ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Friday, 31 December 2010

จำคุก "85 นักรบศรีวิชัย" คดีบุกเอ็นบีที

ที่มา ประชาไท

คดี 85 นักรบศรีวิชัย บุกเอ็นบีที ศาลสั่งจำคุกโทษสูงสุด 2 ปี 6 เดือน ต่ำสุด 6 เดือน ขณะเยาวชน 6 คนรอลงอาญา 2 ปี ล่าสุดทนายจำเลยยื่นขอประกันตัว สู้คดีชั้นอุทธรณ์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (30 ธ.ค.53) เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น. ที่ศาลอาญาห้องพิจารณาคดี 704 ศาลอ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำ อ.4486/2551 กรณีเหตุการณ์ผู้ชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย บุกสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (เอ็นบีที) และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย (สวท.) หน่วยงานสื่อมวลชนของภาครัฐในสังกัดกรมประชาสัมพันธ์ เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2551 โดยมีพนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 4 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายธเนศ คำชุม กับพวกรวม 85 คน ซึ่งเป็นกลุ่มนักรบศรีวิชัย การ์ดพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

โดยในวันนี้มีนายสมศักดิ์ โกศัยสุข หัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ และแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเดินทางมาฟังคำพิพากษา และให้กำลังใจจำเลยทั้งหมดด้วย

ทั้งนี้ จำเลยทั้งหมดถูกยื่นฟ้องในความผิดฐานสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานเป็นซ่องโจร, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง, ร่วมกันไม่มีเหตุอันสมควรเข้าไปหรือซ่อนตัวในเคหสถาน หรือสำนักงานในความครอบครองของผู้อื่นโดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยมีอาวุธในเวลากลางคืน, ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์, ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ หรือทรัพย์สิน โดยใช้กำลังประทุษร้ายโดยมีอาวุธ, ร่วมกันพาอาวุธไปในเมืองหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91, 92, 210, 215, 309, 358, 364, 365 และ 371 พ.ร.บ.อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนฯ พ.ศ.2490, พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2545 และ พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ.2535

คำฟ้องระบุว่า ระหว่างวันที่ 22-25 ส.ค.51 จำเลย 85 คน ร่วมกันประชุมวางแผนนัดแนะระดมพลจากสะพานมัฆวานรังสรรค์และสถานที่อื่น ตกลงกันไปเพื่อกระทำความผิดฐานร่วมกันบุกรุกอาคารสำนักงานสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที และระหว่างวันที่ 25-26 สิงหาคม 2551 จำเลยทั้งหมดได้พกพาอาวุธปืน เครื่องกระสุน มีดดาบ มีดพก ร่วมกันไปทำลายทรัพย์สินและบุกรุกสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที โดยไม่ได้รับอนุญาต และร่วมกันทำลายทรัพย์สินกว่า 15 รายการ รวมความเสียหายกว่า 6 แสนบาท โดยเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้หยุดการกระทำจำเลยทั้งหมดก็ไม่หยุด อีกทั้งจำเลยยังร่วมข่มขืนใจ นางสาวตวงพร อัศววิไล และนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ซึ่งเป็นพนักงานสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที และพนักงานคนอื่นๆ ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ ไม่ให้จัดรายการออกอากาศ และขับไล่ให้ออกจากที่ทำการ

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยที่ 1 รับว่าได้ร่วมกับพวกเกินกว่า 5 คน บุกรุกเข้าไปที่สถานีโทรทัศน์เอ็นบีที พร้อมกับพกพาอาวุธเข้าไป อันเป็นการกระทำความผิดฐานซ่องโจร แม้ว่าโจทก์จะไม่มีพยานหลักฐานแต่ตามพฤติการณ์บ่งชี้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดดังกล่าว และมีความผิดฐานมีวิทยุสื่อสารในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต นอกจากนี้จำเลยที่ 1 และ 2 ยังกระทำผิดฐานมีอาวุธปืน และพกพาปืนไปในที่สาธารณะ

ส่วนจำเลยอื่นนั้นโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยคนใดพกพาอาวุธชนิดไหน ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้อง จึงลงโทษจำเลยอื่นไม่ได้ ส่วนความผิดฐานมั่วสุม บุกรุก และทำให้เสียทรัพย์นั้น รวมทั้งร่วมกันข่มขืนใจ เห็นว่าการวินิจฉัยว่าจำเลยคนใดกระทำความผิดนั้น ต้องพิจารณาไปตามข้อเท็จจริง ทั้งนี้ ศาลลงความเห็นว่ากรณีดังกล่าวเป็นเพียงการที่จำเลยร่วมกันบุกรุกสถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีเท่านั้น เนื่องจากโจทก์ไม่นำสืบให้เห็นว่าจำเลยคนใดกระทำผิดในความผิดฐานดังกล่าว ส่วนจำเลยที่ 39 และ 80 มีความผิดฐานยาเสพติดใบกระท่อมในครอบครอง

