ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Thursday, 30 December 2010

ประชาวิวัฒน์: ไม่ใช่ประชานิยมและไม่ใช่ระบบสวัสดิการสังคม

ที่มา ประชาไท

หลังจากรอคอยกันนานพอควร ในที่สุดรัฐบาลก็ ‘เคาะ’ ชุดนโยบายที่ประกาศว่ามีเจตนารมณ์ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมและเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการปฏิรูปสังคม แม้ท่านนายกรัฐมนตรีจะยังไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการ แต่จากข่าวคราวที่รายงานเป็นระยะดูเหมือนว่าชุดนโยบายนี้น่าจะประกอบด้วยการลดค่าครองชีพประชาชน การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบที่มีอยู่แล้ว การให้สินเชื่อใหม่ผู้ประกอบการรายย่อยและอิสระนอกระบบเช่นหาบเร่ แผงลอย แท๊กซี่ วินมอเตอร์ไซด์ การเพิ่มวงเงินให้กับกองทุนหมู่บ้าน เป็นต้น ส่วนเรื่องอื่นที่ประกาศพร้อมกันก็เช่นการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น ที่ดินทำกิน

เกือบทันทีหลังการประกาศอย่างไม่เป็นทางการ ทั้งสื่อและนักวิชาการจำนวนหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่าประชาวิวัฒน์คือประชานิยม และประชาธิปัตย์ไม่ได้คิดอะไรใหม่ เพียงลอกนโยบายของรัฐบาลทักษิณเท่านั้น หลายคนเตือนเรื่องการใช้เงินและวินัยการคลังเหมือนที่เคยทักท้วงรัฐบาลทักษิณมาแล้ว

ผมเองไม่คิดว่าประชาวิวัฒน์คือประชานิยม อย่างน้อยไม่ใช่ประชานิยมแบบสมัยคุณทักษิณ ซึ่งผมคิดว่ามีองค์ประกอบที่สำคัญคือ (ก) เป็นการโอนเงินจากคนชั้นกลางและคนรวยมาสู่คนจนและผู้มีรายได้น้อยผ่านการใช้เงินภาษีอากร โดย (ข) โอนเม็ดเงินจำนวนมาก เพราะ (ค) ต้องการหวังคะแนนเสียงทางการเมืองเป็นหลัก (ง) ไม่คำนึงถึงประสิทธิภาพการใช้เงิน จนน่าจะทำให้ (จ) เกิดผลเสียทางการคลังในระยะยาว

ผมคิดว่าประชาวิวัฒน์พ้องกับคุณสมบัติข้อ (ค) และ (ง) เป็นหลัก ส่วนอีกสามข้อไม่ตรงเสียทีเดียว เหตุผลสำคัญคือเม็ดเงินที่รัฐบาลต้องควักกระเป๋าจ่ายเพิ่มมีไม่มากเลย จำนวนเงินที่รายงานกันว่าสูงนั้นเป็นยอดสินเชื่อมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อใหม่ที่จะให้กับผู้ประกอบการนอกระบบซึ่งมีวงเงินประมาณหนึ่งหมื่นล้านบาทหรือการเพิ่มวงเงินให้กับบัญชีกองทุนหมู่บ้านแปดหมื่นล้านบาท เงินจำนวนนี้รัฐบาลไม่ได้ควักกระเป๋าเองแม้แต่บาทเดียว (ไม่เหมือนกองทุนหมู่บ้านรอบแรกสมัยรัฐบาลทักษิณ) แต่ไปสั่งให้สถาบันการเงินของรัฐเป็นผู้ปล่อยกู้แทน ภาระภาษีจะมีก็ต่อเมื่อสินเชื่อเหล่านี้กลายเป็นหนี้เสียจนรัฐบาลต้องไปชดเชยให้ ซึ่งผมเดาว่ารัฐบาลก็คงไม่ชดเชยเต็มจำนวน คงชดเชยเฉพาะหนี้เสียส่วนที่ ‘มากกว่าปกติ’ อันต้องมาถกเถียงกันว่าเป็นเท่าไรกันแน่ (เรื่องความเหมาะควรของการชดเชยเป็นอีกเรื่องที่สำคัญแต่ไม่ขอพูดในขณะนี้)

