสื้อแดง
เมื่อ เวลา 10.00 น.วันเดียวกันที่เรือนจำจังหวัดมหาสารคาม เครือข่ายพลเมืองประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย สาขาจังหวัดมหาสารคาม นำโดยนายสุรศักดิ์ ศรีธรรมจรรยา ประธาน คปท.กลุ่มอำเภอบรบือ นางศิรินารถ จันทะคัต เลขาธิการ คปท. กลุ่มอำเภอเมือง พร้อมด้วยคนเสื้อแดงกว่า 100 คน ได้พากันเดินทางมาเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังภายในเรือนจำจังหวัดมหาสารคาม ซึ่งเป็นคนเสื้อแดงที่ถูกศาลพิพากษาสั่งจำคุกเหตุก่อความไม่สงบเมื่อปี 2535 จำนวน 9 คน หลังแล้วเสร็จการเยี่ยม คนเสื้อแดงได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์ที่ลานด้านหน้าเรือนจำ
นายสุ รศักดิ์ ได้กล่าวว่า สังคมไทยปัจจุบันไม่ได้รับความยุติธรรมจากการใช้กฎหมายเนื่องจากความเสื่อม 3 ด้าน ประกอบด้วย 1.การออกกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม 2.กระบวนการยุติธรรมที่ไม่เป็นธรรม 3.ตุลาการที่ไม่เป็นธรรม กฎหมายที่ล้าหลังเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ตีความใช้อำนาจแทรก แซงช่องว่างกฎหมาย ผลที่ตามมากลายเป็นเครื่องมือรัฐบาล ทำให้ประชาชนที่เรียกร้องสิทธิเสรี ภาพโดยบริสุทธิ์ใจ ต้องถูกจับกุมคุมขังจำนวนมาก ดังนั้น คปท.มหาสารคามจึงเรียกร้องให้สถาบันที่ควบคุมอำนาจตุลาการ นิติบัญญัติ และบริหาร ได้ปลดปล่อยนักโทษการเมืองทั้งหมด ก่อนที่ประชาชนทั้งประเทศจะลุกขึ้นมาทวงคืนอำนาจตุลาการไปเป็นของปวงชน
ผู้ สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นกลุ่มคนเสื้อแดงทั้งหมด ได้เดินทางโดยรถยนต์เปิดเครื่องขยายเสียง แห่เข้าไปในเขตเทศบาลเมืองมหาสารคาม จากนั้นได้เข้าไปที่บริเวณลานด้านหน้าศาลจังหวัดมหาสารคาม พร้อมกับอ่านแถลงการณ์ฉบับดังกล่าวซ้ำอีก ขณะนั้นทางศาลจังหวัดมหาสารคาม ได้มีการจัดกิจกรรมวันรพี หลังอ่านแถลงการณ์จบได้มอบแถลงการณ์ให้แก่เจ้าหน้าที่ศาลจังหวัดมหาสารคาม จากนั้นได้แยกย้ายกันกลับในเวลา 11.30 น.
นิติศาสตร์มธ.ถกกม.นิรโทษ
เมื่อ เวลา 09.30 น. วันเดียวกัน ที่ห้องจิ๊ด เศรษฐบุตร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้จัดการเสวนาทางวิชาการ "งานวันรพี 2554" เรื่อง "นิรโทษกรรม...ทางออกหรือทางตัน" เชิญนายกิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ อดีตเลขาธิ การนายกรัฐมนตรี และพล.ท.พีรพงษ์ มานะกิจ อนุกรรมการด้านการศึกษาวิจัยและกิจกรรมทางวิชาการ คอป.เข้าร่วมเสวนา ทั้งนี้คณะนิติศาสตร์ได้เชิญตัวแทนพรรคเพื่อไทยหลายคนให้มาร่วมงาน เช่น นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง และนายพีรพันธุ์ พาลุสุข แต่ได้รับการปฏิเสธ
นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า การออกกฎหมายนิรโทษกรรมนั้นสามารถกระทำได้ จากประวัติ ศาสตร์ประเทศไทย คือ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากนั้นมีกบฏบวรเดช สงครามโลกครั้งที่สอง รวมทั้งคณะราษฎรที่แปลงสภาพเป็นเสรีไทยต่อต้านญี่ปุ่น ก็มีการนิรโทษกรรมให้ทุกฝ่ายเพื่อสร้างความปรองดอง โดยมีเหตุผลที่ยอมรับกันคือทุกประเทศมีต้นทุนทางการเมืองและสังคม หากใช้กำลังปราบปรามจะเกิดปัญหา คือต้นทุนที่จะพัฒนาบ้านเมืองลดลง ฝ่ายสนับสนุนนิรโทษกรรมคือหากสร้างสรรค์ต้องลืมอดีต แต่การออกกฎหมายไม่ใช่ลบล้างความผิดอย่างเดียว แต่ต้องอีกฝ่ายยอมรับการกระทำที่ทำไปนั้นเป็นความผิดก่อน
นายกิตติ ศักดิ์กล่าวว่า ความคิดนี้แม้อาจใช้ในทางที่ผิด คือการออกกฎหมายไม่ได้เป็นไปในทางปรองดอง แต่เป็นเพียงข้ออ้างสำหรับออกกฎหมาย ตัวอย่างที่ถกเถียงกันคือการปราบปรามนักศึกษาในวันที่ 6 ตุลา 2519 ที่กล่าวหาว่านักศึกษาบางคนเป็นคอมมิวนิสต์ จากนั้น รัฐบาลก็ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ทุกฝ่าย แต่เมื่อครั้งเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 นั้นไม่มีการนิรโทษกรรมให้ทหารและตำรวจ จากนั้นเหตุการณ์พฤษ ภาทมิฬ ก็มีการนิรโทษกรรมตัวเองโดยพล.อ.สุจินดา คราประยูร แม้รัฐสภาไม่ยอมรับ แต่ก็ไม่ก่อผลใดๆ หลักนิรโทษกรรมนั้นต้องมีเหตุผลที่สมควร และมีภยันตรายหากใช้ไปในทางที่ผิด
"สิ่งไม่พึงกระทำคือผู้มีอำนาจ นิรโทษกรรมให้ตัวเอง เช่น นายพลปิโนเชต์ แห่งชิลี ที่นิร โทษกรรมให้ตัวเองและออกกฎหมายให้ตัวเองเป็นวุฒิสภาตลอดชีพ รวมทั้งได้รับการคุ้มครอง" นายกิตติศักดิ์กล่าว
'กอร์ป'ยังอ้าง-ทักษิณต้นเหตุ
นาย กอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า ฟังสิ่งที่นายกิตติศักดิ์พูดเเล้ว ตนเข้าใจว่านิรโทษกรรมน่าจะเป็นทางตัน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้วนั้น ตนเป็นหนึ่งในผู้ติดตามเหตุการณ์ตั้งแต่ต้น คือตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทยภายใต้การนำของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หากพูดเรื่องนิรโทษกรรมและปรองดอง ควรถามตัวเองว่าพูดเพราะอะไร และท้ายสุดหากอยากให้บ้านเมืองเดินหน้า เศรษฐกิจดี มีงานทำ ดูแลครอบครัว ตัวเองมีความสุข ฉะนั้นกติกาสังคมนั้นทุกคนต้องปฏิบัติ หากทำผิดแบบเลยเถิดไปนั้นจะให้อภัยกันได้หรือไม่ เพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้า