นอกจากนี้ ในความผิดฐานกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง เห็นว่าจากการนำสืบของพนักงานสอบสวน พยานโจทก์ระบุว่า นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ ประกาศชักชวนอาสาสมัครที่จะไปชุมนุมที่สถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีให้ไปรวมกลุ่มที่ลานพระบรมรูปรัชกาลที่ 5 เมื่อวันที่ 26 ส.ค.51 ซึ่งเกิดหลังจากที่กลุ่มจำเลยกระทำการดังกล่าวไปแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 25 ส.ค.51 จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งหมดจะมีเจตนาร่วมกันกับแกนนำได้ อีกทั้งไม่ปรากฏว่าเกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 แม้จะปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการบุกรุกสถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีก็ตาม

พิพากษาว่าจำเลยที่ 1-41 และ 43-85 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 210 วรรคแรก มาตรา 365 (1) (2) (3) ประกอบมาตรา 364 และมาตรา 83 ขณะกระทำผิด จำเลยที่ 30, 47, 81 อายุยังไม่เกิน 20 ปี เห็นสมควรลดโทษมาตราส่วนโทษ 1 ใน 3 ส่วนจำเลยที่ 83-85 อายุต่ำกว่า 18 ปี เห็นสมควรละโทษให้กึ่งหนึ่ง ความผิดฐานเป็นซ่องโจร จำคุกจำเลยที่ 1-29 ที่ 31-41 ที่ 43-46 ที่ 48-80 ที่ 82 จำคุกคนละ 1 ปี จำคุกจำเลยที่ 30 ที่ 47 ที่ 81 คนละ 8 เดือน สั่งจำคุกจำเลยที่ 83-85คนละ 6 เดือน ฐานบุกรุก จำคุกจำเลยที่ 1-29, 31-41, 43-46, 48-80 และที่ 82 คนละ 1 ปี จำคุกจำเลยที่ 30, 47, 81 คนละ 8 เดือน จำคุกจำเลยที่ 83-85 คนละ 6 เดือน

จำเลยที่ 1 มีความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิวรรคหนึ่ง, 72 วิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 371 เป็นการกระทำความผิดกรรมเดียว ผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุก 1 ปี และความผิด พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 มาตรา 6 และ 23 สั่งจำคุก 1 ปี

จำเลยที่ 2 มีความผิด พ.ร.บ.อาวุธปืน มาตรา 7 และ 72 วรรคสอง สั่งปรับ 1 พันบาท ส่วนจำเลยที่ 39 และ 80 มีความผอดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง 76 วรรคสอง สั่งปรับคนละ 1 พันบาท เพิ่มโทษจำเลยที่ 24 1ใน3 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 92 รวมเป็นจำคุกกระทงละ 1ปี 4 เดือน การกระทำของจำเลยที่ 1-41 และ 43-85 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 จำเลยรับข้อเท็จจริงว่าได้ร่วมกันบุกรุกอาคารสำนักงานสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย NBT และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน

จำเลยที่ 1 และ 2 ให้การรับสารภาพ ความผิดตาม พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ และความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ จำเลยที่ 39 และ 80 ให้การรับสารภาพ ซึ่งเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี 18 เดือน และจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี 6 เดือน และสั่งปรับ 500 บาท

ส่วนจำเลยที่ 3-29, 31-38, 40, 41, 43-46, 48-79 และ 82 มีกำหนด 1 ปี 6 เดือน จำเลยที่ 39 และ 80 มีกำหนด 1 ปี 6 เดือน ปรับ 500 บาท จำเลยที่ 30, 47 และ 81 มีกำหนด 12 เดือน จำเลยที่ 83-85 มีกำหนด 9 เดือน จำเลยที่ 24 มีกำหนด 1 ปี 12 เดือน

ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 30, 47, 81, 83-85 ได้รับโทษจำคุกมาก่อน ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 30, 47 และ 81 อายุยังไม่เกิน 20 ปี จำเลยที่ 83-85 ยังเป็นเยาวชน จึงเห็นควรให้โอกาสกลับตนเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกให้รอการลงโทษจำเลยดังกล่าวไว้มีกำหนด 2 ปี ให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ภายในกำหนดเวลา 1 ปี ข้อหาและคำร้องอื่นให้ยก

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า หลังศาลอ่านคำพิพากษา ทนายความของจำเลยได้ยื่นคำประกันตัวจำเลยทั้งสิ้น 79 คน เพื่อขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยทนายเตรียมยื่นอุทธรณ์คดีต่อไป