ศาลปกครองกลางมีคำสั่งรับคำฟ้องของคนไทยพลัดถิ่น 73 ราย จากอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ที่ยื่นฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยที่ละเลยปฏิบัติหน้าที่ไม่ยอม ดำเนินการเรื่องสัญชาติให้ ทั้งๆ ที่ยื่นเรื่องมากว่า 7 ปี และผ่านกระบวนการสาบานตนแล้ว
คนไทยพลัดถิ่นนับพันคนรวมตัวขอความช่วยเหลือจากสภาทนายความในเรื่องการขอ สัญชาติไทย ซึ่งได้ยื่นเรื่องที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 ต่อมาผ่านกระบวนการตรวจสอบ และเข้าสาบานตนกับเจ้าหน้าที่รัฐเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 แต่ไม่มีการประกาศรายชื่อให้ได้รับสัญชาติไทยในราชกิจจานุเบกษา ทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนในการเสียสิทธิที่ตนพึงจะได้หากได้รับ สัญชาติไทย ไม่ได้รับสิทธิเท่าเทียมกับคนไทยที่มีบัตรประจำตัวประชาชน อาทิ สิทธิการเดินทาง สิทธิการรักษาพยาบาล สิทธิการศึกษา สิทธิในกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ สิทธิการเลือกตั้งระดับชาติ และ ระดับท้องถิ่น เป็นต้น
คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ ได้รวบรวมพยานหลักฐานที่มีความพร้อมสำหรับการฟ้องครั้งนี้จำนวน 73 ราย และดำเนินการฟ้องร้องที่ศาลปกครองกลางในวันอังคารที่ 27 มิถุนายน 2554 โดยฟ้องร้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ตามกฎหมายในการพิจารณาให้สัญชาติ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 30 , พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 มาตรา 5, 10 และ 12 และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2) ในประเด็นเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ทางราชการล่าช้าเกินสมควรในการประกาศรายชื่อผู้ที่ได้ สัญชาติไทยในราชกิจจานุเบกษา
สาเหตุที่เป็นคนไทยพลัดถิ่น เนื่องจากบรรพบุรุษของคนไทยพลัดถิ่นเหล่านี้ได้อาศัยอยู่ในแผ่นดินไทย โดยมีวิถีวัฒนธรรมเช่นเดียวกับคนไทยทั่วไป คือมีการใช้ภาษาไทย มีขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมแบบไทย มีกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคมในลักษณะแบบไทย ต่อมาประเทศไทยเสียดินแดนนี้ไปให้ประเทศอังกฤษที่มายึดครองพม่า คนเหล่านี้ยังให้มีความจงรักภักดีต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและ ประเทศไทยมาโดยตลอด จึงทยอยอพยพมาสู่ประเทศไทยปัจจุบันและอยู่ร่วมกับญาติพี่น้อง แต่ทางการไทยกลับไม่ให้สัญชาติไทยแก่คนเหล่านี้ทันที ให้เพียงบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสัญชาติไทย กลุ่มผู้พลัดถิ่นสัญชาติไทยให้ และต่อมาได้รับการพัฒนาเป็นบัตรประจำตัวคนต่างด้าว มีถิ่นที่อยู่ถาวรในประเทศไทย ซึ่งจะได้สัญชาติไทยด้วยการขอแปลงสัญชาติ แต่เมื่อยื่นขอแปลงสัญชาติกลับพบว่าการดำเนินการเป็นไปอย่างเนิ่นช้ากว่า 7 ปี
ปัจจุบัน ยังมีคนไทยพลัดถิ่นที่ได้เข้าปฏิญาณตนและผ่านการพิจารณาแล้วประมาณพันกว่าคน ที่ยังไม่ได้สัญชาติไทย และมีผู้ผ่านการตรวจสอบจากชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆรอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวง มหาดไทยลงนามให้สัญชาติไทยอีกประมาณกว่าหมื่นคน