นายกอร์ปศักดิ์อ้างว่า การทำงานของพ.ต.ท. ทักษิณคือต้นเหตุความขัดแย้งที่ต้องกลับไปมอง เพราะตอนนั้นตนเป็นส.ส.ฝ่ายค้านที่คัดค้านการแก้ไขสัญญาสัมปทานโทรศัพท์มือ ถือ การให้พม่ากู้เงินแบบมีผลประโยชน์ทับซ้อน แต่ค้านไม่สำเร็จ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ให้อำ นาจฝ่ายบริหาร จนฝ่ายค้านตรวจสอบไม่ได้ ต่อมาพรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาลสมัยที่สอง จากนั้น พ.ต.ท.ทักษิณขายหุ้นและซุกหุ้นให้เทมาเส็กแบบไม่เสียภาษีแม้แต่บาทเดียว ตรงนี้คือความขัดแย้งที่เกิดขึ้นแบบรุนแรงสุด เพราะประชาชนมองว่า ไม่เป็นธรรมและสิ่งที่ตนพูดไว้ก็เป็นจริงขึ้นมาแล้ว จากนั้นเกิดการรัฐประหารและทำให้ทุกอย่างดิ่งลงเหวทุกวัน
นายกอร์ป ศักดิ์ กล่าวว่าคนที่มีญาติพี่น้องเสียชีวิตและบาดเจ็บ รวมทั้งร้านค้าเสียหายจากการโดนเผาในช่วงปีที่ผ่านมานั้น คำถามคือหากเป็นญาติพี่น้องของตนนั้นจะรู้สึกเช่นใดว่า ให้อภัยทุกอย่าง มันยาก แม้จะเป็นเพียงกลุ่มหนึ่งแต่ก็มีความสูญเสียและเดือดร้อน แม้จะเยียวยา ยกเว้นต้องให้ความยุติธรรมเกิดขึ้น โดยธรรมชาติหรือมนุษย์ สมมติว่ามันยุติธรรมนั้น หากตัวเองได้ประโยชน์ก็ดี แต่หากไม่ใช่ก็บอกว่าสองมาตรฐาน การเมืองวันนี้เดินมาในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ผลการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ข้อดีคือเลือกข้างไปเลยให้เป็นเสียงข้างมากแบบเบ็ดเสร็จ แม้ฝ่ายตนจะแพ้ แต่ตนมองว่า มันดี เพราะจะได้พิสูจน์ว่าสิ่งที่หาเสียงไว้จะเดินหน้าอย่างไร เพราะบางฝ่ายมีการหาเสียงกันว่าต้องปรองดองและนิรโทษกรรม วันนี้จะได้ดูของจริงกันแล้วว่าจะทำแบบใด ช่วงนั้นพรรคเพื่อไทยบอกว่าจะให้คอป.เดินหน้า "ผมเคยอ่านความเห็นของคอป.ที่เสนอครม.และครม.ปฏิบัติทุกครั้ง รวมทั้งการค้นหาความจริง ขอเล่าว่าความจริงมาจากการขายหุ้นชินคอร์ปให้เทมาเส็กจนเกิดความขัดแย้ง ขึ้น" นายกอร์ปศักดิ์กล่าว
ออกมาชุมนุมเพราะสงสารคนมีเจ็ต
นาย กอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า ความผิดทางอาญาไม่ควรนิรโทษกรรม คนที่โดนคุมขังตอนนี้ต้องช่วยในเรื่องประกันตัว และเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเต็มรูปแบบ ตอนนั้นนายกฯ สั่งการไปแล้วแต่กระบวนการบางอย่างล่าช้า อีกทั้ง นปช.บางคนไม่ยอมรับความช่วยเหลือของรัฐบาลและอยากอยู่ในคุกต่อ ตนเล่นเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์บ่อยและเกิดข้อสังเกตว่า ช่วงที่ตนเป็นพยานให้นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ แกนนำนปช.จนได้รับการประกันตัว ตนโดนต่อว่าแบบเสียหายว่า ไปช่วยผู้ก่อการร้ายแบบไม่มีความผิด จริงๆ แล้วมันไม่ใช่เลย ตนคิดว่าทุกคนคงได้ดูคลิปนายตำรวจฆ่าคนตาย แต่ไม่ติดคุกและได้ประกันตัว หากตนใส่เสื้อแดงไปชุมนุมและเผาเมือง ติดคุกหกเดือนนั้น ตรงนี้คือความขมขื่น รวมทั้งคดีหมอที่โดนรถชน หากเป็นคนสวนของตนทำแบบนั้นติดคุกไปแล้ว
นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวว่าตนมองว่าคนที่มาชุมนุมนั้น เกิดความสงสารคนที่มีเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว ตนรู้ว่าบางคนไปทำงานวิจัยคนไทยออกมาจนรู้จุดอ่อนและนำมาใช้ในคำว่า ไพร่ อำมาตย์ สองมาตรฐาน รวมทั้งคู่แข่งทางการเมืองของตนไปทำวิจัยว่าชนชั้นกลางว่าอยากได้อะไร จึงตอบสนองทุกอย่าง นักการเมืองใช้วิธีนี้ปลุกระดมมวลชนจนได้เสียงสนับสนุน เมื่อเลือกตั้งเสร็จแล้วคำพูดเหล่านี้หายไปแล้ว ส่วนทางออกของเรื่องนี้นั้น ตนคิดว่ายากและต้องใช้เวลา ความขัดแย้งในอนาคตควรกลับเข้าไปอยู่ในรัฐสภา อย่าออกมานอกถนนจนประชาชนเดือดร้อนอีก
เจอสวนมองแค่ทักษิณ-ไม่จบแน่
พล.ท.พีร พงษ์ กล่าวว่า ตนทำงานในฐานะคอป.คืออนุกรรมการค้นหาความจริงและอนุกรรม การวิจัยทางวิชาการเพื่อค้นหาสาเหตุของปัญหา สิ่งที่นายกอร์ปศักดิ์กล่าวว่า บางคนใช้หลักการตลาดปลุกระดมมวลชนนั้น หากพิจารณาพ.ต.ท. ทักษิณเเบบปัจเจกชนก็ได้มุมหนึ่ง แต่มองในมุมของรัฐบาลก็ได้อีกมุมหนึ่ง ขอย้อนในอดีตว่าสงครามเย็นนั้นเป็นเรื่องภายนอกประเทศไทย แต่สหรัฐอเมริกาบอกว่าคอมมิวนิสต์ยิ่งตียิ่งโต ในวันนั้นปัญญาชนไปร่วมกับคอมมิวนิสต์ ฉะนั้นต้องมองให้ออกว่า ต้องแก้ปัญหาความคิดทางการเมือง เพราะนักศึกษาก็รักชาติ โดยนำความขัดแย้งมาแก้ทางการเมือง คำถามคือได้อะไรมาบ้างหลังจากที่รัฐบาลยุคนั้นปราบปรามนักศึกษา เพราะตอนนั้นมีมหาอำนาจฝ่ายขวาและซ้าย รวมทั้งพรรคการ เมืองเข้ามา แต่ปัญหาคือ คนของเราไปหากลุ่มนี้ได้อย่างไร ทั้งๆ ที่มีเป้าหมายชัด พล.ท.พีรพงษ์ กล่าวว่า ปัญหาวันนี้หากมองเชิงเศรษฐศาสตร์นั้น พ.ต.ท.ทักษิณมีปัญหากับกลุ่มทุน เพราะกลุ่มทุนได้อำนาจทางการเมือง เมื่อกลุ่มทุนเข้าไปเทก โอเวอร์อำนาจทางการเมืองตามที่คนเสื้อเหลืองระบุ เมื่อกลุ่มทุนเก่าสู้กลุ่มทุนใหม่ไม่ได้ จึงไปแสวงหาพันธมิตร ตามทฤษฎีที่ตนวิเคราะห์คือใช้กำลังแก้ปัญหาคือปฏิวัติ แต่หลังปฏิวัติแล้วมีการแก้โครงสร้างอำนาจแบบกระจายตัวหรือไม่ แต่กลับมีการไล่ล่าบุคคลที่ไม่ใช่การเมืองแก้การเมือง แต่ใช้กฎหมายและกำลังแทนนั้น การใช้กลไกรัฐก็มีปัญหาคือ ใช้ทหารไปจัดการบริหารกับการชุมนุม ทหารโดนฝึกมาจัดการศัตรู โดยโดนโปรแกรมไว้แล้วว่าฝ่ายตรงข้ามเป็นอริราชศัตรู ล้มเจ้า รวมทั้งเป็นผู้ก่อการร้าย ศอฉ.นั้นแม้นายกฯ มอบอำนาจให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ดูแลโดยส่งทหารไปแก้ปัญหา แต่ในชั้นสอบข้อเท็จจริงพบว่าทหารนั้นน่าสงสาร เพราะไปทำตามหน้าที่ คำถามคือรัฐสั่งให้นำกองกำลังขนาดนี้ไปจัดการได้อย่างไร ฝ่ายการเมืองต้องรับผิดชอบด้วยในเรื่องนี้ ส่วนอีกฝั่งคือประชาชนที่มาชุมนุมกับคนที่อยู่เบื้องหลังว่าใครบริหารชายชุด ดำ