ส่วนการลดค่าครองชีพนั้นเป็นภาระภาษีโดยตรง แต่หากรัฐบาลไม่ต่ออายุหลังเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้าก็จะไม่ใช้เงินมากเช่นกัน ยกเว้นว่าจะทำให้เป็นมาตรการถาวร ซึ่งหลายคนรวมทั้งผมด้วยไม่เห็นด้วย

เมื่อไม่ได้ใช้เงินมากผลเสียต่อวินัยการคลังก็ไม่น่าสูง ดังนั้นหากดูตามที่ประกาศอย่างไม่เป็นทางการมาชุดนโยบายประชาวิวัฒน์จึงไม่ใช่ประชานิยม

คำถามที่สื่อและนักวิชาการน่าจะถามมากกว่า แต่ไม่ได้ถามคือประชาวิวัฒน์ถือเป็นระบบสวัสดิการสังคมตามที่นายกรัฐมนตรีประกาศไว้ว่าจะให้มีระบบสวัสดิการสังคมถ้วนหน้าภายในปี 2560 หรือไม่

สำหรับผมคำตอบคือไม่เช่นกัน ประชาวิวัฒน์ขาดคุณสมบัติของระบบสวัสดิการถ้วนหน้าแน่นอน เพราะนโยบายที่นำเสนอไม่ได้มีหลักคิดเรื่องความถ้วนหน้าสำหรับคนไทยทุกคนอยู่เลย มีการกำหนดกลุ่มผู้รับประโยชน์เป็นกลุ่ม ๆ กองทุนหมู่บ้านแม้จะครอบคลุมทุกชุมชนในเมืองไทยแต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะเข้าถึงเงินกู้นี้ (โดยเฉพาะคนจน) มาตรการลดค่าครองชีพบางประการก็ให้ประโยชน์เฉพาะผู้ที่ใช้เท่านั้น เช่นคนชนบทไม่ได้ใช้รถเมล์ฟรี

นอกจากนี้ประชาวิวัฒน์ก็ไม่สอดคล้องกับแนวคิดของท่านนายกรัฐมนตรีที่ต้องการให้ระบบสวัสดิการสังคมดูแลคนไทยตั้งแต่เกิดจนตาย เช่นไม่มีมาตรการดูแลเด็กเล็ก การเรียนฟรีของนักเรียนยากจน คุณภาพการศึกษา การให้สวัสดิการของแรงงานนอกระบบให้เท่าเทียมกับแรงงานในระบบ การฝึกอาชีพเพื่อเพิ่มทักษะการทำงาน การดูแลคนแก่อย่างเพียงพอ เป็นต้น แม้รัฐบาลจะได้ออกนโยบายก่อนหน้าในเรื่องเรืยนฟรี 15 ปี เบี้ยยังชีพคนชราถ้วนหน้าและคนพิการ ซึ่งล้วนเป็นเรื่องดีที่น่าชมเชย แต่ก็ยังไม่ได้ถือโอกาสปรับปรุงให้ดีขึ้นในชุดนโยบายประชาวิวัฒน์ น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง

ความจริงไม่น่าแปลกใจว่าประชาวิวัฒน์ไม่ถูกออกแบบให้เป็นฐานรากของระบบสวัสดิการถ้วนหน้า เพราะเท่าที่ทราบกระบวนการร่างชุดนโยบายนี้ขาดมุมมองจากภาคประชาชนและไม่ได้มีวิธีการศึกษาอย่างที่ควรเป็น ที่ได้ยินมาคือมีการเชิญผู้คน ‘จำนวนหนึ่ง’ ประชุมร่วมกันเป็นเวลาหลายสัปดาห์ที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ โดยจ้างบริษัทที่ปรึกษาแห่งหนึ่งด้วยงบประมาณจำนวนมหาศาลในการจัดประชุม ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่ก็เป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือธนาคารรัฐ ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นผู้ปฏิบัติตามนโยบายที่รัฐบาลสั่งมาเท่านั้น ดังนั้นแม้จะมีข้อดีในเรื่องความเป็นไปได้และรายละเอียดของการดำเนินการ แต่ขาดมุมมองภาคประชาชนอย่างแน่นอน

ดังนั้นแม้ประชาวิวัฒน์จะไม่ใช่ประชานิยม แต่ก็ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของระบบสวัสดิการสังคมที่ควรเป็นเช่นกัน