"รัฐบาลอภิสิทธิ์มีฝ่ายสนับสนุนมากสุดในประเทศนั้น ทำไมจับชายชุดดำไม่ได้เลย แล้วจะให้รัฐบาลใหม่สอบสวนหาชายชุดดำนั้นจะทำได้อย่างไร เพราะปล่อยเวลามาสองปีเศษแล้ว ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าใครเป็นผู้ก่อการร้ายหากจะนิรโทษกรรมต้องคิดให้จบก่อน ว่าปัญหาคืออะไร ควรวิเคราะห์สังคมไทยให้แตกฉานเสียก่อน หากมัวแต่มองเรื่องปัจเจก คือเพียงพ.ต.ท.ทักษิณอย่างเดียวมันไม่จบ แต่ต้องคิดและปรับเชิงโครงสร้างด้วย ทั้งนี้สุดยอดของการนิรโทษกรรมคือต้องใช้ Rule of Law เพราะสังคมไทยจะใช้กฎหมายอย่างเดียวไม่ได้เพราะยังมีธรรมรัฐอยู่ แต่ตนไม่เห็นด้วยกับนปช. แต่จะมองข้ามไม่ได้ว่ามาชุมนุมเพราะอะไร เมื่อใดที่มองว่าประชาชนโง่ ก็เสี่ยงเหลือเกิน ปัจจุบันความรู้ของคนจนนั้นสูงมาก มีความรู้อยู่ในใจ เพียงแค่ไปฟังจากใครมาก็สามารถต่อยอดได้ การเรียนรู้ของคนจนวันนี้ล้ำหน้าไปมาก อย่าไปตัดสินใจแทนว่าคนจนไม่รู้เรื่องการเมือง" พล.ท.พีรพงษ์กล่าว
อจ.นิติศาสตร์ชี้มาร์คสอบตก
ผู้ สื่อข่าวรายงานว่าการสัมมนาในช่วงที่ 2 นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า ความคิดปรองดองมีสองปีกคือ ปีกซ้ายคือให้อภัยแบบสุดปีก คือออกกฎหมายอภัยโทษอย่างมองข้ามความผิดไปเลย แต่ต้องแสวงหาความจริงก่อน เช่น การฆาต กรรมหมู่ของฮิตเลอร์ ส่วนอีกปีกหนึ่งคือปีกขวา ที่ต้องเยียวยาและสอบสวน ซักฟอกความคิดว่าสิ่งใดผิด สิ่งใดถูก รวมทั้งฟ้องร้องดำเนินคดี จากนั้นค่อยคิดว่าจะให้อภัยกันหรือไม่ สองปีกนี้สัมพันธ์แบบสองด้านเพื่อสร้างสังคมที่ดีขึ้น ฐานการนิรโทษกรรมนั้นมองได้สองปีกข้างต้นแล้ว ควรเข้าใจว่าจะนิรโทษการก่อความไม่สงบ การกระทำที่กระทบความมั่นคงของรัฐจากมวลชนที่มีอารมณ์ชั่วแล่น บันดาลโทสะรัฐ รวมทั้งได้ข้อมูลไม่ครบถ้วนด้วยหรือไม่ เพราะการประท้วงในทวีปแอฟริกานั้นมาจากกลไกสังคมพิการ ตรงนี้เป็นบาปหมู่ที่ทุกฝ่ายต้องเยียวยาและยอมรับได้
นายกิตติ ศักดิ์ กล่าวอีกว่า แต่การกระทำที่มีความชั่วในตัวที่มีความคิดไตร่ตรองตั้งใจกระทำผิด เช่น คนวางแผนให้ผู้ชุมนุมตีกัน นำระเบิดไปยิงโดยไม่แสดงตัวให้สังคมแตกแยก คนพวกนี้ไม่ควรได้รับการนิรโทษ ส่วนเจ้าพนักงานนั้นได้รับคำสั่งให้ปราบการชุมนุม แม้บางครั้งกระทำไปรุนแรงบ้าง เช่น โดนก้อนหินขว้างก็ไม่ควรใช้ปืนยิง แต่ต้องใช้โล่ป้องกันตัวเท่านั้น ตรงนี้เจ้าพนักงานไม่ได้รับการอบรมในเรื่องแบบนี้ "มันต้องโทษรัฐบาลที่ไม่ตั้งกองกำลังมาดูแลการชุมนุมอย่างนี้ เพราะการสลายการชุมนุมโดยใช้กำลังเจ้าหน้าที่สี่หมื่นเจ็ดพันนายแต่ยับยั้ง การชุมนุมไม่ได้ รัฐบาลมีบทเรียนมาแล้วสองครั้ง ผมจึงให้คะแนนสอบตก เพราะรัฐบาลต้องหาทางปรับปรุงไว้ เนื่องจากน่าจะประเมินออกว่าปีต่อมาจะมีการชุมนุมอีกแน่นอน"
ตั้งแต่นายกฯ ลงมาต้องรับผิดชอบ
นาย กิตติศักดิ์ย้ำว่า กรณีแบบนี้เจ้าพนักงานตั้งแต่นายกฯ ลงมาต้องรับผิดชอบ เพราะผู้ก่อความรุนแรงนั้นใช้ความร้ายแรง แต่การตอบโต้กลับทำให้ประชาชนไม่ยอมรับเพียงพอ เพราะช่วงแรกของการชุมนุมกลับไม่ทำอะไร แต่ระยะหลังกลับทำรุนแรงมาก ภาพมันเห็นว่ามีการถ่ายภาพคนใช้อาวุธหนักโจมตีฝ่ายรัฐบาลแบบยอมให้ถ่าย เพราะคนพวกนี้เชื่อว่ายึดอำนาจรัฐได้ แสดงว่าต้องมีการแบ่งงานชัด แต่ทำไมไม่มีการจับกุมตัวให้ได้ รวมทั้งไม่มีการอธิบายการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐที่บางครั้งกระทำไปแบบสมควร แก่เหตุ บางครั้งเกินกว่าเหตุ รวมทั้งการสอบสวนของดีเอสไอและคอป. รวมทั้งกรรม การสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ยังไม่คืบหน้านั้นสมควรโดนตำหนิ แต่ผู้ที่ประสงค์ต่อผลและวางแผนไว้ล่วงหน้านั้นต้องนำตัวมาลงโทษและไม่ นิรโทษกรรมให้ได้ ไม่ใช่ทำไปแล้วคนในสังคมคิดว่าทำอะไรตามอำเภอใจแล้วก็จะมีการนิรโทษให้ หากขืนปล่อยไปแบบนี้บ้านเมืองจะวนเวียนในวงจรอุบาทว์
นายกิตติ ศักดิ์ยังยกตัวอย่างด้วยว่า นักแม่นปืนของเยอรมันตะวันออกที่มีหน้าที่ยิงคนหากจะข้ามกำแพงเบอร์ลิน เมื่อมีการรวมชาติก็มีการลงโทษทั้งๆ ที่ทำงานตามหน้าที่ เพราะนักแม่นปืนสามารถยิงไปที่เท้าแทนหัวและหัวใจได้ สุดท้ายนักแม่นปืนและคนสั่งการก็โดนลงโทษคนละสามปีเพราะกระทำเกินกว่าเหตุ ฉะนั้น การปฏิรูปนั้นต้องกระทำภายใต้กฎหมาย
อ้างปชป.ก็ไม่ได้เห็นด้วยกับรบ.
จาก นั้นนายกอร์ปศักดิ์ กล่าวอีกครั้งว่า หลายคนในพรรคประชาธิปัตย์ในตอนนั้นก็ไม่ถูกใจกับสิ่งที่รัฐบาลทำ แต่มันยากหากอยู่ในช่วงเหตุการณ์ แต่การมองหลังเหตุการณ์มันง่าย ธรรมชาติของคนไทยจะไม่ใช้เงินไปเพื่อป้องกันกับสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น เช่น เสื้อเกราะอ่อนนั้นเพิ่งซื้อหลังเจ้าหน้าที่ตาย หากซื้อไว้ก่อนก็จะโดนอ้างว่าไม่มีงบ หากถามว่าถ้ามีเจ้าหน้าที่พร้อมนั้นจะสลายชุมนุมง่าย มันไม่ใช่ เพราะการชุมนุมมีเด็ก สตรี คนแก่ คนไม่รู้อีโหน่อีเหน่ร่วมด้วยเยอะมาก วันนั้นหากรัฐบาลสลายการชุมนุมจะตายเป็นร้อย แต่การกระชับพื้นที่ในวันนั้นที่มีการมอบตัวแล้วเสียชีวิตในเหตุการณ์เพียง เจ็ดราย
"ช่วงที่ผมอยู่ที่ ร.11 รอ. (ซึ่งเป็นที่ตั้งของรัฐบาลและศอฉ.) นั้น บางเรื่องผมไม่พอใจเท่าใดนัก เพราะในช่วงนั้นนปช.เริ่มเข้ากทม.ในเดือนมี.ค.2553 ผมเจรจาตั้งแต่เดือนมี.ค.จนถึงการชุมนุมที่สะพานมัฆวานรังสรรค์และราช ประสงค์ กลุ่มนี้ต่อรองว่าขอให้นำทหารออกไปและนำตำรวจมาแทน จากนั้นนปช.นำมวลชนสองหมื่นคนบุกร.11 รอ. โดยมีการเตรียมโซ่มาบนรถสิบล้อด้วย และขู่ว่าจะใช้มวลชนห้าพันคนบุกเข้าไป หากจำได้ก่อนหน้านี้ก็มีการยิงอาร์พีจีเข้ามาในร.11 รอ. ช่วงนั้นเจ้าของพื้นที่คือทหารสามารถปราบได้ตามกฎอัยการศึก และในพื้นที่ร.11 รอ.มีอาวุธอยู่ ถามว่าผู้รักษาบ้านเมืองควรทำเช่นใด ตอบคือ เจรจาทางการเมือง ทั้งๆ ที่ทหารพร้อมประกาศกฎอัยการศึกอยู่แล้ว คุยกับนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำนปช.ขอให้ถอนมวลชนออกจากร.11 รอ. เพื่อที่จะให้นปช.ออกทีวีกับรัฐบาล ผมนึกไม่ออกว่าหากนปช.ปีนเข้ามาจะทำเช่นใด เพราะทหารไม่ยอมแน่ๆ" นาย กอร์ปศักดิ์กล่าว
เจรจาล่ม-เพราะคนมีเงินไม่ยอม
นาย กอร์ปศักดิ์ กล่าวต่ออีกว่า ตอนนั้นตนคุยหลายคืนกับนปช.ทีละจุด เมื่อได้คุยกับนายวีระแล้ว นายวีระก็ไปคุยกับแกนนำคนอื่นกว่าสี่สิบคนในตู้คอนเทนเนอร์ รวมทั้งโทรศัพท์จากต่างประเทศ ฝ่ายนั้นก็เพิ่มข้อเสนอขึ้นเรื่อยๆ ท่าม กลางคนเสียชีวิตเพิ่มขึ้นทุกวัน จนได้ข้อสรุปแล้วว่าจะนิรโทษกรรมเฉพาะคดีการเมือง เว้นคดีอาญา แต่คนที่โดนคดีอาญาไม่ยอม เพราะบอกว่าตนไม่ได้อะไร และคนกลุ่มนี้มีเงินสดเป็นทุนเจ็ดหมื่นหกพันล้านบาท ซึ่งมีไม่กี่รายในโลก ส่วนเหตุการณ์ที่วัดปทุมวนารามนั้น คนโดนยิงบาดเจ็บโทรศัพท์เข้ามาในช่วงที่ตนกินข้าว โดยแจ้งว่าอยากออก แต่ออกไม่ได้ ส่งใครมารับด้วย โดยช่วงนั้นรถพยาบาลเข้าไปไม่ได้ รวมทั้งไฟไหม้เซ็นทรัลเวิลด์ รถดับเพลิงเข้าไปแต่โดนยิงทำจะอย่างไร หากเสี่ยงชีวิตเข้าไปไม่คุ้ม เพราะสิ่งของนั้นสร้างใหม่ได้ แต่ชีวิตคนนั้นสร้างใหม่ไม่ได้และไม่มีใครตายในช่วงที่มีการเผาเซ็นทรัล เวิลด์ด้วย รัฐบาลทำงานด้วยความยาก ทั้งๆ ที่ตอนนั้นคุยจบแล้วหากไม่มีนายทุนคนนั้นที่มีเงินมหาศาลเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะสิ่งที่ศาลฎีกาตัดสินไปแล้วแต่นายทุนคนนั้นต้องการนิรโทษทุกเรื่อง เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ของทุกคน แต่คนๆ หนึ่งกลับได้เงินคืนสี่หมื่นกว่าล้านบาทด้วย
เจอสวนอีก-ถ้าเป็นรบ.ออกแล้ว
พล.ท.พีร พงษ์ กล่าวว่า บริบทของทุนนั้นควรไปหาให้ได้ว่าพ.ต.ท.ทักษิณรวยสุดในประเทศไทยจริงหรือไม่ แต่บางคนไม่มีตำแหน่งกลับมีอำนาจมาก เราต้องศรัทธาในประชาธิปไตยและเศรษฐกิจในระยะยาวที่โครงสร้างต้องกระจายตัว แต่โครงสร้างของสังคมไทยมันขัดกัน คือทุนเก่ากับทุนใหม่ที่ขัดกันเพราะมีเท้าที่มองไม่เห็น แต่อย่าใช้อำนาจนอกระบบและเครื่องมือพิเศษ การสลายการชุมนุมครั้งที่แล้วไม่มีคำขอโทษแต่มีแค่คำว่าเสียใจเท่านั้น หากตนเป็นรัฐบาลแล้วเกิดเหตุแบบนั้นก็ลาออกไปแล้ว แต่วันนั้นฝ่ายการ เมืองควรมีฝ่ายข้อมูลในสถานการณ์ช่วงนั้นประเมินสถานการณ์ด้วย ทหารไทยไม่มีระบบทบ ทวนคำสั่งของผู้บังคับบัญชาและยังมีวัฒนธรรมว่าคำสั่งผู้บังคับบัญชาคือคำ สั่งสวรรค์ และรุ่นพี่เลวที่สุดยังดีกว่ารุ่นน้องที่ดีที่สุดอยู่ในระบบ ตรงนี้ต้องปฏิรูปกองทัพไปด้วย
สาววลีดีแต่พูดร่วมเวทีอาทิตย์แดง
เมื่อ เวลา 13.00 น. วันเดียวกัน นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือบ.ก.ลายจุด ได้จัดกิจกรรมสัมมนาที่บ้านวันอาทิตย์ ชั้น 5 ห้างอิมพีเรียล ลาดพร้าว โดยเชิญ นางจิตรา คชเดช แกนนำสหภาพแรงงานบริษัทไทรอัมพ์ เจ้าของวลีดัง "ดีแต่พูด" ประท้วงนายอภิสิทธิ์จนกลายเป็นที่รู้จัก โดยมีผู้เข้าร่วมฟังจำนวนมาก
นางจิตรา ได้เล่าประวัติความเป็นมาและการต่อสู้ของตนให้กับผู้เข้าร่วมสัมมนาฟังว่า ก่อนที่จะผันชีวิตเข้ามาเป็นสาวโรงงาน ครอบครัวของตนเองก็ประกอบอาชีพเป็นเกษตรกร ทำไปทำมาก็มีแต่หนี้ ไม่ประสบความสำเร็จ ครอบครัวต้องเอาที่ดินเข้าธนาคาร จนสุดท้ายก็ต้องเดินทางเข้ามาทำงานเป็นสาวโรงงาน ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทุกรัฐบาลไม่เคยเหลียวแลผู้ใช้แรงงาน ขึ้นค่าจ้างมาแต่ละครั้งเพียงไม่กี่บาท จนปัจจุบันค่าจ้างอยู่ที่วันละ 215 บาท ถามว่าผู้ใช้แรงงานจะดูแลครอบครัวให้อยู่ดีกินดีได้อย่างไร กับเงินเพียงแค่นี้ ถ้าหากได้ค่าจ้างมากกว่านี้ก็ต้องทำโอทีเพิ่ม จนบางคนไม่มีเวลาจะพักผ่อน สุขภาพร่างกายก็ทรุดโทรมเจ็บป่วย แถมบางครั้งยังถูกนายจ้าง หัวหน้างานพูดให้เจ็บช้ำน้ำใจอีก แต่ผู้ใช้แรงงานก็ต้องอดทน ซึ่งตนขอสนับสนุนและยืนยันว่าการที่พรรคเพื่อไทย มีนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้กับผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศวันละ 300 บาท จะช่วยส่งเสริมทำให้ผู้ใช้แรงงานมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและครอบครัว ของผู้ใช้แรงงานดีขี้นแน่นอน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการสัมมนา นางจิตราได้หยิบกางเกงในยี่ห้อ "ไทร อาร์ม" สีแดง ซึ่งตัดเย็บด้วยฝีมือของแรงงานของบรรดาฉันทนาที่ถูกบริษัทไทรอัมพ์เลิกจ้าง มาโชว์ให้ผู้เข้าร่วมฟังดู พร้อมกล่าวว่า นี่คือผลงานที่ได้จากหยาดเหงื่อ และฝีมือของแรงงานคนไทย ซึ่งมีคุณภาพ ซึ่งเรียกเสียงปรบมือจากผู้เข้าร่วมฟังจำนวนมาก